วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การเขียนรายงานการประชุม

ที่มา http://meeting.buu.ac.th/index.php/km

สกอ.ส่งข้อมูล9ม.เอกชนถึง"หมอธี"


สกอ.ส่งข้อมูล 9 มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหาจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษ พร้อมรายละเอียดและข้อเสนอแนะแก้ปัญหา ถึงรมว.ศึกษาธิการ แล้ว
วันนี้( 27 ก.พ.) ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกอ.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) พิจารณารับรองการเทียบคุณวุฒิหลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน เพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม 9 สาขา ดังนี้ 1.สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล 2. สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก 3. สาขาทันตกรรมจัดฟัน 4.สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ 5.สาขาทันตสาธารณสุข 6. สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ 7. สาขาทันตกรรมหัตถการ 8.สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก และ 9. สาขาทันตกรรมทั่วไป โดยให้วุฒิบัตรที่ได้จากหลักสูตรทั้ง 9 สาขานี้สามารถเทียบได้กับวุฒิระดับปริญญาเอก เนื่องจากใช้เวลาในการเรียนถึง 3ปี และต้องมีงานวิจัยตีพิมพ์องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและวิชาชีพทันตกรรมด้วย

ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหามหาวิทยาลัย 4 แห่ง ประกอบด้วย ม.ราชภัฏสุรินทร์ ม.ราชภัฏชัยภูมิ ม.บูรพา และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยขณะนี้ทั้ง 4 มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ในการปฎิบัติงาน หลักเกณฑ์ในการสรรหาอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัย การตรวจสอบคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆโดยเน้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยเอกชน 9 แห่งที่มีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.นั้น ขณะนี้ สกอ.ได้ส่งรายละเอียดและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหามหาวิทยาลัยดังกล่าวให้ รมว.ศึกษาธิการ แล้ว

ที่มา https://www.dailynews.co.th/education/558336

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เริ่มต้นที่ตนเอง

” you cannot hope to build a better world without improving the individuals.”
Marie  Curie (1867-1934)
มาดามมารี คูรี นักวิทยาศาสตร์หญิงเจ้าของรางวัลโนเบลทั้งสาขาฟิสิกส์และเคมีถึง 2 รางวัลเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เธอและทีมงานได้ค้นพบซึ่งมีคุณานุปการต่อโลกอย่างมากมายนั้นไม่ได้มาอย่างง่ายดาย แต่มาจากความพากเพียรอย่างไม่ท้อถอย ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาตนเองเป็นจุดเริ่มต้น
Peter F. Drucker เขียนหนังสือชื่อ Managing Oneself มีใจความสำคัญคือความสำเร็จของคนทำงานในปัจจุบันมาจากการเตรียมตัวสำหรับโอกาสที่จะมาถึงในวันข้างหน้า เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แค่การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจึงยังไม่เพียงพอ แต่ก็มีคนจำนวนน้อยที่รู้จักแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง
คำแนะนำของ Drucker ก็คือการพัฒนาจากจุดแข็งของตนเอง รู้ว่าจะมีวิธีการใช้จุดแข็งนั้นอย่างไร รู้ว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือนั้นคืออะไร และรู้ว่าตรงไหนคือที่ๆ เหมาะสมสำหรับการเติบโต ฟังดูเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้

บางคนเรียนรู้ได้ดีด้วยการอ่าน แต่บางคนอาจอยู่ที่การฟัง บางคนยึดมั่นในศักดิ์ศรีมากกว่าเงินทอง บางคนชอบงานวิชาการมากกว่าการเป็นผู้บริหาร แต่หลายคนอาจลืมนึกถึงสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่มีความสุข และบางคนโชคร้ายที่ล้มเหลวเพราะไปต่อไม่ได้

ส่วนหนึ่งก็คือการตีกรอบของสังคมรอบๆ ตัวเรา นับตั้งแต่การเลี้ยงดูของครอบครัว ระบบการศึกษา ค่านิยมในสังคม ที่หล่อหลอมและชี้ทางให้แต่ละคนเดินไปจนหลงลืมไปว่าที่แท้คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และความแตกต่างนี้เองที่จะทำให้เกิดภาพรวมที่สมบูรณ์
ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาแทนที่งานหลายประเภท แม้แต่แพทย์ผ่าตัด นักบัญชี นักกฏหมาย คนทำงานจึงต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่แตกต่างที่เหนือกว่า ซึ่งระบบการศึกษายังไม่สามารถตอบสนองได้ทันความต้องการนี้ แนวโน้มที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือองค์กรระดับโลกหลายองค์กรเห็นว่าเกรดและสถาบันการศึกษาไม่ใช่การชี้วัดความสามารถอีกต่อไป แต่ความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการฝึกฝนตนเองต่างหากคือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผักสลัดเป็นธุรกิจเล็กๆ จากการที่เป็น “เด็กเรียนไม่เก่ง” จึงหันมาทำในสิ่งที่ตนเองถนัด และมีจุดแข็งก็คือพื้นฐานของครอบครัวที่คลุกคลีกับการทำเกษตรมาก่อน เด็กหนุ่มผู้นี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามกรอบของสังคมอีกต่อไป เพราะเขาได้ค้นพบตัวตนและพื้นที่ของเขาแล้ว การค้นพบจุดแข็งของตนเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เครื่องมือตัวหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยได้ก็คือการรับฟังข้อมูลป้อนกลับจากผู้อื่น (Feedback) เหมือนการส่องกระจกเงาที่จะทำให้เห็นตนเองได้ชัดเจนขึ้น ด้วยความตั้งใจจดจ่อที่จะเรียนรู้ตนเองอย่างจริงจัง เหมือนการมองกระจกเงาอย่างพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ซึ่งในบทความจาก Executive Edge, Volume 06, Issue 10 ในเว็บไซต์ของ Soundview กล่าวถึงข้อเขียนของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาที่พูดถึงการพัฒนาตนเองว่าการทำความรู้จักตนเองนั้น ต้องมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ เพื่อให้ได้คำตอบว่าตัวตนของเราคือใคร เราคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ Drucker กล่าวไว้ก่อนหน้านั้น
สิ่งที่น่าสนใจคือบทความนี้กล่าวถึงการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งด้วยการใช้สมาธิจดจ่อ เพื่อให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิผล และยังกล่าวด้วยว่าการให้ความสำคัญกับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดจะส่งผลดีนั้นไปสู่อนาคต ซึ่งคล้ายกับหลักปฏิบัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ จึงเห็นได้ว่าปัจจุบันการฝึกฝนสมาธิหรือ Meditation เป็นที่นิยมมากสำหรับชาวตะวันตก เพราะเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยสร้างพลังภายในตัวตนได้เป็นอย่างดี ไม่ต่างไปจากการสร้าง Six Pack ด้วยการออกกำลังกาย
องค์กรที่มีการเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ มีระบบของการสอนงานที่ดี มีกระบวนการให้ Feedback อย่างถูกต้อง คนในองค์กรมีทัศนคติเชิงบวกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับบุคคล ทีมงานไปจนถึงองค์กรในที่สุด และสิ่งนี้ก็คือเครื่องมือสำคัญของผู้นำที่จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ผู้นำจึงต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี เพื่อให้คนในองค์กรเติบโตในวุฒิภาวะ (Maturity Level) เพื่อที่จะทำให้องค์กรมีวุฒิภาวะ ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน
การเรียนรู้ตนเองเพื่อปรับปรุง สร้างศักยภาพให้แข็งแกร่ง จะช่วยให้ลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะความขัดแย้งมักเกิดขึ้นจากการกล่าวโทษผู้อื่นโดยไม่ได้มองที่ตัวเอง ในแนวคิดของ Productivity นั้น เมื่อเกิดปัญหาจะต้องนำปัญหามาวิเคราะห์หาสาเหตุทีทำให้เกิดความผิดพลาดด้วยเครื่องมือต่างๆ โดยไม่ใช่หาคนผิด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขที่ไม่มีความขัดแย้ง ตรงกันข้ามเป็นการสร้างความร่วมมือ และเรียนรู้ไปด้วยกัน คำถามง่ายๆ ที่นักผลิตภาพจะถามกับตนเองเสมอก็คือ มีอะไรบ้างที่เราจะทำได้ดีกว่านี้ โดยที่ยังไม่ต้องรอให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้นการปลูกฝังแนวคิด Productivity จึงควรเริ่มต้นตั้งแต่ที่สถาบันครอบครัว ในระบบการศึกษาตั้งแต่วัยอนุบาล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในสังคมที่มีการปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง คนคุณภาพจึงจะสามารถสร้างสังคมที่มีคุณภาพได้ในที่สุด
ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ที่มา http://www.ftpi.or.th/2016/9071