วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา



      สมรรถนะทางปัญญา หมายถึง ความสามารถในการใช้ปัญญาได้อย่างดี ซึ่งเป็นระดับสมรรถนะขั้นสูงกว่าสมรรถนะของการเรียนรู้เพื่อการจดจำ และทำตามอย่างได้ คำพูดที่แสดงถึงการมีแต่ความรู้แต่ไม่มีสมรรถนะทางปัญญาที่มักได้ยินได้ฟัง กันบ่อย ๆ คือ ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด เป็นการแสดงถึงความบกพร่องของสมรรถนะทางปัญญาที่จะถ่ายโยงความรู้ไปใช้กับ สถานการณ์ในชีวิตจริง สังคมที่กำลังพัฒนาต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะทางปัญญาจำนวนมาก


      ปรัชญา หลักการ และทฤษฎีทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาได้มีการศึกษาและ พัฒนาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน มีองค์ความรู้สะสมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษามาก จนอาจทำให้นักการศึกษาไม่สนใจที่จะศึกษาวิจัย ค้นคว้า ส่งเสริมหรือแสวงหาวิธีการสอนใหม่ๆ เพราะมีความรู้สึกว่าไม่อาจจะมีสิ่งใหม่ได้อีกแล้ว ส่วนมากเป็นของเก่าที่นำมา ปรับปรุงเล็กน้อย กลายเป็นของใหม่ ส่งผลให้การศึกษาวิจัยทางด้านการเรียนการสอนหรือ ศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ เป็นการวิจัยที่ อ่อน ในสายตาของผู้ที่จะให้ทุนวิจัย

      การสนับสนุนทุนวิจัย ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ จากระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติจึงมีน้อย เพราะไม่อาจเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วเหมือนการวิจัยทางศาสตร์อื่นๆ และมีความเข้าใจว่าการศึกษาวิจัยทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ใช้เงินทุนวิจัยน้อยกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้พบเห็นได้เป็นเอกสารการพิจารณาให้ทุนวิจัยของ หน่วยงานต่างๆ จะมีการจัดแยกกลุ่มการศึกษาวิจัย และกำหนดวงเงินสนับสนุนการวิจัยทางด้านการศึกษาไว้น้อยกว่าด้านอื่นๆ
 

      ทุนวิจัย เพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา ถูกจัดว่าเป็นการศึกษาวิจัยทางด้านศึกษาศาสตร์ การสนับสนุนทุนวิจัยจึงมีน้อย และให้ความสำคัญกับผลที่จะเกิดขึ้นกับการวิจัยน้อย ระเบียบวิธีวิจัยมีจุดอ่อนมาก ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่อาจนำไปใช้ได้อย่างมีเอกภาพ เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำผลการวิจัยไปใช้อีกมากตั้งแต่ระดับ ปัจเจกบุคคล ผู้เกี่ยวข้องเช่นครู/อาจารย์ ไปจนถึงระดับนโยบายของชาติที่อาจไม่สอดคล้องกับผลวิจัยได้ตลอดเวลา

      อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาไม่อาจหยุดนิ่งหรือเชื่องช้าได้ กระบวนการของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ยังต้องดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนที่จำกัดเพื่อให้ทันกับ ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นักการศึกษานอกจากมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องสามารถให้คำตอบกับสังคมได้เสมอเมื่อสังคมมีคำถามแล้ว นักการศึกษายังต้องมี ความกระหายใคร่รู้และพยายามค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาภูมิปัญญาของพลเมืองในสังคม ด้วยการนำ
ประเด็นความแตกต่างเล็กๆ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Nuance” ที่ อาจสร้างความแปลกใหม่ ความคิดใหม่ หรือนวัตกรรมต่างๆ กลายเป็นทิศทางของการวิจัยในทุกศาสตร์ในปัจจุบัน เพราะความแตกต่างเล็กน้อยที่แฝงอยู่นั้น เมื่อค้นพบแล้วสามารถนำมาขยายให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ใหญ่และมีคุณค่ามากได้ แนวความคิดการศึกษาวิจัยจาก Nuance นี้ มีพื้นฐานความคิดจากนักคิดกลุ่มอภิปรัชญา หรือ Metaphysics เป็นความอยากรู้อยากเห็นเพื่อค้นหาความจริง เพื่อตอบคำถามว่า อะไรคือความจริง หรือ ความจริงมันคืออะไร

      การพยายามหาคำตอบนี้มี ตัวอย่างเชิงประจักษ์ คือ การค้นพบ อนุภาคพระเจ้า หรือ ฮิกส์ โบซอน ซึ่งเป็นความกระหายใคร่รู้ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหาอนุภาคที่ทำให้ เกิดการรวมตัวเป็นมวลสารต่างๆ เพราะเพียงอยากตอบคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เราเห็น หรือสสารที่เห็นนั้นแท้จริงมันคืออะไรกันแน่ ถึงแม้ต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชนกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อความรู้ที่ อาจจะยังไม่ได้คำตอบว่า ฮิกส์ โบซอน มีความสำคัญอย่างไรกับประชาชนเจ้าของเงินภาษีอากร และผลกระทบที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องผูกพันของความรู้ที่เกิดขึ้น แต่ด้วยพลังความกระหายใคร่รู้จึงทำให้หาทางเพื่อให้ได้คำตอบนั้นมา

        สำหรับ แนวคิดการศึกษาวิจัยจาก Nuances ทางด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาอาจมีรูปแบบการนำไปสู่การค้นพบ สิ่งใหม่ ๆ เหมือนกัน นั่นคือ เริ่มจาก ความกระหายใคร่รู้และทำการทดลองเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดประเสริฐสุดสำหรับการพัฒนาสมรรถนะทางปัญญาของผู้เรียน และบางครั้งเป้าหมายปลายทางของการทดลองนั้นอาจจะยอมรับสมมุติฐาน หรือปฏิเสธสมมุติฐานก็ตาม แต่ยังมี Nuances ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ หรือในช่วงของการทดลองอีกมาก แต่เดิมอาจให้ความสำคัญของข้อมูลส่วนเหลือตกค้างที่ไม่ได้นำไปใช้ (Residual) นี้น้อย แต่ถ้านำมาศึกษาวิเคราะห์ต่อไปอาจจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ได้

       การวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา ส่วนมากมักจะพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งยังไม่ใช่ตัวชี้วัดสมรรถนะทางปัญญาที่แท้จริง การหากระบวนการหรือวิธีการ ตลอดจนเครื่องมือที่สามารถยืนยันสมรรถนะทางปัญญาที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้ผลของการวิจัยเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการเล็งเห็นผลได้อย่างชัดเจน รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบ ทำซ้ำเพื่อแสดงผลได้อย่างคงเส้นคงวา การนำ Nuances มาใช้เป็นฐานความคิดการวิจัยทางด้านการศึกษาและครุศาสตร์ จะทำให้การวิจัยทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือ และ ไม่อ่อน ในสายตาของผู้มีอำนาจสนับสนุนทุนวิจัยอีกต่อไป

ตัวอย่าง การใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ที่นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา หลักสูตร Ph.D. Technical Education Technology ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำไปทดลองใช้กับนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2555 ตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักศึกษา โดยทำการบรรยายและฝึกอบรมในหัวข้อ "การพัฒนาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย" และ "การทำโครงงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ" มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการนี้ ประมาณ 120 คน

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นการใช้เทคนิควิธีการที่สร้างความ แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ เล็กน้อย (Nuances) นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับกับลักษณะและธรรมชาติของผู้เรียน ผู้สอน และเทคโนโลยีตลอดจนสภาวการณ์ต่างๆ ที่เป็นบริบทของสังคมกลุ่มผู้เรียนเป้าหมาย นำไปทดลองใช้และประสบความสำเร็จอย่างมาก และ ผศ. เอกชัย ปริญโญกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสังคม มีความพอใจ เล็งเห็นประโยชน์และให้การสนับสนุนโดยเสนอทำความร่วมมือเพื่อพัฒนาวิชาการใน ลักษณะนี้กับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่ีงการดำเนินการอย่างเป็นทางการจะมีการลงนามความร่วมมือในลำดับต่อไป (ดูรายละเอียดได้ที่ http://met.fte.kmutnb.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=219&Itemid=1) นับเป็นก้าวใหม่ และก้าวที่สำคัญที่ทำให้เกิดการความร่วมมือสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อการ ส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาให้กับนักศึกษาต่อไป


โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/edu/312129