วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

เผย 4 มหา′ลัยไทยติดอันดับ "คิวเอส-ไทม์"

นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน รับทราบการจัดอันดับของกลุ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย ปี 2015 (QS University Rankings Asia 2015) พบว่า มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อันดับที่ 44 ของเอเชีย อันดับ 1 ของไทย รองลงมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

พร้อมรับทราบผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย Time Higher Education ปี 2015 มีมหาวิทยาลัยติดอันดับ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ มม. ที่ประชุมได้วิเคราะห์ร่วมกันว่างานวิจัยเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ดังนั้น ขอให้ไปหาแนวทางเพิ่มศักยภาพงานวิจัยในมหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

สมศ.จับมือ AQAN สร้างเครื่องมือประกันคุณภาพอุดมศึกษาอาเซียน : เชื่อมมาตรฐานมหาวิทยาลัย!

            นับถอยหลังอีกเพียง 3 เดือน 23 วัน ประตูของประชาคมอาเซียนก็จะเปิดขึ้น และนั่นหมายถึงวันที่ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศไทย จะต้องบรรลุเป้าหมายการเป็น ประชาคมอาเซียนที่ความร่วมไม้ร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมจะหลั่งไหลตามมา
               “ทีมการศึกษาได้มีโอกาสติดตามคณะของ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ไปร่วมการประชุม เครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Network) หรือ AQAN ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเร่งผลักดัน กรอบการประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework) หรือ AQAF
                 โดยประเทศสมาชิกเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน มีมติร่วมกันที่จะเริ่มต้นที่สถาบันอุดมศึกษา โดยยกร่าง กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาของอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework in Higher Education) หรือ AQAF เพื่อเป็นเครื่องมืออ้างอิงในการสร้างมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนอกจาก 10 ประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีอาเซียนบวกสาม ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย
             ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนมีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาประมาณ 18-20 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษากว่า 6,000 แห่ง มีกระบวนการประกันคุณภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนด กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาของอาเซียน เพื่อให้เกิดระบบการประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน อันจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การถ่ายโอนหน่วยกิตและการยอมรับคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการจัดทำคู่มือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และเชื่อว่าภายใน 5 ปีน่าจะเห็นผล อย่างไรก็ตามตั้งใจว่าในปีการศึกษาหน้าจะมีการนำร่องในสถาบันอุดมศึกษา โดยอาจจะเริ่มในมหาวิทยาลัยท็อปทรีของแต่ละประเทศ
เมื่อนำ กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาอาเซียน มากาง พบว่ามี 4 หลักการใหญ่ ได้แก่
           1.หลักการของหน่วยประเมินคุณภาพภายนอก ที่ประกอบไปด้วย ต้องจัดตั้งตามกฎหมายและได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ มีเป้าหมายและพันธกิจร่วมกัน มีความเป็นอิสระในความรับผิดชอบโดยปลอดอิทธิพลแทรกแซง มีมาตรฐานและระบบการแต่งตั้งคณะกรรมการที่โปร่งใส ยึดธรรมาภิบาล ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอและยั่งยืน มีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีระบบการควบคุม ตรวจสอบ และประเมินผลที่น่าเชื่อถือทุกขั้นตอน และต้องแจ้งให้สาธารณชนทราบนโยบาย ขั้นตอน เกณฑ์ มาตรฐาน และผลประเมินที่เป็นปัจจุบัน
            2.หลักการการประเมินคุณภาพภายนอก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนและสังคมเป็นสำคัญ มีมาตรฐานเทียบเท่านานาชาติและเชื่อมโยงการประกันคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนามาตรฐานต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอบสนองความต้องการและอุปสงค์ เผยแพร่มาตรฐานให้สาธารณชนทราบและใช้ดำเนินการอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ต้องประกันว่าผู้ประเมินภายนอกมีความเป็นมืออาชีพและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ต้องประเมินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ดำเนินการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และในห้วงเวลาที่เหมาะสม และมีกลไกการอุทธรณ์ที่ทุกคนเข้าถึง
            3.หลักการการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องคุณภาพ ส่งเสริมการสร้างความสมดุลระหว่างความอิสระกับการตรวจสอบโดยสาธารณะ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของบุคลากรทุกระดับรวมทั้งคณาจารย์ นิสิต/นักศึกษา ต้องกำหนดโครงสร้าง วิธีดำเนินงาน และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และต้องประกาศให้ทราบ ต้องจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ มีกลไกที่เป็นทางการสำหรับอนุมัติ ติดตามตรวจสอบ ปรับปรุงหลักสูตรและปริญญา ติดตามตรวจสอบและปรับปรุงระบบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการพัฒนาทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
            4.หลักการกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ ประกอบด้วย ต้องช่วยเลื่อนคุณวุฒิไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจากผลการเรียนรู้และฝึกอบรม รวมทั้งเทียบโอนประสบการณ์ก่อนเข้าศึกษา สนับสนุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการเคลื่อนย้ายบุคลากร ด้วยการยอมรับคุณวุฒิการศึกษารวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ ตั้งอยู่บนหลักการของผลการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนและสมรรถนะ กำหนดนิยามของระดับการศึกษาโดยอาจตามระบบหน่วยกิตที่เป็นประโยชน์สำหรับการเลื่อนคุณวุฒิ มีความโปร่งใสและยืดหยุ่น ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ และมีระเบียบรองรับการบังคับใช้ ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจ และต้องกำหนดหลักการประกันคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน
              “ทีมการศึกษาเห็นด้วยกับความมุ่งมั่นตั้งใจของ สมศ.ที่จะนำกรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาอาเซียนมาขับเคลื่อนในประเทศไทย เพราะหากเรามีระบบการประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เมื่อถึงเวลาก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเต็มตัวผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเด็กไทยและคนไทย
              แต่สิ่งที่เราห่วงคือ สถาบันอุดมศึกษาที่ สมศ.ต้องเข้าไปประเมิน จะให้การยอมรับและขานรับกับกรอบการประเมินนี้มากน้อยเพียงใด
               และนั่นคือโจทย์ข้อใหญ่ที่ สมศ.คงต้องกลับไปคิด และหาทางพูดคุยทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะหากเป็นการพูดเอง เออเอง เมื่อถึงเวลาจะนำกรอบที่วางไว้มาใช้จริงแต่มหาวิทยาลัยไม่เอาด้วย ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากความพยายามที่ทำมาต้องไร้ผลเป็นรูปธรรม!!!


วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

7 เทคนิค หัวเราะบำบัดกายเสริมใจ

ในสังคมปัจจุบันที่รายล้อมด้วยความเครียด เชื่อหรือไม่ว่าการหัวเราะ” มีความสำคัญอย่างมาก เพราะไม่เป็นเพียงการแสดงอารมณ์สุขตามธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น ในทางการแพทย์ยังใช้เป็นเครื่องมือบำบัดโรคภัยและอารมณ์ซึมเศร้าได้อีกด้วย

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยา ให้ข้อมูลว่า การหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดฟามีนที่ช่วยในการเรียนรู้และความทรงจำ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลดีต่อระบบประสาทของเรา โดยฮอร์โมนโดฟามีจะช่วยลดความเครียด และทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น ผลจากการที่เราไม่เครียดจะทำให้ร่างกายเราได้พักผ่อนเพียงพอ นอนหลับสนิท จิตใจสงบ รู้สึกสดชื่น และยังทำให้มีสมาธิมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การหัวเราะ ยังทำให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ทำให้การไหลเวียนของเลีอดในร่างกายเป็นไปด้วยดี ซึ่งคนที่สามารถสร้างอารมณ์ขันและหัวเราะได้ ในสถานการณ์ที่เลวร้าย จะทำให้เกิดพลังในตัวเอง คลายความเศร้าหมอง และช่วยเปิดทัศนคติในการมองโลกเป็นไปในทางบวกได้
ความแตกต่างของการหัวเราะธรรมชาติ กับการหัวเราะบำบัด
การหัวเราะแบบธรรมชาติ เกิดจากสิ่งกระตุ้นให้เราเกิดอารมณ์ขัน แต่การ หัวเราะบำบัด คือ ภายใน โดยผู้หัวเราะจะคอยควบ คุมเส้นประสาทสรีระกายตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเรา รวมทั้งกระบวนการหายใจของเราให้ขยับ ขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นเร้า หรือใครทำอะไรให้เราเกิดอารมณ์ขัน
ดร.วัลลภ บอกว่า การหัวเราะบำบัดมีหลายแบบ รวมถึงมีการผสมผสานระหว่างการหัวเราะและควบคุมการหายใจของโยคะเข้าด้วยกัน ซึ่งในอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ได้นำการรักษาผู้ป่วยด้วยการหัวเราะเข้ามามีบทบาทแทนที่การบำบัดด้วยการใช้ยาคลายเครียด และยาแก้ปวด เพราะอารมณ์ขันให้ผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนฝ่ายดี เช่น ฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยระงับความเจ็บปวด และ ฮอร์โมนเซโรโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เราอารมณ์ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง
สำหรับประเทศไทย ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพ มนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้คิดค้นการ หัวเราะบำบัด โดยผสมผสานการควบคุมการหายใจ การเปล่งเสียงหัวเราะ และการบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการหัวเราะที่ให้ผลเชิงสุขภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ขัน
การฝึกหัวเราะบำบัด เริ่มจากฝึกหัวเราะเพื่อเคลื่อนไหวอวัยวะภายใน 4 ส่วน ด้วยการเปล่งเสียงต่างๆ กัน คือ เสียง "โอ" ทำให้ภายในท้องขยับ เสียง "อา" ทำให้อกขยับขยาย เสียง "อู" เสียง "เอ" ทำให้ลำคอเปิดโล่ง และช่วยบริหารใบหน้า ทั้งนี้ แต่ละเสียงมีท่าทางประกอบและมีประโยชน์ในการบำบัดที่ต่างกันเช่น 
1.ท้องหัวเราะ กำมือชูนิ้วโป้งระดับท้อง หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "โอ" ขยับมือทั้งสองข้างขึ้นลงเป็นจังหวะ ออกเสียงโอคือการหัวเราะบริเวณท้องจะช่วยในเรื่องอารมณ์ และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดีขึ้น และช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ
2.อกหัวเราะ กางแขนออกหงายฝ่ามือระดับอก หายใจเข้ากลั้นหายใจแล้วปล่อยลมหายใจออกเปล่งเสียงหัวเราะ "อา" ขยับแขนทั้งสองข้างขึ้นลงเป็นจังหวะ กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ขยับเขยื้อนไปด้วย ท่านี้จะช่วยให้อวัยวะบริเวณหน้าอกทั้งหมดทำงานได้ดีขึ้น
3.คอหัวเราะ ยกมือขึ้นระดับอก กำมือ ยกนิ้วโป้งตั้งขึ้น นิ้วชี้ และนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้า หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "อู" ขยับแขนตามจังหวะ เน้นพุ่งมือไปด้านหน้า เมื่อเปล่งเสียงอู จะกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเจ็บคอ คออักเสบ ปวดคอ สำหรับคนที่มีปัญหาเนื่องจากต้องใช้เสียงเยอะ
4.ใบหน้าหัวเราะ ยกแขนขึ้นระดับใบหน้า ขยับนิ้วคล้ายเล่นเปียโน หายใจเข้าและเปล่งเสียงหัวเราะ "เอ" ขยับนิ้ว เคลื่อนไหวร่างกาย คล้ายท่าแหย่เด็กๆ นอกจากจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือแล้ว ท่านี้ยังช่วยฝึกบริหารสมองด้วย
5.ไหล่หัวเราะ เป็นการบริหารช่วงไหล่ ยืนตรงแล้วส่ายไหล่ไปมา เหมือนการว่ายน้ำฟรีสไตล์ พร้อมกับเปล่งเสียง เอ เอะ ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ ท่านี้ช่วยได้
6.สมองหัวเราะ โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเครียดมักจะปิดปาก เป็นเหตุให้ความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยปิดปากแล้วเปล่งเสียง อึดันให้เกิดการสั่นสะเทือน ขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำเสร็จจะรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย
7.หัวเราะทั้งตัว เป็นท่าที่ต้องทำพร้อมกันกับผู้อื่น โดยกระโดดพร้อมเสียงหัวเราะแบบสุดๆ ตามแบบของตัวเองอย่างต่อเนื่อง 1 นาที คล้ายท่ากบกระโดด เอามือสองข้างของเราไปตบมือสองข้างของเพื่อน ตามจังหวะ
เมื่อเริ่มฝึกอย่างต่อเนื่องจะพบว่าทุกส่วนของร่างกายจะโล่ง โปร่ง เบา และสบายขึ้น ความสดชื่นเข้ามาแทนที่ เมื่อชีวิตมีความสดชื่นจะส่งผลไปถึงการมองโลกวิธีคิดหรือมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีแบบองค์รวมจะต้องควบคู่ไปกับการบริโภคที่ดี และออกกำลังกายที่เหมาะสมด้วยดร.วัลลภ กล่าวทิ้งท้าย
ได้ยินแบบนี้แล้ว...มาเริ่มเปล่งเสียงหัวเราะเพื่อสุขภาพกายใจที่ดีกันเถอะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก clearstreamcoaching.com , examiner.com


รายงานผลการดำเนินงาน โครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2557 รุ่นที่ 2 วันจันทร์ที่ 29- วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์

รายงานผลการดำเนินงาน โครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2557 รุ่นที่ 1 วันอังคารที่ 2 - วันพุธที่ 3 มิถุนายน 2558 ณ ห้องประชุมชั้น5 อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำนักหอสมุดกลาง พระราชวังสนามจันทร์