วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถาม 15 ข้อที่คาใจ : EdPEx

Q1:     ได้ยินว่า จะนำ EdPEx มาใช้กับสถาบันอุดมศึกษา แล้วจะเอา QA ไปทิ้งไว้ที่ไหน               
A1:     ถ้าจะตอบว่าไม่ทิ้ง ก็คงจะหงุดหงิด เรามาตั้งต้นกันอย่างนี้นะคะ
               QA คือ ระบบประกันคุณภาพที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องกำกับดูแลกันตามลำดับชั้น
                  - สำหรับการประกันคุณภาพภายใน เกณฑ์และตัวบ่งชี้เป็นข้อกำหนดตามกฎกระทรวง
                  - สำหรับการประกันคุณภาพภายนอก เกณฑ์และตัวบ่งชี้กำหนดโดย สมศ
สถาบันอุดมศึกษายังคงต้องทำ QA ตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อทำ QA ไประยะหนึ่งแล้ว
หากสถาบันต้องการเครื่องมือเพื่อพัฒนาคุณภาพองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศและเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่จำเป็นที่ต้องสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ทั้งในการวางแผน การปฏิบัติ และการติดตามผล เกณฑ์ EdPEx จะเป็นกรอบคุณภาพที่จะแก้ข้อจำกัดนี้ได้  ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่เกณฑ์บังคับ
Q2:    EdPEx คืออะไร
A2:     EdPEx ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” หรือ“เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ” ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA)  เกณฑ์ EdPEx คือกรอบที่ทำให้มอง/คิดและบริหารองค์กรในเชิงระบบ (มองทุกระบบเชื่อมโยงกันหมด) และช่วยให้ในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน จากจุดเน้นที่เป็นเรื่องหลักของสถาบันของเราจริงๆ
แม้เกณฑ์ Baldrige จะมี 3 ฉบับ คือ ภาคธุรกิจและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภาคการดูแลสุขภาพ และภาคการศึกษา แต่ทั้ง 3 ฉบับเป็นเรื่องเดียวกัน มีหลักการต่างๆ เหมือนกันทุกประการ จะแตกต่างก็เพียงศัพท์เฉพาะสาขาเท่านั้น เช่น แทนที่จะใช้คำว่าลูกค้าเพียงอย่างเดียว ในเกณฑ์ EdPEx จะใช้คำว่า ‘ผู้เรียน’ ในหลายๆตอนด้วย สำหรับในภาคธุรกิจ ผู้รับบริการ คือ ลูกค้า  ภาคสุขภาพ ผู้รับบริการ คือ ผู้ป่วย
Q3:    คนไทยเราชอบเลียนแบบฝรั่ง โดยไม่ดูว่าจะเข้ากับเราได้มากน้อยแค่ไหน ในกรณีของ EdPEx นั้น เป็นการนำเกณฑ์ Baldrige มาใช้ทั้งหมดอีกแล้ว จะเหมาะกับไทยหรือไม่ 
A3:     ต้องเรียนว่าเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2545 โดยปรับเป็นไทย และใช้ชื่อว่าเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ  เรามาพิจารณาที่คุณค่าของเกณฑ์กันดีกว่าค่ะ ถ้าเรื่องใดทำให้เราสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างก้าวกระโดด ก็อย่าไปสนใจเลยค่ะว่าได้มาอย่างไร เกณฑ์ Baldrige เป็นเกณฑ์ที่ชี้แนะว่าเรื่องไหนมีความสำคัญต่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศขององค์กร โดยจะเสนอข้อคำถามให้เราค้นหาคำตอบเอง ไม่ระบุตัวบ่งชี้ และไม่บังคับให้ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เพราะบริบทขององค์กร/สถาบันแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน 
          มหาวิทยาลัย/คณะ ของเราต้องมาตั้งต้นตอบคำถามด้วยกันเองว่า สถาบันของเรา   มีคุณลักษณะที่สำคัญและสภาวะการณ์เชิงกลยุทธ์ของสถาบันเป็นอย่างไร เราจะกำหนดกลยุทธ์และแนวทางต่อไปอย่างไร เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ และแม้ว่าเราจะศึกษาจากรายงานของสถาบันอุดมศึกษาของต่างชาติที่ได้รางวัล หรือของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ได้เริ่มนำเกณฑ์ EdPEx ไปใช้มาลองปรับใช้ เราก็จะพบเองว่าเรื่องของคุณภาพลอกกันเต็มๆไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อม จุดเด่น บุคลากร สมรรถนะหลัก ฯลฯ ของแต่ละองค์กร ไม่เหมือนกัน เกณฑ์ EdPEx นี้ จึงเหมาะกับทุกแห่งที่มีผู้นำและประชาคมซึ่งต้องการจะพัฒนาสถาบันอย่างมีระบบแบบประสานสัมพันธ์  ในทุกด้านของการจัดการอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับกำลังความสามารถ จุดเน้นและความพร้อมที่แท้จริงของตน
          ฟังดูแล้วอาจจะยากขึ้นไปอีกนะคะ แต่ก็ต้องเรียนว่า สำหรับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาคุณภาพดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว  อันที่จริงคือ เรามีคุณภาพในระดับหนึ่งแล้ว ทำไมเราไม่มาช่วยกันหาคำตอบเพื่อเป็นต้นแบบและทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆขึ้นไปดีกว่าไหมคะ
Q4:    ถ้าใช้ EdPEx แล้ว ไม่เห็นปลายทางที่สิ้นสุด ทำให้สิ้นหวังตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ จะทำยังไงดี
A4:    การพัฒนาคุณภาพด้วยความเป็นเลิศ ไม่ว่าจะด้วยระบบใดก็ตาม เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จึงไม่มีจุดสิ้นสุดตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ แต่องค์กรจะได้เห็นการพัฒนาของตนเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น หรือผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เมื่อเห็นแล้ว เราจะรู้สึกสนุก สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม และสื่อสารระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยจะไม่หยุดพัฒนาเอง เหมือนการท่องเที่ยวที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่ความสวยงามของเส้นทางที่เดินไป
          การล้มเลิกตั้งแต่ต้น เท่ากับว่า เราหยุดการพัฒนาตนเองและสถาบัน ซึ่งจะทำให้สถาบันของเราถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ เพราะมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีพัฒนาการต่อเนื่อง และอาจจะทำให้   การอุดมศึกษาไทยมีโอกาสน้อยลงๆที่จะแข่งขันหรือได้รับการยอมรับจากนานาชาติได้เต็มที่อีกด้วย
Q5:    สถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ต้องทำวิจัยด้วย ในเกณฑ์ EdPEx ไม่เห็นพูดไว้ที่ไหนเลย
A5:      นี่ละค่ะ เป็นตัวอย่างที่สำคัญมากเลย สมมติว่า มหาวิทยาลัยของเรากำหนดตัวเองว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย พันธกิจที่สำคัญ 1 พันธกิจ ก็คือการวิจัยถูกไหมคะ ก็มีอยู่แล้วไง  ในโครงร่างองค์กร ที่เราต้องดูต่อก็คือ เรามีความท้าทายและความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์มากน้อยเพียงใด สมรรถนะหลักของเราคือการวิจัย  หรือ ถ้าไม่ใช่ แล้วจำเป็นก็ต้องสร้าง  โดยกลุ่มผู้นำต้องไปกำหนดไว้เป็นวิสัยทัศน์และสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องในหมวด 1  กำหนดไว้เป็นแผนกลยุทธ์ ในหมวด 2  กำหนดตัวชี้วัดในหมวด 4  สร้างกระบวนการในหมวด 6  พัฒนาบุคลากร ในหมวด 5  หาลูกค้าซึ่งอาจหมายถึงผู้ให้ทุนหรือผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในหมวด 3  และแสดงผลลัพธ์ในหมวด 7 ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและเป็นเลิศ ตรงนี้ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันค่ะ สถาบันใดทำได้ดีกว่าเร็วกว่า   ก็มาแบ่งปันวิธีการกัน  เพื่อให้สถาบันเพื่อนๆได้แสวงหาแนวทางใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันต่อไป
                   ที่บอกว่า EdPEx ไม่ได้กล่าวถึงการวิจัย หากดูในอภิธานศัพท์ในหนังสือเกณฑ์ EdPEx คำว่า “หลักสูตร และบริการที่ส่งเสริมการเรียนรู้” ได้รวมถึงการวิจัยด้วย แต่มหาวิทยาลัยจะให้น้ำหนักเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถาบัน
                   นี่คือตัวอย่างที่ดีของความหมายของคำว่าบริบท เกณฑ์ EdPEx จะไม่กำหนดว่า   เรื่องใดเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา อยู่ที่ผู้นำไปใช้ที่จะพิจารณาเองว่า ในสถาบันของตนนั้น มีพันธกิจสำคัญด้านใด และเป็นเรื่องที่ตกลงกันเองในสถาบัน ถ้าเห็นว่า มหาวิทยาลัยของเราต้องเน้นด้านวิจัยอย่างมาก เพื่อให้โดดเด่นขึ้นหรือเพื่อให้ทุกคนเพิ่มความสำคัญและมุ่งงานด้านวิจัยให้มากขึ้น มหาวิทยาลัย/คณะของเราเองจะต้องกำหนดให้ชัดขึ้น ตามแนวคิดที่เราอยากทำและอยากเน้น
Q6:    ทำให้เกณฑ์ EdPEx เข้าใจง่ายขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่
A6:     เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพบอกไว้ว่า คุณภาพไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ถ้าเป็นหลักธรรมก็ต้องปฏิบัติค่ะ จึงจะรู้แจ้ง  การรวมกลุ่มกันลงมือทำเอง ความจริงอยากจะเรียกว่า ศึกษาร่วมกัน แลกเปลี่ยนถกแถลงกัน จะทำให้ยิ่งเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นและคงต้องอ่าน ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยคู่กันไป ถ้ายังไม่เข้าใจตรงจุดไหน ก็อาจจะอ่านเอกสารเพิ่มเติมจากองค์กรที่ได้รับรางวัลที่จะให้แนวปฏิบัติซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ที่จริง มีความพยายามอยู่เหมือนกัน แต่คงร่วมมือกันที่จะช่วยกันรวบรวมและเขียนตัวอย่างต่างๆ เพื่อประกอบกับหมวด/หัวข้อในเกณฑ์ ซึ่งน่าจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
Q7:    ไม่ชอบเลยที่ในเกณฑ์ EdPEx ใช้คำว่า ‘ลูกค้า’ แทนที่จะเรียกว่า ‘ผู้เรียน’
A7:     หากดูในอภิธานศัพท์ในหนังสือเกณฑ์ EdPEx คำว่า”ลูกค้า” หมายถึง ผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสถาบัน เช่น คู่ความร่วมมือ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้ใช้บัณฑิต เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สถาบันมีมุมมองที่กว้างขึ้น เมื่อจะกำหนดหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอน จะต้องตอบสนองต่อความต้องการและสร้างความสัมพันธ์กับใครบ้าง 
          สำหรับผู้ที่ “แพ้” คำว่า “ลูกค้า” เรื่องนี้อาจต้องทำใจ คิดเสียว่า เป็นศัพท์อีกคำที่เตือนใจว่า หน้าที่ของเราที่มีต่อผู้เรียนนั้น มีความหมายที่เพิ่มจากความเข้าใจเดิมในอดีตที่ให้คุณค่าของความลึกซึ้งของคำว่า ‘ครู’ และ ‘ลูกศิษย์’ เมื่อมีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง  มีเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนนักศึกษา และบุคลากร และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่รวดเร็ว พฤติกรรมของผู้เรียนในปัจจุบัน ก็ย่อมมีความแตกต่างไปได้ ซึ่งอาจต้องพิจารณาว่าเป็นบทบาทของคณาจารย์สมัยใหม่ใช่หรือไม่ ที่ต้องสร้างจิตสำนึกของการเคารพความเป็น ‘ครูอาจารย์’ และที่แน่ๆ ต้องเป็นตัวอย่างของคนคุณภาพ เพื่อให้เกิดการยอมรับและเคารพยกย่อง เพราะไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยอัตโนมัติอีกต่อไป
Q8:    ไม่ชอบการใช้คำว่า “คู่แข่ง” ทางด้านการศึกษา เกรงว่าจะสร้างบรรยากาศการไม่ให้ความร่วมมือ 
A8:     เป้าหมายของการใช้คำว่า “คู่แข่ง” เพื่อให้มีการเปรียบเทียบในการพัฒนาหรือแข่งกันทำดี รวมถึงการหาแนวปฏิบัติและผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ แต่หากไม่ชอบจริงๆ อาจจะใช้คำอื่นที่มีความหมายเหมือนกัน เช่น “คู่เทียบเคียง” และการใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ อาจเป็นข้อมูลจากองค์กรภายนอกวงการศึกษาก็ได้
Q9:    ทำไมต้องตอบทุกหมวดทุกข้อ  
A9:     ใครว่า! ไม่มีความจำเป็นเลย  จริงๆแล้วไม่ต้องตอบทุกหมวดก็ยังได้ เลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่ามีความสำคัญและจะช่วยพัฒนาองค์กรไปอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการจะพัฒนาสถาบันให้เป็นเลิศ สุดท้ายแล้วก็ต้องประเมินตนเองจนครบทุกหมวด เพื่อทำแผนปรับปรุง
          สำหรับผู้เริ่มแรก อย่าเริ่มด้วยความพยายามที่จะตอบคำถามย่อยทุกคำถาม แต่ควรเริ่มจากความพยายามเข้าใจสถาบันของตนเอง เมื่อยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็อาจจะเริ่มจากการถกเถียงและหาคำตอบร่วมกันจากคำถามหลักๆ ในแต่ละหมวด โดยอิงกับข้อมูลในหน้า 58 เช่น ในหมวด 1.1 ลองตอบคำถามตามลำดับความซับซ้อนดังนี้
    1. เมื่อยังเพิ่งเริ่มใช้เกณฑ์ ตอบคำถามว่า ผู้นำระดับสูงนำสถาบันอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ปรากฏต่อจากหัวข้อ 1.1 ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ‘ข้อกำหนดพื้นฐาน’
    2. พอเริ่มเข้าใจและมีข้อมูลในสถาบันที่ชัดเจนขึ้น ตอบคำถามว่า   ให้อธิบายถึงกระทำโดยผู้นำระดับสูง ในการชี้นำและทำให้สถาบันมีความยั่งยืน รวมทั้งอธิบายวิธีการที่ผู้นำระดับสูงสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงาน    และส่งเสริมให้มีผลการดำเนินการที่ดียิ่งขึ้น ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ข้อกำหนดโดยรวม
    3. เมื่อเชี่ยวชาญขึ้น จึงเริ่มตอบในรายละเอียด ตามข้อ ก ข้อ ข.......... ที่ตามเกณฑ์ EdPEx เรียกว่า ‘ข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นคำถามในแต่ละประเด็นเพื่อพิจารณา’ ซึ่งในหมวด 1.1 คือคำถามเช่น
          ก. วิสัยทัศน์  ค่านิยม และพันธกิจ 
             (1)   ผู้นำระดับสูงดำเนินการอย่างไรในการกำหนดวิสัยทัศน์ และค่านิยมของสถาบัน และถ่ายทอดวิสัยทัศน์  และค่านิยมดังกล่าวโดยผ่านระบบการนำสถาบันไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน  คู่ความร่วมมือ................................... การปฏิบัติตนของผู้นำระดับสูงได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อค่านิยมของสถาบันอย่างไร
Q10:    ต้องเขียนเป็นเล่มๆหรือไม
A10:     ไม่จำเป็นเลยค่ะ วัตถุประสงค์ของโครงการนำร่องนี้ ไม่ใช่การมีรายงานส่ง ดังนั้นอาจเพียงสรุปเป็นข้อความสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายก็เพียงพอ หรือเขียนเป็นข้อๆ เพื่อไว้เตือนตนเองว่าขณะนี้เราอยู่ที่ใด และจะต้องพัฒนาตนเองไปในทิศทางใด เรื่องอะไรบ้าง 
 
          เกณฑ์ EdPEx นี้ใช้เพื่อการประเมินตนเอง เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจ ‘ตัวตน’   ที่แท้จริงของสถาบันของเรา เพื่อจะได้พัฒนา ปรับปรุง และมุ่งสู่ทิศทางที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่เราสามารถระบุและกระทำได้ ถ้ามีข้อมูลและประเด็นที่เราคิดว่า จำเป็นต้องรู้ ต้องบันทึกเพื่อให้เข้าใจตรงกันและเพื่อทำงานด้วยกันในทิศทางเดียวกัน ก็ควรจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่จำเป็นต้อง ‘ประพันธ์’ ยืดยาว ซึ่งอาจจะมีแต่ ‘น้ำ’ มากกว่า ‘เนื้อ’ และเสียเวลาเปล่าๆ แต่ถ้าไม่เขียนก็จะลืม แล้วก็มาตั้งต้นใหม่อีกนะคะ
Q11:    ทำไมเกณฑ์ EdPEx ไม่กำหนดตัวบ่งชี้ หรือระบุวิธีการตอบคำถามให้ชัดๆว่า คำตอบไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
A11:     ความสำเร็จและความเป็นเลิศน่าจะแปรตามอัตลักษณ์ขององค์กรนะคะ จริงอยู่     ตัวบ่งชี้พื้นฐานบางตัว อาจเป็นตัวเดียวกันในทุกองค์กร ลองถามตัวเองดูว่าเคยหงุดหงิดบ้างไหม เวลามีใครมาสั่งให้เก็บ/รายงานตัวนั้นตัวนี้ ทั้งๆที่ตัวบ่งชี้เหล่านั้นไม่ได้แสดงความสำเร็จขององค์กรเลย ทีเรื่องที่เราเก่งกลับไม่ถาม เช่น ถามว่าเงินทุนวิจัยภายในภายนอกเพิ่มขึ้นไหม ความจริง ภายนอกน่าจะเพิ่มขึ้น ภายในน่าจะลดลง เพราะแสดงถึงศักยภาพในการแสวงหาทุน ก็เห็นบ่นๆกันอยู่ ตอนนี้ได้คิดเองแล้วละค่ะ ว่าอยากแสดงอะไร      ที่สื่อความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ แล้วถ้าไม่มีใครในบ้านเราทำเรื่องนี้ ก็ลองหาข้อมูลเปรียบเทียบกับ idol ของเรา ก็ย่อมได้นะคะ  เหมือนแข่งกีฬาไงคะ จากกีฬามหาวิทยาลัยในบ้านเป็นกีฬามหาวิทยาลัยโลกไง
          การดำเนินการตามเกณฑ์ EdPEx ไม่ใช่การให้คำตอบหรือการกำหนดให้ทำตาม    ตัวบ่งชี้  เรื่องนี้จึงอาจขัดใจคนหลายกลุ่มที่เคยชินกับการได้รับคำสั่งชัดเจน คนในสถาบันต้องสร้างความเคยชินขึ้นใหม่โดยร่วมกันคิดหา   ตัวบ่งชี้เอง เพราะการมีบริบทของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีตัวบ่งชี้เหมือนกันทุกตัวหมดทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม อาจจะมีตัวบ่งชี้ร่วม บางด้านในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาได้ เช่น อัตราการมีงานทำ ของบัณฑิต ซึ่งแม้แต่ในเรื่องนี้ บางสถาบันก็อาจจะเห็นว่า ไม่แม่นตรงกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของตนเต็มที่ที่มุ่งสู่ความเป็นอาเซียน โดยอาจกำหนดว่า อัตราการมีงานทำของบัณฑิตต้องเป็นไปตามสายงานในบริษัทข้ามงานในอาเซียน ก็ย่อมได้ เป็นต้น
Q12:    การนำ EdPEx มาใช้จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับมหาวิทยาลัยหรือไม่   
A12:     เป็นคำถามที่ผู้ถามรู้คำตอบอยู่แล้วค่ะ แต่ต้องคิดให้ดีว่าคุ้มที่จะลงทุนไหม มีงานใหม่ตั้งหลายอย่างที่เรารับทำโดยไม่รู้ที่มาที่ไป และยังมองไม่เห็นอนาคต ก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ  ถ้าทำสิ่งที่คิดแล้วว่าจะทำให้มหาวิทยาลัย  ที่เราเป็นสมาชิกพัฒนาได้เร็วขึ้น ดีขึ้น  ถ้าไม่ช่วยกันทำ ขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้า เราคงไม่เพียงแต่หยุดนิ่ง แต่เดินถอยหลังค่ะ แล้วก็อย่ามองเฉพาะรอบๆตัว มองให้ไกลไปสู่ระดับสากลด้วยนะคะ เพราะเกณฑ์ EdPEx ช่วยชี้นำให้สถาบันทำในสิ่งที่เป็นพันธกิจอย่างมีคุณภาพ โดยมองถึง‘สิ่งที่วาดหวัง’ กำลังความสามารถและสิ่งที่ท้าทายของสถาบันทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องหลักๆ ทั้งการประเมินคุณภาพภายในและภายนอก ซึ่งหากสถาบันอุดมศึกษาจัดระบบสารสนเทศที่จะเอื้อต่อการประกันคุณภาพในรูปแบบต่างๆได้ ก็จะช่วยให้ประชาคมของสถาบันสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดได้สะดวกขึ้น
Q13:    ทำไมไม่ส่งเสริมให้สมัครขอรับรางวัล   
A13:     โครงการนำร่องโดยใช้เกณฑ์ EdPEx นี้ เน้นให้สถาบันได้ประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อวางแผนพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีความหมายมากกว่าการประเมินเพื่อรับรางวัล แต่หากสถาบันใดคิดว่าพัฒนาตนเองถึงระดับหนึ่ง ก็อาจสมัครเข้ารับรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้
Q14:    จะได้อะไรจากการใช้ EdPEx ต่อเนื่อง
A14:     หากใช้เกณฑ์ EdPEx อย่างเข้าใจและต่อเนื่อง โดยประสานกับทุกระดับได้อย่างดี จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดี ผู้นำและบุคลากรมีความสุขในการทำงานและต่อยอดความรู้ต่อเนื่อง  เกิดความภูมิใจที่ได้รับรู้ภาพรวมของมหาวิทยาลัยและร่วมเป็นกำลังสำคัญของสถาบันของตนอย่างเต็มที่ เต็มใจ ทุกจุด  มีการพัฒนาตนเองทั้งผู้นำ บุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาศึกษาในสถาบัน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เช่น ผู้ใช้บัณฑิต พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียนที่เป็นผู้ป้อนนักเรียนให้สถาบัน คู่ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น พลังการประสานสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ จะสามารถทำให้สถาบันอุดมศึกษาไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนด้วยความสามารถของทุกคนในประชาคมเป็นแกนสำคัญ
Q15:    ถ้าโครงการนี้จบ 18 เดือนแล้ว จะมีอะไรต่อ
A15:     สกอ.มีโครงการที่จะต่อยอดอีกระดับหนึ่งให้กับสถาบันที่มีผลการดำเนินงานพัฒนาตนเอง    ในโครงการนำร่องตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และจะนำบทเรียนนี้ไปขยายผลให้กับสถาบันอื่นที่มีความสนใจต่อไป 
****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น