วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เขียนวาระการประชุมอย่างไร...ไม่ได้ใจความ

คิดอยู่นานว่า  ชื่อนี้เหมาะกับเรื่องที่ต้องการสื่อสารหรือไม่ ?
โดยเลือกระหว่างหัวข้อดังกล่าว กับ "เขียน(วาระการประชุม)อย่างไรให้ได้ใจความ" แล้วก็ตัดสินใจเลือกชื่อแรก เพราะบางครั้งการบอกว่า ทำอย่างไรแล้วดี ฟัง(อ่าน) แล้วไม่เห็นภาพที่ชัดเจน
ทำอย่างไรจึงเรียกว่าไม่ดี ?
จากประสบการณ์ที่เข้าประชุมหลายสิบครั้งต่อปี พบว่ามีเรื่องบางเรื่องที่การนำเสนอ (วาระการประชุม) ที่ไม่ได้ใจความมีสามเหตุหรือที่มาดังต่อไปนี้
** ผู้เขียนไม่ทราบความเป็นมาของเรื่องนั้นๆ
**ผู้เขียนไม่ทราบกฎระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
**ผู้เขียนขาดทักษะในการเขียนวาะการประชุม
ดังนั้น ที่ประชุมจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ ทำให้การดำเนินการล่าช้าและเกิดผลเสียหายในงานที่จะปฏิบัติตามมา
เมื่อได้ทราบสาเหตุของการเขียนวาระการะประชุมที่ไม่ได้ใจความแล้ว ลองมาดูทางแก้ ว่าควรทำอย่างไร
 **ก่อนลงมือเขียนวาระ ให้ศึกษารายละเอียดจากเรื่องที่ได้รับ หรือมีอยู่เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบความเป็นมา ปัญหา หรือความสำคัญของวาระที่จะเขียน
**ถ้ายังไม่เข้าใจให้สอบถามเจ้าของเรื่องหรือผู้ที่คาดว่าจะรู้ เข้าใจเรื่องนั้นๆ และอาจต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม
**ศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้อ้างอิงและแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการมาแล้ว
**ศึกษาวิธีการเขียนวาระการประชุมเพิ่มเติม โดย
     - ดูจากรายงานการประชุมที่(คิดว่า) เป็นมาตรฐาน
     - ดูจากหนังสือที่แนะนำการเขียน
     - ศึกษาจากเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา
     - ฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือหาความรู้เพิ่มเติม
ทั้งนี้จะต้องเอาใจใส่ และคอยพัฒนาให้ดีขึ้น โดยนำคำแนะนำ คำติชมไปปรับปรุงงานอย่างสม่ำเสมอ
วาระการประชุมที่ดี ควรมีองค์ประกอบ อย่างไร?
 **ความเป็นมา (ใคร ทำไม)
**ประเด็นที่เสนอให้พิจารณา หรือเสนอเพื่อทราบ (อะไร อย่งไร)
**ข้อมูลอ้างอิงที่จำเป็น
**การตรวจสอบกับกฎ ระเบียบ
**ความเห็นเบื้องต้นของหน่วยงาน (เพื่อประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการ)
**วาระการประชุมที่ดีไม่ควรยาวเกินไป (เพราะอ่านแล้วจะสับสน จับประเด็นไม่ได้ แต่ถ้าสั้นเกินไปอาจขาดข้อความสำคัญทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจความเป็นมา ไม่มีข้อมูล ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ อันนี้ต้องใช้ประสบการณ์และทักษะมาช่วยตัดสิน)
ข้อควรระวังสุดท้ายที่ผู้เสนอเรื่องเข้าประชุมต้องคิดให้มาก คือ การวางแผนที่ดี เพราะหากเขียนวาระการประชุมดี แต่เสนอเรื่องเข้าไม่ทัน ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ภายในกำหนดเวลา รับรองว่า งานเข้าแน่!!
โดย อุษาโรจน์  ดีร์โจซูโบรโต
ที่มา : KM สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น