วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปผลการสัมมนาเครือข่ายองค์กรการเรียนรู้สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 Mini_UKM ครั้งที่ 9

การจัดการความรู้ “มือใหม่หัดขับ” โดยการนำของ ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร

ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ศ. นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร บรรยายนำใน ประเด็นการจัดการความรู้ “มือใหม่หัดขับ” หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคหรือวิธีการทำงานที่ทำให้งานสำเร็จ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อหา KSF ของการทำงาน ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละกลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่จะมีเทคนิคการทำงานที่มาจากทฤษฎีการทำงานทั่วไป ไม่มีกลุ่มใดเสนอเทคนิคการทำงานที่เกิดจากการเรียนรู้และกระบวนการ KM วิทยากรจึงได้บรรยายในหัวข้อการจัดการความรู้และการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงานเพิ่มเติม

สัมมนาเครือข่ายองค์กรการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 9
กล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดย คุณมยุรี สิงห์ไข่มุก ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา บรรยายเรื่อง “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายและมาตรฐานอุดมศึกษา” โดยได้บรรยายเกี่ยวกับความจำเป็นและวัตถุประสงค์ ประโยชน์ในการดำเนินการประกันคุณภาพ และรายละเอียดตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร


กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 หัวข้อ ดังนี้
1. มาตรฐานหลักสูตร วิทยากรประจำกลุ่มคือ รศ. นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ โดยผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการของแต่ละสถาบันในปัจจุบัน ปัญหาในการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานของหลักสูตร และร่วมกันเสนอแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร

2. การประเมินหลักสูตร วิทยากรประจำกลุ่มคือ ศ. นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร วิทยากรได้แบ่งผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกเป็น 4 กลุ่มย่อย โดยให้ผู้เข้าร่วมฯ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการในการประเมินหลักสูตรของแต่ละสถาบัน เทคนิคและวิธีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตัวบ่งชี้ในการประเมินหลักสูตร รวมถึงการหาแนวปฏิบัติที่ดีในการประเมินหลักสูตร


3. กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ TQF วิทยากรประจำกลุ่มคือ รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา (รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนครพนม) ผู้เข้าร่วมฯ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำกรอบมาตรฐาน TQF มีการหาแนวปฏิบัติที่ดีจากผู้เข้าร่วม และมีผลสรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้ มีการกำหนด Core Competency ที่ชัดเจน และมีบางสถาบันได้จัดทำระบบ TQF แบบออนไลน์มาใช้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานต่ออาจารย์ผู้สอนและสามารถจัดเก็บหลักฐานได้ตรงตามเวลาที่กำหนด










อ้างกลัวผิด ต้องคำนวนใหม่! ก.พ. แจงเหตุ ชะลอขึ้นเงินเดือน ขรก.

นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กล่าวถึงข่าวที่ว่าสำนักงาน ก.พ. มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานราชการและเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งชะลอการสั่งปรับเงินเดือนในวันที่ 1 เม.ย. 2558 ออกไปก่อน ว่า
สำนักงาน ก.พ. จัดทำหนังสือซักซ้อมฉบับ ดังกล่าวเพื่อแจ้งให้ส่วนราชการต่าง ๆ ชะลอการคำนวณเงินเดือนข้าราชการ เพราะงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในวันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับการปรับเพิ่มร้อยละ4 อีกทั้งจะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเริ่มใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนก่อน แล้วเราจะต้องทำบัญชีเงินเดือนใหม่ซึ่งจะต้องขยับเพดานเป็นร้อยละ 10 ทำให้ค่ากลางเปลี่ยนจึงต้องชะลอการคำนวณก่อน มิฉะนั้นหากปล่อยให้คำนวณเงินเดือนในตอนนี้จะทำให้ตัวเลขผิดพลาด
ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการและมีการจัดทำฐานในการคำนวณใหม่แล้ว สำนักงาน ก.พ. จะส่งหนังสือแจ้งไปยัง ทุกส่วนราชการให้ทราบโดยเร็ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่าข้าราชการยังได้รับการปรับเงินเดือน ร้อยละ 4 ตามมติ ครม. วันที่ 9 ธ.ค. 2557 โดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557 และรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ แต่อย่างใด.

ที่มา มติชนออนไลน์​ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

อักษร เอ็ดดูเคชัน เปิดตัว Aksorn Learning Ecosystem นวัตกรรมการการศึกษาใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นให้ ครู - นร. ได้สร้างและเรียนรู้บทเรียนไปพร้อมกัน

    
        นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มาเป็นนักเรียนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แทน ซึ่ง บ.อักษรฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทในการผลิตสื่อการเรียนการสอน จึงต้องพัฒนาตัวและคิดค้นนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ ให้กับครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บ.อักษรฯ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ภายใต้ “Aksorn Learning Ecosystem” เพื่อเป็นการตอบโจทย์การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่การเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน และเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถพัฒนาศักยภาพผู้เรียนทุกคนได้สูงสุด
        
        “สำหรับ Aksorn Learning Ecosystem นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของการเรียนรู้รูปแบบใหม่ โดยนำเอาเทคโนโลยี และ สื่อต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับการเรียนโดยใช้ตำรา โดยทั้งครูและนักเรียน สามารถสร้างและเรียนรู้บทเรียนไปพร้อมกันได้ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวถือว่าเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีการมุ่งเน้นให้มีการยกระดับทั้ง นักเรียน และครู ให้มีศักยภาพการเรียนรู้ที่ก้าวไกล ดังนั้น บริษัทเชื่อว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ทรัพยากรมนุษย์ หรือ Human Capital และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในที่สุด” นายตะวัน กล่าว


ที่มา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000035298

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาไทยต้อง Change สถานเดียว

 ตอนนี้คิดว่าคนไทยกำลังรอความหวังกับการปฏิรูปประเทศของผู้รับผิดชอบแต่ ละภาคส่วนอยู่ ซึ่งเรื่องสำคัญหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษาเพราะหากคนขาดคุณภาพแล้ว การปฏิรูปด้านอื่นก็คงเกิดผลได้ยาก ซึ่งปัญหาที่ทำให้คุณภาพการศึกษาชาติตกต่ำนั้นตอนนี้เชื่อว่าทั้ง คสช. รัฐบาล และ สปช. คงได้รับข้อมูลมากจนเกินพอแล้วก็เป็นไปได้ จึงเหลืออยู่ว่าจะหาวิธีการใดมาทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนไทยให้มี คุณภาพได้ ซึ่งก็เชื่อว่าจากความล้มเหลวที่ผ่านมาน่าจะทำให้วิธีคิดและวิธีดำเนินการ เปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้นเพราะหากยังคิดแบบเดิมด้วยการคิดแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ ไปความสำเร็จคงเกิดขึ้นยากเนื่องจากปัญหามีอยู่มากมายและสั่งสมจนกลายเป็น ดินพอกหางหมูไปแล้วจึงมีทางเดียวที่จะทำได้ คือ Change ใหม่กันทั้งระบบโดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพเด็กสถานเดียว

         ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายคุณภาพผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้วจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข บนพื้นฐานความพอเพียงและเกิดค่านิยมที่ชาติต้องการ ส่วนการเรียนรู้ระดับสูงขึ้นก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แต่ละคนมี อยู่ทั้งสายสามัญและสายอาชีพโดยผู้ปกครองและครูร่วมกันคัดกรองศักยภาพ ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับว่าควรจะไปสายไหน ส่วนภาครัฐจะ ต้องเตรียมพร้อมรองรับกับอาชีพตามสาขาที่เด็กได้รับพัฒนามาไม่ใช่ปล่อยไปตาม ยถากรรมทั้งแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่สนใจว่าตนเองมีศักยภาพด้าน ไหน พอจบแล้วยังต้องมาแย่งหางานกันอีกจึงได้ทั้งงานตรงและไม่ตรงสาขาที่เรียนมา หรือไม่ก็ตกงาน ไปเลย ด้านนโยบาย ควรมีกฎหมายกำกับให้ ทุกรัฐบาลต้องจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ แผนการศึกษาของชาติและต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นเพื่อให้การพัฒนาเกิด ความต่อเนื่องและยั่งยืนเกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้มาบริหารนโยบายการศึกษาทุกระดับจึงต้องได้มืออาชีพ รู้ลึก รู้จริง เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ด้านงบประมาณก็ต้องลงสู่ภาคปฏิบัติถึงตัวเด็ก รวมถึงกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรของชาติต้องร่วมกันทำ งานแบบบูรณาการอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาฝากงานของตนเองให้โรงเรียนทำอย่างที่ผ่านมา

         ด้านบริหารจัดการ จะต้องกระจายอำนาจทั้งเงิน คน วิธีการลงสู่ภาคปฏิบัติเพื่อสามารถคิดแก้ปัญหา และพัฒนาการได้ตรงบริบท โดยส่วนกลางทำหน้าที่กำหนดมาตรการ กำกับ ติดตาม ประเมินผล หรือคิดค้นนวัตกรรม งานวิจัยที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้ดีขึ้น ระบบการสรรหาครูและผู้บริหารสถานศึกษาควรเปลี่ยนมาให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ดำเนินการรวมถึงให้อำนาจในการติดตาม กำกับ ประเมินผลให้คุณและโทษได้โดยเฉพาะต้องร่วมรับผิดชอบกับผลคุณภาพเด็กที่เกิด ขึ้นด้วย ส่วนกลางต้องกำหนดมาตรการให้คุณและโทษกับผู้ปฏิบัติทุกระดับกับผลคุณภาพการ ศึกษาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ครูก้าวหน้าทั้งเงินเดือนและวิทยฐานะแต่คุณภาพเด็กตกต่ำหรือครูสอน เด็กไม่เกิดคุณภาพก็ไม่มีความผิดแถมก้าวหน้าได้ ควรแยกแท่งเงินเดือนออกจากวิทยฐานะเพื่อทำให้ครูสามารถเลื่อนไหลเงินเดือน ได้จนเกษียณอายุราชการหรือเต็มเพดานสูงสุด ส่วนของผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อคุณภาพบุตรหลานของตนเองด้วยการ พัฒนาตั้งแต่แรกเกิดเพราะรอ กว่าจะเข้าอนุบาลก็จะสายเกินไปด้วยสมองเด็กจะพัฒนาอย่างรวดเร็วจึงต้องเร่ง ปลูกฝังสิ่งดีงามให้เกิดเป็นจิตสำนึกที่ถาวรให้ได้ นอกจากนั้น รัฐต้องส่งเสริมด้านแหล่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่รวมถึง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และครอบครัว ด้วยโลกปัจจุบันเป็นยุคดิจิตอล เครือข่ายความรู้สามารถติดต่อได้ทั่วถึงและรวดเร็ว การเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนและโรงเรียนอีกต่อไป ส่วนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กควรยึดหลักทั้งโอกาสและคุณภาพจึงควรยุบ โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่การคมนาคมสะดวกซึ่งจะทำให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้น และเหลือปัจจัยต่าง ๆ มาพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถยุบได้

         ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจหลักความสำเร็จของงาน แต่ที่ผ่านมาปัญหาด้านบุคลากรยังมีอยู่มากมาย ทั้งครูไม่พอสอนครบชั้น ไม่พอสอนครบวิชา ครูขาดคุณภาพ ครูมีภาระงานอื่นมาก ปัญหาหนี้สิน การอยู่ห่างไกลภูมิลำเนา เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายนี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะปัญหาครูไม่พอ สอนครบชั้นในระดับประถมและไม่พอกับการสอนวิชาหลักในระดับมัธยม ด้านคุณภาพครูจะต้องพัฒนาครูให้มีความรู้เท่าทันวิทยาการและเทคโนโลยีสมัย ใหม่ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพผู้เรียนและเท่าทันกับยุค ดิจิตอล รวมถึงสามารถเป็นต้นแบบที่ดีมีคุณธรรม และอุดมการณ์ในการทำงาน ส่วนการเตรียมการหามืออาชีพมาจัดการศึกษาในอนาคตนั้นควรมีสถาบันผลิตบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยตรงทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารหรือศึกษานิเทศก์ ด้านหลักสูตรการศึกษา จะต้องมีความยืดหยุ่นหลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพบริบทความแตกต่างของเด็กแต่ละพื้นที่ ซึ่งหลักสูตรที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ผลเพราะมีรายละเอียดทั้งสาระและ เวลาเรียนมากเกินไปและต้องเรียนเหมือนกันทั้งประเทศ เมื่อเรียนจบหลักสูตรไม่เกิดทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีความ สุข จะได้บ้างก็เพียงทักษะวิชาการ จึงเหมือนไม่ใช่หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับแต่เป็นหลักสูตรเตรียมเด็กเข้า มหาวิทยาลัยมากกว่า ส่วนนี้จึงต้องเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น หลากหลายสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละบริบท อาทิ เด็กที่อยู่ตามชายขอบ ภูเขา เกาะแก่งหรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น มีปัญหาสุขนิสัยการดำรงชีวิตและค่านิยมไทย ก็ต้องจัดเป็นหลักสูตรพัฒนาความพร้อมในพื้นฐานการเรียนรู้ให้เข้มแข็งก่อน ส่วนต่อมาถึงจะเป็นหลักสูตรแกนกลางที่จะทำให้เด็กเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีทักษะการดำเนินชีวิตครบทุกด้าน สุดท้ายให้เป็นหลักสูตรที่แต่ละโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถไปคิดต่อยอดจาก หลักสูตรภาคบังคับไปสู่ความเป็นเลิศตามวิสัยทัศน์หรือธงชัยที่กำหนดไว้ให้ไป สู่ความเป็นเลิศ หากทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพตามที่ทุกคนมีอยู่ ไม่ใช่ต้องเรียนเหมือนกันทั้งเด็กอ่อน ปานกลาง หรือเด็กเก่งแบบเตี้ยอุ้มค่อมอย่างทุกวันนี้

         ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยมีครูจำนวนไม่น้อยยังสอนตามประสบการณ์เดิมใช้ความรู้เดิม หรือสอนเนื้อหาตามตำรา โดยไม่คำนึงถึงวิทยาการและเทคโนโลยียุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญยังมีเจตคติที่ว่าความรู้ของเด็กต้องมาจากครูเท่านั้นทำให้การเรียน รู้ยังยึดตัวครู ยึดห้องเรียนและโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนนี้จะต้องพัฒนาครูให้สามารถปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนกันทั้งระบบด้วย การให้เด็กเป็นผู้แสดงครูเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้และกำกับการแสดงมากกว่า ซึ่งจะทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้ลงมือปฏิบัติจริงและเรียนรู้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงเสียที

         นอกจากนั้นยังมีอีกหลายปัจจัยที่น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันใหม่ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้าง กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้เรียนและขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะวิธีคิดในการดำเนินงานที่จะต้องเปลี่ยนจากการมุ่งพัฒนาแต่องค์ ประกอบรอบข้างให้พุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างจริงจังและ เต็มเม็ดเต็มหน่วย ความล้มเหลวด้านการศึกษาที่ผ่านมาก็เพราะมัวไปหลงกายภาพรอบข้างจนลืมเด็ก ทำให้ปัจจัยทุกอย่างคุณภาพดีหมดยกเว้นคุณภาพผู้เรียน เรื่องนี้เป็นความจริงหากไม่เชื่อลองไปขอผลการประเมิน สมศ. ดูก็ได้

         กลิ่น สระทองเนียมที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2558
http://www.kroothaiban.com/news-id7300.html

อุดมศึกษาในอนาคต - คอลัมน์เลาะเลียบคลองผดุง

     ในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ของปี 2558 เห็น ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายหลายเรื่อง และที่น่าสนใจเห็นจะเกี่ยวกับการสร้างคน สร้างความรู้ และการนำความรู้ของอุดมศึกษา ที่จำเป็นต้องมีการทบทวนภารกิจกันเสียที           เริ่มจากยาหอมแก้ลมชมกันให้ชื่นใจก่อนว่า การอุดมศึกษาไทยนั้น มีศักยภาพเพียงพอแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการติดหล่ม ก็คือเรื่องของธรรมาภิบาลและระบบการบริหารจัดการภายใน นี่แหละทำให้ศรัทธาของสังคมมีต่อสถาบันอุดมศึกษาลดลง           ดังนั้น การบริหารจัดการอุดมศึกษาไทย ต้องมีการปฏิรูปจากข้างใน หลักใหญ่ คือ ความรับผิดชอบทางสังคม ความโปร่งใส และการเปิดรับการตรวจสอบจากสังคมหรือหน่วยงานภายนอก การมีธรรมาภิบาลถือเป็นการปฏิรูปตนเอง ต้องดำเนินการตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาถึงสภามหาวิทยาลัย            หลักฐานของการมีธรรมาภิบาลและระบบการจัดการที่ดีนี้ รวมถึงการลดการพึ่งพาแหล่งรายได้ที่มาจากค่าเล่าเรียน แต่ต้องมีวิธีหารายได้จากที่อื่นด้วยการวิจัยพัฒนานวัตกรรม และการบริการทางวิชาการ เป็นต้น           การอุดมศึกษาต้องแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ที่มีความสำคัญในการผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของประเทศ และต้องเปลี่ยนค่านิยมของการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการเรียนเพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ           เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าวุฒิการศึกษาไม่ได้รับประกันการมีงานทำ           สิ่งที่ผู้เรียนควรได้จากระบบการศึกษา คือ เป็นผู้ที่มีความพร้อมและความสามารถในการประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัย จะต้องให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาภาคการผลิตและชุมชน ตลอดการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาในทุกด้านได้           ย้ำกันอีกรอบอุดมศึกษาที่ดี ต้องมีการจัดการที่ดีและสร้าง ธรรมาภิบาลภายในให้ได้ และเป้าหมายใหม่ของการอุดมศึกษาไทยในอนาคต คือการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ด้วยการใช้หลักสูตรที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่หลักสูตร "เสื้อตัวเดียว" หรือ "รองเท้าเบอร์เดียว" อีกต่อไป

ที่มา http://www.kroothaiban.com/news-id7393.html

สาธิตเกษตรฯ’ จัดโชว์เคส ศักยภาพผลงานนักเรียน

โรงเรียนสาธิตเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ จัดโครงการ‘เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ’โชว์เคสผลงานนักเรียนที่มีความสามารถด้านต่างๆ มุ่งเน้นพัฒนาทุกด้านให้เต็มศักยภาพ เน้นทั้งความรู้ และความสามารถควบคู่กันไป

ผศ.ดร.ศศิธร จ่างภากร อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กล่าวเปิดโครงการ "เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ" (Enrichment Program for Gifted and Talented Students) ปีการศึกษา 2557ว่า ทางโรงเรียนฯ ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ประกอบกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนทุกด้านให้เต็มศักยภาพด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการและศักยภาพของนักเรียน ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมสำหรับนักเรียนทั่วไปและโครงการศึกษาพิเศษ

ในขณะเดียวกัน นักเรียนของโรงเรียนจำนวนมาก เป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูง ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพเพื่อความเป็นเลิศในแต่ละด้านตามความสามารถของนักเรียน จึงได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้น และเพื่อให้นักเรียนของเราได้แสดงความสามารถจากโครงการดังกล่าว จึงได้จัดเสวนา การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษโดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving) ทั้งการนำเสนอกิจกรรมคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมต้น ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต, การนำเสนอกิจกรรมภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, การนำเสนอกิจกรรมวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของระดับประถมศึกษา โดยในวันนี้มีนักเรียนรวมกว่า 200 ชีวิต เกือบ 10 ทีม ร่วมแสดงความสามารถและโชว์เคสผลงานที่ได้ทุ่มเทในการจัดทำกันขึ้นมา
ด้าน รศ.ดร.ดารนี อุทัยรัตนกิจ ผู้ริเริ่มและที่ปรึกษาโครงการเติมเต็มศักยภาพที่มีความสามารถพิเศษ ฉายภาพย้อนหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นให้เห็นว่า ในระยะเริ่มต้นการดำเนินงาน โรงเรียนฯ ได้สนับสนุนให้คณะกรรมการไปรับการฝึกอบรมจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก University of Northern Colorado (ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ นอร์ธเทิร์น โคโลราโด) รวมทั้งศึกษาดูงานโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาพิเศษให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในรูปแบบต่างๆ ในมลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดการศึกษาในโครงการ โดยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากร งบประมาณ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะช่วยก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของนักเรียน ซึ่งปัจจุบันนับเป็นปีที่ 6 ของการดำเนินโครงการแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

“เรามุ่งเน้นไม่ใช่เพียงการเสริมสร้างความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะของผู้มีความสามารถ 12 ประการ ได้แก่ 1) แรงจูงใจ 2) ความสนใจ 3) ทักษะในการสื่อสาร 4) ความสามารถในการแก้ปัญหา 5) ความจำ 6) ความอยากรู้อยากเห็นและเสาะแสวงหา 7) ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 8) ความมีเหตุผล 9) จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ 10) อารมณ์ขัน 11) การเอาจริงเอาจัง และ 12) การไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งนี้ นักเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมหลังเลิกเรียนในวันปกติ และบางกิจกรรมในวันเสาร์ช่วงเช้า รวมทั้งสิ้น 36 ชั่วโมงต่อภาคเรียน” รศ.ดร.ดารนี กล่าว

ผศ.อัจฉราพรรณ คอวณิช ประธานโครงการเติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปลายภาคปีการศึกษา 2557 ได้มีการจัดการศึกษา ทั้งหมด 3 รายวิชา ได้แก่ กิจกรรมคณิตศาสตร์ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) กิจกรรมวิทยาศาสตร์ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) กิจกรรมภาษาอังกฤษ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) และกิจกรรมโครงงานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมนักเรียนจากโครงการ ทั้งสิ้น 248 คน นอกจากนั้น ยังมีนักเรียนจากโครงการฯ จะเดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving) ที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง จำนวน 8 คนด้วยกัน โดยมีการแข่งขันในระดับเอเชีย ซึ่งนักเรียนของเราสามารถฝ่าฟันเข้ารอบไปแข่งขันต่อได้

ด้าน นักเรียนของสาธิตเกษตรที่มีโอกาสเตรียมเข้าแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด 8 คน โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมที่ 1 ด.ช.ดำริ เกตุปัญญา ชั้นมัธยมศึกษา 3/3,ด.ญ.จิรฎา เอกอินทุมาศ ชั้นมัธยมศึกษา 2/4, ด.ช.จิณณพัต พิสิฐชัยกุล ชั้นมัธยมศึกษา 2/1 ด.ช.นรวิชญ์ สุขพรหม ชั้นมัธยมศึกษา 2/5 และ ทีมที่ 2 ด.ญ.ภิญญดา เตโชวาณิชย์ ชั้นมัธยมศึกษา 3/5, ด.ช.ธนวินท์ พันธุ์รัตน์ ชั้นมัธยมศึกษา 3/3, ด.ญ.อรพิชชา ชวนะสิขิกร ชั้นมัธยมศึกษา3/5 และ ด.ช.บุริศร์ภัทร์ รัตนะนภาลัย ชั้นมัธยมศึกษา 3/6

นอกจากนั้น ภายในงาน ยังมีเหล่านักเรียนที่มาร่วมโชว์เคส แสดงผลงานจากโครงการ ที่ล้วนแล้วแต่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถกันทุกๆ ทีม โดยที่ ด.ญ.อารยา อินทรวิชัย ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5/2 รับอาสาเป็นตัวแทนเพื่อนๆ ในกลุ่มโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่องสเปรย์ดับกลิ่นจากสมุนไพร เล่าว่า
“ในกลุ่มเรามีทั้งหมด 4 คน โดยอีก 3 คน ได้แก่ ด.ญ.ณภัธ จาดจันทร์ ด.ญ.ณัชชา คันธกุลดุษฎี และด.ญ.การัณญภาส แสงลิ้มสุวรรณ โดยเราคิดโครงงานนี้เพราะที่บ้านทุกคนมีปัญหาเรื่อง กลิ่นอับในห้องต่างๆ รวมถึงมีปัญหาเรื่องยุงด้วยค่ะ เลยเป็นที่มาที่นำเอาไอเดียเรื่องการนำเอาสมุนไพรซึ่งหาได้ง่ายในประเทศของเราเอง รวมถึงไม่มีสารเคมี มาทำเป็น สเปรย์ดับกลิ่นและสามารถไล่ยุงได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำได้ง่ายและประหยัด ที่สำคัญเนื่องจากไม่มีสารเคมีจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ โดยการทดลองของพวกเราคือ จะมีการนำเอาปลาเค็มที่มีกลิ่นใส่ไว้ในภาชนะ หลังจากนั้น ก็จะเอาปลาเค็มออกและฉีดสเปรย์ดับกลิ่นเข้าไป ซึ่งผลการทดลองตัวสเปรย์ดังกล่าวก็ช่วยให้กลิ่นของปลาเค็มหายไปได้ค่ะ โดยพวกเราใช้เวลาในการคิดและทดลองประมาณ 1 เดือน ซึ่งก็รู้สึกดีใจ เพราะได้นำเอาสิ่งที่ร่วมกันคิดและทดลองไปใช้งานที่บ้านของพวกเราและบอกต่อเพื่อนๆ ไปใช้งานได้จริงค่ะ” ด.ญ.อารยา กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ "เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ" (Enrichment Program for Gifted and Talented Students) นั้น จะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง รวมถึงค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจและมีความถนัด นับเป็นการจุดประกายก้าวเล็กๆ ของเด็ก ที่จะสามารถช่วยผลักดัน “เพชรในตม” ให้กลายเป็น “เพชร” ที่มีค่าและอยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง กลายเป็น “เพชร” ที่ล้ำค่าของประเทศชาติต่อไป