วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ขั้นตอนในการสร้างโปรแกรมพัฒนาตนเอง

ก่อนที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะต้องยอมรับเสียก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับเราและต้องเชื่อว่า เราสามารถกระทำได้ ประเด็นสำคัญคือ เราต้องยอมรับและสนใจปัญหานั้น ไม่ใช่หลีกเลี่ยงมัน ซึ่งกระทำได้โดย การศึกษาจาก หนังสือตำรา หรือปรึกษาปัญหานั้นกับคนอื่นๆ ลองคิดถึงผลที่เกิดขึ้นว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นเพียงใดถ้าหากเราไม่มีปัญหานั้น
หลังจากตัดสินใจว่าจะปรับปรุงตัวเองในเรื่องใดเป็นการเฉพาะ แน่นอนว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาปัญหานั้นให้ชัดเจน อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงหรือกลัวว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ เริ่มต้นหาแนวทางว่า จะทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลง เป็นไปตามที่ต้องการ การปรับปรุงตนเองต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหลายอย่าง ไม่ใช่อาศัยเพียง แต่ความตั้งใจจริง ที่จะทำอะไรสักอย่างเท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องใส่ใจหาความรู้และทักษะที่จำเป็นที่จะช่วยให้การปรับปรุงตัวเองบังเกิดผล
จากการศึกษาพบว่า ในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตนเองของคนเรานั้นมีพัฒนาการเป็น 6 ระยะ (Prochaska, Norcross & DiClemente, 1994) คือ
ระยะที่1. ยังไม่คิดจะปรับปรุงตนเอง (precontemplation) เป็นระยะที่บ่ายเบี่ยง คิดว่ายังไม่มีปัญหาอะไรในตัวเอง แม้ว่าคนอื่นๆจะมองเห็นชัดเจน หรือถ้ามีก็หวังว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่มีความตั้งใจอย่างแน่นอน ไม่มีแผนใน การปรับปรุงแต่อย่างใด มักจะอ้างว่าปัญหาเกิดจากคนอื่น ต่อต้านการปรับปรุงตัวเอง และเชื่อว่าตนเอง ไม่สามารถ แก้ไขอะไรได้
ระยะที่ 2. เริ่มคิดถึงการปรับปรุงตนเอง (contemplation) เป็นระยะก่อนการลงมือปรับปรุงตนเอง ระยะนี้เริ่มมีความตระหนักถึงปัญหาที่มี และคิดถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหานั้นโดยวิธีใด อยู่ระหว่างการชั่งใจว่าผลการเปลี่ยนแปลงจะคุ้มค่ากับความพยายามหรือไม่ เปรียบผลระหว่างการปรับปรุงและการไม่ทำอะไรเลย คนส่วนมากเสียเวลากับระยะนี้นานมาก (คนที่คิดจะเลิกสูบบุหรี่ ใช้เวลาตัดสินใจเกือบสองปี)
ระยะที่ 3. วางแผนหรือโครงการปรับปรุงตนเอง (preparation) ถือเป็นระยะตกลงใจแล้วว่าจะปรับปรุงตัวเอง โดยเริ่มศึกษา วิเคราะห์ปัญหา เลือกวิธีการที่เหมาะสม กำหนดแผนปฏิบัติการ และกำหนดเป้าหมาย ของการเปลี่ยนแปลงตนเอง อย่างชัดเจน
ระยะที่ 4. ลงมือปรับปรุงตนเอง (action) โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดในแผนหรือโครงการของระยะที่ 3
ระยะที่ 5. คงสภาพผลได้จากการปรับปรุง (maintainance) การทบทวน หรือ เสริมแรงให้ผลการปรับปรุงตนเองตามเป้าหมายคงอยู่ต่อไปอย่างถาวร หรือนานชั่วระยะเวลาหนึ่งที่พอใจ
ระยะที่ 6. จบการปรับปรุง (termination)
การทราบระยะของการปรับปรุงตนเองย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่คิดจะพัฒนาตน ไม่ใช่เพราะทราบว่า ระยะใดต้องทำอะไร เท่านั้น แต่จะช่วยให้ทราบว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะผลักดันหรือจูงใจให้ผ่านจากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่งได้ คนจำนวนมากปฏิเสธ ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือบางคนต้องการจะทำแต่ไม่สามารถจะเริ่มต้นได้สักครั้งเดียว การสร้างแรงจูงใจ ให้ตัวเองจึงมีความสำคัญต่อ การเปลี่ยนเปลงตนเอง
การวางโครงการปรับปรุงตนเองจะมีความสะดวกในขั้นตอนปฏิบัติมากขึ้น ถ้าเราวิเคราะห์พฤติกรรม หรือ ลักษณะนิสัยที่ต้องการปรับปรุง ให้ชัดเจนตามองค์ประกอบของปัญหา ถ้าพิจารณาในขณะที่เกิดปัญหาขึ้นกับเรา ไม่ว่าปัญหาใดก็ตาม สามารถวิเคราะได้จาก องค์ประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
1. การกระทำหรือพฤติกรรม (behavior) ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
2. ความรู้สึกหรืออารมณ์ในขณะนั้น (emotions experiences)
3. การขาดทักษะ (skills needed) ที่จำเป็นอะไรบ้าง จึงทำให้เกิดปัญหา
4 .ความคิดความเข้าใจ (mental processes) รวมถึงอัตมโนทัศน์ ค่านิยม ความคาดหวัง
5. พลังใต้สำนึกบางอย่าง (unconscious forces) ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น
ถ้าสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห็ปัญหาที่เกิดกับตัวเราได้ชัดเจนแล้ว เท่ากับเราแก้ไขปัญหาสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะทำให้มองเห็นได้สะดวกว่าควรใช้วิธีการใดจึงเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหานั้น
การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตนเองไม่ใช่กระทำได้ราบรื่นหรือสะดวกสบาย อาจมีอุปสรรคทำให้ล้มเหลวได้ อาจเกิดจากโครงการที่ไม่ชัดเจน วิธีการที่เลือกใช้ไม่เหมาะสม บางครั้งก็หมดแรงจูงใจที่จะทำหรือลืมปฏิบัติตามโครงการ ปัญหากลับทรุดลงกว่าเดิม เป็นต้น ส่วนมากมักต้องพยายามทำหลายครั้ง เมื่อไม่สำเร็จก็กลับไปเริ่มต้นใหม่อีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะเมื่อศึกษาปัญหาไม่ชัดเจนพอ หรือมีความรู้ไม่พอ แต่ผู้ที่ปรับปรุงตนเองได้มักเป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อไม่สำเร็จเขาจะกลับไปศึกษาใหม่ หาอุปสรรค สร้างแรงจูงใจให้ตนเอง หาวิธีการที่ดีกว่า เป็นการดีที่ได้พยายามแล้วไม่สำเร็จ ดีกว่าคนที่ไม่ได้ลองพยายามเลย เพราะจะล้มเหลวตลอดไป
ขั้นตอนปฏิบัติในโครงการปรับปรุงตนเอง
เมื่อตัดสินใจจะปรับปรุงตนเองแล้ว ควรวางโครงการให้เป็นไปตามลำดับขั้นที่จะเสนอโดยสรุปต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการบังคับตายตัวว่าต้องวางแผนไปตามนี้ทุกขั้นตอนในทุกโครงการ อาจข้ามไปได้บ้างในบางครั้ง ถ้าหากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการไม่มีความยากลำบากหรือซับซ้อนมากนัก เช่น ปัญหาบางอย่างไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์แยกออกเป็นห้าองค์ประกอบ หรือไม่ต้องบันทึกผลความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด เพราะเป็นเรื่องง่ายที่รอให้ลงมือปรับปรุงได้เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะพบเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนปฏิบัติไปตามลำดับทุกขั้นตอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น