วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา



      สมรรถนะทางปัญญา หมายถึง ความสามารถในการใช้ปัญญาได้อย่างดี ซึ่งเป็นระดับสมรรถนะขั้นสูงกว่าสมรรถนะของการเรียนรู้เพื่อการจดจำ และทำตามอย่างได้ คำพูดที่แสดงถึงการมีแต่ความรู้แต่ไม่มีสมรรถนะทางปัญญาที่มักได้ยินได้ฟัง กันบ่อย ๆ คือ ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด เป็นการแสดงถึงความบกพร่องของสมรรถนะทางปัญญาที่จะถ่ายโยงความรู้ไปใช้กับ สถานการณ์ในชีวิตจริง สังคมที่กำลังพัฒนาต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะทางปัญญาจำนวนมาก


      ปรัชญา หลักการ และทฤษฎีทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาได้มีการศึกษาและ พัฒนาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน มีองค์ความรู้สะสมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษามาก จนอาจทำให้นักการศึกษาไม่สนใจที่จะศึกษาวิจัย ค้นคว้า ส่งเสริมหรือแสวงหาวิธีการสอนใหม่ๆ เพราะมีความรู้สึกว่าไม่อาจจะมีสิ่งใหม่ได้อีกแล้ว ส่วนมากเป็นของเก่าที่นำมา ปรับปรุงเล็กน้อย กลายเป็นของใหม่ ส่งผลให้การศึกษาวิจัยทางด้านการเรียนการสอนหรือ ศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ เป็นการวิจัยที่ อ่อน ในสายตาของผู้ที่จะให้ทุนวิจัย

      การสนับสนุนทุนวิจัย ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ จากระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติจึงมีน้อย เพราะไม่อาจเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วเหมือนการวิจัยทางศาสตร์อื่นๆ และมีความเข้าใจว่าการศึกษาวิจัยทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ใช้เงินทุนวิจัยน้อยกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้พบเห็นได้เป็นเอกสารการพิจารณาให้ทุนวิจัยของ หน่วยงานต่างๆ จะมีการจัดแยกกลุ่มการศึกษาวิจัย และกำหนดวงเงินสนับสนุนการวิจัยทางด้านการศึกษาไว้น้อยกว่าด้านอื่นๆ
 

      ทุนวิจัย เพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา ถูกจัดว่าเป็นการศึกษาวิจัยทางด้านศึกษาศาสตร์ การสนับสนุนทุนวิจัยจึงมีน้อย และให้ความสำคัญกับผลที่จะเกิดขึ้นกับการวิจัยน้อย ระเบียบวิธีวิจัยมีจุดอ่อนมาก ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่อาจนำไปใช้ได้อย่างมีเอกภาพ เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำผลการวิจัยไปใช้อีกมากตั้งแต่ระดับ ปัจเจกบุคคล ผู้เกี่ยวข้องเช่นครู/อาจารย์ ไปจนถึงระดับนโยบายของชาติที่อาจไม่สอดคล้องกับผลวิจัยได้ตลอดเวลา

      อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาไม่อาจหยุดนิ่งหรือเชื่องช้าได้ กระบวนการของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ยังต้องดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนที่จำกัดเพื่อให้ทันกับ ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นักการศึกษานอกจากมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องสามารถให้คำตอบกับสังคมได้เสมอเมื่อสังคมมีคำถามแล้ว นักการศึกษายังต้องมี ความกระหายใคร่รู้และพยายามค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาภูมิปัญญาของพลเมืองในสังคม ด้วยการนำ
ประเด็นความแตกต่างเล็กๆ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Nuance” ที่ อาจสร้างความแปลกใหม่ ความคิดใหม่ หรือนวัตกรรมต่างๆ กลายเป็นทิศทางของการวิจัยในทุกศาสตร์ในปัจจุบัน เพราะความแตกต่างเล็กน้อยที่แฝงอยู่นั้น เมื่อค้นพบแล้วสามารถนำมาขยายให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ใหญ่และมีคุณค่ามากได้ แนวความคิดการศึกษาวิจัยจาก Nuance นี้ มีพื้นฐานความคิดจากนักคิดกลุ่มอภิปรัชญา หรือ Metaphysics เป็นความอยากรู้อยากเห็นเพื่อค้นหาความจริง เพื่อตอบคำถามว่า อะไรคือความจริง หรือ ความจริงมันคืออะไร

      การพยายามหาคำตอบนี้มี ตัวอย่างเชิงประจักษ์ คือ การค้นพบ อนุภาคพระเจ้า หรือ ฮิกส์ โบซอน ซึ่งเป็นความกระหายใคร่รู้ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหาอนุภาคที่ทำให้ เกิดการรวมตัวเป็นมวลสารต่างๆ เพราะเพียงอยากตอบคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เราเห็น หรือสสารที่เห็นนั้นแท้จริงมันคืออะไรกันแน่ ถึงแม้ต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชนกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อความรู้ที่ อาจจะยังไม่ได้คำตอบว่า ฮิกส์ โบซอน มีความสำคัญอย่างไรกับประชาชนเจ้าของเงินภาษีอากร และผลกระทบที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องผูกพันของความรู้ที่เกิดขึ้น แต่ด้วยพลังความกระหายใคร่รู้จึงทำให้หาทางเพื่อให้ได้คำตอบนั้นมา

        สำหรับ แนวคิดการศึกษาวิจัยจาก Nuances ทางด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาอาจมีรูปแบบการนำไปสู่การค้นพบ สิ่งใหม่ ๆ เหมือนกัน นั่นคือ เริ่มจาก ความกระหายใคร่รู้และทำการทดลองเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดประเสริฐสุดสำหรับการพัฒนาสมรรถนะทางปัญญาของผู้เรียน และบางครั้งเป้าหมายปลายทางของการทดลองนั้นอาจจะยอมรับสมมุติฐาน หรือปฏิเสธสมมุติฐานก็ตาม แต่ยังมี Nuances ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ หรือในช่วงของการทดลองอีกมาก แต่เดิมอาจให้ความสำคัญของข้อมูลส่วนเหลือตกค้างที่ไม่ได้นำไปใช้ (Residual) นี้น้อย แต่ถ้านำมาศึกษาวิเคราะห์ต่อไปอาจจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ได้

       การวิจัยเพื่อส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญา ส่วนมากมักจะพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งยังไม่ใช่ตัวชี้วัดสมรรถนะทางปัญญาที่แท้จริง การหากระบวนการหรือวิธีการ ตลอดจนเครื่องมือที่สามารถยืนยันสมรรถนะทางปัญญาที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้ผลของการวิจัยเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการเล็งเห็นผลได้อย่างชัดเจน รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบ ทำซ้ำเพื่อแสดงผลได้อย่างคงเส้นคงวา การนำ Nuances มาใช้เป็นฐานความคิดการวิจัยทางด้านการศึกษาและครุศาสตร์ จะทำให้การวิจัยทางด้านศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือ และ ไม่อ่อน ในสายตาของผู้มีอำนาจสนับสนุนทุนวิจัยอีกต่อไป

ตัวอย่าง การใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ที่นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา หลักสูตร Ph.D. Technical Education Technology ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำไปทดลองใช้กับนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2555 ตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักศึกษา โดยทำการบรรยายและฝึกอบรมในหัวข้อ "การพัฒนาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย" และ "การทำโครงงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ" มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการนี้ ประมาณ 120 คน

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นการใช้เทคนิควิธีการที่สร้างความ แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ เล็กน้อย (Nuances) นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับกับลักษณะและธรรมชาติของผู้เรียน ผู้สอน และเทคโนโลยีตลอดจนสภาวการณ์ต่างๆ ที่เป็นบริบทของสังคมกลุ่มผู้เรียนเป้าหมาย นำไปทดลองใช้และประสบความสำเร็จอย่างมาก และ ผศ. เอกชัย ปริญโญกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสังคม มีความพอใจ เล็งเห็นประโยชน์และให้การสนับสนุนโดยเสนอทำความร่วมมือเพื่อพัฒนาวิชาการใน ลักษณะนี้กับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่ีงการดำเนินการอย่างเป็นทางการจะมีการลงนามความร่วมมือในลำดับต่อไป (ดูรายละเอียดได้ที่ http://met.fte.kmutnb.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=219&Itemid=1) นับเป็นก้าวใหม่ และก้าวที่สำคัญที่ทำให้เกิดการความร่วมมือสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อการ ส่งเสริมสมรรถนะทางปัญญาให้กับนักศึกษาต่อไป


โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/edu/312129

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๒. AAR

การประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้ และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์ เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 12. AAR
ผมไปออสเตรเลียคราวนี้วัตถุประสงค์หลักคือไปร่วมการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum  การเดินทางไปร่วมประชุมจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ  มีผู้ร่วมเดินทางไปร่วมประชุม ๑๒ คน  เป็นคนของสถาบันคลังสมอง ๕ คน  อีก ๗ คนแบ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน  และเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ๔ คน  ผู้อาวุโสที่สุดคือ ศ. นพ. กระแส ชนะวงศ์ อดีต รมต. ๔ กระทรวง และเวลานี้เป็นนายกสภาฯ ๓ แห่ง คือ ม. นราธิวาสฯ, มน., และ สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์  รองลงมาคือผม  ถัดไปคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กรรมการสภา มวล. และสถาบันกันตนา
เป้าหมายของผมในการเดินทางไปประชุมคราวนี้ก็เพราะ สคช. ชวน และผมก็อยากไปเห็นว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย เขามีวิธีคิดหรือหลักการ และหลักปฏิบัติ เกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยอย่างไร  และเนื่องจากในกำหนดการมีการไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราด้วย  ผมอยากไปเห็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมาก เพราะไม่เคยไปเยี่ยมมเลย ยกเว้นที่ Adelaide เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว
สิ่งที่ได้รับมากเกินคาด คือได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยโวลลองกอง  ได้รู้จักมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (regional university)  และได้รู้ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นธุรกิจค้ากำไรข้ามชาติ เขาทำงานอย่างไร 
สิ่งที่ไม่ได้คือ ไม่ได้ไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา เพราะทีม ๔ คนเปลี่ยนแผน ไปซิดนีย์แทน ได้แก่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง หัวหน้าทีม  ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รองหัวหน้าทีม  รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  และผม  ทำให้ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และโวลลองกอง ดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ได้มากเกินคาดอีกอย่างหนึ่งคือ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการของมหาวิทยาลัยเอง ที่รวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์เชิงระบบให้แก่บ้านเมือง  และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในสายตาของสาธารณชนด้วย  คือ Engagement Australia  วิธีการแบบนี้สถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่ได้ทำ
สิ่งที่ได้เรียนรู้เต็มตามที่หวัง คือวิธีการกำกับดูแลอุดมศึกษาของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย  ผ่านการออกกฎหมาย TEQSA  เพื่อควบคุมคุณภาพ  ผมเดาว่าเป้าหมายหลักคือสถาบันกลุ่มที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย มีจำนวนมากกว่า ๑๕๐ แห่ง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  หรือผมเดาว่า เป็นการรับมือกับธุรกิจอุดมศึกษาค้ากำไรข้ามชาตินั่นเอง  ส่วนนี้เข้าใจว่าทางการไทยเรายังไม่ตระหนักในความท้าทายใหม่นี้
การประชุมไม่ลงไปเรื่อง การกำกับดูแลส่วนของสภามหาวิทยาลัย  คนที่มาประชุมดูจะเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กรรมการสภามหาวิทยาลัย  บรรยากาศของการประชุมจึงต่างจากการประชุม AGB ที่ผมเคยไป ดังเล่าไว้ ที่นี่  การประชุมของ AGB เน้นเพื่อให้ความรู้แก่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย  ส่วนการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง  ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้  และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์  เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
จากการประชุมและการดูงาน ผมอ่านระหว่างบรรทัด นำมาตีความ บันทึกออก ลปรร. ใน บล็อก ได้ถึง ๑๒ บันทึก ถือเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้เอามาทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการอุดมศึกษาของชาติ  เป็นการทำหน้าที่แบบไม่มีหน้าที่อย่างเป็นทางการ
วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508416

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๑. Academic Board

  ในการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum วันแรก มีเรื่อง Defining the role of academic boards in decision making  เสนอโดย Associate Professor Peter McCallum, Chair of the Academic Board, The University of Sydney   ฟังแล้วสรุปได้ว่า ยังไม่มีรูปแบบของสภาวิชาการที่เป็นมาตรฐานตายตัว

          หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการแยก corporate governance กับ academic governance ออกจากกัน   และ corporate governance ต้องคอยช่วยปกป้องให้ academic governance มีอิสระ หรือ academic freedom   คือเป็นการกำกับกันอยู่ในวงวิชาการ   ไม่โดนฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายศาสนา (ในกรณียุโรปสมัยก่อน) เข้ามาสั่งการ    ซึ่งก็หมายความว่ามีการกำกับดูแลมาตรฐานวิชาการกันเองในวงวิชาการ   และกลไกนั้นคือ academic board (สภาวิชาการ)

          ซึ่งก็แปลว่า สภาวิชาการต้องมีกลไกปรับเปลี่ยน “มาตรฐานวิชาการ” ให้เหมาะแก่ยุคสมัย   รวมทั้งให้มีคุณภาพวิชาการ ความยากอยู่ที่ สภาวิชาการต้องทำหน้าที่อยู่ในสภาพความเป็นจริงของโลก ของสังคม และของวิชาการ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว    วิชาการบางเรื่องที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดในวันนี้ อาจล้าสมัยในปีหน้าก็เป็นไปได้

           เมื่อดูในกฎหมาย TEQSA ของออสเตรเลีย   เห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายระบุกรอบคุณภาพและเงื่อนไขของการจัดการคุณภาพของวิชาการไว้ชัดเจน   และมอบอำนาจการจัดการให้แก่ฝ่ายบริหาร และแก่ Academic Board ให้ทำหน้าที่จัดการคุณภาพวิชาการของมหาวิทยาลัย   

          เขาบอกว่าการจัดการคุณภาพวิชาการ เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน    ในวงการวิชาการเอง และกับนักศึกษา 

          แต่ผมมองว่า Academic Board ต้องทำงานซับซ้อนกว่านั้น   ไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะในวงวิชาการ และวง นศ. เท่านั้น   ต้องเชื่อมออกไปสู่วง “ผู้ใช้” ผลิตผลของมหาวิทยาลัย   หรืออาจเรียกว่าวง demand-side ด้วย   โดยที่เป็นความสัมพันธ์แบบที่ละเอียดอ่อน   ทั้งรับฟัง และสงวนความอิสระในการตัดสินใจ 

          Academic Board ต้องทำงานเพื่อรักษา คุณภาพ  ความน่าเชื่อถือ (integrity)  และความเป็นอิสระ ทางวิชาการ   โดยในขณะเดียวกัน ก็ต้องตอบสนองความต้องการของสังคม หรือที่เรียกว่า University Social Responsibility

          ผมค้นบันทึกระหว่างนั่งฟัง session นี้    หาบันทึกความในใจที่ปิ๊งแว้บขึ้น จากการฟัง    ได้ข้อความดังนี้  “Acad Bd ทำหน้าที่ถือกฎ  vs  ทำหน้าที่สร้างกระบวนการให้เกิดความร่วมมือกันสร้างคุณภาพวิชาการ

    Shared influence

          สภาวิชาการ > 50% จากบุคคลภายนอก   **ใช้ทำอะไรเป็นหลัก  ?ผลักวิชาการสู่สังคม   ?ผลักวิชาการสู่ขอบฟ้าใหม่   ?กำกับคุณภาพ   ?คิดระบบจัดการการพัฒนาวิชาการ

          ผมไม่ทราบว่า สภาวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยมีองค์ประกอบอย่างไร    ทราบแต่ว่า ของต่างประเทศ กว่าครึ่งเป็นบุคคลภายนอก

          ผมลองค้นใน Google ด้วยคำว่า Academic Board พบเรื่องราวมากมาย   ของหลากหลายมหาวิทยาลัย ที่เปิดเผยกลไกการทำงานของ Academic Board ของเขาไว้   เช่น ของ University of Sydney ที่นี่ ซึ่งเขามีคู่มือของสมาชิก บอร์ด ไว้ด้วย ที่นี่

          ผม AAR กับตัวเองว่า วงการอุดมศึกษาไทยน่าจะมีกระบวนการพัฒนา สภาวิชาการอย่างเป็นระบบ   



วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๒๑ ต.ค. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506455

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๐. ความเชื่อมโยงกับสังคม

  มหาวิทยาลัยไม่ว่าในประเทศใด มีจุดแข็งและจุดอ่อนอยู่ที่วิชาการ    เรามุ่งสร้างสรรค์วิชาการ  ต้องการสมาธิแน่วแน่อยู่กับการสร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้    ความรู้จริงรู้ลึกรู้เชื่อมโยงคือจุดแข็งของเรา    แต่ความเข้มแข็งทางวิชาการนั้นเองกลายเป็นจุดอ่อน   เพราะเรามุ่งอยู่เฉพาะที่วิชาความรู้ ไม่เชื่อมโยงกับสังคม    มหาวิทยาลัยทั่วโลกจึงมีความเสี่ยงที่ความห่างเหินกับสังคม หรือชีวิตจริงของผู้คน
          ผมเดาว่า นี่คือที่มาของการก่อตั้ง Engagement Australiaซึ่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน (community engagement)    เป็นองค์กรที่สมาชิกจ่ายค่าสมาชิกรายปี   มีมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ๒๕ แห่งเป็นสมาชิก   จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ ๓๙ แห่ง    
          ลองอ่าน Charter ของ Engagement Australia ที่นี่   จะเห็นว่าเขามีวัตถุประสงค์กว้างขวาง    โดยเฉพาะหลักการของ engagement 9 ข้อที่ระบุไว้    มหาวิทยาลัยไทยน่าจะได้ทำความเข้าใจ และปรับใช้กับสถานการณ์ไทย
          ผมได้บันทึกการค้น อินเทอร์เน็ต ทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมไว้ในบันทึกชุดเรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลียตอนที่ ๑ ที่นี่   และเมื่อได้คุยกับ Dr. Diana Whittonแห่ง University of Western Sydneyซึ่งเป็น Chair of the Scholarship Committeeก็รู้สึกว่า Engagement Australia ไม่แข็งแรงนัก   และทำงานเน้น community engagement เป็นหลัก    ผมได้ถามว่า เขา engage กับ industry ได้แค่ไหน   เขาบอกว่า ทางภาคอุตสาหกรรมไม่สนใจ
          ที่มหาวิทยาลัย โวลล็องก็อง เขาพูดเรื่อง community engagement ว่า เขาตีความคำว่า community กว้าง    หมายถึงทั้ง local community, national community, ไปจนถึง global community   เขาจึงมีวิทยาเขตที่นครดูไบ
          อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า เรื่อง engagement เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัย    ที่จะต้องเอาใจใส่สร้างพลัง engagement ในหลายมิติ   ทั้ง student engagement, staff engagement, community engagement, และ industry engagement    แต่ละมหาวิทยาลัยต้องศึกษาตีความคำว่า engagement เอาเอง   เพื่อหาทางใช้พลังของมัน เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของมหาวิทยาลัย


วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕  ปรับปรุง ๒๖ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506073

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๙. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร

ผู้จัดการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เชิญคนจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร ๑ แห่ง คือ Kaplan Australia มาพูดในการประชุม ๒ ช่วง คือหัวข้อ Registration of non self-accrediting institutions and course accreditation พูดโดยนักกฎหมายที่เป็นหัวหน้าหน่วย Accreditation and Compliance   กับหัวข้อ Developing steps to ensure quality assurance is achieved in partner institution โดย Prof. Jim Jackson, Vice President Academic Asia Pacific

          ผมเพิ่งรู้จัก Kaplanว่าเป็นบริษัทให้บริการทางการศึกษาที่หลากหลายมาก และดำเนินการในทั่วโลก   และจริงๆ แล้วเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท วอชิงตัน โพสต์  ที่มีหนังสือพิมพ์ นิวสวีก เป็นส่วนหนึ่ง    ที่เวลานี้รายได้จากธุรกิจการศึกษาเท่ากับ ๒.๖๔ พันล้านเหรียญ  มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมด   ที่ประกอบด้วยธุรกิจหลัก ๔ ด้าน   คือหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  ทีวี  เคเบิ้ล  และการศึกษา

          ความสามารถของ Kaplan ก็คือ ต้องฝ่าด่านการตรวจสอบทางคุณภาพนานากลไกให้ได้ในประเทศที่ตนเข้าไปประกอบธุรกิจ    โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศนั้นๆ    โดยผมฟังแล้วสรุปกับตนเองว่า Kaplan เก่งด้านระบบประกันคุณภาพ ที่สามารถจัดการให้ผ่านด่านตรวจ (accreditation) ของประเทศที่ตนเข้าไปดำเนินกิจการ    และเก่งในการหาพันธมิตรดำเนินการในพื้นที่หรือประเทศนั้นๆ 

          ผมได้เข้าใจกระแสของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร    ว่าเป็นกระแสธุรกิจข้ามชาติ   ที่กลไกกำกับดูแลอุดมศึกษาของแต่ละประเทศจะต้องรู้จัก และมีวิธีกำกับดูแลคุณภาพอย่างได้ผล   โดยน่าจะเน้นมุมมองเชิงบวก    ว่าหากเราเข้าใจและรู้จักใช้พลังเชิงบวกของสถาบันเหล่านี้   เราก็จะสร้างความเป็นนานาชาติ หรือโลกาภิวัตน์ของคนไทยได้ดีขึ้นโดยใช้กลไกของธุรกิจอุดมศึกษาข้ามชาติเหล่านี้    ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการเล่นกับไฟ

          ทำให้ผมเข้าใจมหาวิทยาลัย เนชั่น ว่าน่าจะสอดคล้องกับการที่บริษัท วอชิงตัน โพสต์ หันมาทำธุรกิจบริษัท Kaplan

          เป็น corporate university ในรูปแบบหนึ่ง

          จากคำบรรยายของ Prof. Jim Jackson ผมรับรู้ด้วยความตกใจว่า ในสิงคโปร์มีสถาบันการศึกษาเอกชนถึง ๑ พันแห่ง   มีนักศึกษา ๑ แสนคน   และในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาก็เจ๊งกันไปมาก   เพราะการแข่งขันสูง    และทางรัฐบาลสิงคโปร์ก็ตรวจสอบเข้มงวด

          ผมได้เข้าใจว่า ประเทศต้องมีระบบกำกับดูแล ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ    โดยมีกลไกกำกับตรวจสอบคุณภาพของบัณฑิตที่แม่นยำ    นี่คือข้อท้าทายต่อประเทศไทย   ที่หลายกรณีผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชนแสวงหากำไร   และใช้กโลบายหลากหลายด้าน จัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ   โดยผู้เข้าเรียนไม่ได้ต้องการความรู้ แต่ต้องการปริญญา เพื่อสถานะทางสังคม



วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505897

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๘. วิชาการด้านการเรียนการสอน

  แนวความคิดในบันทึกนี้ได้จากการไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ช่วงบ่ายวันที่ ๖ ก.ย. ๕๕  โดยเฉพาะจากการไปคุยกับ Assoc. Prof. Simon Barrie, Director,Institute for Teaching and Learning   และ Assoc. Prof. Michele Scoufis, Associate Dean Learning and Teaching, The University of Sydney Business School

          มหาวิทยาลัยซิดนีย์ใหญ่มาก   มี นศ. กว่า ๕ หมื่นคนใน ๑๖ คณะวิชา   และที่สำคัญมี นศ. ต่างชาติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน   ความพึงพอใจของนักศึกษาด้านการเรียนรู้จึงสำคัญมาก    นี่คือที่มาของการที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์มีเป้าหมายชัดเจนที่การพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนของทั้งมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง  

          นำไปสู่การตั้ง Institute for Teaching and Learningทำหน้าที่จัดการฝึกอบรมการเรียนการสอนแก่อาจารย์ใหม่ ซึ่งมีปีละประมาณ ๒๐๐ คน   รวมทั้งทำงานวิจัยและพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอน และการวัดผล   โปรดเข้าไปดูในเว็บไซต์ จะเห็นว่าเขามีกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่หลากหลายมาก   โดยอาจารย์ ไซมอน ผอ. สถาบันการเรียนการสอน บอกว่าแม้มหาวิทยาลัยจะเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาการเรียนการสอน   แต่ก็ยังอ่อนแอด้านการประเมินผลการเรียน   โดยเฉพาะด้านที่ประเมินยาก เช่นด้านจริยธรรม  ด้าน engagement เขาบอกว่า QA ของการประเมิน ก็ยังไม่ดี

          เขามีบริการ Professional Developmentให้แก่อาจารย์มากมาย    เช่น อาจารย์ใหม่ทุกคนของมหาวิทยาลัยต้องเข้ารับการอบรม Principles and Practice of University Teaching (P&P)เป็นเวลา ๒ วัน   แถมยังมีหลักสูตร part time เวลา ๑ ปี ให้เรียนเพื่อให้ได้ Graduate Certificate in Educational Studies (Higher Education)ติดตัวไปตลอด  เป็นต้น

          ที่น่าประทับใจคือ ในทุกคณะจะมีรองคณบดีด้านการเรียนการสอน ที่ทำงานร่วมกับ ผอ. ของสถาบันการเรียนการสอน ในการพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอน   การพัฒนาอาจารย์ให้มีทักษะด้านการเรียนการสอนและการประเมิน เพิ่มขึ้น    รวมทั้งส่งเสริมอาจารย์ให้ทำวิจัยด้านการเรียนการสอน   โดยที่เขาพยายามส่งเสริมให้แต่ละคณะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและรักงานพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน   โดยอาจได้ปริญญาโทหรือเอกด้านการเรียนรู้ศาสตร์ตามคณะของตน   เช่น PhD in Engineering Education   และผลงานวิจัยการเรียนการสอนเอามานับเป็นผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่ง หรือพิจารณาความดีความชอบได้

          ที่คณะบริหารธุรกิจ เราได้คุยกับรองคณบดีฝ่ายการเรียนการสอน   ที่ทำงานพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอนในสาขาบริหารธุรกิจมายาวนานกว่า ๒๐ ปี   คือ รศ. มิเชล ที่มีเอกสารช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการเรียนการสอนแก่อาจารย์ใหม่ และอาจารย์ทั่วไปอย่างดีมาก   เข้าไปดูในเว็บไซต์ได้ ที่นี่  จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมาก    เพื่อเพิ่มชื่อเสียงต่อนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ    มีระบบการจัดการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาจารย์ด้านการเรียนการสอน   มีการปลุกกระแสสร้างความเอาใจใส่คุณภาพของการจัดการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยหลากหลายวิธี



วิจารณ์ พานิช
๖ ก.ย. ๕๕
ที่มา  : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505804