วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีสอนแบบระดมพลังสมอง ( Brainstorming )

คุณภาพของผู้เรียนนั้นนอกจากจะเกี่ยวข้องกับผู้เรียนเองแล้วนั้น กระบวนการเรียนการสอนจากครูนับว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน วันนี้ ทรูปลูกปัญญา ได้ทำการรวบรวมบทความแนวคิด เทคนิคการสอนแบบระดมพลังสมอง (Brainstorming) ไว้ให้คุณครู ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการสอนนักเรียนกันค่ะ

 ตัวอย่างที่ 1
         การระดมสมอง หมายถึง วิธีสอนที่ใช้ในการอภิปรายโดยทันที ไม่มีใครกระตุ้น กลุ่มผู้เรียนเพื่อหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาสั้นโดย ในขณะนั้นจะไม่มีการตัดสินว่า คำตอบหรือทางเลือกใดดีหรือไม่อย่างไร
 
ลักษณะสำคัญ ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ช่วยกันคิดหาคำตอบหรือทางเลือก สำหรับปัญหาที่กำหนดให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วช่วยกันพิจารณาเลือกทางเลือก ที่ดีที่สุด ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งทาง
 
ขั้นตอนในการระดมสมอง
 
1. กำหนดปัญหา
2. แบ่งกลุ่มผู้เรียน และอาจเลือกประธานหรือเลขา เพื่อช่วยในการอภิปรายและ บันทึกผล
3. สมาชิกทุกคนในกลุ่มช่วยกันคิดหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดให้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด โดยปัญหาของแต่ละกลุ่มอาจเป็นปัญหาเดียวกันหรือต่างกันก็ได้
4. คัดเลือกเฉพาะทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ หรือเหมาะสมที่สุด
5. แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานของตน ( ข้อ 4 และ 5 อาจสลับกันได้ )
6. อภิปรายและสรุปผล
 
ข้อดีและข้อจำกัด
 
         ข้อดี
                  1. ฝึกกระบวนการแก้ปัญหาและมีคุณค่ามากที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง
                  2. ก่อให้เกิดแรงจูงใจในตัวผู้เรียนสูง และฝึกการยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน
                  3. ได้คำตอบหรือทางเลือกได้มาก ภายในเวลาอันสั้น
                  4. ส่งเสริมการร่วมมือกัน
                  5. ประหยัดค่าใช้จ่ายและการจัดหาสื่อเพิ่มเติมอื่น ๆ
 
         ข้อจำกัด
                  1. ประเมินผลผู้เรียนแต่ละคนได้ยาก
                  2. อาจมีนักเรียนส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนครอบครองการอภิปรายส่วนใหญ่
                  3. เสียงมักจะดังรบกวนห้องเรียนข้างเคียง
                  4. ถ้าผู้จดบันทึกทำงานได้ช้า การคิดอย่างอิสระก็จะช้าและจำกัดตามไปด้วย
                  5. หัวเรื่องต้องชัดเจนรัดกุม และมีประธานที่มีความสามารถในการดำเนินการ และสรุปการอภิปราย ทั้งในกลุ่มย่อย และรวมทั้งชั้น
 
ตัวอย่างที่ 2 
 
         การระดมพลังสมอง เป็นการนำความรู้ที่มีอยู่แล้วออกมาใช้ ผู้เรียนมีอิสระในทางความคิด ไม่ต้องไปกังวลว่าสิ่งที่คิดออกมาสัมพันธ์กับประเด็นที่ตั้งไว้หรือไม่ จะถูกหรือผิดการระดมพลังสมองใช้ได้ทั้งงานเดี่ยว และงานกลุ่ม
 
การระดมพลังสมอง มี 2 รูปแบบ
         รูปแบบที่ 1 ระดมหามากที่สุด
 
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                  1. ครูกำหนดประเด็นหรือให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดประเด็นขึ้นมา เช่น ผ้าขาวม้า
                  2. ให้นักเรียนเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดให้มากที่สุดในเวลาที่กำหนดเช่น เขียนประโยชน์ของผ้าขาวม้า
                  3. นักเรียนนำเสนอความคิดของสิ่งที่ได้เขียนขึ้น
                  4. เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาความถูกต้องหรือความเป็นไปได้ของความคิดแต่ละอย่างที่แต่ละคน หรือกลุ่มได้นำเสนอ
                  5. นักเรียนสรุปผลที่ได้จากการระดมความคิด
 
         รูปแบบที่ 2 ระดมหาที่สุด
 
         การระดมหาที่สุด เป็นการระดมเพื่อหาแนวทางหรือวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อการแก้ปัญหา หรือเพื่อการตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การระดมพลังสมองเพื่อหาที่สุดจะมี 3 ขั้นตอน คือ

                  1. ระดมความคิด
                  2. กลั่นกรองความคิด
                  3. สรุปความคิดที่เหมาะสม
 
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                  1. ครูกำหนดประเด็นปัญหา หรือเหตูการณ์ที่ท้าทาย หรือเป็นเหตุการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน “เราจะแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้อย่างไร”
                  2. แบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มละ 6 – 8 คน
                  3. นักเรียนร่วมกันระดมความคิด หาวิธีการในการแก้ปัญหา หรือวิธีการที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจ
                  4. นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันพิจารณากลั่นกรองประเด็นข้อเสนอของสมาชิก และคัดเลือกประเด็นที่เป็นไปได้ และมีความเหมาะสม
                  5. นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายในประเด็นที่ได้คัดเลือกไว้โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมกับสภาพ
                  6. นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสรุปประเด็น หรือ วิธีการที่กลุ่มจะนำไปดำเนินการ 1-2 ประเด็น
                  7. กลุ่มนำวิธีการที่ได้จากข้อสรุปไปวางแผนกำหนดขั้นตอนการดำเนินการต่อไป

เป็นยังไงบ้างค่ะ กับแนวคิด เทคนิคระดมพลังสมอง  ( Brainstorming ) คุณครูลองเอาไปปรับใช้ในรูปแบบการสอนของตนเองดูนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น