ต้องยอมรับความจริงว่าเด็กนักเรียนของไทยใช้เวลาเรียนมากติดอันดับต้นๆ ของโลก และใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาปีละกว่าสี่ห้าแสนล้านบาทมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่คุณภาพการศึกษากลับตกต่ำลง เรื่อยๆ
บนเส้นทางความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงบัดนี้จะร่วมยี่สิบปีแล้วนโยบาย "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้" ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยให้เด็กไทยฉลาดขึ้นไหม จะช่วยลดความเครียดให้ลูกหลานมีความสุขกับ การศึกษาหรือไม่?
ก่อนอื่น ดูข้อมูลของยูเนสโก เมื่อปี 2555 แสดงจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนในระดับอายุ 9 - 13 ปีทั่วโลกกันก่อน ยูเนสโก พบว่า เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี 1,080 ชั่วโมงต่อปี, เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ของโลกในระดับอายุ 10 ปี และ 11 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี, เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่เด็กชาติอื่นๆ หากเทียบเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือโออีซีดี จะมีเวลาอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าประเทศไทย คือไม่ถึง 800 ชั่วโมงต่อปี ดูๆ แล้วเด็กไทยและครูไทยขยันมากมีชั่วโมงเรียนสูงถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว และสูงกว่าฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บนเส้นทางความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงบัดนี้จะร่วมยี่สิบปีแล้วนโยบาย "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้" ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยให้เด็กไทยฉลาดขึ้นไหม จะช่วยลดความเครียดให้ลูกหลานมีความสุขกับ การศึกษาหรือไม่?
ก่อนอื่น ดูข้อมูลของยูเนสโก เมื่อปี 2555 แสดงจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนในระดับอายุ 9 - 13 ปีทั่วโลกกันก่อน ยูเนสโก พบว่า เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี 1,080 ชั่วโมงต่อปี, เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ของโลกในระดับอายุ 10 ปี และ 11 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี, เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่เด็กชาติอื่นๆ หากเทียบเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือโออีซีดี จะมีเวลาอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าประเทศไทย คือไม่ถึง 800 ชั่วโมงต่อปี ดูๆ แล้วเด็กไทยและครูไทยขยันมากมีชั่วโมงเรียนสูงถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว และสูงกว่าฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ดังนั้น จึงต้องกล่าวว่ามาถูกทางแล้วที่จะลดชั่วโมงเรียนลงเสียบ้าง และจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายขึ้นมาทดแทน แต่คำถามที่ตามมาคือ โรงเรียนพร้อมไหม ครูพร้อมไหม
คำตอบจะเห็นชัดเจนขึ้นจากการทดลองนำร่อง 4,100 กว่าโรงเรียน ซึ่งจะมีการประเมินในอีก 4 เดือนข้างหน้าว่าสิ่งที่ รมว.กระทรวงศึกษาฯ ตั้งเป้าหมายฝึกฝนเสริมทักษะเด็กไทยใน 4 ด้านจะได้ผลหรือไม่ คือ 1) ด้านสติปัญญา (Head) ที่จะช่วยฝึกให้เด็กคิดเป็นมากกว่าแค่ท่องจำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ วิเคราะห์และสังเคราะห์ได้ 2) ด้านทัศนคติ (Heart) ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เคารพกฎกติกา และมีระเบียบวินัย 3) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hand) ที่เปิดโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง และ 4) ด้านสุขภาพ (Health) เพื่อให้เด็กได้ฝึกซ้อมการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ครู และผู้บริหารโรงเรียน ต้องเปลี่ยนระบบคิดจากที่เน้นวิชาการอย่างเดียวมาจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ยังมีบางส่วนไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ป่วยหนักจะต้องทำมากกว่า "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" คือ หนึ่ง-ต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรถ้าจะให้ดีต้องกล้ายกเลิกหลักสูตรเก่าไปเลยเพราะใช้มานาน ล้าสมัย แล้วยกร่างขึ้นใหม่มาใช้แทน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเคยมีการหารือและยืดเยื้อมานานกว่าปีแล้ว โดยมีข้อเสนอกันว่าอาจต้องลดกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 กลุ่มสาระ เหลือ 5 กลุ่มสาระเท่านั้น
หากลดเวลาเรียนเพียงขาเดียว แต่หลักสูตรยังบังคับให้เรียนรู้แบบมากล้นเยอะแยะไปหมดซึ่งบางครั้งก็เป็นการเยอะแบบซ้ำซ้อนก็แทบจะไม่ได้ลด ชั่วโมงเรียนลง เนื่องจากเมื่อครูสอนไม่ทันตามหลักสูตรก็ต้องนัดเด็กมาเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือเย็นหลังเลิกกิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกวิชาหลักในเวลานี้ ยิ่งลดเวลาเรียนแต่ละคาบลงเหลือเพียง 40 นาที จาก 50 นาที เอาแค่เดินเปลี่ยนคาบเรียน ครูเข้ามาบ่น มาเมาท์มอยเรื่องส่วนตัวบ้างบางครั้งก็กินเวลาไปจนแทบไม่ได้เรียนอะไร โดยเฉพาะวิชาหลักที่ต้องใช้เวลาเรียนทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม เมื่อมีเวลาสอนไม่พอก็สั่งงานการบ้าน วันหนึ่งๆ เรียนกี่วิชาๆ ครูแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่สั่งการบ้านทั้งสิ้น
นี่ยังไม่นับว่าต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขัน วัดผล รวมทั้งเรียนเพิ่มเติมในวิชาที่โรงเรียนไม่ได้มีการเรียนการสอนเพียงพอที่นักเรียนจะมีความรู้เพื่อนำไปสอบเข้าเรียนต่อ เช่น ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ เป็นต้น สุดท้ายก็ไม่มีเวลาเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ Head Heart Hand Health แต่อย่างใด
และไม่นับว่าบางโรงเรียนไม่พร้อมจัดกิจกรรม ไม่มีความหลากหลาย กลายเป็นว่าเด็กนักเรียนถูกบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่โรงเรียนจัดให้ไม่ใช่ตามที่นักเรียนสนใจ
ที่สำคัญ การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องตอบโจทย์ใหญ่ของระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นทั้งระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยไปพร้อมกันด้วย เพราะโลกของความเป็นจริงทุกวันนี้ก็คือ ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นออกมาล้ำหน้าเกินกว่าที่มีเรียนมีสอนกันในระดับ มัธยมศึกษา บางเนื้อหา บางวิชา เช่น ศิลปะ ดนตรี ไม่มีการเรียนการสอนพอที่จะนำไปสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา นักเรียนต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยการไปเรียนกวดวิชาเอาเอง เป็นต้น
สอง การปฏิรูปครู เรื่องนี้เรื่องใหญ่ หลักสูตรจะเลอเลิศแค่ไหนถ้าครูผู้ถ่ายทอดความรู้ยังเป็นอยู่ในสภาพเช่นเวลานี้ก็เท่ากับว่าห่วงโซ่ที่เป็นข้อต่อสำคัญในการถ่ายทอดความรู้จากหลักสูตรสู่ผู้เรียนมีปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเรื่องผลตอบแทนหรือไม่มีใครอยากเป็นครูเหมือนเมื่อก่อน เพราะทุกวันนี้ครูได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีผู้ที่อยากเป็นครูมากล้นดูจากการสอบแข่งขันบรรจุครูในแต่ละปี แข่งกันชนิดลงทุนทุจริตอื้อฉาวกัน ทุกครั้ง
ทำไมต้องปฏิรูปครู ก็เพราะครูเป็นตัวแปรสำคัญการศึกษาของนักเรียนนั้นจะสัมฤทธิผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับครู ปัญหาของครูที่ต้องปฏิรูปนอกจากจะเป็นเรื่องคุณภาพของครูแล้ว ยังเป็นปัญหาของระบบที่ประเมินครูด้วยที่ทำให้ "ครูไม่เห็นหัวนักเรียน" เพราะความดีความชอบของครูประเมินกันที่ "กระดาษ" มากกว่าความเป็นจริง ดังที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับอนาคตใหม่ทางการศึกษา" ที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัทซัมซุงฯ ร่วมจัดสัมมนา "Education for the Future : ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต" ฯ ดังนี้
อันดับแรกต้อง "คืนครูกลับสู่ห้องเรียน" เนื่องจากไม่มีประโยชน์อันใดที่เด็กอยู่ในห้องเรียนปีละเป็น 1,000- 1,200 ชั่วโมง แต่ครูไม่อยู่ในห้องเรียน ซึ่งจากการสำรวจปีหนึ่งๆ พบว่าครูใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ครูไม่สามารถอยู่ในห้องเรียนได้ถึง 84 วัน ปีหนึ่งมี 365 วัน มีวันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดต่างๆ จะเหลือเวลา 200 กว่าวัน ฉะนั้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว เวลาที่ครูจะไม่ได้เจอนักเรียนหายไปถึง 42% นั่นคือ ใน 1,000 ชั่วโมง นักเรียนจะได้เจอครูก็เหลือประมาณ 600 ชั่วโมง แล้วครูทำอะไรเมื่อไม่ได้อยู่ในห้องเรียน มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ใช้เวลาการประเมินจากหน่วยงานภายนอก เช่น การประเมินโรงเรียนโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาฯ หรือ สมศ.การประเมินตัวครูเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง และการประเมินนักเรียนโดยการให้นักเรียนไปสอบแข่งขันต่างๆ
การประเมินโรงเรียนของ สมศ.เป็นกิจกรรมที่ครูคิดว่าไม่มีประโยชน์มากที่สุดคือ เพราะไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาการศึกษา ขณะที่ สมศ.ใช้งบสำหรับการประเมินโรงเรียนในช่วง 5 ปี สูงถึง 1,800 ล้านบาท แถมผลศึกษาที่ทีดีอาร์ไอไปค้นพบยังน่าตกใจมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับไหน ข้อเสนอแนะก็ออกมาคล้ายๆ กัน คือ "โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น ควรส่งเสริมให้สามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ และพัฒนาทักษะการคิด ทำให้เกิดความสุขในชีวิต" เป็นที่น่าสงสัยว่าจะใช้วิธี Cut and Paste ด้วยหรือเปล่า? การประเมินโรงเรียนจึงออกมาแบบไม่มีประโยชน์
ดังนั้น ต้องคืนครูสู่ห้องเรียน และเปลี่ยนระบบการประเมินโรงเรียนใหม่แทนที่จะประเมินโดยการตรวจเอกสาร กลายเป็นว่าห้องเรียนจริงเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการเขียนลงไปในกระดาษใช้หลอกกันไป
อันดับที่สอง ต้องคืนครูที่พร้อมและครูที่เก่งกลับสู่ห้องเรียนด้วย เพราะครูที่ดี สอนเก่ง พร้อม และอยากจะสอน จะช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องจำเป็นกับการยกระดับการศึกษา และเมื่อผลตอบแทนครูสูงขึ้น มีการสอบแข่งขันกันมาก มีโอกาสที่จะได้คัดเลือกครูสู่ห้องเรียน แต่ปัญหาคือระบบคัดเลือกครูเวลานี้ไม่ว่าจะมีการแข่งขันสูงแค่ไหนก็จะไม่ได้ครูที่ดีเข้าสู่ห้องเรียนเพราะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ใช้การสอบข้อเขียนเป็นหลัก ดังนั้นครูได้เข้าไปสอนอาจมีความรู้แต่ทักษะการสอนดีหรือไม่ก็ไม่แน่ และไม่มีการดูผลงาน ดูประวัติ สอบสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ใช้ผลของการสัมภาษณ์จริงๆ ขณะที่การออกข้อสอบของเขตการศึกษาก็ต่างออกกันเองเพื่อให้ได้ครู
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ โรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกครู ทั้งที่หากให้โรงเรียนสามารถคัดเลือกครูเองได้จะทำให้ได้ครูตรงกับความต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตครูก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงมีการประกาศผลสอบคัดเลือกว่าสถาบันไหนผลิตครูออกมาแล้วสามารถไปสอบเป็นครูได้จริง เพื่อสะท้อนคุณภาพของสถาบันการศึกษาเป็นแรงกดดันให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น
อันดับที่สาม ปรับระบบการประเมินผลที่ "กระดาษ" ทำให้ครูทิ้งห้องเรียน เพราะหากดูดัชนีชี้วัดจะวัดทักษะการสอนแค่ 30% อีก 70% วัดจากจริยธรรมและผลปฏิบัติงานอื่นซึ่งยากที่วัดได้อย่างถูกต้อง ผู้อำนวยการบางคนก็ให้ครูที่สนิทสนมได้คะแนนตรงนี้มากทำให้เป็นปัญหา เช่นเดียวกันกับการเลื่อนวิทยฐานะที่ดูจากผลการเรียนของนักเรียนเพียง 3% ขณะที่เรื่องอื่น เช่น ผลงานวิชาการ ให้น้ำหนักถึง 13% ครูที่อยากก้าวหน้าในอาชีพก็แห่ไปทำงานวิชาการ เขียนบทความวิชาการของตนเองมากกว่าจะพัฒนาการสอนในห้องเรียน เป็นการประเมินผลที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆ
การปรับลดเวลาเรียนเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ จึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนาระบบการศึกษาไทยโดยลดความเครียดของเด็กนักเรียนลงเพื่อฝึกเสริมทักษะ Head Heart Hand Health ขณะที่ประเด็นที่เป็นเป้าหมายสำคัญซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษาของไทยในภาพรวมก็คือ เป้าหมายของการศึกษาเพื่ออะไร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาประเทศไทยด้วยว่าเราจะก้าวไปทางไหน เราจะผลิตคนที่มีคุณภาพเพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างไรยังไม่ชัดเจน?
เวลานี้ สถาบันการศึกษาแห่ผลิตนักเรียนสายสามัญเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ขณะที่สายวิชาชีพไม่มีใครอยากเรียนขณะที่ประเทศชาติขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในแทบทุกสาขาอาชีพ ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก่อสร้าง ฯลฯ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ต้องการแรงงานมีฝีมือ มีความคิด มีทักษะในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญและเป็นจุดแข็งของประเทศ
ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ ต้องชัดเจนในเป้าหมายของการศึกษา เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปการศึกษา ก็เป็นแต่เพียงการปฏิลูบ แค่ลูบๆ คลำๆ และการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ก็เป็นแค่อีเวนต์ แคมเปญช่วงโปรโมชันให้เด็กนักเรียนลั้ลลาของรัฐมนตรีการศึกษาคนใหม่ก็เท่านั้น
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2558
ที่มา http://www.kroobannok.com/76971