วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๕. การเดินทางของระบบประกันคุณภาพ

หลังเข้าร่วมประชุม The 7th annual University Governance and Regulations Forum ที่นครแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๔-๕ ก.ย.55 ที่นครแคนเบอร์รา  ออสเตรเลีย   ผมก็บอกตัวเองว่า หัวใจของเรื่องระบบประกันคุณภาพ ในบริบทไทย ส่วนที่สำคัญยิ่ง มี ๓ ประการ
๑. เป็น means ไม่ใช่ end  หรือเป็นการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง

๒. ไม่มีจุดจบ   คือต้องทำเรื่อยไป

๓. ตัวเอกคือผู้ทำงาน   ไม่ใช่หน่วยกำกับ
ระบบประกันคุณภาพเป็นการเดินทาง
          ระบบประกันคุณภาพอุดมศึกษาเป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดจบ   เป้าหมายคือการทำให้อุดมศึกษาเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง ในการพัฒนาประเทศชาติ    ระบบประกันคุณภาพที่เข้มแข็งไม่ใช่เป้าหมาย    ความเข้มแข็งหรือคุณภาพของอุดมศึกษาต่างหากที่เป็นเป้าหมาย

          ในการประชุมนี้ จึงมีคนออกมาเตือน   ว่าให้ระวังกรณีที่ TEQSA เข้มแข็งมาก มีอำนาจมาก และใช้อำนาจบังคับมาก    ลงรายละเอียดให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ จนต้องเสียเวลา คน และค่าใช้จ่ายปฏิบัติตามที่ TEQSA กำหนด    จนตัวคุณภาพและการสร้างสรรค์เองย่อหย่อน   เข้าทำนอง “ระบบประกันคุณภาพเข้มแข็งมาก  แต่ตัวคุณภาพจริงๆ อ่อนแอ”   ซึ่งเป็นสภาพที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ 
          ระบบประกันคุณภาพเป็นเครื่องมือ (means)  ไม่ใช่เป้าหมาย (end)
ระบบประกันคุณภาพไม่มีจุดจบ
          การประกันคุณภาพของทุกสิ่ง ทุกเรื่อง ไม่หยุดนิ่ง    เป็นเป้าเคลื่อนไหว หรือมีชีวิต     จึงมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามปัจจัยแวดล้อมมากมาย   การประกันคุณภาพของอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน
          แต่ที่สำคัญที่สุด ระบบประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาของแต่ละแห่ง จะต้องปรับตัวตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลง    เพื่อตอบสนองสังคม ในฐานะเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวเอกในระบบประกันคุณภาพคือผู้ทำงาน
          เมื่อเป้าหมายแท้จริงของระบบประกันคุณภาพคือผลงานหลักขององค์กร   ตัวเอกของระบบประกันคุณภาพจึงต้องเป็นผู้ทำงานประจำในองค์กร    ผู้ทำงานประจำเหล่านี้จึงควรเป็นเจ้าของระบบประกันคุณภาพ    และใช้กลไกประกันคุณภาพมารับใช้ตน ให้สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา
          หน่วยงานใดสร้างการบวนทัศน์นี้ได้ ระบบประกันคุณภาพจะไม่เป็นตัวกดขี่หรือสร้างความทุกข์แก่คนทำงาน   แต่จะมีผลในทางตรงกันข้าม
นวัตกรรมของกระบวนการพัฒนาคุณภาพ

          การพัฒนาคุณภาพมีความหมายกว้าง    ไม่ใช่เพียงดูที่ตัวคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น   แต่ยังต้องดูที่ประสิทธิภาพ และดูที่ความพึงพอใจของผู้ทำงานเองด้วย   ระบบประกันคุณภาพ จึงสู้กระบวนการพัฒนาคุณภาพไม่ได้    กระบวนการพัฒนาคุณภาพให้ความหมายกว้างกว่า    และเน้นบทบาทของผู้ทำงานมากกว่า    รวมทั้งเปิดโอกาสให้การทำงานประจำเป็นการพัฒนาคุณภาพไปพร้อมๆ กัน    มีผลให้คนทำงานอยู่ในบรรยากาศเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา    การทำงานประจำที่มีการพัฒนาคุณภาพฝังอยู่ภายในเป็นส่วนหนึ่ง   เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการเรียนรู้   


          ในกระบวนการทั้งหมดนี้ หากสร้างบรรยากาศของการทำงานและการเรียนรู้ ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   เน้นการทดลองและค้นพบนวัตกรรม    การทำงานประจำนั้นเองจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้ในลักษณะ “นวัตกรรมยกกำลังสอง”   คือนวัตกรรมในการทำงาน และนวัตกรรมของระบบประกันคุณภาพ


วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ย.​๕๕
ที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505354

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น