วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๔. อุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น

ในการประชุมวันที่ ๔ ก.ย. ๕๕ มีการนำเสนอเรื่องราวของมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยเขาเรียกว่า Regional University มีการนำเสนอว่าปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียครั้งนี้ กระทบสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นอย่างไร    และสถาบันต้องปรับตัวอย่างไร    Prof. Hal Swerissen Pro-Vice Chancellor (Regional) ชอง La Trobe University นำเสนอว่า มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นในออสเตรเลียมี ๑๔ มหาวิทยาลัย   นศ. ๑๕๖,๒๘๑ คน   สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นปีละ ๒ พันล้านเหรียญ
          จำนวน นศ. ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลียมีประมาณ ๑ ล้านคน   จึงบอกได้ว่า นศ. มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมีประมาณ ๑๕% ของนักศึกษาทั้งหมด   ซึ่งน้อยกว่า นศ. ต่างชาติ ที่มีถึงร้อยละ ๒๘ (คำนวณจากตัวเลขที่ได้จาก Universities Australia เมื่อ ๓ ก.ย. ๕๕)
          นสพ. The Australian ฉบับวันที่ ๕ ก.ย. ๕๕ ลงข่าวในเซ็กชั่น Higher Education เรื่อง Regional unis prepare to roll out partnership proposal to pool resourcesในข่าวบอกว่าเขามี Regional University Networkมีสมาชิก ๖ มหาวิทยาลัย จะร่วมมือกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยในเมือง เนื่องจากมี นศ. น้อยกว่า    ข่าวบอกว่าข้อตกลงนี้ได้จากการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน   นอกจากลดค่าใช้จ่าย ก็จะเพิ่มหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เปิดสอน   และใช้ online learning มากขึ้น
          ผมตีความว่า การก่อกวนของรัฐบาล ให้สถาบันอุดมศึกษาตื่นตัวปรับปรุงตนเอง ได้ผล    มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นเคลื่อนไหวปรับตัวอย่างชัดเจน
          วันที่ ๗ ก.ย. ๕๕ เราไปเยี่ยมชมกิจการ Community Engagement ของมหาวิทยาลัย Wollongong (UOW)   จึงได้รู้ว่า UOW ก็เป็น regional university   และมีประวัติเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัย New South Wales (UNSW) มาก่อน   UOW อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางใต้ประมาณ ๗๐ ก.ม.   ใช้เวลาเดินทางโดยขับรถไป ๑ ชั่วโมงครึ่ง    โดย ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ เป็นผู้ขับรถเช่าไป    เราไปกัน ๔ คน อีก ๒ ท่านคือ ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รอง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ  และ รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทส.
          เมื่อเอ่ยถึงเมือง โวลลองกอง คนออสเตรเลียก็มองว่าเป็นเมืองยากจน    เมืองอุตสาหกรรมเหล็ก   ทั้งเมืองมีพลเมือง ๒๕๐,๐๐๐ คน เท่ากับจังหวัดเล็กๆ ของไทย   แต่ที่อยู่ในตัวเมืองจริงๆ มีไม่มาก   ใน โวลลองกอง มีชุมชนคนพื้นเมืองด้วย   ดังนั้น UOW จึงทำงานตอบสนองหรือริเริ่มกิจกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น    โดยสิ่งที่ท้าทายเบื้องหน้าคือการร่วมมือกับเมืองในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคน   โดยการเลิกโรงงานเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอดีต    เพื่อเปลี่ยนเมืองไปทำมาหากินอย่างอื่นที่ก้าวหน้ากว่า    ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีกว่าซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก 
          มหาวิทยาลัย โวลลองกอง จึงพัฒนาขนานใหญ่   ไม่ใช่แค่สนองชุมชน โวลลองกอง    แต่สนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก   จึงตีความ Community Engagement ว่า engage กับ world community   โดยกิจกรรมหนึ่งคือไปเปิดวิทยาเขตที่นคร ดูไบ ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์   ตั้งแต่ปี 1993 โดยเริ่มเป็นวิทยาลัยเล็กๆ ที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษในสังกัดมหาวิทยาลัย โวลลองกอง จดทะเบียนชื่อ ITC Limited แล้วขยายตัวเรื่อยมาจนเวลานี้ประสบความสำเร็จสูงมาก   จัดเป็นวิทยาเขตต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดของออสเตรเลีย   ตามที่ระบุในจดหมายข่าว Connect UOW ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่นี่   กลับมาค้นที่บ้านจึงรู้ว่า ITC Limited เป็นบริษัทธุรกิจที่ตั้งขึ้นโดย UOW อ่านเรื่องราวได้ ที่นี่   เว็บไซต์ของ UOWD อยู่ ที่นี่
           เมื่อเอ่ยถึงบทบาททางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยโวลลองกอง ต่อเมืองวอลลองกอง   เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยวอลลองกองเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่อันดับสอง รองจากโรงงานเหล็ก
          ตามที่คุณ Leanne Newsham, Community Engagement Manager, Office of Community & Partnerships เล่าให้คณะเราฟัง    เขามีวิธีทำงานร่วมกับชุมชนคนพื้นเมือง ในงานเทศกาลวัฒนธรรม   ทำให้งานมีสีสรร และในขณะเดียวกัน คนพื้นเมืองก็ได้รับการยกย่องให้ความสำคัญ    นอกจากนั้น ในกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับชุมชน นศ. ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ชุมชนคนพื้นเมืองได้รับประโยชน์ และ นศ. ก็ได้เรียนรู้ชีวิตจริงของผู้คน และได้เรียนจากการลงมือปฏิบัติงานจริง
          เมื่อเราเข้าไปในอาคารสำนักงาน เราก็พบป้าย 5 Stars บอกว่า UOW ได้รับ 5 Stars ในด้านต่อไปนี้ Research intensity, Positive grduate outcomes, Getting a job, Graduate starting salary, Educational experience : graduate satisfaction, Educational experience : generic skillsเราสงสัยว่าใครเป็นผู้ให้ rating นี้ ผมกลับมาค้นที่บ้าน จึงรู้ว่าเป็นผลงานของ QS Stars Rated for Excellence
          สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนในทุกทิศทาง    เพื่อเปิดท้องถิ่นออกสู่โลก   เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น   คิดแบบนี้ไม่ยากสำหรับออสเตรเลีย   เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษ และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมใกล้ชิดกับยุโรปและอเมริกาเหนือ    สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ของไทยควรเป็นอย่างไร เราต้องคิดและทำเอง    และที่สำคัญ ไม่ควรมีแบบเดียว


วิจารณ์ พานิช
๔ ก.ย. ๕๕
ที่มา : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505037

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น