วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

สศช.เผยการศึกษาไทยเหลื่อมล้ำ คนจนเรียน"คุณภาพต่ำ-ราคาสูง"

วงถกแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ สศช. เผยโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน มิหนำซ้ำยังมีปัญหาคุณภาพการศึกษา ขณะที่เด็กนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำแต่ต้องจ่ายแพง แนะปรับขนาด "โรงเรียน-ห้องเรียน" ช่วยลดต้นทุนต่อหัวได้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมประจำปี 2557 เรื่องการพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งในงานได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย : การศึกษาและตลาดแรงงานตอบโจทย์อย่างไร
โดยในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษานั้น นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในมิติการศึกษานั้นพบว่า ด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษามีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับการศึกษาสูงขึ้น
เขากล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำของโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสูงกว่าในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด ร้อยละ 10 ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีไม่ถึงร้อยละ 5 ขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีได้กว่าร้อยละ 60
นายปรเมธี กล่าวว่า ส่วนทางด้านคุณภาพการศึกษามีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างภูมิภาค โดยผลการเรียนของเด็กในภาคอีสานอยู่ในระดับต่ำที่สุดในทุกด้าน ขณะที่รายจ่ายทางการศึกษาของภาครัฐต่อหัวยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และกลุ่มคนที่ไม่จน
ด้าน นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาหลักของการศึกษาไทย คือ คะแนนสอบมาตรฐานต่ำ โดยประเมินจากข้อสอบระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษามีอยู่สูง โรงเรียนจำนวนมากมีขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนเล็กเกินไป (ขาดแคลนครูและมีต้นทุนสูง) ขาดแรงจูงใจในการจัดการ และระบบการศึกษาไทยขาดความรับผิดชอบต่อเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ขณะที่อัตราการเกิดที่ลดลงทำให้จำนวนนักเรียนลดลงอย่างมาก ส่วนจำนวนครูและโรงเรียนไม่สอดคล้องกัน โดยสัดส่วนนักเรียนต่อครูจึงลดลงจากประมาณ 35 : 1 ในปี 2514 เหลือประมาณ 15 : 1 ในปัจจุบัน ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ใช่การขาดแคลนครู แต่เป็นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรครูอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรยังส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกว่า 1 ใน 4 ของห้องเรียนไทยมีขนาดเล็กกว่า 10 คน
ปรับขนาดห้องช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อหัว
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า จังหวัดที่รวยกว่า ยิ่งมีขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการบริหารจัดการให้มีขนาดห้องเรียนใหญ่ที่เหมาะสมจะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่อหัวลงมาได้อย่างมาก
เขากล่าวถึงผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนต่อนักเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนทางการศึกษาเฉลี่ยต่อนักเรียนสูง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนต่อนักเรียนสูงมาก โดยต้นทุนต่อนักเรียนลดลงมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อโรงเรียนมีขนาดถึง 500 คน เทียบกับจำนวนน้อยกว่า 50 คน และเมื่อขนาดชั้นเรียนเพิ่มขึ้นถึง 35 คนต่อห้อง ต้นทุนต่อนักเรียนลดลง 25 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง สามารถให้การศึกษาที่มีคุณภาพสูง เมื่อพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ ส่วนมากนั้นเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
คนจนเรียนแพงแถมคุณภาพต่ำ
ทั้งนี้ปัญหาของโรงเรียน และชั้นเรียนที่มีขนาดเล็กเกินไป คือ นักเรียนจำนวนมากต้องเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดคุณภาพ มีครูไม่ครบระดับชั้นและไม่ครบวิชา ครูมีประสบการณ์และคุณวุฒิไม่มาก รวมทั้งอัตราการขอย้ายสูง นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ภายในห้องเรียน คุณภาพวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่พอเพียงพอ และโรงเรียนที่มีขนาดเล็กยังทำให้ต้นต่อนักเรียนสูงมากด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์ คือ เด็กนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาที่คุณภาพต่ำ แต่มีราคาแพง
จี้แก้จริงจังก่อนช่องว่างเหลื่อมล้ำเพิ่ม
นายธงชัย ชิวปรีชา กรรมการมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้คนฐานะยากจน ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มีความเหลื่อมล้ำมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องเริ่มเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ อย่าไปพูดว่าได้ทำแล้ว แต่ต้องทำอย่างจริงจัง โดยเริ่มดูแลตั้งการปฏิสนธิ อย่างการตั้งครรภ์ เช่น การให้อาหารเสริมต่างๆ อีกทั้งต้องมีค่าชดเชย จากการหยุดงานไปตรวจครรภ์เมื่อเด็กคลอดออกมา จนกระทั่งวัย 0-5 ปี ควรที่จะมีศูนย์เด็กเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นถ้าเราดูแลเป็นอย่างดีตั้งก่อนท้องจนถึงเกิดทุกขั้นตอนก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา
"การไปช่วยคนเหล่านี้ เท่ากับเราช่วยลูกหลานเราในอนาคต หากยังไม่เข้าไปช่วย นับไป 50 ปี ก็อาจจะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
เสนอลดขนาดโรงเรียน สพฐ.
ขณะที่การศึกษาควรจูงใจครูที่อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ให้ไปกระจายตัวตามโรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ ให้ทั่วถึง จะเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาได้ดี ถ้าเป็นไปได้ลดขนาดของโรงเรียน สพฐ. เพราะเยาวชนมักจะเรียนต่อสายสามัญ ไม่กล้ามาเรียนสายอาชีพ
ดังนั้นควรเลิกเรียก ปวช. เปลี่ยนไปเรียกชื่ออย่างอื่นได้หรือไม่ แต่ให้มีการสอนเหมือนเดิม นอกจากนี้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นควรให้รู้จักอาชีพต่างๆ จะได้มีแนวทางเพื่อเลือกอาชีพในอนาคต รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาปรับปรุงอย่างแท้จริง
ธ.ทหารไทยเห็นต่างเหลื่อมล้ำดีขึ้น
ส่วน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศเราจะพัฒนาไปข้างหน้าเท่าไร ความเหลื่อมล้ำก็เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ไขกันต่อไปและไม่มีวันจบสิ้น
เขากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม การทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งในประเทศใดๆ ก็ไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการรับผิดชอบในการแก้ไขเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยค่อนข้างแย่ลง ซึ่งขัดกับการวิจัยที่มองว่าความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาที่ยังคงมีอยู่ จึงมองว่าความเหลื่อมล้ำนั้นแย่ลงเรื่อยๆ และมีประเด็นมากมาย ดังนั้นเราต้องกลับมามองดูต้นตอของปัญหามากกว่า
ติงการศึกษาเน้นให้จบ-ไม่เน้นคุณภาพ
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยถือว่าล้มเหลวมาก เพราะไม่สามารถสร้างบุคลากรที่เป็นความต้องการในตลาดแรงงาน เราเน้นด้านจบการศึกษามากกว่าทำให้คุณภาพขาดหายไป ทำให้ภาคเอกชนเวลารับสมัครงานจึงต้องเลือกสถาบัน แม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะระบบการศึกษาไทยไม่มีคุณภาพ
ภาคเอกชนบางส่วนเลือกมากขึ้น ถึงขั้นหากมีคนจบต่างประเทศหรือคนจบไทยมาสมัครงาน ก็อาจจะเลือกคนจบต่างประเทศ ทั้งที่ระบบการศึกไทยแข่งขันได้ดีกว่า ดังนั้นควรเน้นด้านทักษะมากขึ้น โดยตลาดแรงงานบอกความต้องการไปยังอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาประสานงานกับภาคเอกชนมากขึ้น
ชี้ศก.ไทยไม่ชัดเจนส่งผลพัฒนาแรงงาน
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะไปทางไหน เช่น เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม และเรายังบอกว่าไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร จะมีการพัฒนาจะด้านไหน เพราะการพัฒนาแรงงานเป็นการวางแผนระยะยาว เราต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยมองตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของปัญหา


         ดังนั้นจึงอยากเสนอให้สภาพัฒน์ฯ เข้ามาเติมเต็มบทบาทเรื่องนี้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ การตั้งเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจน และติดตามประเมินผลต่อเนื่อง เช่น ต้องลดส่วนต่างของสัดส่วนรายได้ลงให้เหลือ 15 เท่า หรือเพิ่มการถือการถือครองที่ดินชุมชนให้ครอบคลุม 5 เปอร์เซ็นต์ และสามารถสร้างภาคีเครือข่ายลดความเหลื่อมล้ำเพื่อทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com//home/detail/politics/education/20140929/607867/ศึกษาไทยปมเหลื่อมล้ำคุณภาพ-ราคา.html

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

5 ข้อดีในการโพสต์เฟซบุ๊กในแบบสาธารณะ เหตุผลที่ควรโพสต์แบบสาธารณะ มีอะไรบ้างมาดูกัน


          ในกลุ่มคนที่เล่นเฟซบุ๊ก มีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมโพสต์สเตตัสหรือรูปภาพต่าง ๆ โดยตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้เห็นเฉพาะเพื่อนเท่านั้น ทำให้คนอื่นที่ไม่ได้แอดเป็นเพื่อนไว้ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องการความเป็นส่วนตัวทั้งนั้น แต่ก็มีเหตุผลบางประการที่ทำให้เราควรโพสต์เฟซบุ๊กให้สามารถมองเห็นได้แบบสาธารณะ (Public) บ้างในบางครั้ง อยากรู้กันแล้วล่ะสิว่าเหตุผลที่ว่านั้นคืออะไร เรามาดูเหตุผลทั้ง 5 ข้อจากเว็บไซต์gizmodo.com กันเลยดีกว่า

1.  เพื่อให้คนอื่นจำเราได้ ถ้าหากมีเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานหลายปี หรือญาติห่าง ๆ ที่ตามหาเราในเฟซบุ๊ก แต่ถ้าเราโพสต์ทุกอย่างไว้แบบให้เพื่อนเห็นได้เท่านั้น บุคคลเหล่านั้นก็อาจไม่สามารถรู้ได้ว่านั่นเป็นเฟซบุ๊กของเราหรือไม่ นอกจากจะใช้รูปโปรไฟล์ที่เห็นใบหน้าเราอย่างชัดเจน แต่ถ้าหน้าตาเปลี่ยนไปจากอดีตมากก็จำไม่ได้อยู่ดี...

2. เพิ่มโอกาสในการหางาน ถ้าหากบริษัทที่เราไปสมัครงานให้ระบุที่อยู่เฟซบุ๊กของเราด้วย เพื่อใช้ในการพิจารณา ซึ่งถ้าเราโพสต์ทุกอย่างให้เห็นได้แค่เพื่อน ผู้พิจารณาก็จะไม่เห็นอะไรในเฟซบุ๊กของเราเลย แต่ถ้าหากเราโพสต์สิ่งที่แสดงถึงด้านดีของตัวเราให้เห็นได้ในแบบสาธารณะ ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสได้งานบ้างไม่มากก็น้อย

3. เพื่อโปรโมทผลงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เราขาย หรือภาพถ่าย ภาพวาด ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือของเราเอง มันคงจะน่าเสียดายไม่น้อยหากโพสต์ให้เพื่อนเรามองเห็นได้เท่านั้น แต่ถ้าหากโพสต์แบบสาธารณะก็อาจมีคนแชร์ผลงานของเราให้คนทั่วโลกเห็น ไม่แน่เราอาจจะดังหรือมีแมวมองมาสนใจซื้อของหรือจ้างงานเราก็ได้นะ

4. มีโอกาสพบปะผู้คนมากขึ้น การที่เราโพสต์สเตตัสหรือรูปภาพในแบบสาธารณะนั้น ช่วยคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเพื่อนเรา โดยเฉพาะเพื่อนของเพื่อน ที่จะได้เห็นโพสต์ของเราเมื่อเพื่อนเรามากดไลค์หรือคอมเมนต์ ซึ่งไม่แน่ว่าเขาอาจจะมีความคิดเห็นดี ๆ มาแลกเปลี่ยนกับเรา หรืออาจชอบอะไรเหมือน ๆ กับเราจนได้เป็นเพื่อนกันในเวลาต่อมาก็เป็นได้

5. ใช้เฟซบุ๊กของเราเป็นเสมือนหน้าเว็บ สำหรับแชร์เนื้อหาที่เราต้องการเผยแพร่ในแบบสาธารณะ เนื่องจากเฟซบุ๊กอนุญาตให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในแต่ละโพสต์ได้ และมีลิงก์ของแต่ละโพสต์เสมือนกับเป็นหน้าเว็บหน้าหนึ่ง เราก็สามารถโพสต์เนื้อหาในแบบสาธารณะแล้วนำลิงก์ไปเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกราวกับเป็นหน้าเว็บของเราเองเลยทีเดียว


ที่มา : http://fbguide.kapook.com/view97905.html

การศึกษาไทยแค่ปฏิรูปไม่พอ..ต้องผ่าตัดทั้งระบบ

         จากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิก 144 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งเป็นรายงานของ โกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ต 2014-2015 โดย World Economic Forum พบว่า คุณภาพการศึกษาไทยถดถอยไปอีก 9 อันดับ โดยเฉพาะการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานอยู่ลำดับที่ 86 ของโลก เป็นที่ 7 ของอาเซียนโดนประเทศลาวแซงหน้าไปแล้ว ส่วนระดับอุดมศึกษา ตกไปอยู่อันดับ 8 ของอาเซียนแพ้กัมพูชาและลาวเช่นกัน ผลออกมาเช่นนี้ก็น่าแปลกใจไม่น้อย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาปีละกว่า 5 แสนล้านบาท รัฐมนตรีก็เปลี่ยนบ่อยจนจำชื่อไม่ได้ ข้าราชการซี 11 มีถึง 5 คน ซี 10 อีกเกือบร้อย ครูผู้สอนก็จบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาโท ดอกเตอร์ก็มีไม่น้อย โรงเรียนส่วนใหญ่ก็มีความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี กว่าหลายประเทศด้วยซ้ำไป มหาวิทยาลัยปิดของไทยต่างแย่งคัดหาเด็กเก่งเข้าเรียน ส่วนเด็กเองก็เรียนพิเศษแบบไม่มีวันพัก ทำไมคุณภาพจึงตกต่ำลงทุกปี ส่วนการจะไปอ้างว่าวิธีวัดไม่มีมาตรฐานก็ไม่ได้ เพราะอีก 143 ประเทศก็ใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามัวเห่อวิชาการ ยึดติดอยู่กับปริญญาจนทำให้การพัฒนาหลงทาง 
        ซึ่งจะไปกล่าวโทษครูไม่มีคุณภาพ สอนไม่เป็น ไม่รู้จักพัฒนาตนเอง ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะครูส่วนใหญ่ยังต้องทำงานตามนโยบาย และคุณภาพชีวิตเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย หลายฝ่ายต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาการทำงานด้านการศึกษาต่างฝ่ายต่างคิดต่างทำอยู่ผลถึงเป็นเช่นนี้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องผ่าตัดยกเครื่องเรื่องระบบการศึกษาชาติใหม่ เพราะคงจะทำแค่ปฏิรูปแก้ปัญหาจิ๊กซอว์อย่างที่ผ่านมาคงไม่ทันการณ์ โดยการผ่าตัดครั้งใหม่นี้จะต้องทำกันทั้งระบบแบบบูรณาการอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดไว้ คือ ต้องมีหน่วยงานหลัก หน่วยงานรอง หน่วยงานเสริม ทำหน้าที่รับผิดชอบส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างจริงจังต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ คุณภาพชีวิตของเด็ก สำหรับปัญหาการศึกษาที่รอให้แต่ละหน่วยงานต้องเร่งผ่าตัดมาอยู่หลายปัจจัย  
       โดยมีภาครัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนที่หน่วยงานระดับภาคปฏิบัติทำได้ยาก เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ใช้มานานจึงน่าจะถึงเวลาแก้ไขในส่วนที่ทำให้การพัฒนาติดขัด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดงานประเภทใช้งบประมาณมาก เพิ่มภาระงานให้ครูมากแต่ผลออกมาไม่คุ้มค่าก็ควรยกเลิกหรือหาวิธีการใหม่ที่ดีกว่ามาใช้แทน เช่น การประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการมาแล้ว 3 รอบ และผลการประเมินของโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ออกมาก็รู้ ๆ กันอยู่ คือ ผู้บริหารเยี่ยม ครูเยี่ยม แหล่งเรียนรู้เยี่ยม แต่ผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร และกระบวนการคิด วิเคราะห์ของเด็กปานกลางจนถึงต่ำ เมื่อสรุปเป็นภาพรวมแล้วส่วนใหญ่จะผ่านการประเมินและได้รับรอง หรือการวัดผลด้วยข้อสอบ O-NET ที่ทุกฝ่ายอยากให้คะแนนเพิ่มสูงขึ้นจนครูไม่น้อยพากันสอนข้อสอบ O-NET แทนสอนตามหลักสูตรทำให้ปีหลัง ๆ คะแนนเพิ่มขึ้นสมใจ แล้วทำไมคุณภาพการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติจึงกลับถอยหลังยิ่ง
กว่าปีก่อน ๆ เข้าไปอีก นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ครูขาดแคลน โรงเรียนที่
         มีความพร้อมยังไม่ได้เป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง ขาดโรงเรียนเฉพาะทางที่จะสร้างเด็กสู่ความเป็นเลิศ กฎหมายเรียนฟรี ที่ให้เหมือนกันหมดไม่ว่าคนจนหรือคนรวย หรือแม้แต่โครงสร้างที่ทำให้การบริหารการบริการด้อยประสิทธิภาพก็ควรได้รับการแก้ไขด้วย และกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเจ้าภาพหลักคงมีเรื่องให้แก้ไขและพัฒนามากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร คุณภาพบุคลากร วิธีสอน วิธีจัดสรรงบประมาณไม่ให้กระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง ลดหรือเลิกกิจกรรม โครงการ การอบรม สัมมนา งานโชว์ งานประกวด หรือให้ภาคปฏิบัติดำเนินการแทน หาวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องทำให้เด็กต้องมุ่งอยู่กับการเรียนพิเศษ การมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยส่งเสริมด้านอาชีพที่สอดรับกับตลาดแรงงานของประเทศให้มากขึ้นพร้อมทำ MOU กับสถานประกอบการเพื่อรับประกันการมีงานทำให้กับผู้เรียน ควรนำวิธีการสอบตกซ้ำชั้นมาใช้ เพื่อฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบและมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น การกำหนดเกรดที่จะเรียนต่อสายสามัญ เพื่อให้เด็กสู่สายอาชีพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น 
      ส่วนกระทรวงอื่น ๆ ก็คงต้องช่วยกันทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กอย่างจริงจังเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย เพราะปัญหาทุพโภชนาการของเด็กนอกจะส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังส่งผลถึงสติปัญญาด้วย เพราะจากผลการวิจัยโครงการสำรวจภาวะโภชนาการสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน ( South East Asia Nutrition Survey) ปี 2554-2555 ในเด็กอายุระหว่าง 0.5–12.9 ปี พบว่า เด็กไทยกำลังประสบกับทุพโภชนาการ ขาดธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินดีและแคลเซียม ทำให้เด็กอ้วน เติบโตช้า ไอคิวต่ำ ซึ่งปัจจุบัน ไอคิวเด็กไทยก็อยู่แค่ 90-92 ต่ำกว่ามาตรฐาน เรื่องนี้คงปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียนไปจัดแค่อาหารกลางวันอย่างเดียวคงไม่ได้ เด็กต้องรับประทานอาหาร 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าไม่ว่าลูกคนจนหรือคนรวยมักมีปัญหาพอ ๆ กัน คนจนจะไม่มีปัจจัยหาอาหารครบ 5 หมู่ได้ ส่วนคนรวยอยู่ในเมืองเจอกับปัญหาจราจรต้องตื่นเช้ามืดเด็กต้องกินข้าวขณะที่ยังงัวเงียอยู่หรือไม่ก็ต้องกินบนรถทำให้กินได้น้อย สายหน่อยพอหิวก็จะหาขนมขบเขี้ยวและน้ำหวานมาดื่มกิน ถึงมื้อกลางวันก็จะกินได้น้อยเพราะยังอิ่มอยู่จะหิวอีกครั้งตอนเลิกเรียนก็จะหาขนมขบเขี้ยวน้ำหวานมากินอีกเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ ปัญหาเด็กอ้วน ไอคิวต่ำ จึงเพิ่มขึ้นทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเด็กที่เกิดจากแม่วัยใสหรือเด็กหญิงแม่ที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถิติการเกิดของเด็ก 120,000 คนต่อวัน จะมาจากแม่วัยใส ถึง 15,000 คน หากรวมกับกลุ่มที่เกิดในชุมชนแออัด พื้นที่ห่างไกล ที่ตกสำรวจคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย เมื่อแม่วัยใสส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปทั้งการกิน การเล่น การเที่ยว การที่จะใส่ใจเรื่องสารอาหารให้ลูกอย่างมีคุณภาพจึงเกิดได้น้อย นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กยากจน ปัญหาอบายมุขรอบตัวเด็ก ปัญหาการหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยี หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง และท้ายสุดก็คงหนีไม่พ้น ผู้ปกครอง เพราะคุณภาพชีวิตบุตรหลานของตนเอง จะปล่อยให้เป็นภาระแต่ฝ่ายอื่นแล้วตนเองมุ่งอยู่กับการทำมาหากิน ก็คงไม่ถูก ผู้ปกครองจะต้องช่วยอบรมดูแลด้านความประพฤติ ความรับผิดชอบ เพราะหากลูกตนเองยังเอาไม่อยู่แล้วจะให้ครูหรือหน่วยงานอื่นเอาอยู่คงเป็นไปได้ยาก
      ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายต่างทราบกันดีแล้วว่าคุณภาพชีวิตของเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยมาร่วมกันสร้างและพัฒนา ไม่ใช่อะไรก็ให้ไหลไปกองอยู่ที่โรงเรียนอย่างเดียวครูก็คงทำไม่ไหว เมื่อมีกระจกบานใหญ่จากภายนอกสะท้อนให้เห็นภาพตัวเราเองว่ามีปัญหาอยู่ที่จุดใดเช่นนี้ก็คงไม่มีใครเขามาแก้ไขให้ได้นอกจากคนไทยด้วยกันเอง คงจะมัวมารอฮือฮาตอนผลประเมินออกมาแถมชี้นิ้วโทษฝ่ายโน่นฝ่ายอย่างที่ผ่านมาน่าจะพอได้แล้ว เพราะหากแต่ละฝ่ายยังคิดว่าธุระไม่ใช่รับรองว่าไม่ได้เห็นคุณภาพการศึกษาไทยติดแค่อันดับโหล่ของอาเซียนเท่านั้น แต่จะไปอยู่ท้าย ๆ ตารางของเวทีโลกด้วย.
กลิ่น สระทองเนียม

10 เคล็ดลับการเรียนรู้ภาษาแบบง่ายๆ ที่เพื่อนๆอาจจะนึกไม่ถึงมาก่อน!!

การเรียนภาษาอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆแล้วมีวิธีมากมายที่จะทำให้การเรียนภาษานั้นไม่เป็นเรื่องที่ดูยากและน่าเบื่อ ซึ่งในวันนี้ผมก็มี 10 เคล็ดลับการเรียนรู้ภาษาแบบง่ายๆ ที่เพื่อนๆหลายคนจะต้องนึกไม่ถึงมาก่อนแน่ๆ ลองไปดูกันเลยครับ

lang

1. แปะโน๊ดคำศัพท์ไว้บนสิ่งต่างๆ
เขียนคำศัพท์แปะไว้บนสิ่งของต่างๆในบ้าน พอเห็นบ่อยๆ ก็จะจำได้เอง
2. ฟังเพลง
ไม่ใช่ว่าสักแต่ฟัง แต่ต้องหาคำแปลของเนื้อเพลงด้วยนะ ถ้าคิดว่าฟังเพลงอาจจะยังไม่พอ ก็ให้ร้องไปด้วยเลย
3. พูดคุยกับคนต่างชาติหาเพื่อชาวต่างชาติคุยด้วย อาจจะเป็นการแชทออนไลน์ก็ได้ ฝึกพูดบ่อยๆจะได้เก่ง
4. จีบคนต่างชาติถ้าแค่คุยกับคนต่างชาติแล้วยังไม่พอ ก็หาแฟนชาวต่างชาติไปเลย ถ้าจะไม่เก่งภาษาก็ให้รู้ไป
5. เข้าร้านอาหารลองเข้าร้านอาหารต่างชาติดู อย่างน้อยก็จะได้ฝึกคำศัพท์เกี่ยวกับร้านอาหารไม่มากก็น้อย
6. เปลี่ยนภาษาในโซเชี่ยลมีเดียถ้าหากว่าคุณใช้เวลาเล่น Facebook หรือ Twitter ทั้งวัน ลองเปลี่ยนเป็นภาษาอื่นดู จะช่วยในการฝึกภาษาได้เยอะเลย
7. ดูหนังวิธีง่ายๆแต่ได้ผลดี โดยเฉพาะกับคนที่ชอบดูหนัง อาจจะเปิดซับไตเติ้ลช่วยด้วยก็ได้ในช่วงแรก
8. ทดสอบตัวเองหมั่นทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับภาษา หรือตั้งคำถามง่ายๆให้ตัวเองลองทายเล่นดูบ้าง
9. คุยกับตัวเองเป็นภาษานั้นลองคุยกับตัวเองเป็นภาษานั้นๆ เช่น ”I’m going to the store.” “The soup is very hot.”
10. ไปเที่ยวต่างประเทศไปสัมผัสกับสังคมที่ใช้ภาษานั้นจริงๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้ภาษา



ที่มา http://www.wegointer.com/2014/09/10lernlang/