มีคนเตือนสติอยู่คนเดียวคือ ศ. Stephen Parker อธิการบดีของ ม. แคนเบอร์รา ว่าควรคิดถึงค่าใช้จ่ายด้วย ไม่ใช่คิดแต่เรื่องคุณภาพ จึงน่าจะคิดเรื่องมหาวิทยาลัยที่เน้นสอนอย่างเดียว ผลิตบัณฑิตที่เก่งตรงความต้องการได้ โดยไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยแบบเดิมๆ เพราะเดี๋ยวนี้สามารถดึงเอาความรู้มาใช้ได้โดยง่าย สามารถแยกทักษะในการสร้างความรู้กับทักษะในการใช้ความรู้ออกจากกันได้
มหาวิทยาลัยที่เน้นสอนหรือผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง โดยไม่เน้นวิจัย น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับยุคใหม่ โดยประเทศต่างๆ น่าจะมีแนวทางจัดการระบบอุดมศึกษาให้มีมหาวิทยาลัยหลากหลายแบบ แข่งขันกัน ในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว
หน้าที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงคือหน้าที่สร้างความมั่งคั่ง (wealth) แม้มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญ ผ่านการสร้างคนและสร้างความรู้ ทั้งคนและความรู้ที่ดีจะนำไปสู่นวัตกรรม ที่เป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง
ศ. นพ. กระแส ชนะวงศ์ นายกสภา ๓ มหาวิทยาลัย และอดีตรัฐมนตรี ๔ กระทรวง กล่าวตอนทำ AAR การไปร่วมประชุมว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลัก 3W คือ wisdom, wealth และ welfare
หน่วยงานกำกับดูแลอุดมศึกษาจึงควรทำงานวิจัยตรวจสอบขีดความสามารถของอุดมศึกษา และของมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ คือต้องหาวิธีมองมหาวิทยาลัยเป็น profit center ให้ได้ ไม่ใช่มองเป็นรายจ่ายเท่านั้น
กล่าวใหม่ ต้องมีการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาของประเทศให้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศอย่างคุ้มค่า มีการสร้างข้อมูล และสารสนเทศเพื่อตรวจสอบความคุ้มค่านั้น เปรียบเทียบระหว่างสถาบันต่างแบบต่างจุดเน้น และให้อิสระสถาบันในการปรับตัวหาจุดเน้นของตนเอง ซึ่งนี่คือวิธีกำกับดูแลระบบแนว เคออร์ดิค ไม่ใช่แบบ command & control การปฏิรูปอุดมศึกษาแนวที่ผมเสนอนี้น่าจะเรียกว่า แนว เคออร์ดิค คือให้ระบบมันมีทั้ง chaos และปรับตัวเข้าสู่ order เอง ผ่านการจัดสภาพแวดล้อมและสารสนเทศเพื่อการปรับตัวอย่างมีเป้าหมายและมีปัญญา
ตัวอย่างของข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการปรับตัวอย่างมีปัญญาคือเอกสาร Mapping Australian higher educationโดยAndrew Norton, GRATTAN Institute นี่คือผลงานวิจัยระบบอุดมศึกษา ที่ประเทศไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง Grattan Institute คือสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะของออสเตรเลีย ที่ถือว่าการวิจัยระบบการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ
ในการประชุม ๒ วันนี้ มีการพูดเรื่องการใช้สาระในกฎหมาย TEQSA Actเอามาจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยแบบลงรายละเอียดมาก จนผมคิดว่าน่ากลัวเกิดความเสี่ยงใหม่ ที่ TEQSA เป็นต้นเหตุ คือลงรายละเอียดขั้นตอนในการจัดการความเสี่ยงมาก จนลืมไปว่าเป้าหมายจริงๆ คือคุณภาพของอุดมศึกษา หรือมิฉนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดก็มากเกินกว่าผลดีที่ได้รับ
ผมมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยต้องเน้นการทำงานแบบมีนวัตกรรม เน้นการรุกไปข้างหน้า ไม่ใช่มัวแต่ปัดป้องความเสี่ยงตามที่หน่วยงานภายนอกกำหนดอย่างมีสูตรสำเร็จตายตัว
แต่วิทยากรที่มีความรู้เรื่อง TEQSA ก็บอกว่า TEQSA เป็น “light touch” และจะดำเนินการแตกต่างกันระหว่างองค์กรอุดมศึกษาที่ความเสี่ยงสูง กับองค์กรที่ความเสี่ยงต่ำ คือไม่ใช่ one-size-fits-all
ผมเขียนบันทึกนี้ด้วย learning mode คือเขียนเพื่อตีความทำความเข้าใจกับตนเอง จะถูกหรือผิดไม่สำคัญ แต่ก็เอามา ลปรร. ใน บล็อก ด้วย ผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/504874
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น