การทำหน้าที่อุดมศึกษาในสภาพที่ฝ่าย “ผู้ใช้” (demand side) เป็นผู้กำหนดความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือแนวโน้มโลก และสภาพของไทยก็จะอยู่ในแนวโน้มเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะในการจับทิศทางความต้องการของ demand-side
สถาบันคลังสมองของชาติ จัดการเดินทางไปร่วมประชุม The 7th annual University Governance and Regulations Forum ที่นครแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. 55 พร้อมทั้งดูงานมหาวิทยาลัยที่นั่น ผมได้รับคำชวนให้ร่วมไปด้วย และมีรายการดูงานด้าน Scholarship of Teaching and Learning ที่ ซิดนีย์ด้วย ในวันที่ 6-7 ก.ย. รวม 3 งาน
เข้าไปดูหัวข้อการประชุมของ University Governance and Regulations Forum จะเห็นว่า เขาไม่พูดกันเฉพาะเรื่องการกำกับดูแล เขาพูดเข้าไปในเนื้อของการทำหน้าที่มหาวิทยาลัย เช่นเรื่องการทำหน้าที่อุดมศึกษาในสภาพที่ฝ่าย “ผู้ใช้” (demand side) เป็นผู้กำหนดความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือแนวโน้มโลก และสภาพของไทยก็จะอยู่ในแนวโน้มเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาทักษะในการจับทิศทางความต้องการของ demand-side และในการสื่อสารร่วมมือกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่เขาเอามาพูดกันคือเรื่อง regional campus ซึ่งหมายความว่า เขาต้องปรับตัวทำงานให้ตรงความต้องการของท้องถิ่น ผมอยากรู้ว่าเขาปรับโครงสร้างการทำงานแค่ไหน ผมเคยเสนอไว้ให้แก่คนชุมพรให้คิดวางโครงสร้างมหาวิทยาลัยชุมพรเขตรอุดมศักด์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมพร และมีโครงสร้างตามประเด็นหลักๆ ที่ต้องการพัฒนา ไม่ใช่จัดตามวิชา จัดตั้ง “คณะพัฒนา” ไม่ใช่คณะวิชา ตั้ง “ภาคพัฒนา” ไม่ใช่ภาควิชา โดยที่หน่วยงานต้องมีอาจารย์หลายสาขาวิชาทำงานร่วมกัน
วันที่สองของการประชุม เน้นเรื่องคุณภาพของอุดมศึกษา ผมได้รู้จักหน่วยงาน TESQA ที่ชื่อก็บอกแล้วว่า สมศ. ของเราเรียนรู้จากเขา แต่ของเขาแยกการดูแลอุดมศึกษาออกมา เมื่อเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ TEQSA ก็รู้สึกว่าเขาทำงานต่างจาก สมศ. คือ สมศ. ทำงานรับผิดชอบต่อรัฐ แต่ TESQA ทำงานรับผิดชอบต่อนักศึกษา เขาบอกว่า TEQSA’s primary aim is to ensure that students receive a high quality education at any Australian higher education provider.
อ่านจาก เว็บไซต์ ที่นี่ จึงรู้ว่า TEQSA เพิ่งตั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และมีข้อสังเกตว่าเขาเอา Q นำหน้า S (คุณภาพนำหน้ามาตรฐาน) แต่ของเรากลับกัน
มิน่า การประชุมถึงเอาเรื่อง risk มาไว้ปนกับ TEQSA เพราะ TEQSA ตั้งใหม่ มีข้อกำหนดใหม่ที่มหาวิทยาลัยอาจไม่เข้าใจ และทำผิดกติกา เกิดเป็น compliance risk และ quality risk ผมจึงจ้องไปเรียนรู้มุมมองของออสเตรเลียต่อกระบวนการคุณภาพของอุดมศึกษา
เรื่องที่น่าสนใจมากกลายเป็นของแถม คือการไปดูงานเรื่อง scholarship of teaching ที่ ซิดนีย์ ซึ่งเอาเข้าจริงได้เรื่อง scholarship of engagement แถมมาด้วย ผมได้เรียนรู้ว่าเขามีการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบขับเคลื่อนเรื่องทั้งสอง ในด้านวิชาการด้านการเรียนการสอน มีเรื่องของ Institute for Teaching and Learning (ITL) University of Sydney ที่นี่ รวมทั้งมีการตั้งสมาคมนานาชาติด้วย คือ The International Society for the Scholarship of Teaching & Learning (ISSOTL) ซึ่งเมื่อเข้าไปชมเว็บไซต์ ก็ไม่ประทับใจ ดูเรื่องขององค์กรชื่อ Engagement Australia ได้ที่นี่
ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยซิดนีย์ใหญ่มาก มี นศ. กว่า ๕ หมื่นคน และมี ๑๖ คณะ คณะศึกษาศาสตร์เป็นหนึ่งใน ๑๖ แต่เขาก็ยังมีหน่วยงาน ITL ทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุณภาพการเรียนการสอนของทั้งมหาวิทยาลัย และทำงานร่วมกับวงการนานาชาติด้วย
จากเว็บไซต์ของ Engagement Australia ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย มีหน่วยงาน Office of Community Engagement (OCE) ตรงกับที่ผมเคยเสนอไว้ที่นี่
ผมได้เรียนรู้ว่า Engagement Australia เป็น ฟอรั่ม ที่มหาวิทยาลัยช่วยกันตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเข้าไปใกล้ชิดกับสังคมหรือบ้านเมืองมากขึ้น ไม่ลอยตัวจากสังคม และ EA ทำงานเน้นใน ๓ เรื่องคือ (1) Engaged research (2) Engaged teaching และ (3) Social responsibility
ผมค้นไปค้นมาในเว็บไซต์ของ EA ไปพบหนังสือ The Engaged University : International Perspectives on Civic Engagement เขียนโดย Sir David Watson และคณะ ค้นไปเรื่อยๆ ก็ได้ความรู้สึกว่า สมัยนี้สังคมทั่วโลกเริ่มตั้งข้อสงสัย หรือเสื่อมความนับถือต่อมหาวิทยาลัย ว่ามีประโยชน์ต่อสังคมแค่ไหน มหาวิทยาลัยจึงต้องหันมาเอาใจใส่ปรับปรุงตัวเองในด้าน Social engagement ที่มหาวิทยาลัย Northwestern University ในสหรัฐอเมริกา มี Center for Civic Engagement
ทำให้ผมตีความว่า ปัญหาหอคอยงาช้าง หรือปัญหาลอยตัวหรือแยกตัวจากสังคม เป็นปัญหาของวงการศึกษาทุกระดับทั่วโลก เพราะคนในวงการศึกษาบูชาความรู้หรือวิชา ไม่ยกย่องเอาใจใส่ชีวิตจริงของผู้คนในสังคม มองไม่เห็นคุณค่าของความรู้ที่ฝังแฝงอยู่กับการทำงานและการดำรงชีวิตร่วมกันเป็นชุมชนและสังคม
เป้าหมายสุดท้ายของการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงได้แก่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การ เป็นภาคีของการพัฒนาสังคมนั่นเอง
จากการทำความรู้จัก Sir David Watson ผมจึงได้รู้จัก Green Templeton College ของมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด และได้เรียนรู้วิธีปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยแห่งอดีตให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต และGTC ทำหน้าที่เป็นแหล่งการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ในอนาคต จึงเป็นสถาบันสหวิทยาการ ได้แก่วิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการ และสังคมศาสตร์ จะเห็นว่า Sir David Watson ผู้เคยเป็นอธิการบดี (ของมหาวิทยาลัย ไบรท์ตัน) มาแล้ว มารับหน้าที่ Principal ของวิทยาลัย โดยไม่ถือเป็นการลดความสำคัญ
วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/502409
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น