วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นักวิจัยจุฬาคว้าเหรียญทองเกียรติยศ ในเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่เจนีวา

ทีมวิจัยจุฬาแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากเวทีสิ่งประดิษฐ์โลกที่สวิส
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำนักประดิษฐ์และผลงานคิดค้นจาก 6 หน่วยงาน จำนวน  12 ผลงาน เข้าร่วมแสดงนิทรรศการในงานครบรอบ 40 ปีของการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจัดโดยรัฐบาลสวิสและองค์การทรัพย์สินทาง ปัญญาแห่งโลก หรือ ไวโป้ โดยมีผลงานประดิษฐ์จาก 46 ประเทศ เข้าร่วมแสดงนิทรรศการ จำนวน 648 ผลงาน
ทั้งนี้จากการเข้าร่วมแสดงผลงานดังกล่าว ผลงานประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลถึง 11 ผลงาน โดยผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ เป็นวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม” ของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และนางสาวฐิลักษกรฐ์ จิรพิสิฐกุล และทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศในกลุ่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน นอกจากนี้ผลงานดังกล่าวยังได้รางวัลพิเศษจาก สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย
ด้านรศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ผลงานดังกล่าวทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลมาแปรรูปด้วย กระบวนการทางเคมีให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงในภาคอุตสาหกรรม เช่น เป็นรงควัตถุ ที่มีประกายมุกใช้แทนวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การทำผงแคลเซียมคาร์บอเนต ที่สามารถประยุกต์ใช้เป็นทรายเทียมหรือสารเติมแต่งในการเคลือบผิว หรือการทำเป็นวัสดุกักเก็บสารเพื่อยืดระยะเวลาการทำงาน เช่นเก็บกักปุ๋ยได้ ทั้งนี้กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำแต่เพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือทิ้งได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าวอีกหลายผลงาน อาทิ “แผ่นปิดแผลนาโนไบโอเซลลูโลสเคลือบคริสตัลเงินนาโนสีฟ้า” ของบริษัท โนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด “กระเป๋าผ้าเนกไท” จากวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา “ระบบสนทนาอัตโนมัติเพื่อพัฒนาทักษะการสนทนาภาษาอังกฤษ” จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อวัณโรคจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “ชุดถอดประกอบต้นกำลังสำหรับรถเข็นคนพิการ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ “อุปกรณ์เสริมสำหรับบันทึกลายนิ้วมือด้วยสมาร์ทโฟน” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รายการอ้างอิง :
“นักวิจัยจุฬาคว้าเหรียญทองเกียรติยศ ในเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่เจนีวา”. เดลินิวส์. วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2555.
http://www.stks.or.th/blog/?p=14016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น