วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

เล็งชงบอร์ด สมศ. ให้มหา'ลัยที่ประเมิน EdPEx ไม่ต้องประเมินรอบ 4

ผอ.สมศ.เล็งเสนอที่ประชุมพิจารณาให้มหาวิทยาลัยที่เข้าประเมินเอ็ดเป็กซ์ ไม่ต้องเข้าประเมินรอบสี่กับ สมศ. ปลายเดือน เม.ย.นี้ หวังลดความซ้ำซ้อนการประเมิน และยกระดับคุณภาพ...

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า หลังจากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา โดยในที่ประชุมมีการสอบถามถึงความเป็นไปได้ กรณีที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับผลการประเมินคุณภาพภายนอกระดับดีมาก จาก สมศ.จะสามารถเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ หรือ เอ็ดเป็กซ์ (EdPEx) ซึ่งดำเนินการโดย สกอ.หรือการประเมินของหน่วยงานต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ และเมื่อเข้ารับการประเมินแล้ว จะขอยกเว้นการประเมินฯ ภายนอกรอบสี่จาก สมศ.โดยที่ สมศ.ไม่ต้องเข้าไปประเมินมหาวิทยาลัยเหล่านี้อีกได้หรือไม่นั้น ตอนนี้ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน รวม 260 แห่ง ในจำนวนนี้มี 226 แห่ง หรือร้อยละ 86.9 เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามจาก สมศ.แล้ว และได้รับผลการประเมินในระดับดีมาก 68 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 30 โดยตนมองว่า หากมหาวิทยาลัยเหล่านี้เข้ารับการประเมินเอ็ดเป็กซ์จะเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น และจะช่วยลดภาระงานของ สมศ.ที่ไม่ต้องประเมินซ้ำซ้อนอีกด้วย
ศ.ดร.ชาญณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมปลายเดือน เม.ย.นี้ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม รวมถึงจะมอบให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่า สมศ.จะยกเว้นไม่เข้าไปประเมินมหาวิทยาลัยที่เข้ารับการประเมินเอ็ดเป็กซ์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่ได้รับผลการประเมินระดับดีมาก ส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวบ่งชี้การประเมินฯ ของ สมศ.ง่ายเกินไป และทำไมไม่ประเมินฯ ให้ยาก และท้าทายมากขึ้นกว่านี้ เพราะถ้าเทียบกับหน่วยงานต่างประเทศจะพบว่า มีความละเอียดมาก และเป็นประเมินระดับขั้นสูง ส่วนการประเมินของ สมศ.เป็นเพียงแค่มาตรฐานกลางเท่านั้น
 

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

เล่มรายงานผลการดำเนินงาน โครงการการจัดการความรู้เพื่อแสวงหา Best Practice ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาระหว่างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา วันอังคารที่ 25 มีนาคม 2557

http://www.qa.su.ac.th/KM/SU_KM/km-su/NEWbest%20practice56report.pdf


รายงานผลการดำเนินงานโครงการการจัดการความรู้ เพื่อแสวงหา Best Practice ด้านประกันคุณภาพการศึกษา ระหว่างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา

         ตามที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา ได้จัดโครงการการจัดการความรู้ เพื่อแสวงหา Best Practice ด้านประกันคุณภาพการศึกษา ระหว่างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2557  ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา พระราชวังสนามจันทร์  นั้น 
 พบว่า  มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด จำนวน 166 คน ประกอบด้วยคณะวิชา/หน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 55.1 และจากสมาชิกในเครือข่ายจำนวน 51 คน คิดเป็นร้อยละ 44  โดยเป็นผู้บริหาร จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 12.1  อาจารย์จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 28.4  และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 58.6

โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.4 ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ เห็นว่าความร่วมมือเครือข่ายระหว่างสถาบันนั้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาสถาบันได้ ทำให้ประสงค์เข้าร่วมประชุมเครือข่ายในครั้งต่อไป ร้อยละ 97.4 และมีผู้ไม่ต้องการเข้าร่วมประชุมเพียง ร้อยละ 1.7  สำหรับช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการลงนามความร่วมมือเครือข่ายระหว่างสถาบันนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.6 เห็นว่าควรมีการลงนามความร่วมมือฯ ทุกปี รองลงมา ร้อยละ 33.6  เห็นว่าควรลงนามความร่วมมือฯ  2 ปี/ครั้ง  ร้อยละ 9.5 เห็นว่าควรลงนามความร่วมมือฯ  3ปี/ครั้ง  ตามลำดับ และร้อยละ 3.4 มีความคิดเห็นต่างกัน คือ ควรลงนาม 4 ปี/ครั้ง  5ปี/ครั้ง และควรเป็นไปความเหมาะสมหรือตามวาระของผู้บริหารฯ 


ผลประเมินความพึงพอใจด้านกระบวนการ-วิทยากรและการให้บริการ พบว่า ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ย 4.41 ด้านกระบวนการ-ขั้นตอน มีค่าเฉลี่ย  4.32  และในภาพรวมมีความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ย 4.34