“Community of Scholars” ยังได้ถูกนำไปใช้ในลักษณะต่าง ๆ เช่นนำไปใช้เป็นชื่อของหลักสูตร โครงการ สถาบันหรือหน่วยงาน รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดกันโดยมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญาหรือการใช้สติ ปัญญาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จนทำให้ Community of Scholars มีความหมายมากกว่าความหมายตามตัวอักษร
“ชุมชนผู้ทรงปัญญา” เป็นการให้ความหมายในภาษาไทยที่ค่อนข้างโน้มเอียงไปตามตัวอักษร การขยายความจึงมีความจำเป็นเพื่อความเข้าใจร่วมกันสำหรับการกล่าวถึงชุมชน ผู้ทรงปัญญาในแต่ละกลุ่มสังคม หรือกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เนื่องจากกระบวนการทางสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันไม่ส่งเสริมการแบ่งแยก ชนชั้น หรือการแยกกลุ่มตามสถานภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา ถึงแม้ว่าความแตกต่างเหล่านั้นมีปรากฏอยู่จริงในทุกสังคม แต่การพยายามเพื่อขจัดความแตกต่างมีอยู่ในทุกสังคมเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การยอมรับสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลอย่างเท่าเทียมกันในการได้รับสวัสดิการ จากรัฐ จากการบังคับใช้กฎหมาย หรือจากการบริการสาธารณะต่าง ๆ
อย่าง ไรก็ตาม กลุ่มบุคคล ที่มีความเหมือนกันในด้านต่างๆ เช่น เชื้อชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน หรือความสนใจเหมือนกันก็จะรวมกันเป็นชุมชนทั้งที่เป็นรูปนัย เช่น ชมรม สมาคม และยังมีชุมชนที่เป็นอรูปนัยหรือไม่มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ไม่มีสถานที่ตั้ง ไม่มีการจดทะเบียนหรือมีกฎหมายรับรอง ตัวอย่างเช่น ชุมชนผู้ทรงปัญญา เป็นชุมชนอรูปนัย เป็นชุมชนที่สมาชิกของชุมชนมีเพียงความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นผู้ที่อยู่ใน กลุ่มคนที่ใช้ความสามารถทางปัญญาเป็นส่วนมากในการประกอบอาชีพและทำกิจกรรม ต่างๆ สมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญาส่วนมากจึงเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา และนักวิชาการในแขนงวิชาต่างๆ การสื่อสารในกลุ่มผ่านทางการประชุม สัมมนา งานวิจัย และบทความวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการเป็นสำคัญ
การ เป็นสมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญานั้นไม่ต้องมีการกรอกใบสมัคร ไม่มีการจดทะเบียน และไม่มีแม้กระทั่งการประชุมประจำปี แต่เป็นความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ที่สังคมยอมรับให้เป็นผู้ทรงปัญญา สามารถใช้ความคิด ความรู้ ความเห็นของคนเหล่านั้นเป็นแหล่งอ้างอิง หรือชี้นำทางวิชาการให้กับสังคมได้ การเป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับสังคมโดยนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ เริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นในสังคมไทย ดูได้จากเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในสังคม สื่อมวลชนจะเชิญนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง นั้นอย่างดีมาเป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคม ตัวอย่างเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือข้อพิพาทต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและระหว่างประเทศ นักวิชาการเหล่านั้นจะสามารถให้ความเข้าใจได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
การ เป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับสังคมนั้นได้ถูกกำหนดไว้เป็นภารกิจหนึ่งในสี่ ของสถาบันอุดมศึกษา คือ การบริการทางวิชาการให้กับสังคม ภารกิจอื่นๆ อีกสามภารกิจได้แก่ ผลิตบัณฑิต วิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ความรับผิดชอบในการบริการทางวิชาการจึงทำให้สมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญาส่วน มากจึงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากสมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญาไม่มีกฎ กติกา หรือระเบียบวินัยเป็นลายลักษณ์อักษร สำนึกแห่งตนจึงมีความสำคัญมาก การแสดงความรู้ ความคิดเห็นให้กับสังคมจึงจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง ปราศจาก อคติต่าง ๆ ทั้ง 4 ประการได้แก่ โกรธ ชอบ หลง และ กลัว สังคมจึงจะได้ประโยชน์จากการใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการอย่างแท้จริง
อย่าง ไรก็ตาม วิถีชีวิตของนักวิชาการหรือนักปรัชญาผู้ยึดมั่นในภูมิปัญญาแห่งตนจำนวนมากใน อดีต เช่น Socrates, Plato, Aristotle, และ Galileo อาจจะสร้างความน่าหวาดกลัวภัยที่เกิดขึ้นจากการแสดงทรรศนะ ความคิด ความเห็นของตนต่อสังคม แต่การเรียนรู้ในวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคสมัยจะช่วยให้ สมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญาสามารถปรับตัว และเลือกใช้ช่องทางการเผยแพร่ความรู้ ความคิดอย่างบริสุทธิ์ใจของตนได้อย่างปลอดภัย
ในโอกาสที่ประเทศไทย ปัจจุบันมีพัฒนาการทางด้านการศึกษาถึงระดับที่สามารถผลิตดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอกในหลายสาขาวิชาได้โดยไม่ต้องข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปศึกษาในต่างประเทศ ในแต่ละปีมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจำนวนมากขึ้นๆ นั่นหมายถึงการเพิ่มขึ้นของสมาชิกชุมชนผู้ทรงปัญญา สังคมไทยจะได้มีที่พึ่งทางวิชาการจากสมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญามากขึ้นภาย ใต้บริบทของสังคมไทย โดยไม่ต้องพึ่งภูมิปัญญาต่างชาติ หรือภูมิปัญญานำเข้าซึ่งได้ประจักษ์หลายครั้งหลายเรื่องว่าไม่อาจแก้ปัญหา ให้กับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังได้สร้างปัญญาใหม่ให้กับสังคมไทยอีกด้วย
มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอกมานานกว่า 20 ปี ผลิตนักวิชาการและนักวิชาชีพตั้งแต่ระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และระดับวิชาชีพชั้นสูง รับใช้สังคมมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2502 เคยเป็นที่รู้จักในนาม "เทคนิคไทย-เยอรมัน" และในปี พ.ศ. 2556 มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้กับผู้สำเร็จการศึกษาในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตหรือปริญญาเอกหลายสาขาวิชา
มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
มีระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพการผลิตนักศึกษาหลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก
เพื่อต้องการให้มีสมาชิกของชุมชนผู้ทรงปัญญาที่มีคุณภาพ และถือเป็นโอกาสที่ดีในการต้อนรับสมาชิกใหม่ของชุมชนผู้ทรงปัญญา
และฝากความหวังกับสมาชิกชุมชนผู้ทรงปัญญาในปัจจุบันให้เป็นที่พึ่งให้กับ สังคมรวมทั้งสมาชิกใหม่
เพื่อร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมืองและสังคมให้โลกนี้น่าอยู่สืบไป
โดย รองศาสตราจารย์
ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น