วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

สมศ.จับมือ AQAN สร้างเครื่องมือประกันคุณภาพอุดมศึกษาอาเซียน : เชื่อมมาตรฐานมหาวิทยาลัย!

            นับถอยหลังอีกเพียง 3 เดือน 23 วัน ประตูของประชาคมอาเซียนก็จะเปิดขึ้น และนั่นหมายถึงวันที่ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศไทย จะต้องบรรลุเป้าหมายการเป็น ประชาคมอาเซียนที่ความร่วมไม้ร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมจะหลั่งไหลตามมา
               “ทีมการศึกษาได้มีโอกาสติดตามคณะของ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ไปร่วมการประชุม เครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Network) หรือ AQAN ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเร่งผลักดัน กรอบการประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework) หรือ AQAF
                 โดยประเทศสมาชิกเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน มีมติร่วมกันที่จะเริ่มต้นที่สถาบันอุดมศึกษา โดยยกร่าง กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาของอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework in Higher Education) หรือ AQAF เพื่อเป็นเครื่องมืออ้างอิงในการสร้างมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนอกจาก 10 ประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีอาเซียนบวกสาม ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย
             ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนมีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาประมาณ 18-20 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษากว่า 6,000 แห่ง มีกระบวนการประกันคุณภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนด กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาของอาเซียน เพื่อให้เกิดระบบการประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน อันจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การถ่ายโอนหน่วยกิตและการยอมรับคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการจัดทำคู่มือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และเชื่อว่าภายใน 5 ปีน่าจะเห็นผล อย่างไรก็ตามตั้งใจว่าในปีการศึกษาหน้าจะมีการนำร่องในสถาบันอุดมศึกษา โดยอาจจะเริ่มในมหาวิทยาลัยท็อปทรีของแต่ละประเทศ
เมื่อนำ กรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาอาเซียน มากาง พบว่ามี 4 หลักการใหญ่ ได้แก่
           1.หลักการของหน่วยประเมินคุณภาพภายนอก ที่ประกอบไปด้วย ต้องจัดตั้งตามกฎหมายและได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ มีเป้าหมายและพันธกิจร่วมกัน มีความเป็นอิสระในความรับผิดชอบโดยปลอดอิทธิพลแทรกแซง มีมาตรฐานและระบบการแต่งตั้งคณะกรรมการที่โปร่งใส ยึดธรรมาภิบาล ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอและยั่งยืน มีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีระบบการควบคุม ตรวจสอบ และประเมินผลที่น่าเชื่อถือทุกขั้นตอน และต้องแจ้งให้สาธารณชนทราบนโยบาย ขั้นตอน เกณฑ์ มาตรฐาน และผลประเมินที่เป็นปัจจุบัน
            2.หลักการการประเมินคุณภาพภายนอก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนและสังคมเป็นสำคัญ มีมาตรฐานเทียบเท่านานาชาติและเชื่อมโยงการประกันคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนามาตรฐานต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอบสนองความต้องการและอุปสงค์ เผยแพร่มาตรฐานให้สาธารณชนทราบและใช้ดำเนินการอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ต้องประกันว่าผู้ประเมินภายนอกมีความเป็นมืออาชีพและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ต้องประเมินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ดำเนินการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และในห้วงเวลาที่เหมาะสม และมีกลไกการอุทธรณ์ที่ทุกคนเข้าถึง
            3.หลักการการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องคุณภาพ ส่งเสริมการสร้างความสมดุลระหว่างความอิสระกับการตรวจสอบโดยสาธารณะ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของบุคลากรทุกระดับรวมทั้งคณาจารย์ นิสิต/นักศึกษา ต้องกำหนดโครงสร้าง วิธีดำเนินงาน และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และต้องประกาศให้ทราบ ต้องจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ มีกลไกที่เป็นทางการสำหรับอนุมัติ ติดตามตรวจสอบ ปรับปรุงหลักสูตรและปริญญา ติดตามตรวจสอบและปรับปรุงระบบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการพัฒนาทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
            4.หลักการกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ ประกอบด้วย ต้องช่วยเลื่อนคุณวุฒิไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจากผลการเรียนรู้และฝึกอบรม รวมทั้งเทียบโอนประสบการณ์ก่อนเข้าศึกษา สนับสนุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการเคลื่อนย้ายบุคลากร ด้วยการยอมรับคุณวุฒิการศึกษารวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ ตั้งอยู่บนหลักการของผลการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนและสมรรถนะ กำหนดนิยามของระดับการศึกษาโดยอาจตามระบบหน่วยกิตที่เป็นประโยชน์สำหรับการเลื่อนคุณวุฒิ มีความโปร่งใสและยืดหยุ่น ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ และมีระเบียบรองรับการบังคับใช้ ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจ และต้องกำหนดหลักการประกันคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน
              “ทีมการศึกษาเห็นด้วยกับความมุ่งมั่นตั้งใจของ สมศ.ที่จะนำกรอบการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาอาเซียนมาขับเคลื่อนในประเทศไทย เพราะหากเรามีระบบการประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เมื่อถึงเวลาก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเต็มตัวผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเด็กไทยและคนไทย
              แต่สิ่งที่เราห่วงคือ สถาบันอุดมศึกษาที่ สมศ.ต้องเข้าไปประเมิน จะให้การยอมรับและขานรับกับกรอบการประเมินนี้มากน้อยเพียงใด
               และนั่นคือโจทย์ข้อใหญ่ที่ สมศ.คงต้องกลับไปคิด และหาทางพูดคุยทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะหากเป็นการพูดเอง เออเอง เมื่อถึงเวลาจะนำกรอบที่วางไว้มาใช้จริงแต่มหาวิทยาลัยไม่เอาด้วย ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากความพยายามที่ทำมาต้องไร้ผลเป็นรูปธรรม!!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น