วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๙. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร

ผู้จัดการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum เชิญคนจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร ๑ แห่ง คือ Kaplan Australia มาพูดในการประชุม ๒ ช่วง คือหัวข้อ Registration of non self-accrediting institutions and course accreditation พูดโดยนักกฎหมายที่เป็นหัวหน้าหน่วย Accreditation and Compliance   กับหัวข้อ Developing steps to ensure quality assurance is achieved in partner institution โดย Prof. Jim Jackson, Vice President Academic Asia Pacific

          ผมเพิ่งรู้จัก Kaplanว่าเป็นบริษัทให้บริการทางการศึกษาที่หลากหลายมาก และดำเนินการในทั่วโลก   และจริงๆ แล้วเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท วอชิงตัน โพสต์  ที่มีหนังสือพิมพ์ นิวสวีก เป็นส่วนหนึ่ง    ที่เวลานี้รายได้จากธุรกิจการศึกษาเท่ากับ ๒.๖๔ พันล้านเหรียญ  มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมด   ที่ประกอบด้วยธุรกิจหลัก ๔ ด้าน   คือหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  ทีวี  เคเบิ้ล  และการศึกษา

          ความสามารถของ Kaplan ก็คือ ต้องฝ่าด่านการตรวจสอบทางคุณภาพนานากลไกให้ได้ในประเทศที่ตนเข้าไปประกอบธุรกิจ    โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศนั้นๆ    โดยผมฟังแล้วสรุปกับตนเองว่า Kaplan เก่งด้านระบบประกันคุณภาพ ที่สามารถจัดการให้ผ่านด่านตรวจ (accreditation) ของประเทศที่ตนเข้าไปดำเนินกิจการ    และเก่งในการหาพันธมิตรดำเนินการในพื้นที่หรือประเทศนั้นๆ 

          ผมได้เข้าใจกระแสของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแสวงหากำไร    ว่าเป็นกระแสธุรกิจข้ามชาติ   ที่กลไกกำกับดูแลอุดมศึกษาของแต่ละประเทศจะต้องรู้จัก และมีวิธีกำกับดูแลคุณภาพอย่างได้ผล   โดยน่าจะเน้นมุมมองเชิงบวก    ว่าหากเราเข้าใจและรู้จักใช้พลังเชิงบวกของสถาบันเหล่านี้   เราก็จะสร้างความเป็นนานาชาติ หรือโลกาภิวัตน์ของคนไทยได้ดีขึ้นโดยใช้กลไกของธุรกิจอุดมศึกษาข้ามชาติเหล่านี้    ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการเล่นกับไฟ

          ทำให้ผมเข้าใจมหาวิทยาลัย เนชั่น ว่าน่าจะสอดคล้องกับการที่บริษัท วอชิงตัน โพสต์ หันมาทำธุรกิจบริษัท Kaplan

          เป็น corporate university ในรูปแบบหนึ่ง

          จากคำบรรยายของ Prof. Jim Jackson ผมรับรู้ด้วยความตกใจว่า ในสิงคโปร์มีสถาบันการศึกษาเอกชนถึง ๑ พันแห่ง   มีนักศึกษา ๑ แสนคน   และในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาก็เจ๊งกันไปมาก   เพราะการแข่งขันสูง    และทางรัฐบาลสิงคโปร์ก็ตรวจสอบเข้มงวด

          ผมได้เข้าใจว่า ประเทศต้องมีระบบกำกับดูแล ให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ    โดยมีกลไกกำกับตรวจสอบคุณภาพของบัณฑิตที่แม่นยำ    นี่คือข้อท้าทายต่อประเทศไทย   ที่หลายกรณีผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชนแสวงหากำไร   และใช้กโลบายหลากหลายด้าน จัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ   โดยผู้เข้าเรียนไม่ได้ต้องการความรู้ แต่ต้องการปริญญา เพื่อสถานะทางสังคม



วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505897

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น