วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๒. AAR

การประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้ และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์ เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 12. AAR
ผมไปออสเตรเลียคราวนี้วัตถุประสงค์หลักคือไปร่วมการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum  การเดินทางไปร่วมประชุมจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ  มีผู้ร่วมเดินทางไปร่วมประชุม ๑๒ คน  เป็นคนของสถาบันคลังสมอง ๕ คน  อีก ๗ คนแบ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน  และเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ๔ คน  ผู้อาวุโสที่สุดคือ ศ. นพ. กระแส ชนะวงศ์ อดีต รมต. ๔ กระทรวง และเวลานี้เป็นนายกสภาฯ ๓ แห่ง คือ ม. นราธิวาสฯ, มน., และ สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์  รองลงมาคือผม  ถัดไปคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กรรมการสภา มวล. และสถาบันกันตนา
เป้าหมายของผมในการเดินทางไปประชุมคราวนี้ก็เพราะ สคช. ชวน และผมก็อยากไปเห็นว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย เขามีวิธีคิดหรือหลักการ และหลักปฏิบัติ เกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยอย่างไร  และเนื่องจากในกำหนดการมีการไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราด้วย  ผมอยากไปเห็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมาก เพราะไม่เคยไปเยี่ยมมเลย ยกเว้นที่ Adelaide เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว
สิ่งที่ได้รับมากเกินคาด คือได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยโวลลองกอง  ได้รู้จักมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (regional university)  และได้รู้ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นธุรกิจค้ากำไรข้ามชาติ เขาทำงานอย่างไร 
สิ่งที่ไม่ได้คือ ไม่ได้ไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา เพราะทีม ๔ คนเปลี่ยนแผน ไปซิดนีย์แทน ได้แก่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง หัวหน้าทีม  ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รองหัวหน้าทีม  รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  และผม  ทำให้ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และโวลลองกอง ดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ได้มากเกินคาดอีกอย่างหนึ่งคือ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการของมหาวิทยาลัยเอง ที่รวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์เชิงระบบให้แก่บ้านเมือง  และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในสายตาของสาธารณชนด้วย  คือ Engagement Australia  วิธีการแบบนี้สถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่ได้ทำ
สิ่งที่ได้เรียนรู้เต็มตามที่หวัง คือวิธีการกำกับดูแลอุดมศึกษาของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย  ผ่านการออกกฎหมาย TEQSA  เพื่อควบคุมคุณภาพ  ผมเดาว่าเป้าหมายหลักคือสถาบันกลุ่มที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย มีจำนวนมากกว่า ๑๕๐ แห่ง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  หรือผมเดาว่า เป็นการรับมือกับธุรกิจอุดมศึกษาค้ากำไรข้ามชาตินั่นเอง  ส่วนนี้เข้าใจว่าทางการไทยเรายังไม่ตระหนักในความท้าทายใหม่นี้
การประชุมไม่ลงไปเรื่อง การกำกับดูแลส่วนของสภามหาวิทยาลัย  คนที่มาประชุมดูจะเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กรรมการสภามหาวิทยาลัย  บรรยากาศของการประชุมจึงต่างจากการประชุม AGB ที่ผมเคยไป ดังเล่าไว้ ที่นี่  การประชุมของ AGB เน้นเพื่อให้ความรู้แก่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย  ส่วนการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง  ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้  และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์  เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
จากการประชุมและการดูงาน ผมอ่านระหว่างบรรทัด นำมาตีความ บันทึกออก ลปรร. ใน บล็อก ได้ถึง ๑๒ บันทึก ถือเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้เอามาทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการอุดมศึกษาของชาติ  เป็นการทำหน้าที่แบบไม่มีหน้าที่อย่างเป็นทางการ
วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508416

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๑. Academic Board

  ในการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum วันแรก มีเรื่อง Defining the role of academic boards in decision making  เสนอโดย Associate Professor Peter McCallum, Chair of the Academic Board, The University of Sydney   ฟังแล้วสรุปได้ว่า ยังไม่มีรูปแบบของสภาวิชาการที่เป็นมาตรฐานตายตัว

          หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการแยก corporate governance กับ academic governance ออกจากกัน   และ corporate governance ต้องคอยช่วยปกป้องให้ academic governance มีอิสระ หรือ academic freedom   คือเป็นการกำกับกันอยู่ในวงวิชาการ   ไม่โดนฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายศาสนา (ในกรณียุโรปสมัยก่อน) เข้ามาสั่งการ    ซึ่งก็หมายความว่ามีการกำกับดูแลมาตรฐานวิชาการกันเองในวงวิชาการ   และกลไกนั้นคือ academic board (สภาวิชาการ)

          ซึ่งก็แปลว่า สภาวิชาการต้องมีกลไกปรับเปลี่ยน “มาตรฐานวิชาการ” ให้เหมาะแก่ยุคสมัย   รวมทั้งให้มีคุณภาพวิชาการ ความยากอยู่ที่ สภาวิชาการต้องทำหน้าที่อยู่ในสภาพความเป็นจริงของโลก ของสังคม และของวิชาการ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว    วิชาการบางเรื่องที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดในวันนี้ อาจล้าสมัยในปีหน้าก็เป็นไปได้

           เมื่อดูในกฎหมาย TEQSA ของออสเตรเลีย   เห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายระบุกรอบคุณภาพและเงื่อนไขของการจัดการคุณภาพของวิชาการไว้ชัดเจน   และมอบอำนาจการจัดการให้แก่ฝ่ายบริหาร และแก่ Academic Board ให้ทำหน้าที่จัดการคุณภาพวิชาการของมหาวิทยาลัย   

          เขาบอกว่าการจัดการคุณภาพวิชาการ เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน    ในวงการวิชาการเอง และกับนักศึกษา 

          แต่ผมมองว่า Academic Board ต้องทำงานซับซ้อนกว่านั้น   ไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะในวงวิชาการ และวง นศ. เท่านั้น   ต้องเชื่อมออกไปสู่วง “ผู้ใช้” ผลิตผลของมหาวิทยาลัย   หรืออาจเรียกว่าวง demand-side ด้วย   โดยที่เป็นความสัมพันธ์แบบที่ละเอียดอ่อน   ทั้งรับฟัง และสงวนความอิสระในการตัดสินใจ 

          Academic Board ต้องทำงานเพื่อรักษา คุณภาพ  ความน่าเชื่อถือ (integrity)  และความเป็นอิสระ ทางวิชาการ   โดยในขณะเดียวกัน ก็ต้องตอบสนองความต้องการของสังคม หรือที่เรียกว่า University Social Responsibility

          ผมค้นบันทึกระหว่างนั่งฟัง session นี้    หาบันทึกความในใจที่ปิ๊งแว้บขึ้น จากการฟัง    ได้ข้อความดังนี้  “Acad Bd ทำหน้าที่ถือกฎ  vs  ทำหน้าที่สร้างกระบวนการให้เกิดความร่วมมือกันสร้างคุณภาพวิชาการ

    Shared influence

          สภาวิชาการ > 50% จากบุคคลภายนอก   **ใช้ทำอะไรเป็นหลัก  ?ผลักวิชาการสู่สังคม   ?ผลักวิชาการสู่ขอบฟ้าใหม่   ?กำกับคุณภาพ   ?คิดระบบจัดการการพัฒนาวิชาการ

          ผมไม่ทราบว่า สภาวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยมีองค์ประกอบอย่างไร    ทราบแต่ว่า ของต่างประเทศ กว่าครึ่งเป็นบุคคลภายนอก

          ผมลองค้นใน Google ด้วยคำว่า Academic Board พบเรื่องราวมากมาย   ของหลากหลายมหาวิทยาลัย ที่เปิดเผยกลไกการทำงานของ Academic Board ของเขาไว้   เช่น ของ University of Sydney ที่นี่ ซึ่งเขามีคู่มือของสมาชิก บอร์ด ไว้ด้วย ที่นี่

          ผม AAR กับตัวเองว่า วงการอุดมศึกษาไทยน่าจะมีกระบวนการพัฒนา สภาวิชาการอย่างเป็นระบบ   



วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๒๑ ต.ค. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506455

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๐. ความเชื่อมโยงกับสังคม

  มหาวิทยาลัยไม่ว่าในประเทศใด มีจุดแข็งและจุดอ่อนอยู่ที่วิชาการ    เรามุ่งสร้างสรรค์วิชาการ  ต้องการสมาธิแน่วแน่อยู่กับการสร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้    ความรู้จริงรู้ลึกรู้เชื่อมโยงคือจุดแข็งของเรา    แต่ความเข้มแข็งทางวิชาการนั้นเองกลายเป็นจุดอ่อน   เพราะเรามุ่งอยู่เฉพาะที่วิชาความรู้ ไม่เชื่อมโยงกับสังคม    มหาวิทยาลัยทั่วโลกจึงมีความเสี่ยงที่ความห่างเหินกับสังคม หรือชีวิตจริงของผู้คน
          ผมเดาว่า นี่คือที่มาของการก่อตั้ง Engagement Australiaซึ่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน (community engagement)    เป็นองค์กรที่สมาชิกจ่ายค่าสมาชิกรายปี   มีมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ๒๕ แห่งเป็นสมาชิก   จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ ๓๙ แห่ง    
          ลองอ่าน Charter ของ Engagement Australia ที่นี่   จะเห็นว่าเขามีวัตถุประสงค์กว้างขวาง    โดยเฉพาะหลักการของ engagement 9 ข้อที่ระบุไว้    มหาวิทยาลัยไทยน่าจะได้ทำความเข้าใจ และปรับใช้กับสถานการณ์ไทย
          ผมได้บันทึกการค้น อินเทอร์เน็ต ทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมไว้ในบันทึกชุดเรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลียตอนที่ ๑ ที่นี่   และเมื่อได้คุยกับ Dr. Diana Whittonแห่ง University of Western Sydneyซึ่งเป็น Chair of the Scholarship Committeeก็รู้สึกว่า Engagement Australia ไม่แข็งแรงนัก   และทำงานเน้น community engagement เป็นหลัก    ผมได้ถามว่า เขา engage กับ industry ได้แค่ไหน   เขาบอกว่า ทางภาคอุตสาหกรรมไม่สนใจ
          ที่มหาวิทยาลัย โวลล็องก็อง เขาพูดเรื่อง community engagement ว่า เขาตีความคำว่า community กว้าง    หมายถึงทั้ง local community, national community, ไปจนถึง global community   เขาจึงมีวิทยาเขตที่นครดูไบ
          อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า เรื่อง engagement เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัย    ที่จะต้องเอาใจใส่สร้างพลัง engagement ในหลายมิติ   ทั้ง student engagement, staff engagement, community engagement, และ industry engagement    แต่ละมหาวิทยาลัยต้องศึกษาตีความคำว่า engagement เอาเอง   เพื่อหาทางใช้พลังของมัน เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของมหาวิทยาลัย


วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๒๖ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506073

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๙. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร

ผู้จัดการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เชิญคนจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร ๑ แห่ง คือ Kaplan Australia มาพูดในการประชุม ๒ ช่วง คือหัวข้อ Registration of non self-accrediting institutions and course accreditation พูดโดยนักกฎหมายที่เป็นหัวหน้าหน่วย Accreditation and Compliance   กับหัวข้อ Developing steps to ensure quality assurance is achieved in partner institution โดย Prof. Jim Jackson, Vice President Academic Asia Pacific

          ผมเพิ่งรู้จัก Kaplanว่าเป็นบริษัทให้บริการทางการศึกษาที่หลากหลายมาก และดำเนินการในทั่วโลก   และจริงๆ แล้วเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท วอชิงตัน โพสต์  ที่มีหนังสือพิมพ์ นิวสวีก เป็นส่วนหนึ่ง    ที่เวลานี้รายได้จากธุรกิจการศึกษาเท่ากับ ๒.๖๔ พันล้านเหรียญ  มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมด   ที่ประกอบด้วยธุรกิจหลัก ๔ ด้าน   คือหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  ทีวี  เคเบิ้ล  และการศึกษา

          ความสามารถของ Kaplan ก็คือ ต้องฝ่าด่านการตรวจสอบทางคุณภาพนานากลไกให้ได้ในประเทศที่ตนเข้าไปประกอบธุรกิจ    โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศนั้นๆ    โดยผมฟังแล้วสรุปกับตนเองว่า Kaplan เก่งด้านระบบประกันคุณภาพ ที่สามารถจัดการให้ผ่านด่านตรวจ (accreditation) ของประเทศที่ตนเข้าไปดำเนินกิจการ    และเก่งในการหาพันธมิตรดำเนินการในพื้นที่หรือประเทศนั้นๆ 

          ผมได้เข้าใจกระแสของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร    ว่าเป็นกระแสธุรกิจข้ามชาติ   ที่กลไกกำกับดูแลอุดมศึกษาของแต่ละประเทศจะต้องรู้จัก และมีวิธีกำกับดูแลคุณภาพอย่างได้ผล   โดยน่าจะเน้นมุมมองเชิงบวก    ว่าหากเราเข้าใจและรู้จักใช้พลังเชิงบวกของสถาบันเหล่านี้   เราก็จะสร้างความเป็นนานาชาติ หรือโลกาภิวัตน์ของคนไทยได้ดีขึ้นโดยใช้กลไกของธุรกิจอุดมศึกษาข้ามชาติเหล่านี้    ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการเล่นกับไฟ

          ทำให้ผมเข้าใจมหาวิทยาลัย เนชั่น ว่าน่าจะสอดคล้องกับการที่บริษัท วอชิงตัน โพสต์ หันมาทำธุรกิจบริษัท Kaplan

          เป็น corporate university ในรูปแบบหนึ่ง

          จากคำบรรยายของ Prof. Jim Jackson ผมรับรู้ด้วยความตกใจว่า ในสิงคโปร์มีสถาบันการศึกษาเอกชนถึง ๑ พันแห่ง   มีนักศึกษา ๑ แสนคน   และในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาก็เจ๊งกันไปมาก   เพราะการแข่งขันสูง    และทางรัฐบาลสิงคโปร์ก็ตรวจสอบเข้มงวด

          ผมได้เข้าใจว่า ประเทศต้องมีระบบกำกับดูแล ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ    โดยมีกลไกกำกับตรวจสอบคุณภาพของบัณฑิตที่แม่นยำ    นี่คือข้อท้าทายต่อประเทศไทย   ที่หลายกรณีผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชนแสวงหากำไร   และใช้กโลบายหลากหลายด้าน จัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ   โดยผู้เข้าเรียนไม่ได้ต้องการความรู้ แต่ต้องการปริญญา เพื่อสถานะทางสังคม



วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505897

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๘. วิชาการด้านการเรียนการสอน

  แนวความคิดในบันทึกนี้ได้จากการไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ช่วงบ่ายวันที่ ๖ ก.ย. ๕๕  โดยเฉพาะจากการไปคุยกับ Assoc. Prof. Simon Barrie, Director,Institute for Teaching and Learning   และ Assoc. Prof. Michele Scoufis, Associate Dean Learning and Teaching, The University of Sydney Business School

          มหาวิทยาลัยซิดนีย์ใหญ่มาก   มี นศ. กว่า ๕ หมื่นคนใน ๑๖ คณะวิชา   และที่สำคัญมี นศ. ต่างชาติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน   ความพึงพอใจของนักศึกษาด้านการเรียนรู้จึงสำคัญมาก    นี่คือที่มาของการที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์มีเป้าหมายชัดเจนที่การพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนของทั้งมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง  

          นำไปสู่การตั้ง Institute for Teaching and Learningทำหน้าที่จัดการฝึกอบรมการเรียนการสอนแก่อาจารย์ใหม่ ซึ่งมีปีละประมาณ ๒๐๐ คน   รวมทั้งทำงานวิจัยและพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอน และการวัดผล   โปรดเข้าไปดูในเว็บไซต์ จะเห็นว่าเขามีกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่หลากหลายมาก   โดยอาจารย์ ไซมอน ผอ. สถาบันการเรียนการสอน บอกว่าแม้มหาวิทยาลัยจะเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาการเรียนการสอน   แต่ก็ยังอ่อนแอด้านการประเมินผลการเรียน   โดยเฉพาะด้านที่ประเมินยาก เช่นด้านจริยธรรม  ด้าน engagement เขาบอกว่า QA ของการประเมิน ก็ยังไม่ดี

          เขามีบริการ Professional Developmentให้แก่อาจารย์มากมาย    เช่น อาจารย์ใหม่ทุกคนของมหาวิทยาลัยต้องเข้ารับการอบรม Principles and Practice of University Teaching (P&P)เป็นเวลา ๒ วัน   แถมยังมีหลักสูตร part time เวลา ๑ ปี ให้เรียนเพื่อให้ได้ Graduate Certificate in Educational Studies (Higher Education)ติดตัวไปตลอด  เป็นต้น

          ที่น่าประทับใจคือ ในทุกคณะจะมีรองคณบดีด้านการเรียนการสอน ที่ทำงานร่วมกับ ผอ. ของสถาบันการเรียนการสอน ในการพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอน   การพัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะด้านการเรียนการสอนและการประเมิน เพิ่มขึ้น    รวมทั้งส่งเสริมอาจารย์ให้ทำวิจัยด้านการเรียนการสอน   โดยที่เขาพยายามส่งเสริมให้แต่ละคณะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและรักงานพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน   โดยอาจได้ปริญญาโทหรือเอกด้านการเรียนรู้ศาสตร์ตามคณะของตน   เช่น PhD in Engineering Education   และผลงานวิจัยการเรียนการสอนเอามานับเป็นผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่ง หรือพิจารณาความดีความชอบได้

          ที่คณะบริหารธุรกิจ เราได้คุยกับรองคณบดีฝ่ายการเรียนการสอน   ที่ทำงานพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอนในสาขาบริหารธุรกิจมายาวนานกว่า ๒๐ ปี   คือ รศ. มิเชล ที่มีเอกสารช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการเรียนการสอนแก่อาจารย์ใหม่ และอาจารย์ทั่วไปอย่างดีมาก   เข้าไปดูในเว็บไซต์ได้ ที่นี่  จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมาก    เพื่อเพิ่มชื่อเสียงต่อนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ    มีระบบการจัดการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาจารย์ด้านการเรียนการสอน   มีการปลุกกระแสสร้างความเอาใจใส่คุณภาพของการจัดการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยหลากหลายวิธี



วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๕
ที่มา  : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505804

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๗. วิชาการด้านการเงินเพื่อรับใช้สังคม

  ในที่ประชุม 7th Annual UGRF เขาแจกเอกสารแนะนำการประชุม The Inaugural Social Finance Forumโดยขึ้นโลโก้ของ the Centre for Social Impactทำให้ผมได้รู้จักการทำงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมอีกรูปแบบหนึ่ง    ที่สะท้อนอยู่ใน เว็บไซต์ ของศูนย์นี้   คือทำงานวิชาการเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

          จากเอกสารนี้ทำให้ผมได้รู้จัก social impact bondที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเงิน    ที่เอาเงินของภาคประชาชนหรือของตลาดทุน ไปลงทุนเพื่อประโยชน์ด้านสังคม เช่นเพื่อยกระดับการศึกษา เพื่อลดอัตราอาชญากรรม เป็นต้น

          หน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ของสหราชอาณาจักร คือ Social Finance UK

          จากเอกสารแนะนำการประชุม ผมได้รู้จักหน่วยงาน UnitingCareของวงการศาสนาคริสต์ในออสเตรเลีย   และได้รู้จัก The Benevolent Societyและ social ventures Australia

          ผมตีความว่า นี่คือการทำงานวิชาการด้านการเงิน เพื่อเอามาใช้ทำประโยชน์สาธารณะ   โดยต้องมีระบบ purchaser และ provider แยกกัน   เป็นการเคลื่อนไหวของสังคม ที่มีองค์กรสาธารณะที่ไม่ใช่ภาครัฐแต่ไม่แสวงกำไร เข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะคู่ขนานไปกับภาครัฐ   โดยภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม   นี่คือวิชาการด้านการพัฒนาระบบ ของสังคม



วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505703

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๖. ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยที่เป็นที่เชื่อถือกันว่าคุณภาพ สูงต้องไม่ยอมติดบ่วง bureaucracy trap ต้องยืนหยัดต่อกลไก self-accrediting และ autonomy คือดำรงความมีอิสระ โดยรับผิดชอบตนเองด้านคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของสังคม นี่คืออุดมการณ์ของการกำกับดูแลอุดมศึกษาในระดับสถาบัน
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 6. ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา

ในการปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียครั้งนี้ ระบบกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย หรือโดนกระทบ  โดยผมตีความว่า TEQSA ที่รัฐบาลกลางออกกฎหมายจัดตั้ง เป็นเพียงกลไกหนึ่งในอีกหลากหลายกลไกกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา  ผมเดาว่าหน้าที่หนักและหน้าที่หลักของ TEQSA น่าจะได้แก่สถาบันอุดมศึกษาส่วนที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้มีกว่า ๑๕๐ สถาบัน  และมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา  สถาบันเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นองค์กรเอกชนแสวงหากำไร  และมีความเสี่ยงสูงที่จะจัดการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum  มีคนมาพูดว่า TEQSA เน้นดำเนินการเข้มงวดต่อสถาบันที่มีความเสี่ยงสูงต่อการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ  ส่วนสถาบันที่ดีอยู่แล้ว การกำกับจะเป็นเพียง “light touch”
ผมฟังการประชุม ๒ วัน แล้วบอกตัวเองว่า หากผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพสูงในออสเตรเลีย ผมจะต่อสู้สุดฤทธิ์ไม่ให้ TEQSA เข้ามาตรวจสอบแบบหยุมหยิม  ที่ทางออสเตรเลียเขากล่าวว่าเป็นพิษร้ายของ bureaucracy
ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นที่เชื่อถือกันว่าคุณภาพสูงต้องไม่ยอมติดบ่วง bureaucracy trap  ต้องยืนหยัดต่อกลไก self-accrediting  และ autonomy  คือดำรงความมีอิสระ โดยรับผิดชอบตนเองด้านคุณภาพ  เพื่อประโยชน์ของสังคม  นี่คืออุดมการณ์ของการกำกับดูแลอุดมศึกษาในระดับสถาบัน
ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา มีส่วนที่มาจากภายนอกประเทศด้วย  ในรูปของการจัดอันดับหรือจัดระดับมหาวิทยาลัยโลก  เป็นระบบกำกับแบบทางอ้อม  ซึ่งก็มีผลต่อพฤติกรรมหลายอย่างของสถาบันอุดมศึกษาส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัย  ที่ต้องการได้รับการยอมรับในฐานะ world class university
ภายในประเทศ ระบบอุดมศึกษายังอยู่ใต้กลไกกำกับดูแลเชิงวิชาชีพด้วย เช่นแพทยสภา  สภาวิศวกร เป็นต้น  มีประเด็นว่า ระบบหลักสูตรเพื่อปริญญา กับระบบการรับรองวิชาชีพ ควรเชื่อมโยงกันหรือควรแยกกัน  อย่างของไทย สกอ. ระบุว่า จะรับรองหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ต่อเมื่อสภาการพยาบาลได้ให้การรับรองว่าผู้จบหลักสูตรนั้นจะได้รับในประกอบวิชาชีพพยาบาลแล้วเท่านั้น  มีบางคนให้ความเห็นว่า คนไทยน่าจะมีสิทธิเข้าเรียนพยาบาล โดยไม่มุ่งไปใช้ชีวิตเป็นพยาบาล  ซึ่งก็เถียงกลับได้อีกว่า คนที่ตั้งใจเรียนโดยไม่ประกอบวิชาชีพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดของประเทศโดยไม่ก่อประโยชน์ต่อสังคม  เรื่องแบบนี้อาจจะขึ้นกับวิชาชีพอื่นด้วย  หากเอาไปถกเถียงกันในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต กับการรับรอง กว. ของสภาวิศวกร  การพิจารณารับรองแยกกันอาจฟังดูสมเหตุสมผลกว่า  เพราะเวลานี้ก็มีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหลายหลักสูตรที่ไม่ได้ขอให้ กว. รับรอง  และผู้จบหลักสูตรก็ไม่เดือดร้อน
ผมได้พูดในหลายวาระ ว่าในประเทศไทย หน่วยงานที่มีอิทธิพลที่สุดต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ คือสำนักงบประมาณ  สังคมไทยยังเป็นสังคมอุปถัมภ์และเน้นพวกพ้อง  ยังไม่ใช่สังคมเหตุผล  เป็นที่รู้กันว่าการได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่ขึ้นกับคุณภาพและผลงาน หรือการทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมากนัก  แต่ขึ้นกับความสามารถในการวิ่งเต้นมากกว่า
มหาวิทยาลัยทำอะไรบ้าง  ก็ย่อมโดนกำกับโดยวงการนั้นๆ ด้วย  เช่นมีหน้าที่หลักด้านการวิจัย  หน่วยงานให้ทุนวิจัยย่อมมีอิทธิพลกำกับดูแลมหาวิทยาลัยด้วย
และไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดของไทย ย่อมต้องรับผิดชอบต่อสังคมภาคส่วนนั้นๆ และในวงกว้าง  จึงมีกลไกกำกับโดยสังคม  ในรูปของ reputation risk
เนื่องจากมีแนวโน้มโลก ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแสวงหากำไร จะขยายตัวเฟื่องฟูขึ้น  มหาวิทยาลัยแบบนี้ใช้วิธีการแบบที่มองบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า  มองความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาเป็นผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ  ดังนั้น ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษากลุ่มนี้ ด้วยระบบคุ้มครองผู้บริโภค  ประเทศไทยต้องการระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านอุดมศึกษา  ที่เน้นทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากสถาบันธุรกิจเอกชนค้ากำไรเป็นหลัก  และสถาบันที่ไม่ค้ากำไร แต่แสดงพฤติกรรมค้ากำไร ก็ต้องโดนจับตาด้วย
วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508317

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๔. อุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น

ในการประชุมวันที่ ๔ ก.ย. ๕๕ มีการนำเสนอเรื่องราวของมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยเขาเรียกว่า Regional University มีการนำเสนอว่าปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียครั้งนี้ กระทบสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นอย่างไร    และสถาบันต้องปรับตัวอย่างไร    Prof. Hal Swerissen Pro-Vice Chancellor (Regional) ชอง La Trobe University นำเสนอว่า มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นในออสเตรเลียมี ๑๔ มหาวิทยาลัย   นศ. ๑๕๖,๒๘๑ คน   สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นปีละ ๒ พันล้านเหรียญ
          จำนวน นศ. ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลียมีประมาณ ๑ ล้านคน   จึงบอกได้ว่า นศ. มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมีประมาณ ๑๕% ของนักศึกษาทั้งหมด   ซึ่งน้อยกว่า นศ. ต่างชาติ ที่มีถึงร้อยละ ๒๘ (คำนวณจากตัวเลขที่ได้จาก Universities Australia เมื่อ ๓ ก.ย. ๕๕)
          นสพ. The Australian ฉบับวันที่ ๕ ก.ย. ๕๕ ลงข่าวในเซ็กชั่น Higher Education เรื่อง Regional unis prepare to roll out partnership proposal to pool resourcesในข่าวบอกว่าเขามี Regional University Networkมีสมาชิก ๖ มหาวิทยาลัย จะร่วมมือกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยในเมือง เนื่องจากมี นศ. น้อยกว่า    ข่าวบอกว่าข้อตกลงนี้ได้จากการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน   นอกจากลดค่าใช้จ่าย ก็จะเพิ่มหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เปิดสอน   และใช้ online learning มากขึ้น
          ผมตีความว่า การก่อกวนของรัฐบาล ให้สถาบันอุดมศึกษาตื่นตัวปรับปรุงตนเอง ได้ผล    มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นเคลื่อนไหวปรับตัวอย่างชัดเจน
          วันที่ ๗ ก.ย. ๕๕ เราไปเยี่ยมชมกิจการ Community Engagement ของมหาวิทยาลัย Wollongong (UOW)   จึงได้รู้ว่า UOW ก็เป็น regional university   และมีประวัติเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัย New South Wales (UNSW) มาก่อน   UOW อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางใต้ประมาณ ๗๐ ก.ม.   ใช้เวลาเดินทางโดยขับรถไป ๑ ชั่วโมงครึ่ง    โดย ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ เป็นผู้ขับรถเช่าไป    เราไปกัน ๔ คน อีก ๒ ท่านคือ ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รอง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ  และ รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทส.
          เมื่อเอ่ยถึงเมือง โวลลองกอง คนออสเตรเลียก็มองว่าเป็นเมืองยากจน    เมืองอุตสาหกรรมเหล็ก   ทั้งเมืองมีพลเมือง ๒๕๐,๐๐๐ คน เท่ากับจังหวัดเล็กๆ ของไทย   แต่ที่อยู่ในตัวเมืองจริงๆ มีไม่มาก   ใน โวลลองกอง มีชุมชนคนพื้นเมืองด้วย   ดังนั้น UOW จึงทำงานตอบสนองหรือริเริ่มกิจกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น    โดยสิ่งที่ท้าทายเบื้องหน้าคือการร่วมมือกับเมืองในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคน   โดยการเลิกโรงงานเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอดีต    เพื่อเปลี่ยนเมืองไปทำมาหากินอย่างอื่นที่ก้าวหน้ากว่า    ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีกว่าซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก 
          มหาวิทยาลัย โวลลองกอง จึงพัฒนาขนานใหญ่   ไม่ใช่แค่สนองชุมชน โวลลองกอง    แต่สนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก   จึงตีความ Community Engagement ว่า engage กับ world community   โดยกิจกรรมหนึ่งคือไปเปิดวิทยาเขตที่นคร ดูไบ ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์   ตั้งแต่ปี 1993 โดยเริ่มเป็นวิทยาลัยเล็กๆ ที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษในสังกัดมหาวิทยาลัย โวลลองกอง จดทะเบียนชื่อ ITC Limited แล้วขยายตัวเรื่อยมาจนเวลานี้ประสบความสำเร็จสูงมาก   จัดเป็นวิทยาเขตต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดของออสเตรเลีย   ตามที่ระบุในจดหมายข่าว Connect UOW ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่นี่   กลับมาค้นที่บ้านจึงรู้ว่า ITC Limited เป็นบริษัทธุรกิจที่ตั้งขึ้นโดย UOW อ่านเรื่องราวได้ ที่นี่   เว็บไซต์ของ UOWD อยู่ ที่นี่
           เมื่อเอ่ยถึงบทบาททางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยโวลลองกอง ต่อเมืองวอลลองกอง   เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยวอลลองกองเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่อันดับสอง รองจากโรงงานเหล็ก
          ตามที่คุณ Leanne Newsham, Community Engagement Manager, Office of Community & Partnerships เล่าให้คณะเราฟัง    เขามีวิธีทำงานร่วมกับชุมชนคนพื้นเมือง ในงานเทศกาลวัฒนธรรม   ทำให้งานมีสีสรร และในขณะเดียวกัน คนพื้นเมืองก็ได้รับการยกย่องให้ความสำคัญ    นอกจากนั้น ในกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับชุมชน นศ. ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ชุมชนคนพื้นเมืองได้รับประโยชน์ และ นศ. ก็ได้เรียนรู้ชีวิตจริงของผู้คน และได้เรียนจากการลงมือปฏิบัติงานจริง
          เมื่อเราเข้าไปในอาคารสำนักงาน เราก็พบป้าย 5 Stars บอกว่า UOW ได้รับ 5 Stars ในด้านต่อไปนี้ Research intensity, Positive grduate outcomes, Getting a job, Graduate starting salary, Educational experience : graduate satisfaction, Educational experience : generic skillsเราสงสัยว่าใครเป็นผู้ให้ rating นี้ ผมกลับมาค้นที่บ้าน จึงรู้ว่าเป็นผลงานของ QS Stars Rated for Excellence
          สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนในทุกทิศทาง    เพื่อเปิดท้องถิ่นออกสู่โลก   เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น   คิดแบบนี้ไม่ยากสำหรับออสเตรเลีย   เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษ และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมใกล้ชิดกับยุโรปและอเมริกาเหนือ    สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ของไทยควรเป็นอย่างไร เราต้องคิดและทำเอง    และที่สำคัญ ไม่ควรมีแบบเดียว


วิจารณ์ พานิช
๔ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505037

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๓. การปฏิรูปอุดมศึกษา

การประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum ที่ทีมไทยไปร่วมประชุมถึง ๑๔ คน นั้น   เรื่องราวที่พูดกันวนอยู่รอบๆ TEQSAซึ่งเป็นกลไกด้านคุณภาพของอุดมศึกษาของออสเตรเลีย    ผมจึงตีความ (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่าการปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียเน้นที่คุณภาพ   ตามรูปแบบมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ ๒ ด้านประกอบกันคือ ทั้งสอนและวิจัย   ฟังแล้วทุกคนเฮไปทางนั้นหมด
          มีคนเตือนสติอยู่คนเดียวคือ ศ. Stephen Parker อธิการบดีของ ม. แคนเบอร์รา ว่าควรคิดถึงค่าใช้จ่ายด้วย    ไม่ใช่คิดแต่เรื่องคุณภาพ    จึงน่าจะคิดเรื่องมหาวิทยาลัยที่เน้นสอนอย่างเดียว    ผลิตบัณฑิตที่เก่งตรงความต้องการได้ โดยไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยแบบเดิมๆ    เพราะเดี๋ยวนี้สามารถดึงเอาความรู้มาใช้ได้โดยง่าย   สามารถแยกทักษะในการสร้างความรู้กับทักษะในการใช้ความรู้ออกจากกันได้  
          มหาวิทยาลัยที่เน้นสอนหรือผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง โดยไม่เน้นวิจัย น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับยุคใหม่   โดยประเทศต่างๆ น่าจะมีแนวทางจัดการระบบอุดมศึกษาให้มีมหาวิทยาลัยหลากหลายแบบ แข่งขันกัน    ในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว
          หน้าที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงคือหน้าที่สร้างความมั่งคั่ง (wealth)     แม้มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญ ผ่านการสร้างคนและสร้างความรู้   ทั้งคนและความรู้ที่ดีจะนำไปสู่นวัตกรรม ที่เป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง
          ศ. นพ. กระแส ชนะวงศ์ นายกสภา ๓ มหาวิทยาลัย   และอดีตรัฐมนตรี ๔ กระทรวง กล่าวตอนทำ AAR การไปร่วมประชุมว่า   มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลัก 3W คือ  wisdom, wealth และ welfare
          หน่วยงานกำกับดูแลอุดมศึกษาจึงควรทำงานวิจัยตรวจสอบขีดความสามารถของอุดมศึกษา และของมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ    คือต้องหาวิธีมองมหาวิทยาลัยเป็น profit center ให้ได้   ไม่ใช่มองเป็นรายจ่ายเท่านั้น
          กล่าวใหม่ ต้องมีการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาของประเทศให้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศอย่างคุ้มค่า    มีการสร้างข้อมูล และสารสนเทศเพื่อตรวจสอบความคุ้มค่านั้น   เปรียบเทียบระหว่างสถาบันต่างแบบต่างจุดเน้น   และให้อิสระสถาบันในการปรับตัวหาจุดเน้นของตนเอง    ซึ่งนี่คือวิธีกำกับดูแลระบบแนว เคออร์ดิค    ไม่ใช่แบบ command & control   การปฏิรูปอุดมศึกษาแนวที่ผมเสนอนี้น่าจะเรียกว่า แนว เคออร์ดิค   คือให้ระบบมันมีทั้ง chaos และปรับตัวเข้าสู่ order เอง ผ่านการจัดสภาพแวดล้อมและสารสนเทศเพื่อการปรับตัวอย่างมีเป้าหมายและมีปัญญา
          ตัวอย่างของข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการปรับตัวอย่างมีปัญญาคือเอกสาร Mapping Australian higher educationโดยAndrew Norton, GRATTAN Institute นี่คือผลงานวิจัยระบบอุดมศึกษา ที่ประเทศไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง   Grattan Institute คือสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะของออสเตรเลีย ที่ถือว่าการวิจัยระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ
          ในการประชุม ๒ วันนี้ มีการพูดเรื่องการใช้สาระในกฎหมาย TEQSA Actเอามาจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยแบบลงรายละเอียดมาก   จนผมคิดว่าน่ากลัวเกิดความเสี่ยงใหม่ ที่ TEQSA เป็นต้นเหตุ    คือลงรายละเอียดขั้นตอนในการจัดการความเสี่ยงมาก จนลืมไปว่าเป้าหมายจริงๆ คือคุณภาพของอุดมศึกษา    หรือมิฉนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดก็มากเกินกว่าผลดีที่ได้รับ

         ผมมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยต้องเน้นการทำงานแบบมีนวัตกรรม   เน้นการรุกไปข้างหน้า    ไม่ใช่มัวแต่ปัดป้องความเสี่ยงตามที่หน่วยงานภายนอกกำหนดอย่างมีสูตรสำเร็จตายตัว   

          แต่วิทยากรที่มีความรู้เรื่อง TEQSA ก็บอกว่า TEQSA เป็น “light touch”   และจะดำเนินการแตกต่างกันระหว่างองค์กรอุดมศึกษาที่ความเสี่ยงสูง  กับองค์กรที่ความเสี่ยงต่ำ    คือไม่ใช่ one-size-fits-all

          ผมเขียนบันทึกนี้ด้วย learning mode   คือเขียนเพื่อตีความทำความเข้าใจกับตนเอง   จะถูกหรือผิดไม่สำคัญ   แต่ก็เอามา ลปรร. ใน บล็อก ด้วย    ผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/504874

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๒. Universities Australia

นี่คือวิธีการรวมตัวกันของ university sector ของออสเตรเลีย เพื่อการดำรงอยู่ทั้งในออสเตรเลีย และในโลก เขาบอกว่า Universities Australia เป็น champion of change

เราไปถึง นครแคนเบอร์รา ตอนบ่ายวันที่ ๓ ก.ย. ๕๕  หลังรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านจีนก็ตรงไปเยี่ยมเรียนรู้กิจการของหน่วยงานพิเศษ ชื่อ Universities Australia  ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.​๒๕๕๐ เพื่อเป็นองค์กรกลาง หรือองค์กรสูงสุด (เขาใช้คำว่า peak body) ของ university sector ของออสเตรเลีย  เทียบกับของไทยคือ ทปอ.  แต่ของเขาตั้งเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย  มหาวิทยาลัยของรัฐ ๓๗ แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ค้ากำไร ๒ แห่ง เป็นสมาชิก จ่ายค่าสมาชิกประจำปี  กิจกรรมของเขากว้างขวางและเป็นวิชาการกว่า ทปอ. ของเรามาก  อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของเขาเอาเองนะครับ 
ผมกลับมาบ้าน และไตร่ตรองอีกที คิดว่า Universities Australia คล้ายๆ เป็นลูกครึ่ง ระหว่าง ทปอ. กับ สกอ.
ผมเข้าใจว่า นี่คือวิธีการรวมตัวกันของ university sector ของออสเตรเลีย เพื่อการดำรงอยู่ทั้งในออสเตรเลีย และในโลก  เขาบอกว่า Universities Australia เป็น champion of change  ซึ่งเมื่อมีวิสัยทัศน์เช่นนั้น ก็ต้องตีความออกมาว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
ผมสังเกตว่าเขาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์หาความหมายของข้อมูลเกี่ยวกับอุดมศึกษา  เขาแจกเอกสาร University Links with Thailand, May 2012  ซึ่งบอกว่ามีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับออสเตรเลีย 161 MOU  และที่ยังมีกิจกรรมมี 133 MOU  ในจำนวน 161 MOU  มี 55 เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา  92 เพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์  142 เพื่อความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย  และ 15 เพื่อไปศึกษาต่างประเทศ  จากการค้นหาเอกสารนี้ใน อินเทอร์เน็ต (ซึ่งไม่พบ) ทำให้ผมพบข้อมูลเกี่ยวกับทุนศึกษาต่อในออสเตรเลีย ที่นี่   และพบ Study Overseas แนะนำคนออสเตรเลียเรื่องการไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยส่วนคำแนะนำไปศึกษาต่อในประเทศไทยอยู่ที่นี่  จะเห็นว่าทางการออสเตรเลียมีข้อมูลดีมากให้บริการแก่ประชาชน
ข้อมูลสถาบันอุดมศึกษา แสดงในสไลด์นี้
ออสเตรเลียมีประชากร ๒๒ ล้านคน  มีคนอยู่ในระบบอุดมศึกษา ๓ ล้าน  แบ่งเป็นในมหาวิทยาลัย ๑ ล้าน (๑ ใน ๔ มาจากต่างประเทศ)  และอีก ๒ ล้านอยู่ใน VET (Vocational Education)  เขาบอกว่ามีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยกับ VET จะเข้ามาชิดกันหรือเป็นเนื้อเดียวกัน
จะเห็นว่าเขามีมหาวิทยาลัยต่างประเทศมาประกอบกิจการที่ออสเตรเลีย  และมหาวิทยาลัยออสเตรเลียก็ไปเปิด แคมปัสในต่างประเทศด้วย  เขาบอกว่า สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ที่เป็นของเอกชน มีการเปิดมากมาย เชาใช้คำว่า เปิดเพิ่มทุกสัปดาห์ 
คำที่เขาย้ำคือมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ self-accrediting  คือรับรองคุณภาพของตนเอง  แต่เมื่อมี TEQSA เกิดขึ้นตามกฎหมาย  สภาพ self-accrediting ของมหาวิทยาลัยก็ถูกสั่นคลอน
ranking ของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ดูได้ที่นี่
ในการนำเสนอและพูดคุยกันที่ Universities Australia วันนี้ Professor Leo Goeegbuure ผู้อำนวยการของ LH Martin Institute ซึ่งอยู่ที่ U of Melbourne มาร่วมพูดคุยด้วย  ทำให้เราได้รู้จักสถาบันนี้  ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการและการกำกับดูแลอุดมศึกษา คล้ายกันกับสถาบันคลังสมองของชาติ  แต่ LHMI เป็นสถาบันที่จัดการศึกษา คือให้ปริญญาด้วย   ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นมี Graduate School of Education ด้วย 
วิจารณ์ พานิช
๔ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๑๓ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508223

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑. เตรียมตัว

การทำหน้าที่อุดมศึกษาในสภาพที่ฝ่าย “ผู้ใช้” (demand side) เป็นผู้กำหนดความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือแนวโน้มโลก และสภาพของไทยก็จะอยู่ในแนวโน้มเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะในการจับทิศทางความต้องการของ demand-side
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 1. เตรียมตัว

สถาบันคลังสมองของชาติ จัดการเดินทางไปร่วมประชุม The 7th annual University Governance and Regulations Forum ที่นครแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. 55   พร้อมทั้งดูงานมหาวิทยาลัยที่นั่น    ผมได้รับคำชวนให้ร่วมไปด้วย   และมีรายการดูงานด้าน Scholarship of Teaching and Learning ที่ ซิดนีย์ด้วย ในวันที่ 6-7 ก.ย.   รวม 3 งาน
เข้าไปดูหัวข้อการประชุมของ University Governance and Regulations Forum จะเห็นว่า เขาไม่พูดกันเฉพาะเรื่องการกำกับดูแล   เขาพูดเข้าไปในเนื้อของการทำหน้าที่มหาวิทยาลัย   เช่นเรื่องการทำหน้าที่อุดมศึกษาในสภาพที่ฝ่าย “ผู้ใช้” (demand side) เป็นผู้กำหนดความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ    นี่คือแนวโน้มโลก และสภาพของไทยก็จะอยู่ในแนวโน้มเดียวกัน   ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะในการจับทิศทางความต้องการของ demand-side   และในการสื่อสารร่วมมือกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่เขาเอามาพูดกันคือเรื่อง regional campus  ซึ่งหมายความว่า เขาต้องปรับตัวทำงานให้ตรงความต้องการของท้องถิ่น   ผมอยากรู้ว่าเขาปรับโครงสร้างการทำงานแค่ไหน   ผมเคยเสนอไว้ให้แก่คนชุมพรให้คิดวางโครงสร้างมหาวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักด์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมพร   และมีโครงสร้างตามประเด็นหลักๆ ที่ต้องการพัฒนา    ไม่ใช่จัดตามวิชา    จัดตั้ง “คณะพัฒนา” ไม่ใช่คณะวิชา    ตั้ง “ภาคพัฒนา” ไม่ใช่ภาควิชา    โดยที่หน่วยงานต้องมีอาจารย์หลายสาขาวิชาทำงานร่วมกัน   

วันที่สองของการประชุม เน้นเรื่องคุณภาพของอุดมศึกษา    ผมได้รู้จักหน่วยงาน TESQA ที่ชื่อก็บอกแล้วว่า สมศ. ของเราเรียนรู้จากเขา    แต่ของเขาแยกการดูแลอุดมศึกษาออกมา    เมื่อเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ TEQSA ก็รู้สึกว่าเขาทำงานต่างจาก สมศ.   คือ สมศ. ทำงานรับผิดชอบต่อรัฐ   แต่ TESQA ทำงานรับผิดชอบต่อนักศึกษา    เขาบอกว่า TEQSA’s primary aim is to ensure that students receive a high quality education at any Australian higher education provider.

    อ่านจาก เว็บไซต์ ที่นี่ จึงรู้ว่า TEQSA เพิ่งตั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เอง    และมีข้อสังเกตว่าเขาเอา Q นำหน้า S (คุณภาพนำหน้ามาตรฐาน)  แต่ของเรากลับกัน
มิน่า การประชุมถึงเอาเรื่อง risk มาไว้ปนกับ TEQSA   เพราะ TEQSA ตั้งใหม่   มีข้อกำหนดใหม่ที่มหาวิทยาลัยอาจไม่เข้าใจ และทำผิดกติกา เกิดเป็น compliance risk   และ quality risk    ผมจึงจ้องไปเรียนรู้มุมมองของออสเตรเลียต่อกระบวนการคุณภาพของอุดมศึกษา
เรื่องที่น่าสนใจมากกลายเป็นของแถม คือการไปดูงานเรื่อง scholarship of teaching ที่ ซิดนีย์   ซึ่งเอาเข้าจริงได้เรื่อง scholarship of engagement แถมมาด้วย   ผมได้เรียนรู้ว่าเขามีการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบขับเคลื่อนเรื่องทั้งสอง   ในด้านวิชาการด้านการเรียนการสอน มีเรื่องของ Institute for Teaching and Learning (ITL) University of Sydney ที่นี่   รวมทั้งมีการตั้งสมาคมนานาชาติด้วย คือ The International Society for the Scholarship of Teaching & Learning (ISSOTL)  ซึ่งเมื่อเข้าไปชมเว็บไซต์ ก็ไม่ประทับใจ   ดูเรื่องขององค์กรชื่อ Engagement Australia ได้ที่นี่   
ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยซิดนีย์ใหญ่มาก มี นศ. กว่า ๕ หมื่นคน และมี ๑๖ คณะ   คณะศึกษาศาสตร์เป็นหนึ่งใน ๑๖   แต่เขาก็ยังมีหน่วยงาน ITL ทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุณภาพการเรียนการสอนของทั้งมหาวิทยาลัย   และทำงานร่วมกับวงการนานาชาติด้วย 
จากเว็บไซต์ของ Engagement Australia ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย มีหน่วยงาน Office of Community Engagement (OCE)    ตรงกับที่ผมเคยเสนอไว้ที่นี่   
ผมได้เรียนรู้ว่า Engagement Australia เป็น ฟอรั่ม ที่มหาวิทยาลัยช่วยกันตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเข้าไปใกล้ชิดกับสังคมหรือบ้านเมืองมากขึ้น    ไม่ลอยตัวจากสังคม    และ EA ทำงานเน้นใน ๓ เรื่องคือ (1) Engaged research  (2) Engaged teaching  และ (3) Social responsibility   
ผมค้นไปค้นมาในเว็บไซต์ของ EA ไปพบหนังสือ The Engaged University : International Perspectives on Civic Engagement เขียนโดย Sir David Watson และคณะ   ค้นไปเรื่อยๆ ก็ได้ความรู้สึกว่า สมัยนี้สังคมทั่วโลกเริ่มตั้งข้อสงสัย หรือเสื่อมความนับถือต่อมหาวิทยาลัย ว่ามีประโยชน์ต่อสังคมแค่ไหน   มหาวิทยาลัยจึงต้องหันมาเอาใจใส่ปรับปรุงตัวเองในด้าน Social engagement   ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University ในสหรัฐอเมริกา มี Center for Civic Engagement
ทำให้ผมตีความว่า ปัญหาหอคอยงาช้าง หรือปัญหาลอยตัวหรือแยกตัวจากสังคม เป็นปัญหาของวงการศึกษาทุกระดับทั่วโลก   เพราะคนในวงการศึกษาบูชาความรู้หรือวิชา    ไม่ยกย่องเอาใจใส่ชีวิตจริงของผู้คนในสังคม   มองไม่เห็นคุณค่าของความรู้ที่ฝังแฝงอยู่กับการทำงานและการดำรงชีวิตร่วมกันเป็นชุมชนและสังคม
เป้าหมายสุดท้ายของการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงได้แก่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การ เป็นภาคีของการพัฒนาสังคมนั่นเอง
จากการทำความรู้จัก Sir David Watson ผมจึงได้รู้จัก Green Templeton College  ของมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด   และได้เรียนรู้วิธีปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยแห่งอดีตให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต   และGTC ทำหน้าที่เป็นแหล่งการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ในอนาคต    จึงเป็นสถาบันสหวิทยาการ ได้แก่วิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการ และสังคมศาสตร์    จะเห็นว่า Sir David Watson ผู้เคยเป็นอธิการบดี (ของมหาวิทยาลัย ไบรท์ตัน) มาแล้ว    มารับหน้าที่ Principal ของวิทยาลัย โดยไม่ถือเป็นการลดความสำคัญ 
วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/502409

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๕. การเดินทางของระบบประกันคุณภาพ

หลังเข้าร่วมประชุม The 7th annual University Governance and Regulations Forum ที่นครแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๔-๕ ก.ย.55 ที่นครแคนเบอร์รา  ออสเตรเลีย   ผมก็บอกตัวเองว่า หัวใจของเรื่องระบบประกันคุณภาพ ในบริบทไทย ส่วนที่สำคัญยิ่ง มี ๓ ประการ
๑. เป็น means ไม่ใช่ end  หรือเป็นการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง

๒. ไม่มีจุดจบ   คือต้องทำเรื่อยไป

๓. ตัวเอกคือผู้ทำงาน   ไม่ใช่หน่วยกำกับ
ระบบประกันคุณภาพเป็นการเดินทาง
          ระบบประกันคุณภาพอุดมศึกษาเป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดจบ   เป้าหมายคือการทำให้อุดมศึกษาเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง ในการพัฒนาประเทศชาติ    ระบบประกันคุณภาพที่เข้มแข็งไม่ใช่เป้าหมาย    ความเข้มแข็งหรือคุณภาพของอุดมศึกษาต่างหากที่เป็นเป้าหมาย

          ในการประชุมนี้ จึงมีคนออกมาเตือน   ว่าให้ระวังกรณีที่ TEQSA เข้มแข็งมาก มีอำนาจมาก และใช้อำนาจบังคับมาก    ลงรายละเอียดให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ จนต้องเสียเวลา คน และค่าใช้จ่ายปฏิบัติตามที่ TEQSA กำหนด    จนตัวคุณภาพและการสร้างสรรค์เองย่อหย่อน   เข้าทำนอง “ระบบประกันคุณภาพเข้มแข็งมาก  แต่ตัวคุณภาพจริงๆ อ่อนแอ”   ซึ่งเป็นสภาพที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ 
          ระบบประกันคุณภาพเป็นเครื่องมือ (means)  ไม่ใช่เป้าหมาย (end)
ระบบประกันคุณภาพไม่มีจุดจบ
          การประกันคุณภาพของทุกสิ่ง ทุกเรื่อง ไม่หยุดนิ่ง    เป็นเป้าเคลื่อนไหว หรือมีชีวิต     จึงมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามปัจจัยแวดล้อมมากมาย   การประกันคุณภาพของอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน
          แต่ที่สำคัญที่สุด ระบบประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาของแต่ละแห่ง จะต้องปรับตัวตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลง    เพื่อตอบสนองสังคม ในฐานะเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวเอกในระบบประกันคุณภาพคือผู้ทำงาน
          เมื่อเป้าหมายแท้จริงของระบบประกันคุณภาพคือผลงานหลักขององค์กร   ตัวเอกของระบบประกันคุณภาพจึงต้องเป็นผู้ทำงานประจำในองค์กร    ผู้ทำงานประจำเหล่านี้จึงควรเป็นเจ้าของระบบประกันคุณภาพ    และใช้กลไกประกันคุณภาพมารับใช้ตน ให้สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา
          หน่วยงานใดสร้างการบวนทัศน์นี้ได้ ระบบประกันคุณภาพจะไม่เป็นตัวกดขี่หรือสร้างความทุกข์แก่คนทำงาน   แต่จะมีผลในทางตรงกันข้าม
นวัตกรรมของกระบวนการพัฒนาคุณภาพ

          การพัฒนาคุณภาพมีความหมายกว้าง    ไม่ใช่เพียงดูที่ตัวคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น   แต่ยังต้องดูที่ประสิทธิภาพ และดูที่ความพึงพอใจของผู้ทำงานเองด้วย   ระบบประกันคุณภาพ จึงสู้กระบวนการพัฒนาคุณภาพไม่ได้    กระบวนการพัฒนาคุณภาพให้ความหมายกว้างกว่า    และเน้นบทบาทของผู้ทำงานมากกว่า    รวมทั้งเปิดโอกาสให้การทำงานประจำเป็นการพัฒนาคุณภาพไปพร้อมๆ กัน    มีผลให้คนทำงานอยู่ในบรรยากาศเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา    การทำงานประจำที่มีการพัฒนาคุณภาพฝังอยู่ภายในเป็นส่วนหนึ่ง   เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการเรียนรู้   


          ในกระบวนการทั้งหมดนี้ หากสร้างบรรยากาศของการทำงานและการเรียนรู้ ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   เน้นการทดลองและค้นพบนวัตกรรม    การทำงานประจำนั้นเองจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้ในลักษณะ “นวัตกรรมยกกำลังสอง”   คือนวัตกรรมในการทำงาน และนวัตกรรมของระบบประกันคุณภาพ


วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ย.​๕๕
ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505354

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การลอกข้อสอบ: ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด




การทำข้อสอบเป็นประสบการณ์ของผู้ที่เคยเรียนหนังสือทุกคน การคุมสอบก็เป็นภารกิจที่เกิดขึ้นควบคู่กัน การสอบด้วยการทำข้อสอบเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่นำมาใช้คัดเลือกและตัดสิน ผลการเรียน หรือความสามารถ และการก่อให้เกิดสิทธิ์ต่างๆ ตามมาให้กับผู้ผ่านการสอบ ผู้เข้าสอบจึงพยายามทำข้อสอบให้ได้คะแนนมากที่สุดเพื่อการได้สิทธิ์ หรือผลของการสอบตามที่ปรารถนา

การสอบที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการ สอนในสถาบันการศึกษามีระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศว่าด้วยการสอบ และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามที่ระบุไว้ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถ้ามีการพบว่านักศึกษาทุจริตในการสอบ โดยเฉพาะการสอบกลางภาค และการสอบปลายภาค นักศึกษาผู้นั้นจะถูกปรับให้ตกในรายวิชานั้น และไม่ตรวจผลการเรียนในรายวิชาอื่นที่ลงทะเบียนในภาคเรียนนั้น รวมทั้งให้พักการเรียนในภาคการศึกษาต่อไป การลงโทษลักษณะนี้ดูจะรุนแรง แต่ได้กระทำต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี บางปีมีผู้ปกครองมาอุทธรณ์ ร้องเรียนถึงการลงโทษที่รุนแรง แต่คณะกรรมการได้พิจาณาลงโทษยืนตามที่เคยปฏิบัติกันมาเพราะถือว่านักศึกษา รับรู้ และรับทราบตั้งแต่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม โทษที่กำหนดไว้ไม่อาจเป็นโทษทางอาญาได้เลย หมายถึงจะเอาไปลงโทษจำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์ไม่ได้ (โทษทางอาญามี 5 ประการได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์)

ส่วนการลงโทษในระดับโรงเรียน หรือการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น แต่เดิมอาจใช้การเฆี่ยนตีหน้าเสาธง เพื่อการประจานให้เข็ดหลาบ ยังมีครูจำนวนหนึ่งเลือกที่จะใช้วิธีการเฆี่ยนตี แต่ปัจจุบันการเฆี่ยนตีนักเรียนไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ยิ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องหามาตรการลงโทษอื่นๆ ที่เหมาะสม และเลือกนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมเป็นรายกรณีไป

แต่การสอบ ที่ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ผู้สอบยังไม่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่ไปเข้าสอบ รวมทั้งการสอบแข่งขันต่างๆ เพื่อบรรจุเป็นพนักงาน ข้าราชการในทุกระดับ ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าการลอกข้อสอบเป็นความผิด การพิจารณาความผิดต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด หลักกฎหมายที่นักกฎหมายทราบกันดีตามภาษิตกฎหมายคือไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด” (มาจากภาษาลาตินว่า “nulla poena sine lege”) เป็นหลักกฎหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติเป็นหลักการสากลว่าจะมีโทษสำหรับผู้กระทำการอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมายมิได้สอดคล้องกันกับภาษิตที่ว่า "ไม่มีความผิดถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (มาจากภาษาลาตินว่า nullum crimen sine lege) (There must be no punishment except in accordance with the law.) ทั้งสองมาจากภาษิตเต็มว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน"

ดังนั้น การลอกข้อสอบ และกระบวนการทุจริตในการสอบจึงต้องพยายามหากฎหมายที่อาจปรับใช้เพื่อการลง โทษผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิด ซึ่งมีความยากลำบาก และไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลาและกำลังของเจ้าหน้าที่มาทำคดีแบบนี้ นอกเสียจากจะพบว่ามีการใช้อุปกรณ์สื่อสาร ก็อาจใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีและใช้อุปกรณ์สื่อสารนั้น ส่วนกระบวนการหลอกลวง เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการสอบมีกฎหมายเอาผิดได้อยู่แล้ว แต่ความผิดจากการลอกข้อสอบ ยังไม่มีระบุไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติว่าเป็นความผิด เมื่อไม่มีฐานความผิดก็ไม่มีผู้สนับสนุนให้ทำความผิด ผู้สมรู้ร่วมคิดก็ไม่อาจมีได้เช่นกัน จึงไม่อาจลงโทษทางอาญากับผู้ลอกข้อสอบได้

แนวทางการปฏิบัติทุกวันนี้ เป็นมาตรการป้องปราม เช่น นำเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจจับวัตถุมาติดตั้ง การตัดสัญญาณมือถือ การค้นตัวผู้เข้าสอบ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจคอยควบคุมความสงบเรียบร้อย และเมื่อพบการกระทำทุจริตในการสอบก็แจ้งให้ตำรวจนำตัวออกไปด้วยอำนาจของเจ้า พนักงานตำรวจที่ให้อำนาจไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และต้องปล่อยตัวไปเมื่อการสอบเสร็จสิ้น ไม่อาจแจ้งข้อหากระทำผิดจากการลอกข้อสอบได้ นอกจากมีเหตุอันควรสงสัยอื่น ๆ

การ สอบด้วยข้อสอบยังคงมีอยู่อีกต่อไป และกระบวนการคุมสอบโดยใช้ผู้คุมสอบ (Proctor) ทำหน้าที่คุมสอบได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาช้านาน ต้องใช้งบประมาณ และกำลังคนอย่างมากในการจัดการสอบ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาวิจัยทดลองใช้กล้องวงจรปิดคุมสอบนักศึกษาระดับบัณฑิต ศึกษา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พบว่า นักศึกษา เกรงกลัวการใช้กล้องวงจรปิดในการคุมสอบมากกว่าการใช้ผู้คุมสอบ โดยผู้เข้าสอบมีการรักษาระเบียบวินัยในการสอบอย่างดีเมื่อรู้ว่ามีกล้องวงจร ปิดตรวจจับอยู่ตลอดเวลา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ยากจะปฏิเสธ และถ้าจับได้ว่าลอกข้อสอบการถูกสังคมลงโทษน่าเกรงกลัวกว่าการลงโทษตาม ระเบียบเสียอีก

ข้อเสนอสำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการลอกข้อสอบในการ ทำข้อสอบนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น การใช้เทคนิคการออกข้อสอบ และทำข้อสอบแบบต่างๆ อาจมีทั้งยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งผู้ที่ทำงานด้านการศึกษามีความรู้และความเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันการลอกข้อสอบอย่างได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็สามารถทำได้ แต่วิธีที่ง่ายและเป็นไปได้ก็อาจนำมาใช้ได้ผลตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น ในปัจจุบันนี้การทำข้อสอบด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล สามารถทำข้อสอบเฉพาะบุคคลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากนัก และค่าใช้จ่ายนั้นผู้สอบสามารถรับผิดชอบเป็นภาระของผู้สอบได้ เพราะข้อสอบส่วนมากจะเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบหลายตัวเลือก

สมมติว่าถ้า ข้อสอบมีจำนวน 100 ข้อ มีผู้เข้าสอบ 100,000 คน ก็สามารถทำข้อสอบได้ 100,000 ชุดครบตามจำนวนผู้เข้าสอบโดยแต่ละชุดไม่ซ้ำกันด้วยค่าใช้จ่ายเท่าๆ เดิมกับการทำข้อสอบ 2-3 ชุด ให้ผู้เข้าสอบจำนวน 100,000 ทำข้อสอบอย่างเช่นปัจจุบัน และการตรวจข้อสอบที่มีคำตอบถูกต้องต่างกันทั้ง 100,000 ชุดไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเมื่อใช้คอมพิวเตอร์การบริหารจัดการ

การ สอบเป็นความสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการลอกข้อสอบ หรือทุจริตการสอบ หน่วยงานที่ไม่มีประสบการณ์ทางการจัดสอบ แต่ต้องทำการจัดสอบเองเช่น การสอบบรรจุเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมาก การบริหารจัดการสอบควรให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์มาจัดการสอบ เริ่มตั้งแต่รับสมัคร และการกำหนดรหัส หมายเลขประจำตัว และสถานที่สอบ และรายวิชาที่ต้องสอบ ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการโกงการสอบ ลอกข้อสอบ หรือทุจริตการสอบต่างๆ ไม่อาจทำได้ง่ายนัก เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีการจัดสอบนักศึกษาจำนวนมากเป็นประจำย่อมสะสมความรู้และมี Best Practice สำหรับการปฏิบัติในการบริหารจัดการ การสอบได้อย่างดี ส่วนต้นสังกัดของผู้ที่จัดการสอบมีหน้าที่ออกข้อสอบวัดคุณสมบัติที่พึง ประสงค์ให้เท่านั้น นอกนั้นให้ผู้ที่มีความชำนาญจัดการให้ โดยไม่ต้องมีพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสอบก็ได้

สิ่งที่เป็น สาระสำคัญสำหรับการบริหารจัดการกระบวนการสอบและมาตรการการป้องกันการลอกข้อ สอบ หรือ ทุจริตในการสอบควรเน้นการป้องกันมากกว่าการปราบปรามและเอาผิดกับผู้เข้าสอบ

ไทยรัฐออนไลน์
  • โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
  • 12 พฤศจิกายน 2555, 09:55 น.

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แฉ... การศึกษาไทยตกต่ำ ติดอันดับ 7 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

วง เสวนา แฉ... การศึกษาไทยตกต่ำ ติดอันดับ 7 ในกลุ่มประเทศอาเซียนขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาใช้สูงที่สุดวอนไม่อยากเห็น การคอรัปชั่น-ทุจริตในแวดวงการศึกษาไทย

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดเสวนาเรื่อง “การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 " โดยมีผู้ร่วมการเสวนาดังนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธาน คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่าในยุคนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ยุคนี้ผู้คนจะยากลำบากจากการที่มีมากล้น และตกอยู่ในมายาของระบบทุนนิยม การตลาดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนโหมกระหน่ำบริโภคและคนก็จะเข้าสู่ประชานิยม มากขึ้น เด็กในโลกปัจจุบันจะเปลี่ยนไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่และจะอยู่กับเทคโนโลยี ไอซีทีวันละหลายๆชั่วโมง ซึ่งทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีแต่ขอให้อยู่กับเรื่องที่สร้างสรรค์ ต้องทำให้เทคโนโลยีเอื้อต่อการเรียน ไม่ใช่เอื้อต่อการที่เด็กจะเสียคน ความรู้ที่มีอยู่ต้องสามารถเปลี่ยนมันได้ การเรียนที่ครูคุ้นเคยกับการสอนก็ต้องเปลี่ยน มิใช่การเอาความรู้มาใส่ไว้ในตัวเด็กเพียงแค่นั้น การเรียนในยุคที่ 21 ไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้นที่เด็กจะได้ แต่ต้องลงมือทำให้ได้ เรียนโดยการปฏิบัติให้ได้จึงสำคัญมาก การลงมือปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดปัญญาและทำให้มีทักษะชีวิต

“ในศตวรรษที่ 21 ผมอยากเห็นครูที่มีจิตวิญญาณมีความเป็นครู ครูที่ภูมิใจและเห็นคุณค่าในความเป็นจริง ไม่ใช่คิดอะไรเพียงแค่เงินเดือน ชีวิตครูต้องมีคุณค่ามากกว่านั้น และผมไม่อยากเห็นการคอรัปชั่น และการทุจริตในระบบการศึกษาไทย เพราะมันทำให้การศึกษาล้าหลังและไม่ก้าวหน้า”

รศ.ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันอาศรมศิลป์ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ) กล่าวว่า ตัวเองไม่ใช่นักการศึกษา จบสถาปนิกมาแต่เชื่อว่าสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้เด็กไทยได้ จึงหาญกล้ามาตั้งโรงเรียน ส่วนการบริหารวิชาการในโรงเรียนเราก็ไม่ยึดติดแต่หลักสูตรที่กระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) วางเอาไว้ แต่เรามองกรอบและจัดการเรียนการสอนและออกแบบการเรียนการสอนของเราเอง พบว่าเด็กมีศักยภาพมากเพราะโรงเรียนรุ่งอรุณ เน้นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาได้จริง นอกจากนี้ต้องทำให้ความรู้ที่เด็กได้รับเข้าไป เป็นความรู้ขาออกที่เขาสามารถนำออกไปบอกเล่าและแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างที่เด็กเรียนต้องมาจากโจทย์จริงๆ และมีความหมายกับชีวิตของพวกเขา ที่โรงเรียนเรียนเพียงแค่ 5 คาบวิชา สิ่งที่เราเน้นย้ำให้เด็กได้ทำคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เด็กในโรงเรียนต้องทำความสะอาดโรงเรียนนอาคารเรียน ห้องเรียนได้ทุกคน และในแต่ละชั้นเรียนต้องทำอาหารกินกันเอง โดยจัดเวรมาทำให้เพื่อนๆ ได้กินกัน ถึงยุคนี้การเรียนต้องเปลี่ยนไปได้แล้ว อย่าจัดการศึกษาแบบฝันๆ หรือจัดแบบคุณหนูที่เด็กทำอะไรไม่เป็น ขอให้เลิกสักที ห้องเรียนตำราเรียนในทุกวันนี้คือกรงขังแห่งปัญญา ติดอยู่ในนั้นเด็กไทยก็สู้ชาติไหนไม่ได้ ผลการสำรวจจาก 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 7 เราชนะแค่ประเทศลาวและเขมรเท่านั้น หากแต่เมื่อพูดถึงการใช้งบประมาณในการจัดการศึกษาของประเทศ พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณในด้านการศึกษาสูงที่สุด แต่ผลที่ได้อยู่เกือบอันดับสุดท้ายในกลุ่มอาเซียน

ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยไปไม่ถึงไหนเพราะเราติดกรอบระบบราชการมาก แม้ว่าเราจะมีโรงเรียนที่สอนนอกกรอบในตำราอยู่ แต่ครูต้องรู้จักที่จะบูรณาการ อย่าเรียนแต่ในตำรา แต่ต้องลงมือทำจึงจะทำให้เด็กไทยพัฒนา ทั้งนี้ครูต้องรู้จักที่จะตัดทิ้งเนื้อหาที่ไม่ควรเรียนไม่เหมาะกับยุคสมัย ในปัจจุบันออก เพราะเรียนไปมันก็เหมือนขยะ

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ (สพฐ.) สพฐ เน้นหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมและมุ่งเน้นให้ทุกวิชาเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เราเน้นให้หลายโรงเรียนเปิดสอนภาษาญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส สเปน ต้อนนี้เรามีโรงเรียนระดับ World Class Standard school อยู่ประมาณ 500 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นความเป็นสากล เน้นให้นักเรียนคิดเป็น เรียนเป็นภาษาอังกฤษ สอนความเป็นพลเมืองของโลก  


แหล่งข้อมูล :: PR SWU   ประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2555

http://education.enn.co.th/5252

เมื่อต้องสอนในเรื่องที่ตนเองไม่รู้



  การเป็น อาจารย์ใหม่มีความคาดหวังว่าจะได้สอนในรายวิชาที่ตนเองถนัด และเชี่ยวชาญ แต่ความเป็นจริงส่วนมากแล้วกลับต้องสอนในรายวิชาที่ไม่เคยรู้ หรือไม่เคยเรียนมาก่อน เพราะการเป็นผู้มาใหม่ต้องยอมรับว่าผู้อยู่มาก่อน หรือ อาจารย์เก่าส่วนมากจะสอนในรายวิชาที่อาจารย์ใหม่ต้องการสอนอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นรายวิชาที่อาจารย์ใหม่ได้รับมอบหมายให้สอนจึงเป็นรายวิชาที่หาคนสอน ไม่ได้ หรือ เหลือล้นจากอาจารย์เก่าที่แบ่งมาให้กับอาจารย์ใหม่

ปรากฏการณ์ แบบนี้เกิดขึ้นทั่วไปในทุกระดับการศึกษา และทั่วทุกภูมิภาคของโลกถ้าเป็นสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานการปรับ ตัวของอาจารย์ใหม่อาจไม่มากนัก เพราะเนื้อหาวิชาส่วนมากไม่ซับซ้อนลึกซึ้ง และอาจารย์ใหม่อย่างน้อยก็เคยรู้เคยเรียนมาบ้าง ถึงแม้จะไม่เชี่ยวชาญก็ตาม นอกจากนั้นตำแหน่ง ครูผู้ช่วยที่บรรจุแต่งตั้งก็เป็นการสอบคัดเลือกตามสาขาวิชาที่ต้องการของสถานศึกษา ส่วนมากอาจารย์ใหม่เหล่านั้นจะได้สอนในรายวิชาที่ใกล้เคียง หรือในสาขาวิชาที่ตนเองได้รับการบรรจุแต่งตั้ง

แต่ในสถานศึกษาระดับ อุดมศึกษาที่มีหลายคณะวิชา หลายภาควิชา หลายหลักสูตร และหลายรายวิชา ดังนั้นอาจารย์ใหม่อาจได้รับมอบหมายให้สอนในรายวิชาที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเรียน มาก่อน อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่บรรยายเนื้อหาสาระหน้าห้องเรียนให้นักศึกษาฟัง อาจเพิ่งอ่านหรือค้นคว้าเนื้อหาสาระมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือเมื่อวันวานก่อนบรรยาย แล้วนำมาสอนนักศึกษาตามที่ตนเองไปอ่านหรือค้นคว้ามาในระยะเวลาไม่นาน เช่น เดียวกับวิทยากรที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายบางท่านรับคำเชิญไปบรรยายในเรื่อง ที่ตนเองไม่เคยรู้ไม่เคยเรียนมาก่อนเช่นกัน

ในสหรัฐอเมริกาการที่ อาจารย์ต้องสอนในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเรียน หรือไม่เชี่ยวชาญนั้นเกิดจากสถานศึกษาไม่สามารถจ้างอาจารย์ที่มีความเชี่ยว ชาญได้ เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจของสถานศึกษา และธรรมชาติการหมุนเวียนเพื่อรับอาจารย์ใหม่เข้ามาสู่สถานศึกษา รวมทั้งการพยายามใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้มากที่สุด ประกอบกับปรัชญาและความเชื่อบางประการที่ยอมรับในความสามารถของผู้จบปริญญา ขั้นสูงว่าเป็นผู้ที่ปัญญาดี ฉลาดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว สามารถแสวงหาความรู้ได้ สามารถเป็นผู้รู้ได้ทุกเรื่องในเวลาที่รวดเร็ว อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจึงต้องสามารถสอนในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้ไม่เคยเรียนมา ได้

สำหรับประเทศไทย บริบทของสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยทั้งในสังกัดและในกำกับของรัฐรวม ทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนมีความคล้ายคลึงกัน แต่อาจมีความแตกต่างกับสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศโดยเฉพาะ ในสหรัฐอเมริกาอยู่บ้างในด้านของกระบวนการจ้างงานหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง อาจารย์และความสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์กับคณาจารย์และคณาจารย์กับนักศึกษา อีกทั้งแหล่งความรู้ที่ใช้สำหรับการค้นคว้านั้นสหรัฐอเมริกามีแหล่งความรู้ และเป็นต้นแบบของความรู้หลายด้านมากกว่าในประเทศไทย ทำให้การศึกษาค้นคว้าอาจใช้เวลาน้อยลงเพราะอาจารย์มี “Information Literacy” หรือ การรู้สารสนเทศมากกว่า

ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “Teaching What You Don’t Know” ของ Therese Huston จากสำนักพิมพ์ Harvard University Press ซึ่งได้วิเคราะห์ช่องว่างของการสอนระหว่าง อาจารย์ใหม่ที่มีความรู้ในเนื้อหาที่สอนน้อยหรือไม่เคยรู้ไม่เคยเรียนมาก่อน (Content Novices) กับ อาจารย์เก่าที่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาที่สอนเป็นอย่างดี (Content Experts) โดย Huston (เธอเป็นสตรี) ได้ทำการศึกษาจากคณาจารย์จำนวน 28 ท่านในหลายสาขาวิชาและหลายสถาบันการศึกษา พบข้อดีจากการสอนของอาจารย์ใหม่ และให้ข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

ประการ แรก อาจารย์ใหม่หรือผู้ที่เป็น Content Novices มีการประเมินเวลาที่ใช้สำหรับการทำงานที่มอบหมายให้ผู้เรียนเป็นจริงมากกว่า หมายความว่าอาจารย์ใหม่ให้เวลานักศึกษาพอเพียงและพอดีกับที่นักศึกษาจะต้อง ทำรายงานหรือชิ้นงานที่อาจารย์มอบหมายมากกว่าอาจารย์เก่าหรือผู้ที่เป็น Content Experts นอกจากนั้น Huston ยังเสริมอีกว่า ในการศึกษาของเขามีกรณีหนึ่งที่ อาจารย์เก่าประมาณเวลาที่ใช้สำหรับทำงานให้สำเร็จคลาดเคลื่อนจากความเป็น จริงมาก มากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำงานนั้นประมาณการเสียอีก

ประการที่สอง อาจารย์ใหม่ดีกว่าอาจารย์เก่าในเรื่องของการทำนายขั้นตอนการทำงานของผู้ที่ ได้รับมอบหมายให้ทำงานครั้งแรกได้ดีกว่าอาจารย์เก่า โดยที่อาจารย์ใหม่สามารถทำนายหรือคาดหมายขั้นตอนการทำงานที่จะใช้ในการเริ่ม ต้น ขั้นตอนของความผิดพลาด และขั้นที่ต้องกลับมาทำซ้ำอีกได้อย่างชัดเจนและแม่นยำกว่า

ประการที่ สาม อาจารย์ใหม่เชื่อมโยงเนื้อหาสาระเข้าสู่ชีวิตประจำวัน ความรู้พื้นฐาน ความรู้เดิมของผู้เรียนได้ดีกว่าอาจารย์เก่า เพราะอาจารย์ใหม่ไม่ตกอยู่ในกรง (Vault) ของความรู้เชิงลึกที่มีความเฉพาะด้านมากนัก ผิดกับอาจารย์เก่าที่มีความรู้มาก ลึกซึ้ง ทำให้ไม่กล้าเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับชีวิตประจำวัน ความรู้พื้นฐาน หรือความรู้เดิมได้เพราะรู้และตระหนักในข้อจำกัดและข้อยกเว้นที่ไม่อาจ เชื่อมโยงหรือเปรียบเทียบกับความรู้พื้นฐาน หรือความรู้เดิมได้อย่างสมบูรณ์

อย่าง ไรก็ตาม Huston ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการสอนของอาจารย์ใหม่ที่สามารถนำไปสู่ขั้นมีคุณภาพที่ ดีเยี่ยมไว้ว่า การสอนที่ดีนั้นส่วนมากจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงหรือความเข้าใจร่วมกันว่าเป็นการ หาวิธีการจัดโครงสร้างและการถ่ายทอดความรู้ที่ซับซ้อนไปสู่ผู้เรียน ซึ่งหมายถึงการสอนให้สามารถครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วนตามหลักสูตร

เมื่อ อาจารย์ใหม่ได้รับมอบหมายให้สอนในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง สิ่งที่อาจารย์ใหม่ให้ความสำคัญมากคือ การพยายามสอนให้ครบถ้วนครอบคลุมเนื้อหา และมักจะถือว่าเป็นการสอนที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ของการประเมินการสอน โดยละเลยการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน และอาจารย์ใหม่ส่วนมากไม่ยอมเสียสละเวลาในการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะอื่น ๆ นอกจากพยายามทำให้สามารถสอนได้ครบถ้วนและทันกับระยะเวลาในแต่ละภาคเรียน

การ ที่พยายามสอนให้ทัน ครอบคลุมเนื้อหา จนกลายเป็น ทาสของเนื้อหา” (Slaves to Content Coverage) ไม่ใช่หมายความว่าจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ดี ขอให้อาจารย์ใหม่ทั้งหลายให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย ไม่เพียงแต่การพยายามทำการสอนให้เป็นไปตามแผนการสอนอย่างเดียว

สำหรับ ประเทศไทย อาจารย์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้สอนรายวิชาที่ไม่เคยรู้หรือไม่เคยเรียนมา ก่อน อาจได้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัยของ Huston และเพิ่มความมั่นใจให้กับอาจารย์ใหม่ที่ต้องสอนในเนื้อหาสาระที่ตนเองไม่ เชี่ยวชาญ การพัฒนาอาจารย์เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลามาก อาจารย์ใหม่อาจค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองจากการสอน หรืออาจสนใจสิ่งที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อนและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในอนาคต ก็เป็นได้


โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ 
ที่มา : http://www.thairath.co.th/edu