วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

HR กับการปรับตัวรับมือ AEC

การเปิดเสรีแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2558 มีผลให้แรงงานใน 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ งานทันตแพทย์ งานแพทย์ งานพยาบาล งานบัญชี งานวิศวกรรม งานสถาปัตยกรรม และงานการสำรวจสามารถโยกย้ายได้อย่างเสรี เมื่อแรงงานในประเทศและนอกประเทศสามารถโยกย้ายเข้าออกได้อย่างเสรีแล้ว HR ผู้มีหน้าที่ใน การบริหารงานบุคคล ต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้างสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ องค์กรข้ามชาติอาจเข้ามาแย่งพนักงานของคุณ หรือองค์กรคุณเองอาจเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน จึงควรมีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับตัวทางด้านวัฒนธรรม พัฒนาทักษะใน งาน HRพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของเราให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งการรักษาคนเก่งไม่ให้สมองไหลออกไปยังต่างประเทศด้วย
          สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงทักษะความรู้ที่ HR ต้องพัฒนาเพื่อรับมือ AEC ไว้ดังนี้
ทักษะด้านภาษา
          โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทั้งโอกาส และอุปสรรคสำคัญของคนไทยในการแข่งขันกับคู่แข่ง องค์กรจึงควรมีการพัฒนาบุคลากรในด้านภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียมคู่แข่ง และสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติได้อย่างราบรื่น
กระบวนการทำงาน
          หลายฝ่ายในองค์กรอาจต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ตำแหน่งงานและคุณสมบัติของคนทำงานเปลี่ยนไป ซึ่ง HR จะมีส่วนร่วมในการดูแลพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีศักยภาพเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ
วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
          เมื่อต่างชาติเข้ามาในไทย เขาจะนำเอาวัฒนธรรมบางอย่างเข้ามาด้วย พนักงานจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้แต่ความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกัน
วัฒนธรรมขององค์กร
          เมื่อกลายเป็นองค์กรแบบ Multi-Culture อาจมีวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม เช่น การจ่ายผลตอบแทน หรือการเลื่อนตำแหน่ง ที่มองตามความอาวุโส แม้คนไทยส่วนใหญ่จะชอบให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเปิดการค้าเสรีแล้ววัฒนธรรมนี้จะทำให้คนเก่งแต่อาวุโสน้อยหนีหายไปจากองค์กรได้
การรักษาคนให้อยู่กับองค์กรได้นานๆ
          เมื่อองค์กรข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย เขาก็จะมองหาบุคลากรท้องถิ่นที่มีความสามารถเข้าไปร่วมงานด้วย ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะได้เปรียบในเรื่อง การให้ค่าตอบแทน ที่สูงกว่าบริษัทคนไทย ทั้งยังมีการจูงใจในเรื่องโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศอีกด้วย HR จึงต้องพยายามทุกวิธีทางในการเก็บรักษาพนักงานคนเก่งไว้ให้ได้ หาจุดเด่นขององค์กร เช่น สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน บรรยากาศในการทำงาน งานที่ท้าทาย โอกาสก้าวหน้า และอื่น ๆ เพื่อดึงดูดพนักงานเหล่านี้เอาไว้
สำหรับตัว HR เอง ต้องมองงานของตนให้กว้างขึ้น
          ในอนาคตองค์กรอาจรับชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานด้วย ดังนั้น HR อาจต้องดูแลเพิ่มในเรื่องของสวัสดิการของพนักงานต่างชาติที่อาจจะต้องมีเพิ่มมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ HR ยังต้องเข้าใจถึงการเปรียบเทียบในเชิงต่าง ๆ เช่น ในเชิงการศึกษา หากมีชาวต่างชาติบอกว่าการศึกษาสูงสุดของเขา คือการสอบ GCE O Level ที่สิงคโปร์ HR ต้องเข้าใจว่า GCE O Level ของสิงคโปร์นั้นเทียบเท่ากับมัธยม 6 ของเมืองไทย เป็นต้น
ที่มา : คอลัมน์ HR Talks จดหมายข่าวรายเดือน Productivity Corner เมษายน 2555 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

การเตรียมความพร้อมของคนหางานก่อนก้าวเข้าสู่ AEC

      พร้อมแล้วหรือยังกับการก้าวเข้าสู่ AEC มีคนกล่าวว่ายิ่งเรามีความพร้อมมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งก้าวไปได้เร็วกว่าคนอื่น ๆ ในโลกของการทำธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน หากใครมีความพร้อมมากกว่าย่อมไปถึงเส้นชัยได้ก่อน คนทำงานจึงต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่จะได้เหนือกว่าผู้แข่งขันคนอื่น ๆ เพราะเมื่อเกิดการรวมตัวของคนที่มากขึ้น การแข่งขันย่อมมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          คนทำงานต้องเตรียมตัวอย่างไร? มีสิ่งใดบ้างที่คนทำงานต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเข้าสู่  AEC เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว และไม่น้อยหน้าคนหางานคนอื่น ๆ ในอาเซียนด้วยกัน การเตรียมความพร้อมอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้สามารถทำงานเข้ากับสังคมที่มีการปรับตัวรับ AECได้อย่างไร้อุปสรรค
ภาษาอังกฤษคือภาษากลาง
          เมื่อเกิดการรวมตัวกันของคนจากหลายชาติหลายภาษา ภาษาอังกฤษในอาเซียนจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นภาษากลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น คนทำงานจึงต้องเข้าใจภาษาอังกฤษ ไม่ใช่เพียงพูดได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจความหมายของภาษา และเข้าใจการสื่อความหมายในการทำงานด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว การทำงานกับเจ้านายชาวต่างชาติอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และอาจจะต้องพบกับปัญหาในการทำงานได้ ผู้ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่า จึงค่อนข้างได้เปรียบกว่าคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
ปรับวัฒนธรรมการทำงาน
          ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนที่มาจากหลากหลายที่เข้ากันได้ยาก เมื่อเกิดการรวมตัวของ AEC ขึ้น สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ องค์กรไม่ควรมองข้าม คือการปรับวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อให้คนหลากหลายกลุ่มเข้ากันได้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหตุผลที่ต้องมีการปรับวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อให้คนทำงานแม้จะเป็นคนต่างชาติต่างภาษาก็สามารถทำงานร่วมกันได้ บางครั้งบริษัทอาจจะต้องปรับกฎเกณฑ์ของบริษัทในบางอย่าง เพื่อให้คนในอีกวัฒนธรรมหนึ่งสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างไม่ติดขัด
รักษามาตรฐานการทำงาน
          ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันในการทำงานที่สูงขึ้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับการมาของ AEC คนทำงานเก่งอาจจะถูกแย่งตัวไปทำงานให้กับบริษัทอื่นในประเทศเดียวกัน หรือบริษัทต่างชาติก็เป็นได้ เรียกได้ว่าคนที่ทำงานดีที่สุด จะถูกจับตามองจากนายจ้าง โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนชาติเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน คนทำงานเองก็ต้องรักษามาตรฐานการทำงานให้คงเส้นคงวา ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจจะตกเป็นเป้าหมายของนายจ้างในการปลดออก เพื่อเลือกคนทำงานที่เก่งกว่าเข้ามาแทนที่ได้ พนักงานที่มีความสามารถจึงค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องความมั่นคงในการทำงาน
ปรับวิธีคิดในการทำงาน
          วิธีคิดในการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป หากคนทำงานไม่รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้เข้ากับรูปแบบการทำงานที่แตกต่างออกไป คนทำงานต้องรู้จักเปลี่ยนวิธีคิด และรับเอามุมมองแบบใหม่มาใช้แก้ปัญหา เพราะวิธีคิดและการทำงานแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป บางครั้งเราต้องดูว่านายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงานคนใหม่มีแนวคิดอย่างไร เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องกันมากขึ้น อีกทั้ง การปรับวิธีคิดยังช่วยให้เราได้รับความรู้แบบใหม่ ซึ่งเราสามารถนำมาใช้กับการทำงานในครั้งต่อไปได้
          พร้อมแล้วหรือยังสำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมแบบใหม่ สังคมการทำงานแบบ AEC ซึ่งเราอาจจะต้องเตรียมตัว และเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น เพื่อให้เข้ากับกลุ่มคนในสังคมใหม่ เข้ากับสังคมการทำงานแบบใหม่ เมื่อเรามีความรู้ความสามารถเพียงพอแล้ว ความมั่นใจในการทำงานก็เป็นสิ่งที่ตามมา ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมั่นคง

STREAM Approach – แนวคิดบริหารการศึกษาแบบบูรณาการ

        เราเชื่อว่า “วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” เป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์นี้ ช่วงหลังมานี้ นักการศึกษาไทยมักกล่าวถึง STEM Education (Science Technology Engineering Maths) ว่าจะเป็นเครื่องมือในการสมรรถภาพในการแข่งขันให้คนไทยในตลาดโลกได้ ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างวิชาใหม่ชื่อ STEM ขึ้นมา แต่จะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้ต่อยอดจากการเรียนเพื่อเรียน ให้เด็กและเยาวชนคิดต่อได้ เช่น จากเรียนวิทย์ สามารถต่อยอดสู่การทำโครงงาน สู่การสร้างนวัตกรรมได้ เป็นต้น

        ในฐานะคนทำหนังสือ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การอ่าน (Reading) และศิลปะ (Arts) จึงนำมาสู่ STREAM ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราคิดค้น แต่เราเอา STREAM มาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ STREAM Approach ในแบบฉบับนานมีบุ๊คส์ขึ้น
        ลองยกตัวอย่างนะคะ หากเราเป็นครูวิทย์ นอกจากจะสอนเนื้อหาตามแบบเรียนปกติแล้ว เราจะมีบทบาทส่งเสริมการอ่านอย่างไร เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปสู่การแก้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างไร เชื่อมโยงไปสู่สังคมที่เราอยู่อย่างไร นี่คือการบูรณาการ
       เช่น หากเราสอนเรื่องเพนดูลัม ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป. 3 หากเราไม่เชื่อมโยง คำว่า “เพนดูลัม” จะไม่มีนัยยะสำคัญอะไรกับชีวิตเลย แต่หากเราเริ่มการเรียนรู้โดยการให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ อาจพูดถึงโทรทัศน์ โทรศัพท์ ที่ไม่พลาดคือนาฬิกา เพราะทุกคนใส่ เราก็สามารถเชื่อมต่อได้ว่า นาฬิกาทำงานได้อย่างไร บ้างอาจบอกว่าใส่ถ่าน บ้างอาจบอกว่าต้องเสียบปลั๊ก แต่สุดท้ายครูสามารถเชื่อมสู่เรื่องเพนดูลัมได้ แต่หากจะให้ทำความเข้าใจจากแบบเรียนอย่างเดียว คงไม่เห็นภาพ ครูสามารถพาเด็ก ๆ ทำการทดลองต่อได้ หากสนุก ยังพาทำโครงงานต่อได้อีก ทั้งหมดนี้ เด็ก ๆ สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือในห้องสมุด แม้กระทั่งแนะนำให้เด็ก ๆ อ่านวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาก็ได้ หรือพาเด็ก ๆ ไปทัศนศึกษาต่อที่โรงงานทำนาฬิกาหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ได้
      หากครูสอนแบบ STREAM Approach ครูจะมีบทบาทที่เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับเรื่องรอบตัวเด็ก ทำให้เนื้อหามีความหมายกับชีวิต ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว และที่สำคัญ หากครูตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ก็จะรู้ว่า เด็กแต่ละคนถูกปลุกเร้าให้เรียนรู้หรือเข้าใจด้วยสื่อที่แตกต่างกัน บางคนฟังแล้วเข้าใจ บางคนต้องได้ทำเองจริง บางคนต้องไปศึกษาต่อเงียบ ๆ คนเดียว บางคนต้องไปเห็นของจริงนอกโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบ STREAM Approach ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ครูแต่ละคนสามารถไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสอนวิทย์-คณิตเท่านั้น แม้จะสอนสังคม ในที่นี้เราเรียกว่า Social Science ก็ถือว่าเป็นวิทย์แขนงหนึ่งเหมือนกัน เช่น เหมือนสอนเรื่องภูมิอากาศ เกี่ยวกับพาทอร์นาโดหรือไต้ฝุ่น มันเชื่อมกับเรื่องแรงดันอากาศในวิทย์ เชื่อมกับผลกระทบในสังคม หรือแม้กระทั่งเชื่อมกับหนังสือ “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ” ด้วยซ้ำ
     สำคัญคือ หากเป้าหมายการเรียนรู้รวมถึงทั้งเรื่องเนื้อหาและทักษะสำคัญที่กล่าวตอนต้น เวลาครูจะออกแบบการเรียนรู้อะไร อาจต้องคิดถึงวิธีการและเครื่องมือด้วย และถึงแม้ท่านผู้อ่านไม่ได้เป็นครู แต่ทำงานในองค์กร เชื่อว่าน่าจะนำ STREAMApproach ไปปรับใช้ได้เหมือนกัน

แนวคิดการปฏิรูปการศึกษา ในศตวรรษที่ 21 Changing Education Paradigms


รูปภาพ
ในขณะนี้ ทุกๆประเทศอยู่ในช่วงของการเร่งการปฏิรูปการศึกษา   สาเหตุนั้นมีอยู่ 2   ประการ
อย่างแรกคือเรื่องของเศรษฐกิจ : ผู้คนพยายามขบคิดเรื่องนี้อยู่ว่า เราจะให้การศึกษากับลูก ๆ เราอย่างไรให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21
เรื่องที่ 2 คือวัฒนธรรมทุกคนบนโลกนี้พยายามคิดอยู่ว่า เราจะให้การศึกษากับลูกๆอย่างไรให้เข้ากับเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ
เราจะตีกรอบให้วงจรการศึกษาทั้ง 2 เรื่องนี้ให้เข้ากับยุคโลกาภิวัฒน์อย่างไร
     ปัญหาคือ พวกเขาพยายามเชื่อมอนาคตด้วยสิ่งที่เขาทำในอดีต เมื่อสมัยที่เราไปโรงเรียนจะถูกสอนเสมอว่า เรียนให้หนัก ทำข้อสอบให้ได้ดี ได้เข้ามหาลัยและมีงานทำ แต่ลูก ๆ เรากลับไม่เชื่ออย่างนั้นเมื่อไปถึงอนาคต ไม่ว่าจะมีใบปริญญาหรือไม่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จบมาคุณจะมีงานทำ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงเริ่มคิดที่จะพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้น ทำไมจะไม่ล่ะ? ทำไมเราต้องไปลดมันลงล่ะ

     ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือระบบการศึกษาในปัจจุบันถูกออกแบบและคิดโครงสร้าง โดยคนอีกยุคหนึ่งที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คนคิดระบบกับคนเรียนอยู่คนละยุคกันระบบนี้ถูกเรียกว่าวัฒนธรรมทางปัญญาของการรู้จริง กับสภาวะเศรษฐกิจ และวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาของรัฐ ได้รับเงินอุดหนุนจากระบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องจ่าย แบบจำลองทางสติปัญญาของจิตใจ บ่งบอกถึง ความฉลาดที่แท้จริง ซึ่งประกอบไปด้วย
1. การให้เหตุผลในเชิงนิรนัย/วิธีการใช้เหตุผล ที่ค่อยๆ เริ่มจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย
2. ความรู้ตามแบบฉบับ
    ทั้ง 2 สิ่งนี้ทำให้เกิด “ความสามารถทางวิชาการ” กลายเป็น Gene pool ของระบบการศึกษาของรัฐ ทำให้เราแบ่งคนได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.ได้เรียนหนังสือ
2.ไม่ได้เรียนหนังสือ
ก็คือ คนฉลาดกับไม่ฉลาด
      ซึ่งทำให้คนอัจฉริยะที่ไม่ได้เรียนหนังสือคิดว่าตนเองโง่ โดยยึดถือตามกรอบความคิดนี้ ซึ่งระบบนี้ไม่ได้มองถึงความสามารถในการรับได้ของคนเลย ทีนี้ เรามาสรุปว่า ระบบการศึกษาของรัฐประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เศรษฐกิจและระดับสติปัญญาซึ่งในความเห็นของผมคิดว่า “แบบจำลองนี้เป็นสาเหตุของความวุ่นวาย”
       ผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นโมเดลบนผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและเป็นภาพสะท้อนของมันซึ่งผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง  โรงเรียนถูกจัดระบบการเรียนการสอนแบบสายพานของโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มจากมีเสียงออกเรียกเข้าเรียน มีการแยกสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในโรงเรียน แบ่งเป็นแผนกเป็นวิชาๆ เรายังคงให้การศึกษากับเด็กๆ โดยการแบ่งพวกเขาเป็นกลุ่มๆ เราสร้างระบบโดยแยกเด็กไว้เป็นกลุ่ม เป็นปีๆ ทำไมเราถึงทำแบบนั้นล่ะเมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษา เราก็ได้นักเรียนที่เรียนจบออกมาในรุ่นนั้นๆ การทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตเลย
ถ้าหากที่กล่าวมาคือมาตรฐานการศึกษาแล้วล่ะก็ ผมจะกล่าวถึงมาตรฐานการศึกษาแบบใหม่ในทิศทางตรงกันข้ามอย่างแท้จริง ผมจะเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่เป็น “Divergent Thinking” Divergent Thinking ไม่ใช่สิ่งเดียวกับความคิดสร้างสรรค์ ผมขอนิยามมันว่า เป็นกระบวนการของความคิดริเริ่มที่มีคุณค่า Divergent Thinking ไม่ใช่คำคุณศัพท์มันคือส่วนที่สำคัญในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ หมายความว่าเราสามารถหาคำตอบที่เป็นไปได้ อย่างหลากหลายในคำถามเดียว เป็นการคิดแนวข้าง /Think Laterally ตามแนวคิดของ DE BONO ไม่ใช่การคิดแบบ Linear Thinking หรือ Convergent Thinking สรุปคือ คำตอบต้องมีหลากหลายไม่ใช่เพียงคำตอบเดียว ถ้ายกตัวอย่าง Gene Pool Education เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความแตกต่างในการรับรู้ของมนุษย์
     เราจำเป็นต้องก้าวออกมาจากกรอบความคิดเดิม ที่แบ่งแยกคน คนนี้ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรม   คนนี้ชอบหลักการเหตุผล สิ่งยอดเยี่ยมที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้คือ การเรียนรู้เป็นกลุ่ม การร่วมมือกัน คือสิ่งที่สำคัญของการพัฒนา และถ้าเราลองแยกกลุ่มนั้นออกมา หมายถึงแตกทั้งกลุ่มออกมาเป็นคนเดี่ยวๆ วัฒนธรรมเดิมจะทำให้เกิดการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ต่างจากเดิม ที่วัฒนธรรมการศึกษาเป็นลักษณะแบบอุตสาหกรรมการศึกษา และสิ่งแวดล้อมเดิมที่พวกเขายังคงทำอยู่ต่อไป
 

ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21

ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่เขียนโดย ศ. น.พ.วิจารณ์ พานิชได้กล่าวว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C

– 3R ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้) และ (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)
– 7C ได้แก่ Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
– Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
– Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
– Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
– Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
– Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
– Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
ดังนั้นทักษะของคนต้องเตรียมคนออกไปเป็น knowledge worker โดยครูเพื่อศิษย์นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 19 ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ (learning person) ไม่ว่าจะประกอบ สัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ และเป็น คนทำงานที่ใช้ความรู้ แม้จะเป็นชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษ ที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (learning skills)
ครูเพื่อศิษย์เองต้องเรียนรู้ 3R x 7C และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง โดยย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน” ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ facilitator ของการเรียนของศิษย์ ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL คือโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเลิกเน้นสอน หันมาเน้นเรียน เน้นทั้งการเรียนของศิษย์ และของครู

หลักการบริหารงานแบบ Kaizenm

Kaizen หรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนั้น แบ่งกว้างๆ ออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะการปรับปรุง คือ

1.การรักษามาตรฐานการปฏิบัติงาน
          ทุกองค์การต้องมีเป็นพื้นฐานแม้ว่าองค์การจะมีมาตรฐานการปฏิบัติงานแต่ในความเป็นจริงก็มีหน่วยงานย่อยไม่น้อยที่ไม่ได้ทำตามมาตรฐานที่มี คำถามคือ ทำไมหรือ ผู้คนจึงไม่ทำตามมาตรฐานที่มี เหตุผลที่พอจะพบในความเป็นจริงคือ
– ความไม่ทันยุคทันสมัยของมาตรฐาน ที่เป็นเช่นนี้คือการขาดการปรับมาตรฐาน เพราะคิดว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่ปรับไม่ได้ แท้จริงแล้วคิดแบบนี้ถือว่าผิดถนัดเลยครับ มาตรฐานเป็นสิ่งที่คนเขียนขึ้นดังนั้นคนนั่นแหละที่จะต้องปรับแก้ให้ทันสมัย
– ความที่มาตรฐานนั้นขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ปกติมาตรฐานการปฏิบัติงานใดๆต้องมีวัตถุประสงค์ของงานที่ชัดเจน เมื่อชัดเจน ตัวมาตรฐานเองจะเป็นแนวทางที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายที่ง่ายขึ้น
– มาตรฐานขาดความยืดหยุ่น ทำผู้คนที่ปฏิบัติตามรู้สึกอึดอัดในการปฏิบัติ
– มาตรฐานเป็นเหมือนกฎ ที่พร้อมจะให้แหก เพราะหากใครแหกได้ มักจะเด่น อันเป็นความคิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม่ได้ (คนไทยก็แปลก ชอบยกย่องคนที่แหกกฎได้ว่า “เก่ง” เช่นยกย่อง ศรีธนญชัย ว่าเป็นคนเก่ง แต่ถ้าพิจารณาให้ดี พบว่า ความเก่งที่ปรากฎเป็นเรื่องเก่งแกมโกง)
– ความที่ขาดการฝึกอบรม Training ให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพราะะลักษณะการฝึกอบรมของอุตสาหกรรมไทยไม่ค่อยมีระบบ แต่เป็นการฝากให้หน้างานอบรมกันเอง เพราะคิดแต่เพียงว่าถ้าใส่คนลงไป งานจะออกมา มากขึ้น อันเป็นการมองเป้าหมายแต่เพียงตัวเลข แต่ขาดการมองภาพรวม ว่า งานเสียจะมีมากขึ้นหรือไม่
2. การปรับปรุงทีละเล็กทีละน้อย
          ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ให้ทุกคนในองค์การได้รู้จักการ เลิก ลด เปลี่ยน กระบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสม เครื่องจักรที่ซื้อมาแต่ใช้งานไม่เต็มที่ หรือไม่เหมาะกับงาน การจัดเก็บวัสดุ การเคลื่อนย้ายที่มากเกินไป การเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดความเมื่อยล้า การวิเคราะห์หาสาเหตุเล็กน้อยๆที่ทำตามมาตรฐานแล้วก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นับเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ดังนั้น แต่ละหน่วยงานต้องกลับมาพิจารณาว่าหน่วยงานของตนในแต่ละงาน สามารถปรับปรุงอะไรได้บ้าง หรือสามารถแก้ไขปัญหาอะไรเล็กๆน้อยๆ ได้บ้าง หากบริษัทใด มีมาตรฐานมาก่อน ก็จะทำข้อนี้ง่ายขึ้น
3. การปรับปรุงที่ยกระดับชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (Breakthrough)
          ในประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่เป็นการปรับปรุงเรื่องใหญ่ๆ และส่วนมากแล้วผู้ที่จะมาทำการปรับปรุงเรื่องแบบนี้ มักเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับล่างเป็นต้นไป ใครยิ่งสูงยิ่งต้องปรับปรุงเรื่องใหญ่มากขึ้น เช่น การกำหนดนโยบายใหม่ๆ การเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ การวาง line layout การวาง line balancing การกำหนดจำนวนคนในการปฏิบัติงาน การยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า การแก้ไขปัญหาทางการเงิน การสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆที่ดีขององค์การ การกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจที่ดีต่อการทำงาน ฯลฯ

การออกแบบการเรียนรู้เพื่อศตวรรษที่ 21

http://www.radompon.com/weblog/wp-content/uploads/2014/11/21stResearch-libre.pdf

Balanced Scorecard

 เป็นแนวความคิดของ Robert S. Kaplan และ David P. Norton ที่ว่าด้วยการวัดผลของกิจการที่จะทำให้ผู้บริหารระดังสูงเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงภาพรวมขององค์กรอย่างสมดุล ซึ่งนอกจากการวัดผลในด้านการเงินแล้ว ต้องมีการวัดผลด้านกระบวนการบริหารงาน การสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างเป้าหมายสำหรับองค์กรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
มุมมองของ Balanced Scorecard มีองค์ประกอบในการวัดผลดังนี้
  1. วัตถุประสงค์(Objective) เพื่อกำหนดตัววัตถุประสงค์ของแต่ละมุมมองที่จะใช้ชี้วัด
  2. ตัวชี้วัด(Performance Indication) เป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าการวัดผลนั้นได้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่
  3. เป้าหมาย(Target) เป็นค่าตัวเลขที่ตั้งไว้เพื่อให้องค์กรบรรลุถึงค่านั้นๆ
  4. แผนงาน โครงการที่ตั้งใจ(Initiatives) เพื่อการปฏิบัติงานที่เป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอนในการวัดผล
การวัดผลโดยทั่วสามารถแบ่งวัดได้ 4 ด้านคือ
  1. การเงิน จะเป็นการวัดผลประกอบทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของหรือผู้ที่ลงทุนซึ่งจะดูจากการลดต้นทุน การเพิ่มคุณภาพในการผลิต และการใช้สินทรัพย์ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
  2. มุมมองของลูกค้า หรือความพอใจของลูกค้า ซึ่งดูได้จากการเป็นผู้นำด้านสินค้าและบริการ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และความสัมพันธ์กับลูกค้า
  3. การบวนการบริหารภายในองค์กร โดยวัดจาก กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการจัดเก็บ การบริหารวัตถุดิบในคลังสินค้า, กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงวัตถุดิบให้เป็นสินค้า, กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายสินค้ารวมถึงบริการไปยังผู้บริโภค และการให้บริการหลังการขาย
  4. มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาบุคคลขององค์กรในด้านของบุคลากรที่เกี่ยวกับ ทักษะความสามรถ ทัศนคติของพนักงาน รวมไปถึงระบบข้อมูลสารสนเทศ และแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน
ประโยชน์และความสำคัญของ Balanced Scorecard
  1. ทำให้วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ขององค์กรมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  2. ทำให้เกิดการสื่อสารวัตถุเชิงกลยุทธ์ ที่เชื่อมโยงกับมาตรการในการวัดผลได้ชัดเจน
  3. ทำให้เกิดการวางแผนและกำหนดเป้าหมายในการชี้วัดมาตรการที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินด้วย
  4. ทำให้ทราบถึงข้อมูลของกลยุทธ์ที่วางไว้นั้นได้ผล และประสบความสำเร็จหรือไม่

ทักษะ 10 ประการ ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ

บางครั้ง การให้ความสำคัญกับเรื่องเกรดการเรียนมากเกินไปก็ทำให้เรามองข้ามทักษะด้านสังคม ลองมาดูทักษะด้านสังคมทั้ง 10 ประการที่เด็กจำเป็นต้องมีหากต้องการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและประสบความสำเร็จในชีวิต



ทักษะทางสังคมที่สำคัญ 10 ประการ
1. ความมุ่งมั่น
แรงผลักดันสู่ความสำเร็จที่ไม่หยุดหย่อนอาจเป็นเหมือนดาบสองคมได้ พ่อแม่หรือครูอาจารย์ไม่ควรหวังพึ่งการผลักดันลูกหรือนักเรียนไปตลอด โดยเฉพาะช่วงที่ลูกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา
วิธีการ: ส่งเสริมให้ลูกแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ลูกมีหรือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของลูก อย่าเก็บไว้คนเดียว
2. ระเบียบวินัย
ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่มีรุกคืบอย่างมากในปัจจุบัน การมีระเบียบวินัยดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับเด็กในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การมีระเบียบวินัยในตนเองอยู่เสมอสามารถช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
วิธีการ: ส่งเสริมให้ลูกเป็นคนมีระเบียบวินัยโดยให้ทำกิจกรรมที่สร้างระเบียบวินัยขึ้น เช่น เรียนเล่นดนตรี เป็นต้น
3. ความพากเพียร
“ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ” ไม่มีทางลัดสำหรับความสำเร็จของชีวิต และนักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ให้มาก นั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะก้าวไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต ซึ่งต้องมาจากความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง
วิธีการ: สอนให้ลูกคุณเข้าใจว่าไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ตั้งแต่เขาอายุยังน้อย และลูกจะได้รางวัลตอบแทนก็ต่อเมื่อเขาได้ใช้ความพยายามแล้ว
4. เข้าสังคม
ในชีวิตนี้คุณจะพบเจอกับผู้คนมากมายและคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อหนทางสู่ความสำเร็จของคุณ การจะเป็นเช่นนั้นได้คุณต้องทำให้พวกเขาชอบคุณเสียก่อน
วิธีการ: เข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย นักเรียนจะได้พบเจอกับผู้คนมากมายและจะพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
5. ความเป็นผู้นำ
ความเป็นผู้นำเป็นเรื่องของคุณภาพที่ตอนนี้นายจ้างจำนวนมากปรารถนา โรงเรียนเองก็มีการพัฒนาและมองหาความสามารถในการเป็นผู้นำในตัวนักเรียนเช่นกัน
วิธีการ: การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียนเป็นวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำได้
6. ความยืดหยุ่น
ไม่มีใครมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง และทุกคนก็มีวันที่ผิดหวังด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีความเข้มแข็งที่จะยืนขึ้นสู้อีกครั้งได้
วิธีการ: ตามที่สมาคมด้านจิตวิทยาของอเมริกากล่าวไว้ การปลูกฝังให้เด็กมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเพื่อน ๆ และครอบครัวจะทำให้เขาได้รับการสนับสนุนที่ดี และเขาจะมีกำลังใจที่จะกลับมาต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องทุกข์กับเรื่องร้าย ๆ
7. เป็นคนดี
ทำอย่างไรได้อย่างนั้น ถ้าคุณดีกับคนอื่น คนอื่นก็จะดีกับคุณเช่นกัน
วิธีการ: สอนให้ลูกคุณรู้จักผิดชอบชั่วดีตั้งแต่เขาอายุยังน้อย เมื่อโตขึ้นเขาจะมีเข็มทิศที่ช่วยชี้นำสิ่งผิดสิ่งถูก
8. ความรับผิดชอบ
คนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมาก และหากนักเรียนขาดคุณสมบัติข้อนี้แล้ว พวกเขาจะไปได้ไม่ไกล
วิธีการ: จัดแบ่งภาระหน้าที่เบา ๆ ให้ลูกรับผิดชอบ เช่น ให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ดูให้เหมาะสมตามอายุของลูก เขาจะเรียนรู้ถึงความสำคัญของการรับผิดชอบงาน
9. รู้จักให้อภัย
การให้อภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ การนึกถึงเรื่องหมางใจไม่เพียงแต่ทำให้จิตใจเหนื่อยล้า แต่ยังทำให้คุณสูญเสียโอกาสหลายอย่างและทำให้คุณเป็นไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตด้วย
วิธีการ: สอนให้ลูกรู้จักให้อภัยและรู้จักลืม เพื่อให้เขาฝึกมีทัศนคติในด้านบวก
10. รู้จักอดทน
“ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” คนที่รู้จักรอคอยมักได้สิ่งที่ดี นั่นจึงทำให้ความอดทนมีความสำคัญ การเป็นคนใจร้อนหรือขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลามักนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
วิธีการ: สอนให้ลูกคุณรู้จักอดทนตั้งแต่เขายังอายุยังน้อย 
แหล่งที่มา :
theasianparent.com 
ภาพประกอบจาก https://flic.kr/p/f9erBF 

ผลการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตัวชี้วัดด้านประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา

         เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ..2557 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย สำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ได้จัดโครงการ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตัวชี้วัดด้านประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา” ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในรอบใหม่ ระดับอุดมศึกษา และสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา/อุปสรรค์ในการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาร่วมกันระหว่างวิทยากร และสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายภาคตะวันตก

       ในการจัดโครงการในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 427 คน ได้แก่บุคลากรจากภายในสถาบัน จำนวน 364 คน  และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย จำนวน 63 คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้รับผิดชอบด้านการประกันคุณภาพการศึกษา 

       โดยมีผลการประเมินสรุปดังนี้

       (1) ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.39 อยู่ในระดับความพึงพอใจ "มาก" 
        (2) ด้านกระบวนการ ขั้นตอน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.30 อยู่ในระดับความพึงพอใจ "มาก" 
       (3) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.22 อยู่ในระัดบความพึงพอใจ "มาก"
        (4) ผลการประเมินในภาพรวม ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.09 อยู่ในระดับความพึงพอใจ "มาก" 

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

          การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาในทุกระดับการศึกษา สร้างคนให้มีคุณภาพ เป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศ ประเทศที่มีปัญหาด้านศึกษา ประเทศนั้นจะเต็มไปด้วยปัญหานานาประการ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต ความดีงาม ระบบศีลธรรม ความสามารถในการแข่งขัน ความมีเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการประกอบอาชีพขั้นสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการฝึกฝนที่มาจากระบบการศึกษาที่ดีทั้งสิ้น

           ประเทศไทยเริ่มเห็นเค้าลางของปัญหาระบบการศึกษาอย่างเด่นชัด เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๔๐ เนื่องจากมีการเปรียบเทียบจากการจัดอันดับระบบการศึกษาของไทยกับนานาชาติ ปรากฏว่าไทยตกต่ำในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพการศึกษา ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง เป็นทาสทางเศรษฐกิจ ติดกับดักบริโภคนิยม เหินห่างจากศีลธรรม ทำให้ต้องเร่งให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยด่วน จากการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่าเด็กไทยต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ คือ "เก่ง ดี มีสุข" แต่วันเวลาผ่านไปสถานการณ์แทนที่จะดีขึ้น กลับเลวร้ายยิ่งขึ้นดังภาพ
           
          การศึกษาของชาติกลับตกต่ำลงมากในหลายมิติ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้มีการกระจายพื้นที่การศึกษาออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น และมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากลงไป มีการศึกษาวิจัย และแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องก็มิได้ทำให้ปัญหาการศึกษาของชาติดีขึ้น
แก้ไม่ถูกจุด ปัญหาไม่คลี่คลาย

             จากสภาพการณ์ดังกล่าว สภาพปัญหาต่างๆ ได้เพิ่มทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากผลผลิตที่ตัวเด็กเป็นเกณฑ์ เช่น เด็กประถมศึกษาอ่านหนังสือไม่ออก (ร้อยละ ๑๒) โอกาสในการศึกษาและศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป (ในเด็ก ๑๐ คน มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเพียง ๔ คน) การออกกลางคันระหว่างการเรียน (ร้อยละ .๗๐) ความสามารถในทักษะด้านภาษา การคิดวิเคราะห์ ความมีเหตุผล อัตราการว่างงาน ความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้น่าจะบ่งบอกถึงระบบการศึกษาของชาติเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ครูผู้สอน การเรียนการสอน หลักสูตร การวัดและประเมินผล อุปกรณ์การศึกษา รวมทั้งการบริหารการศึกษาตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาจนถึงโรงเรียนเล็กๆ ความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของชาติ การขาดการวางแผนที่ดีและการนำไปใช้ เพราะสิ่งที่กระทรวงศึกษาเป็นและกระทำอยู่ไม่ได้แก้ปัญหาข้างต้นให้น้อยลง จึงต้องรีบทำการปฏิรูปการศึกษาโดยเร่งด่วน
สมุทัยของระบบการศึกษา ทางแก้เพื่อการปฏิรูปที่แท้จริง สมุทัย (ต้นเหตุ) ของระบบการศึกษาไทย อาจจะมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่น่าสนใจมี ๓ สาเหตุหลัก คือ

1.ระบบโครงสร้างการศึกษาของชาติ ระบบการศึกษาของชาติเป็นระบบรวมศูนย์ ทุกอย่างสั่งการมาจากส่วนกลาง จึงปิดโอกาสในความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แนวทางการปฏิรูปคือ ให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจทั้งในด้านบริหารและจัดการศึกษามากขึ้น จะเปลี่ยนประเทศ โดยกระทรวงเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ คอยตรวจสอบ และทำการประเมินให้ชัดเท่านั้น และต้องมีผู้รับผิดชอบโดยตรง ถ้าหากจัดการศึกษาผิดพลาด การคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับผล กระทบจากการจัดการศึกษาต้องมีขึ้นเป็นครั้งแรกของชาติ

2.ระบบการศึกษาที่เน้นเศรษฐกิจ ไม่เน้นคน ระบบการศึกษาที่เน้นการพัฒนาทักษะเชิงพาณิชย์อย่างเดียว ทำให้ไม่มองคนในภาพรวม เน้นแต่อาชีพ เน้นแต่ธุรกิจ การเงิน หลายฝ่ายจึงมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการศึกษา การเกิดระบบติวเตอร์มากขึ้นมาจากระบบนี้เอง เด็กถูกละเลยในมิติอื่นๆ การเรียนจึงไม่น่าสนใจ ระบบธุรกิจการศึกษากำลังเป็นหายนภัยของชาติ

3.ปฏิรูปการเรียนการสอน ครู หลักสูตร การประเมินต้องปฏิรูปทั้งหมด ครูเป็นต้นน้ำทางการศึกษา แต่ความก้าวหน้าของครูกลับอยู่ที่นโยบายและผู้บริหาร ต่อไปนี้ความก้าวหน้าของครูต้องอยู่ที่สัมฤทธิผลของเด็กเท่านั้น ต้องยึดโยงที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ เช่น เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ต้องมีผู้รับผิดชอบ ฯลฯ หลักสูตรต้องเน้นที่ชีวิตจริง ประสบการณ์จริง ไม่ใช่เน้นที่ตำรา การประเมินต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่าหลากหลาย ไม่ใช้มิติทางเอกสารเท่านั้น แต่ต้องเป็นการประเมินในระดับชาติหรือสากลเท่านั้น เช่น NT, PISA เป็นต้น

การศึกษาไร้ศีลธรรม : การศึกษาหมาหางด้วน
หลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม กล่าวไว้ว่า "การศึกษาที่เน้นแต่อาชีพ แต่ขาดการใส่ใจในความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง การศึกษาที่ไม่เน้นความถูกต้องดีงามด้วยศีลธรรม การศึกษาแบบนี้เรียกว่า "การศึกษาแบบหมาหางด้วน" เราต้องให้วิชชา ไม่ใช่ให้แต่วิชา วิชชา คือ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาต้องให้ทุกวิชามีวิชชา คือมีการปฏิบัติการในด้านศีลธรรมในชีวิตของการเรียนรู้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเดียว
ในคราวที่ประเทศชาติจะมีการปฏิรูปประเทศครานี้ ขอให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระเร่งด่วน และวาระแห่งชาติในการวางรากฐานที่สำคัญของประเทศ ที่ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำ เราจะได้มีคนดี คนเก่ง มาช่วยกันดูแลอนาคตของประเทศไทย ให้พวกเราไม่ต้องย้อนกลับมาไล่พวกคนชั่วคนโกงอย่างไม่มีวันจบสิ้นกันอีก
รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานชีวิตคือการศึกษา

โดย ดร.มงคล นาฏกระสูตร  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ที่มา http://www.ryt9.com/s/tpd/2043423