วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๖. ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยที่เป็นที่เชื่อถือกันว่าคุณภาพ สูงต้องไม่ยอมติดบ่วง bureaucracy trap ต้องยืนหยัดต่อกลไก self-accrediting และ autonomy คือดำรงความมีอิสระ โดยรับผิดชอบตนเองด้านคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของสังคม นี่คืออุดมการณ์ของการกำกับดูแลอุดมศึกษาในระดับสถาบัน
เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย  : 6. ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา

ในการปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียครั้งนี้ ระบบกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย หรือโดนกระทบ  โดยผมตีความว่า TEQSA ที่รัฐบาลกลางออกกฎหมายจัดตั้ง เป็นเพียงกลไกหนึ่งในอีกหลากหลายกลไกกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา  ผมเดาว่าหน้าที่หนักและหน้าที่หลักของ TEQSA น่าจะได้แก่สถาบันอุดมศึกษาส่วนที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้มีกว่า ๑๕๐ สถาบัน  และมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา  สถาบันเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นองค์กรเอกชนแสวงหากำไร  และมีความเสี่ยงสูงที่จะจัดการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในการประชุม 7th Annual University Governance and Regulations Forum  มีคนมาพูดว่า TEQSA เน้นดำเนินการเข้มงวดต่อสถาบันที่มีความเสี่ยงสูงต่อการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ  ส่วนสถาบันที่ดีอยู่แล้ว การกำกับจะเป็นเพียง “light touch”
ผมฟังการประชุม ๒ วัน แล้วบอกตัวเองว่า หากผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพสูงในออสเตรเลีย ผมจะต่อสู้สุดฤทธิ์ไม่ให้ TEQSA เข้ามาตรวจสอบแบบหยุมหยิม  ที่ทางออสเตรเลียเขากล่าวว่าเป็นพิษร้ายของ bureaucracy
ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นที่เชื่อถือกันว่าคุณภาพสูงต้องไม่ยอมติดบ่วง bureaucracy trap  ต้องยืนหยัดต่อกลไก self-accrediting  และ autonomy  คือดำรงความมีอิสระ โดยรับผิดชอบตนเองด้านคุณภาพ  เพื่อประโยชน์ของสังคม  นี่คืออุดมการณ์ของการกำกับดูแลอุดมศึกษาในระดับสถาบัน
ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษา มีส่วนที่มาจากภายนอกประเทศด้วย  ในรูปของการจัดอันดับหรือจัดระดับมหาวิทยาลัยโลก  เป็นระบบกำกับแบบทางอ้อม  ซึ่งก็มีผลต่อพฤติกรรมหลายอย่างของสถาบันอุดมศึกษาส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัย  ที่ต้องการได้รับการยอมรับในฐานะ world class university
ภายในประเทศ ระบบอุดมศึกษายังอยู่ใต้กลไกกำกับดูแลเชิงวิชาชีพด้วย เช่นแพทยสภา  สภาวิศวกร เป็นต้น  มีประเด็นว่า ระบบหลักสูตรเพื่อปริญญา กับระบบการรับรองวิชาชีพ ควรเชื่อมโยงกันหรือควรแยกกัน  อย่างของไทย สกอ. ระบุว่า จะรับรองหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ต่อเมื่อสภาการพยาบาลได้ให้การรับรองว่าผู้จบหลักสูตรนั้นจะได้รับในประกอบวิชาชีพพยาบาลแล้วเท่านั้น  มีบางคนให้ความเห็นว่า คนไทยน่าจะมีสิทธิเข้าเรียนพยาบาล โดยไม่มุ่งไปใช้ชีวิตเป็นพยาบาล  ซึ่งก็เถียงกลับได้อีกว่า คนที่ตั้งใจเรียนโดยไม่ประกอบวิชาชีพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดของประเทศโดยไม่ก่อประโยชน์ต่อสังคม  เรื่องแบบนี้อาจจะขึ้นกับวิชาชีพอื่นด้วย  หากเอาไปถกเถียงกันในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต กับการรับรอง กว. ของสภาวิศวกร  การพิจารณารับรองแยกกันอาจฟังดูสมเหตุสมผลกว่า  เพราะเวลานี้ก็มีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหลายหลักสูตรที่ไม่ได้ขอให้ กว. รับรอง  และผู้จบหลักสูตรก็ไม่เดือดร้อน
ผมได้พูดในหลายวาระ ว่าในประเทศไทย หน่วยงานที่มีอิทธิพลที่สุดต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ คือสำนักงบประมาณ  สังคมไทยยังเป็นสังคมอุปถัมภ์และเน้นพวกพ้อง  ยังไม่ใช่สังคมเหตุผล  เป็นที่รู้กันว่าการได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่ขึ้นกับคุณภาพและผลงาน หรือการทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมากนัก  แต่ขึ้นกับความสามารถในการวิ่งเต้นมากกว่า
มหาวิทยาลัยทำอะไรบ้าง  ก็ย่อมโดนกำกับโดยวงการนั้นๆ ด้วย  เช่นมีหน้าที่หลักด้านการวิจัย  หน่วยงานให้ทุนวิจัยย่อมมีอิทธิพลกำกับดูแลมหาวิทยาลัยด้วย
และไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดของไทย ย่อมต้องรับผิดชอบต่อสังคมภาคส่วนนั้นๆ และในวงกว้าง  จึงมีกลไกกำกับโดยสังคม  ในรูปของ reputation risk
เนื่องจากมีแนวโน้มโลก ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแสวงหากำไร จะขยายตัวเฟื่องฟูขึ้น  มหาวิทยาลัยแบบนี้ใช้วิธีการแบบที่มองบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า  มองความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาเป็นผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ  ดังนั้น ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษากลุ่มนี้ ด้วยระบบคุ้มครองผู้บริโภค  ประเทศไทยต้องการระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านอุดมศึกษา  ที่เน้นทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากสถาบันธุรกิจเอกชนค้ากำไรเป็นหลัก  และสถาบันที่ไม่ค้ากำไร แต่แสดงพฤติกรรมค้ากำไร ก็ต้องโดนจับตาด้วย
วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/508317

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น