วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม 15 ข้อที่คาใจ : EdPEx

Q1:     ได้ยินว่า จะนำ EdPEx มาใช้กับสถาบันอุดมศึกษา แล้วจะเอา QA ไปทิ้งไว้ที่ไหน               
A1:     ถ้าจะตอบว่าไม่ทิ้ง ก็คงจะหงุดหงิด เรามาตั้งต้นกันอย่างนี้นะคะ
               QA คือ ระบบประกันคุณภาพที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องกำกับดูแลกันตามลำดับชั้น
                  - สำหรับการประกันคุณภาพภายใน เกณฑ์และตัวบ่งชี้เป็นข้อกำหนดตามกฎกระทรวง
                  - สำหรับการประกันคุณภาพภายนอก เกณฑ์และตัวบ่งชี้กำหนดโดย สมศ
สถาบันอุดมศึกษายังคงต้องทำ QA ตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อทำ QA ไประยะหนึ่งแล้ว
หากสถาบันต้องการเครื่องมือเพื่อพัฒนาคุณภาพองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศและเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่จำเป็นที่ต้องสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ทั้งในการวางแผน การปฏิบัติ และการติดตามผล เกณฑ์ EdPEx จะเป็นกรอบคุณภาพที่จะแก้ข้อจำกัดนี้ได้  ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่เกณฑ์บังคับ
Q2:    EdPEx คืออะไร
A2:     EdPEx ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” หรือ“เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ” ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA)  เกณฑ์ EdPEx คือกรอบที่ทำให้มอง/คิดและบริหารองค์กรในเชิงระบบ (มองทุกระบบเชื่อมโยงกันหมด) และช่วยให้ในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน จากจุดเน้นที่เป็นเรื่องหลักของสถาบันของเราจริงๆ
แม้เกณฑ์ Baldrige จะมี 3 ฉบับ คือ ภาคธุรกิจและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภาคการดูแลสุขภาพ และภาคการศึกษา แต่ทั้ง 3 ฉบับเป็นเรื่องเดียวกัน มีหลักการต่างๆ เหมือนกันทุกประการ จะแตกต่างก็เพียงศัพท์เฉพาะสาขาเท่านั้น เช่น แทนที่จะใช้คำว่าลูกค้าเพียงอย่างเดียว ในเกณฑ์ EdPEx จะใช้คำว่า ‘ผู้เรียน’ ในหลายๆตอนด้วย สำหรับในภาคธุรกิจ ผู้รับบริการ คือ ลูกค้า  ภาคสุขภาพ ผู้รับบริการ คือ ผู้ป่วย
Q3:    คนไทยเราชอบเลียนแบบฝรั่ง โดยไม่ดูว่าจะเข้ากับเราได้มากน้อยแค่ไหน ในกรณีของ EdPEx นั้น เป็นการนำเกณฑ์ Baldrige มาใช้ทั้งหมดอีกแล้ว จะเหมาะกับไทยหรือไม่ 
A3:     ต้องเรียนว่าเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2545 โดยปรับเป็นไทย และใช้ชื่อว่าเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ  เรามาพิจารณาที่คุณค่าของเกณฑ์กันดีกว่าค่ะ ถ้าเรื่องใดทำให้เราสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างก้าวกระโดด ก็อย่าไปสนใจเลยค่ะว่าได้มาอย่างไร เกณฑ์ Baldrige เป็นเกณฑ์ที่ชี้แนะว่าเรื่องไหนมีความสำคัญต่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศขององค์กร โดยจะเสนอข้อคำถามให้เราค้นหาคำตอบเอง ไม่ระบุตัวบ่งชี้ และไม่บังคับให้ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เพราะบริบทขององค์กร/สถาบันแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน 
          มหาวิทยาลัย/คณะ ของเราต้องมาตั้งต้นตอบคำถามด้วยกันเองว่า สถาบันของเรา   มีคุณลักษณะที่สำคัญและสภาวะการณ์เชิงกลยุทธ์ของสถาบันเป็นอย่างไร เราจะกำหนดกลยุทธ์และแนวทางต่อไปอย่างไร เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ และแม้ว่าเราจะศึกษาจากรายงานของสถาบันอุดมศึกษาของต่างชาติที่ได้รางวัล หรือของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ได้เริ่มนำเกณฑ์ EdPEx ไปใช้มาลองปรับใช้ เราก็จะพบเองว่าเรื่องของคุณภาพลอกกันเต็มๆไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อม จุดเด่น บุคลากร สมรรถนะหลัก ฯลฯ ของแต่ละองค์กร ไม่เหมือนกัน เกณฑ์ EdPEx นี้ จึงเหมาะกับทุกแห่งที่มีผู้นำและประชาคมซึ่งต้องการจะพัฒนาสถาบันอย่างมีระบบแบบประสานสัมพันธ์  ในทุกด้านของการจัดการอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับกำลังความสามารถ จุดเน้นและความพร้อมที่แท้จริงของตน
          ฟังดูแล้วอาจจะยากขึ้นไปอีกนะคะ แต่ก็ต้องเรียนว่า สำหรับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาคุณภาพดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว  อันที่จริงคือ เรามีคุณภาพในระดับหนึ่งแล้ว ทำไมเราไม่มาช่วยกันหาคำตอบเพื่อเป็นต้นแบบและทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆขึ้นไปดีกว่าไหมคะ
Q4:    ถ้าใช้ EdPEx แล้ว ไม่เห็นปลายทางที่สิ้นสุด ทำให้สิ้นหวังตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ จะทำยังไงดี
A4:    การพัฒนาคุณภาพด้วยความเป็นเลิศ ไม่ว่าจะด้วยระบบใดก็ตาม เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จึงไม่มีจุดสิ้นสุดตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ แต่องค์กรจะได้เห็นการพัฒนาของตนเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น หรือผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เมื่อเห็นแล้ว เราจะรู้สึกสนุก สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม และสื่อสารระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยจะไม่หยุดพัฒนาเอง เหมือนการท่องเที่ยวที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่ความสวยงามของเส้นทางที่เดินไป
          การล้มเลิกตั้งแต่ต้น เท่ากับว่า เราหยุดการพัฒนาตนเองและสถาบัน ซึ่งจะทำให้สถาบันของเราถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ เพราะมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีพัฒนาการต่อเนื่อง และอาจจะทำให้   การอุดมศึกษาไทยมีโอกาสน้อยลงๆที่จะแข่งขันหรือได้รับการยอมรับจากนานาชาติได้เต็มที่อีกด้วย
Q5:    สถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ต้องทำวิจัยด้วย ในเกณฑ์ EdPEx ไม่เห็นพูดไว้ที่ไหนเลย
A5:      นี่ละค่ะ เป็นตัวอย่างที่สำคัญมากเลย สมมติว่า มหาวิทยาลัยของเรากำหนดตัวเองว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย พันธกิจที่สำคัญ 1 พันธกิจ ก็คือการวิจัยถูกไหมคะ ก็มีอยู่แล้วไง  ในโครงร่างองค์กร ที่เราต้องดูต่อก็คือ เรามีความท้าทายและความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์มากน้อยเพียงใด สมรรถนะหลักของเราคือการวิจัย  หรือ ถ้าไม่ใช่ แล้วจำเป็นก็ต้องสร้าง  โดยกลุ่มผู้นำต้องไปกำหนดไว้เป็นวิสัยทัศน์และสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องในหมวด 1  กำหนดไว้เป็นแผนกลยุทธ์ ในหมวด 2  กำหนดตัวชี้วัดในหมวด 4  สร้างกระบวนการในหมวด 6  พัฒนาบุคลากร ในหมวด 5  หาลูกค้าซึ่งอาจหมายถึงผู้ให้ทุนหรือผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในหมวด 3  และแสดงผลลัพธ์ในหมวด 7 ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและเป็นเลิศ ตรงนี้ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันค่ะ สถาบันใดทำได้ดีกว่าเร็วกว่า   ก็มาแบ่งปันวิธีการกัน  เพื่อให้สถาบันเพื่อนๆได้แสวงหาแนวทางใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันต่อไป
                   ที่บอกว่า EdPEx ไม่ได้กล่าวถึงการวิจัย หากดูในอภิธานศัพท์ในหนังสือเกณฑ์ EdPEx คำว่า “หลักสูตร และบริการที่ส่งเสริมการเรียนรู้” ได้รวมถึงการวิจัยด้วย แต่มหาวิทยาลัยจะให้น้ำหนักเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถาบัน
                   นี่คือตัวอย่างที่ดีของความหมายของคำว่าบริบท เกณฑ์ EdPEx จะไม่กำหนดว่า   เรื่องใดเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา อยู่ที่ผู้นำไปใช้ที่จะพิจารณาเองว่า ในสถาบันของตนนั้น มีพันธกิจสำคัญด้านใด และเป็นเรื่องที่ตกลงกันเองในสถาบัน ถ้าเห็นว่า มหาวิทยาลัยของเราต้องเน้นด้านวิจัยอย่างมาก เพื่อให้โดดเด่นขึ้นหรือเพื่อให้ทุกคนเพิ่มความสำคัญและมุ่งงานด้านวิจัยให้มากขึ้น มหาวิทยาลัย/คณะของเราเองจะต้องกำหนดให้ชัดขึ้น ตามแนวคิดที่เราอยากทำและอยากเน้น
Q6:    ทำให้เกณฑ์ EdPEx เข้าใจง่ายขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่
A6:     เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพบอกไว้ว่า คุณภาพไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ถ้าเป็นหลักธรรมก็ต้องปฏิบัติค่ะ จึงจะรู้แจ้ง  การรวมกลุ่มกันลงมือทำเอง ความจริงอยากจะเรียกว่า ศึกษาร่วมกัน แลกเปลี่ยนถกแถลงกัน จะทำให้ยิ่งเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นและคงต้องอ่าน ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยคู่กันไป ถ้ายังไม่เข้าใจตรงจุดไหน ก็อาจจะอ่านเอกสารเพิ่มเติมจากองค์กรที่ได้รับรางวัลที่จะให้แนวปฏิบัติซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ที่จริง มีความพยายามอยู่เหมือนกัน แต่คงร่วมมือกันที่จะช่วยกันรวบรวมและเขียนตัวอย่างต่างๆ เพื่อประกอบกับหมวด/หัวข้อในเกณฑ์ ซึ่งน่าจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
Q7:    ไม่ชอบเลยที่ในเกณฑ์ EdPEx ใช้คำว่า ‘ลูกค้า’ แทนที่จะเรียกว่า ‘ผู้เรียน’
A7:     หากดูในอภิธานศัพท์ในหนังสือเกณฑ์ EdPEx คำว่า”ลูกค้า” หมายถึง ผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสถาบัน เช่น คู่ความร่วมมือ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้ใช้บัณฑิต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สถาบันมีมุมมองที่กว้างขึ้น เมื่อจะกำหนดหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอน จะต้องตอบสนองต่อความต้องการและสร้างความสัมพันธ์กับใครบ้าง 
          สำหรับผู้ที่ “แพ้” คำว่า “ลูกค้า” เรื่องนี้อาจต้องทำใจ คิดเสียว่า เป็นศัพท์อีกคำที่เตือนใจว่า หน้าที่ของเราที่มีต่อผู้เรียนนั้น มีความหมายที่เพิ่มจากความเข้าใจเดิมในอดีตที่ให้คุณค่าของความลึกซึ้งของคำว่า ‘ครู’ และ ‘ลูกศิษย์’ เมื่อมีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง  มีเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนนักศึกษา และบุคลากร และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่รวดเร็ว พฤติกรรมของผู้เรียนในปัจจุบัน ก็ย่อมมีความแตกต่างไปได้ ซึ่งอาจต้องพิจารณาว่าเป็นบทบาทของคณาจารย์สมัยใหม่ใช่หรือไม่ ที่ต้องสร้างจิตสำนึกของการเคารพความเป็น ‘ครูอาจารย์’ และที่แน่ๆ ต้องเป็นตัวอย่างของคนคุณภาพ เพื่อให้เกิดการยอมรับและเคารพยกย่อง เพราะไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยอัตโนมัติอีกต่อไป
Q8:    ไม่ชอบการใช้คำว่า “คู่แข่ง” ทางด้านการศึกษา เกรงว่าจะสร้างบรรยากาศการไม่ให้ความร่วมมือ 
A8:     เป้าหมายของการใช้คำว่า “คู่แข่ง” เพื่อให้มีการเปรียบเทียบในการพัฒนาหรือแข่งกันทำดี รวมถึงการหาแนวปฏิบัติและผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ แต่หากไม่ชอบจริงๆ อาจจะใช้คำอื่นที่มีความหมายเหมือนกัน เช่น “คู่เทียบเคียง” และการใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ อาจเป็นข้อมูลจากองค์กรภายนอกวงการศึกษาก็ได้
Q9:    ทำไมต้องตอบทุกหมวดทุกข้อ  
A9:     ใครว่า! ไม่มีความจำเป็นเลย  จริงๆแล้วไม่ต้องตอบทุกหมวดก็ยังได้ เลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่ามีความสำคัญและจะช่วยพัฒนาองค์กรไปอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการจะพัฒนาสถาบันให้เป็นเลิศ สุดท้ายแล้วก็ต้องประเมินตนเองจนครบทุกหมวด เพื่อทำแผนปรับปรุง
          สำหรับผู้เริ่มแรก อย่าเริ่มด้วยความพยายามที่จะตอบคำถามย่อยทุกคำถาม แต่ควรเริ่มจากความพยายามเข้าใจสถาบันของตนเอง เมื่อยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็อาจจะเริ่มจากการถกเถียงและหาคำตอบร่วมกันจากคำถามหลักๆ ในแต่ละหมวด โดยอิงกับข้อมูลในหน้า 58 เช่น ในหมวด 1.1 ลองตอบคำถามตามลำดับความซับซ้อนดังนี้
    1. เมื่อยังเพิ่งเริ่มใช้เกณฑ์ ตอบคำถามว่า ผู้นำระดับสูงนำสถาบันอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ปรากฏต่อจากหัวข้อ 1.1 ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ‘ข้อกำหนดพื้นฐาน’
    2. พอเริ่มเข้าใจและมีข้อมูลในสถาบันที่ชัดเจนขึ้น ตอบคำถามว่า   ให้อธิบายถึงกระทำโดยผู้นำระดับสูง ในการชี้นำและทำให้สถาบันมีความยั่งยืน รวมทั้งอธิบายวิธีการที่ผู้นำระดับสูงสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงาน    และส่งเสริมให้มีผลการดำเนินการที่ดียิ่งขึ้น ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ข้อกำหนดโดยรวม
    3. เมื่อเชี่ยวชาญขึ้น จึงเริ่มตอบในรายละเอียด ตามข้อ ก ข้อ ข.......... ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ‘ข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นคำถามในแต่ละประเด็นเพื่อพิจารณา’ ซึ่งในหมวด 1.1 คือคำถามเช่น
          ก. วิสัยทัศน์  ค่านิยม และพันธกิจ 
             (1)   ผู้นำระดับสูงดำเนินการอย่างไรในการกำหนดวิสัยทัศน์ และค่านิยมของสถาบัน และถ่ายทอดวิสัยทัศน์  และค่านิยมดังกล่าวโดยผ่านระบบการนำสถาบันไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน  คู่ความร่วมมือ................................... การปฏิบัติตนของผู้นำระดับสูงได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อค่านิยมของสถาบันอย่างไร
Q10:    ต้องเขียนเป็นเล่มๆหรือไม
A10:     ไม่จำเป็นเลยค่ะ วัตถุประสงค์ของโครงการนำร่องนี้ ไม่ใช่การมีรายงานส่ง ดังนั้นอาจเพียงสรุปเป็นข้อความสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายก็เพียงพอ หรือเขียนเป็นข้อๆ เพื่อไว้เตือนตนเองว่าขณะนี้เราอยู่ที่ใด และจะต้องพัฒนาตนเองไปในทิศทางใด เรื่องอะไรบ้าง 
 
          เกณฑ์ EdPEx นี้ใช้เพื่อการประเมินตนเอง เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจ ‘ตัวตน’   ที่แท้จริงของสถาบันของเรา เพื่อจะได้พัฒนา ปรับปรุง และมุ่งสู่ทิศทางที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่เราสามารถระบุและกระทำได้ ถ้ามีข้อมูลและประเด็นที่เราคิดว่า จำเป็นต้องรู้ ต้องบันทึกเพื่อให้เข้าใจตรงกันและเพื่อทำงานด้วยกันในทิศทางเดียวกัน ก็ควรจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่จำเป็นต้อง ‘ประพันธ์’ ยืดยาว ซึ่งอาจจะมีแต่ ‘น้ำ’ มากกว่า ‘เนื้อ’ และเสียเวลาเปล่าๆ แต่ถ้าไม่เขียนก็จะลืม แล้วก็มาตั้งต้นใหม่อีกนะคะ
Q11:    ทำไมเกณฑ์ EdPEx ไม่กำหนดตัวบ่งชี้ หรือระบุวิธีการตอบคำถามให้ชัดๆว่า คำตอบไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
A11:     ความสำเร็จและความเป็นเลิศน่าจะแปรตามอัตลักษณ์ขององค์กรนะคะ จริงอยู่     ตัวบ่งชี้พื้นฐานบางตัว อาจเป็นตัวเดียวกันในทุกองค์กร ลองถามตัวเองดูว่าเคยหงุดหงิดบ้างไหม เวลามีใครมาสั่งให้เก็บ/รายงานตัวนั้นตัวนี้ ทั้งๆที่ตัวบ่งชี้เหล่านั้นไม่ได้แสดงความสำเร็จขององค์กรเลย ทีเรื่องที่เราเก่งกลับไม่ถาม เช่น ถามว่าเงินทุนวิจัยภายในภายนอกเพิ่มขึ้นไหม ความจริง ภายนอกน่าจะเพิ่มขึ้น ภายในน่าจะลดลง เพราะแสดงถึงศักยภาพในการแสวงหาทุน ก็เห็นบ่นๆกันอยู่ ตอนนี้ได้คิดเองแล้วละค่ะ ว่าอยากแสดงอะไร      ที่สื่อความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ แล้วถ้าไม่มีใครในบ้านเราทำเรื่องนี้ ก็ลองหาข้อมูลเปรียบเทียบกับ idol ของเรา ก็ย่อมได้นะคะ  เหมือนแข่งกีฬาไงคะ จากกีฬามหาวิทยาลัยในบ้านเป็นกีฬามหาวิทยาลัยโลกไง
          การดำเนินการตามเกณฑ์ EdPEx ไม่ใช่การให้คำตอบหรือการกำหนดให้ทำตาม    ตัวบ่งชี้  เรื่องนี้จึงอาจขัดใจคนหลายกลุ่มที่เคยชินกับการได้รับคำสั่งชัดเจน คนในสถาบันต้องสร้างความเคยชินขึ้นใหม่โดยร่วมกันคิดหา   ตัวบ่งชี้เอง เพราะการมีบริบทของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีตัวบ่งชี้เหมือนกันทุกตัวหมดทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม อาจจะมีตัวบ่งชี้ร่วม บางด้านในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาได้ เช่น อัตราการมีงานทำ ของบัณฑิต ซึ่งแม้แต่ในเรื่องนี้ บางสถาบันก็อาจจะเห็นว่า ไม่แม่นตรงกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของตนเต็มที่ที่มุ่งสู่ความเป็นอาเซียน โดยอาจกำหนดว่า อัตราการมีงานทำของบัณฑิตต้องเป็นไปตามสายงานในบริษัทข้ามงานในอาเซียน ก็ย่อมได้ เป็นต้น
Q12:    การนำ EdPEx มาใช้จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับมหาวิทยาลัยหรือไม่   
A12:     เป็นคำถามที่ผู้ถามรู้คำตอบอยู่แล้วค่ะ แต่ต้องคิดให้ดีว่าคุ้มที่จะลงทุนไหม มีงานใหม่ตั้งหลายอย่างที่เรารับทำโดยไม่รู้ที่มาที่ไป และยังมองไม่เห็นอนาคต ก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ  ถ้าทำสิ่งที่คิดแล้วว่าจะทำให้มหาวิทยาลัย  ที่เราเป็นสมาชิกพัฒนาได้เร็วขึ้น ดีขึ้น  ถ้าไม่ช่วยกันทำ ขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้า เราคงไม่เพียงแต่หยุดนิ่ง แต่เดินถอยหลังค่ะ แล้วก็อย่ามองเฉพาะรอบๆตัว มองให้ไกลไปสู่ระดับสากลด้วยนะคะ เพราะเกณฑ์ EdPEx ช่วยชี้นำให้สถาบันทำในสิ่งที่เป็นพันธกิจอย่างมีคุณภาพ โดยมองถึง‘สิ่งที่วาดหวัง’ กำลังความสามารถและสิ่งที่ท้าทายของสถาบันทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องหลักๆ ทั้งการประเมินคุณภาพภายในและภายนอก ซึ่งหากสถาบันอุดมศึกษาจัดระบบสารสนเทศที่จะเอื้อต่อการประกันคุณภาพในรูปแบบต่างๆได้ ก็จะช่วยให้ประชาคมของสถาบันสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดได้สะดวกขึ้น
Q13:    ทำไมไม่ส่งเสริมให้สมัครขอรับรางวัล   
A13:     โครงการนำร่องโดยใช้เกณฑ์ EdPEx นี้ เน้นให้สถาบันได้ประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อวางแผนพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีความหมายมากกว่าการประเมินเพื่อรับรางวัล แต่หากสถาบันใดคิดว่าพัฒนาตนเองถึงระดับหนึ่ง ก็อาจสมัครเข้ารับรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้
Q14:    จะได้อะไรจากการใช้ EdPEx ต่อเนื่อง
A14:     หากใช้เกณฑ์ EdPEx อย่างเข้าใจและต่อเนื่อง โดยประสานกับทุกระดับได้อย่างดี จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดี ผู้นำและบุคลากรมีความสุขในการทำงานและต่อยอดความรู้ต่อเนื่อง  เกิดความภูมิใจที่ได้รับรู้ภาพรวมของมหาวิทยาลัยและร่วมเป็นกำลังสำคัญของสถาบันของตนอย่างเต็มที่ เต็มใจ ทุกจุด  มีการพัฒนาตนเองทั้งผู้นำ บุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาศึกษาในสถาบัน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เช่น ผู้ใช้บัณฑิต พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียนที่เป็นผู้ป้อนนักเรียนให้สถาบัน คู่ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น พลังการประสานสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ จะสามารถทำให้สถาบันอุดมศึกษาไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนด้วยความสามารถของทุกคนในประชาคมเป็นแกนสำคัญ
Q15:    ถ้าโครงการนี้จบ 18 เดือนแล้ว จะมีอะไรต่อ
A15:     สกอ.มีโครงการที่จะต่อยอดอีกระดับหนึ่งให้กับสถาบันที่มีผลการดำเนินงานพัฒนาตนเอง    ในโครงการนำร่องตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และจะนำบทเรียนนี้ไปขยายผลให้กับสถาบันอื่นที่มีความสนใจต่อไป 
****************************************

วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานสนับสนุน สังกัดสำนักงานอธิการบดี
(Performance Indicator Development of Supporting Organization Under the Office of the President, Khon Kaen University)
โดย นางภาวนา กิตติวิมลชัย
สำนักงานประเมินและประกันคุณภาพ
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
https://qm.kku.ac.th/files/14-255787165435-phanch-1.pdf

ที่มา https://qm.kku.ac.th/admin/pnk.mcontent_dsp.php?cid=579