วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๑๒. AAR

การประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้ และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์ เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 12. AAR
ผมไปออสเตรเลียคราวนี้วัตถุประสงค์หลักคือไปร่วมการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum  การเดินทางไปร่วมประชุมจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ  มีผู้ร่วมเดินทางไปร่วมประชุม ๑๒ คน  เป็นคนของสถาบันคลังสมอง ๕ คน  อีก ๗ คนแบ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน  และเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ๔ คน  ผู้อาวุโสที่สุดคือ ศ. นพ. กระแส ชนะวงศ์ อดีต รมต. ๔ กระทรวง และเวลานี้เป็นนายกสภาฯ ๓ แห่ง คือ ม. นราธิวาสฯ, มน., และ สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์  รองลงมาคือผม  ถัดไปคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กรรมการสภา มวล. และสถาบันกันตนา
เป้าหมายของผมในการเดินทางไปประชุมคราวนี้ก็เพราะ สคช. ชวน และผมก็อยากไปเห็นว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย เขามีวิธีคิดหรือหลักการ และหลักปฏิบัติ เกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยอย่างไร  และเนื่องจากในกำหนดการมีการไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราด้วย  ผมอยากไปเห็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมาก เพราะไม่เคยไปเยี่ยมมเลย ยกเว้นที่ Adelaide เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว
สิ่งที่ได้รับมากเกินคาด คือได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยโวลลองกอง  ได้รู้จักมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (regional university)  และได้รู้ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นธุรกิจค้ากำไรข้ามชาติ เขาทำงานอย่างไร 
สิ่งที่ไม่ได้คือ ไม่ได้ไปเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา เพราะทีม ๔ คนเปลี่ยนแผน ไปซิดนีย์แทน ได้แก่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง หัวหน้าทีม  ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รองหัวหน้าทีม  รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  และผม  ทำให้ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และโวลลองกอง ดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ได้มากเกินคาดอีกอย่างหนึ่งคือ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการของมหาวิทยาลัยเอง ที่รวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์เชิงระบบให้แก่บ้านเมือง  และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในสายตาของสาธารณชนด้วย  คือ Engagement Australia  วิธีการแบบนี้สถาบันอุดมศึกษาไทยยังไม่ได้ทำ
สิ่งที่ได้เรียนรู้เต็มตามที่หวัง คือวิธีการกำกับดูแลอุดมศึกษาของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย  ผ่านการออกกฎหมาย TEQSA  เพื่อควบคุมคุณภาพ  ผมเดาว่าเป้าหมายหลักคือสถาบันกลุ่มที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย มีจำนวนมากกว่า ๑๕๐ แห่ง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  หรือผมเดาว่า เป็นการรับมือกับธุรกิจอุดมศึกษาค้ากำไรข้ามชาตินั่นเอง  ส่วนนี้เข้าใจว่าทางการไทยเรายังไม่ตระหนักในความท้าทายใหม่นี้
การประชุมไม่ลงไปเรื่อง การกำกับดูแลส่วนของสภามหาวิทยาลัย  คนที่มาประชุมดูจะเป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่กรรมการสภามหาวิทยาลัย  บรรยากาศของการประชุมจึงต่างจากการประชุม AGB ที่ผมเคยไป ดังเล่าไว้ ที่นี่  การประชุมของ AGB เน้นเพื่อให้ความรู้แก่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย  ส่วนการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เน้นร่วมกันทำความเข้าใจระบบกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง  ที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำรงอยู่ให้ได้  และจะต้องดำรงสถานะ self-regulating ไว้อย่างสุดฤทธิ์  เพื่อการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยให้แก่สังคม
จากการประชุมและการดูงาน ผมอ่านระหว่างบรรทัด นำมาตีความ บันทึกออก ลปรร. ใน บล็อก ได้ถึง ๑๒ บันทึก ถือเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้เอามาทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการอุดมศึกษาของชาติ  เป็นการทำหน้าที่แบบไม่มีหน้าที่อย่างเป็นทางการ
วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508416

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น