วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 2

"การเรียนการสอนแบบเก่า คุณครูก็สอนและก็มุ่งที่จะให้ความรู้แก่เด็กเยอะๆ
การเรียนการสอนแบบนี้ก็อาจจะเหมาะสำหรับ 100-200 ปีที่ผ่านมา
 
ในศตวรรษนี้เป็นยุค IT จำนวนความรู้มันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลอย่างรวดเร็วทุกวัน
เราไล่ไม่ทัน ดังนั้นเราก็ไม่ได้ต้องการนักเรียนที่ท่องเก่งเรียนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว
เราอยากได้เด็ก อยากได้นักเรียน อยากได้บัณฑิตที่ใฝ่รู้ อยากเรียนรู้ของใหม่เรื่อยๆ
และรู้วิธีที่จะเรียนรู้ ก็คือมีทักษะการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Learning Skill พร้อมกันนั้น
เราก็อยากให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตที่ดีด้วยหรือเรียกว่า Life Skill "

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 2
นพ.ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์
เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
 
 
 
"ถ้าเรียนอย่างปัจจุบันนี้ส่งผลต่อสังคมอย่างไร
ข้อที่ 1 เด็กวัยรุ่นจะเสียคน ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่อันที่ 2 อันตรายกว่าก็คือ เด็กทั้งชาติโง่ เพราะเรียนเพื่อได้ความรู้
ซึ่งความรู้ที่ได้เรียนมา 2-3 ปีก็เก่าแล้ว ใช้ไม่ได้
 
ที่ต่างจากเด็กยุคเก่าอย่างมากก็คือเด็กยุคใหม่ความรู้ที่วิ่งมาหาเขาเยอะ
เพราะฉะนั้นเรื่องที่เรียนในห้องเรียน ยากมากที่เขาจะสนใจ เพราะเรื่องอื่นน่าสนใจกว่าเยอะ
 
ความจริงที่สำคัญก็คือ ความรู้มันเยอะมาก
ครูก็เวียนหัว ทำยังไงที่จะยัดให้เด็กหมด อย่างนี้เด็กก็เวียนหัวตาย
ผลการวิจัยบอกว่าอย่าไปสอนเยอะ สอนแต่สิ่งที่สำคัญ Essential
แล้วเด็กจะมีความสามารถที่จะไปต่อยอด ส่วนที่ไม่สอนเด็กก็จะเรียนรู้ได้เอง
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ Teach less Learn More
 
เปลี่ยน เป้าหมายจากความรู้ไปสู่ทักษะ
เปลี่ยนจากครู เป็นหลัก เป็นนักเรียน เป็นหลัก
เรียนด้วยปฎิบัติเป็นหลัก"

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 2
ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช
ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
 

 
สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 แล้วนอกจากความรู้ในสาระวิชาหลักอันได้แก่

600

1. ภาษาแม่และภาษาสำคัญของโลก
2. ศิลปะ  คณิตศาสตร์
3. เศรษฐศาสตร์
4. ภูมิศาสตร์
5. ประวัติศาสตร์
6. รัฐและความเป็นพลเมืองที่ดี

เด็กควรจะได้ความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
1. ความรู้เกี่ยวกับโลก
2. ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐกิจและการเป็นผู้ประกอบการ
3. ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี
4. ความรู้ด้านสุขภาพ
5. ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้เด็กต้องได้เรียนรู้ทักษะสำคัญ 3 เรื่องอีกด้วย
1.  ทักษะชีวิตและการทำงาน ได้แก่


1. ความยืดหยุ่นและการปรับตัว
2. การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง
3. ทักษะด้านสังคมและทักษะข้ามวัฒนธรรม
4. การเป็นผู้สร้างหรือผลิตและรับผิดชอบเชื่อถือได้
5. ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ
 

2.  ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่


1. การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
2. การสื่อสารและความร่วมมือ
3. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม



 3.  ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี อันได้แก่


1.  วิเคราะห์และเลือกใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม
2. ใช้และประเมินสารสนเทศได้อย่างเท่ากัน
3. ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ


และให้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ประสบความสำเร็จ
เราจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน 4 ด้านเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ
 

 

1. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้
2. มาตรฐานและการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21
3. หลักสูตรการเรยนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 
4. การพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ขอบคุณมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วิชาเปลี่ยนประเทศ ปฏิจจสมุปบาท

“ชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ” ภายใต้หัวข้อนี้

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส สะท้อนมุมคิดออกมาเป็นหมวดหมู่ได้อย่างน่าสนใจและควรต้องรับฟัง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้
ประเด็นแรก...ระบบการศึกษาปัจจุบันต้นตอวิกฤติประเทศไทย ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า เราไปงานศพได้ยินพระท่านสวดสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง แต่เราไม่เข้าใจที่ท่านเริ่มต้นว่า “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” หมวดธรรมบทนี้เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ว่าด้วยห่วงโซ่ของเหตุปัจจัยที่ผลักดันกันต่อๆไปจนเกิด “ความทุกข์”
เริ่มต้นที่ “อวิชชา”...ความไม่รู้...ความหลงไป ความทุกข์ของชาติก็อาจคิดได้ว่าต้นตออยู่ที่ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ คือไม่รู้ความจริงของประเทศชาติของเรา การศึกษาแผนปัจจุบันที่ดำเนินมา 100 กว่าปีนานพอที่จะสร้างคนไทย 4-5 ช่วงอายุคนให้ไม่รู้จักความจริงของแผ่นดินไทย
เพราะ...เป็นการศึกษาที่เอาการท่องวิชาเป็นตัวตั้ง
ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ทั้งฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ...เศรษฐกิจ หรือฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติแวดล้อม ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง การพัฒนาสมัยใหม่เราทำอย่างทุบฐานหรือทำลายฐานให้อ่อนแอ ระบบการศึกษาควรจะทำให้ฐานของประเทศเข้มแข็ง กลับตรงข้ามคือทำให้ฐานของประเทศอ่อนแอ
“ผู้คนถูกเกณฑ์ออกจากชุมชนท้องถิ่นเข้าไปสู่ระบบการศึกษาที่เอาแต่ท่องวิชา โดยไม่รู้จักความจริงของแผ่นดินไทย การที่คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยเกิดความเสียหายเหลือคณานับ เพราะการไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ ถ้าทำให้ถูกต้องไม่ได้บ้านเมืองก็วิกฤติ”
ประเด็นต่อมา...ชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเองในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย หัวใจของการปฏิรูปคือการคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง กระบวนการจัดการตนเองกำลังขยายตัวและได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการชุมชนประกอบด้วย “สภาผู้นำชุมชน”...ก่อตัวขึ้นเองทำการสำรวจข้อมูลชุมชน แล้วนำข้อมูลมาทำแผนชุมชน ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอย่างบูรณาการ นำเสนอต่อ “สภาประชาชน” หรือ “สภาชุมชน” เมื่อได้รับการรับรองแล้วก็ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็น “สังคมศานติสุข”
ขณะนี้มีตำบลหลายร้อยแห่งที่ผู้คนและองค์กรต่างๆในตำบลรวมตัวกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยอะไรที่ว่าดีพยายามทำหมดทุกอย่าง รวมทั้งดูแลผู้สูงอายุหมดทุกคน การทำความดีเป็นเครดิต ใช้กู้เงินจากสถาบันการเงินของชุมชนได้ หรือบางแห่งมี ธนาคารความดี ที่ความดีกลายเป็นเครื่องเชื่อมโยงคนทั้งตำบลรวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนทุกแห่งในตำบลด้วย ผู้นำชุมชนกำลังขยายแผ่นดินแห่งความดีให้กว้างออกไปเรื่อยๆ
คนไทยทุกภาคส่วนควรจะรับรู้เรื่องราวดีๆของชุมชนท้องถิ่นและมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรจะปรับตัวจากการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งมาเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ในรูปของ “1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด” ก็ได้ โดยมหาวิทยาลัยลงไปส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ 1 จังหวัด
ประเด็นที่สาม...หลักสูตรชุมชนท้องถิ่นศึกษาภาคปฏิบัติ-เครื่องมือสร้างสัมพันธภาพใหม่บนแผ่นดินไทย ข้อนี้...รัฐบาลควรมีนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัย ทุกคณะวิชามีหลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ โดยให้นักศึกษาไปอยู่และเรียนรู้ภาคปฏิบัติกับชุมชนเป็นเวลา 3 เดือน หลักสูตรนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังนี้ หนึ่ง...ทำให้นักศึกษารู้ความจริงของแผ่นดินไทย การที่ผู้มีการศึกษารู้ความจริงของแผ่นดินไทยจะเป็นฐานให้เกิดความถูกต้อง
สอง...จะเป็นการสมานสังคมไทย เพราะการศึกษาที่ผ่านมาทำให้คนไทยแปลกแยกจากกัน การที่นักศึกษาไปใช้ชีวิตกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะรักเด็ก หากบ หาเขียดให้กินตามประสา
ยิ่งจนก็ยิ่งรักและเห็นใจกันมากขึ้น นักศึกษาก็จะรักชาวบ้าน เรียกเขาเป็นพ่อ...เป็นแม่ การสานความรักระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นพลังแผ่นดิน
สาม...นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกันของชาวบ้าน เกิดปัญญาโดยรอบด้านจากชีวิตจริงปฏิบัติจริง ไม่ใช่มีความรู้แบบงูๆปลาๆแบบแยกส่วนจากการท่องหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว ขณะนี้มีเรื่องดีๆกำลังเกิดขึ้นมากมายในชุมชนท้องถิ่น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ร่วมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นจากการปฏิบัติ...เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด
สี่...นักศึกษาอาจมีความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างที่ชาวบ้านไม่มี เช่น ความสามารถเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร เมื่อนักศึกษาไปร่วมในกระบวนการชุมชนก็จะทำให้กระบวนการชุมชนได้ผลดีขึ้น
ห้า...ชุมชนเป็นที่อยู่ของศีลธรรม เพราะชุมชนคือการอยู่ร่วมกัน ศีลธรรมคือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคน...ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม สังคมข้างบนไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม เพราะเป็นเรื่องของอำนาจ เงิน มายาคติ รูปแบบ และความฉ้อฉล แม้มีการเรียนวิชาศีลธรรม ศีลธรรมก็ไม่เกิด เพราะศีลธรรมไม่ใช่วิชาแต่เป็นวิถีชีวิตร่วมกัน ชุมชนจึงเป็นที่เรียนรู้ศีลธรรมภาคปฏิบัติ
หก...มหาวิทยาลัยมีความรู้ และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอันมาก แต่มหาวิทยาลัยก็อยู่ห่างไกลชุมชนเกินไป หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และสามารถวิจัย...พัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีก ถ้าเข้าใจความต้องการของชุมชน
เจ็ด...ที่เราแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้สักที เพราะเราไม่เข้าใจ “ภูมิสังคม” ถ้าเข้าใจจะรู้ว่ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจควรมี 3 ประการเข้ามาบรรจบกัน คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจติดแผ่นดิน, ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม และ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะเป็นเครื่องมือนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจติดแผ่นดินและเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่กล่าวย้ำไปแล้วในทรรศนะเกี่ยวกับเรื่อง “วิธีแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ด้วย 3 ยุทธศาสตร์”... รรร.รวยไม่รู้โรย เรียกว่าจะหายจนกันทั้งแผ่นดิน
ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจึงเป็นเครื่องมือเปลี่ยนประเทศไทยด้วยประการฉะนี้
“มหาวิทยาลัยเป็นโรคดื้อยาต่อการเปลี่ยนแปลง คงยากที่จะพร้อมใจกันทำสิ่งนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีควรจะมีนโยบายอย่างแข็งแรงที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้าสังคม...สื่อมวลชนเข้าใจความสำคัญของการที่หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะมีต่อการเปลี่ยนประเทศ ก็จะเป็นแรงส่งให้มหาวิทยาลัยอยากทำสิ่งนี้”
มหาวิทยาลัยอาจจะลังเลใจเพราะไม่รู้จักชุมชนและไม่รู้จะจัดการอย่างไร ควรทราบว่า...ขณะนี้มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เก่งๆจำนวนมาก ซึ่งจะจัดการดูแลนักศึกษาได้โดยไม่ยาก ยกตัวอย่างองค์กร เช่น พอช. และ สสส. ที่ทำงานกับชุมชนท้องถิ่น สามารถช่วยเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่นในการจัดการหลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติโดยมหาวิทยาลัยไม่ต้องลำบากมากนัก
กลไกที่เรามีอยู่แล้ว...เมื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จะเป็นสะพานไปสู่สิ่งใหม่ที่รุ่งเรือง

การศึกษามาเลเซียไปรอดเพราะ...?

ศุกร์ (13กพ.58) ที่ผ่านมา ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ได้รับเชิญจาก Mr. K.Haridas, Executive Director ของ The Association for the promotion of Higher Education in Malaysia (APHEM) พูด ‘Education in Thailand and a life of a Thai Educationalist’ รับใช้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูชาวมาเลเซียและครูนานาชาติ ที่ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนนานาชาติไฮแลนด์ส รัฐปาหัง สหพันธรัฐมาเลเซีย
5 วันของการไปเยือนสถานศึกษามาเลเซียของ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิและคณะในครั้งนี้ ทำให้พวกเรายอมรับในความมุ่งมั่นด้านการศึกษาของมาเลเซียเพิ่มขึ้น มาเลเซียมุ่งมั่นเรื่องการศึกษามาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ตนกู อับดุล ราห์มาน ปุตรา มาจนถึงคนที่ 6 ดาโต๊ะศรี มุฮำหมัด นาจิบ ตุน อับดุลราซัก ผมจะไม่รับใช้นะครับ ว่าการศึกษาของไทยเป็นยังไง เพราะไม่อยากซ้ำเติมระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปมาจนหาจุดยืนไม่ได้ การศึกษาของหลายประเทศในโลกนี้เสียหายเพราะให้โรงเรียนสอบวัดผลกันเองอย่างไม่มีมาตรฐาน
แต่การศึกษาของมาเลเซียยังคงได้มาตรฐานเพราะให้ทั้งประเทศใช้ข้อสอบรวม ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนไหนสอนไม่ดี ผลงานการสอนการเรียนก็จะฟ้องโดยจำนวนสอบได้สอบตกของนักเรียน
บ้านผมที่ลาดกระบังมีครูและผู้บริหารสถานศึกษาของออสเตรเลียมาอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี บางท่านไปๆ กลับๆ ฝรั่งจำนวนไม่น้อยที่มาอยู่บ้านผมเพื่อเป็นฐานใช้ไปสอนที่ประเทศอื่น ชาวออสเตรเลียท่านหนึ่งซึ่งทำงานกับพ่อผมเป็นเวลาเกือบ 10 ปีคือ Mr.Garry W. Holmes พอประเทศไทยมีปฏิวัติรัฐประหาร คุณแกรีก็ออกจากประเทศไทย ไปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ภาษาอังกฤษของโรงเรียนในมาเลเซียในรัฐปาหัง
เจอกันที่มาเลเซียครั้งนี้ คุณแกรีตอบคำถามเราในเรื่องมาตรฐานการศึกษาของมาเลเซียเมื่อเทียบกับของประเทศอื่นว่า มาเลเซียไม่อ่อนข้อเรื่องการสอบ ข้อสอบที่ใช้ตรวจว่าเด็กจะต้องได้คุณภาพเท่ากับข้อสอบของอังกฤษและของประเทศอื่นในเครือจักรภพ
Dr.Robert Royal และภรรยา สอนหนังสือชั้นมัธยมในสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐตุรกีอยู่นาน จากนั้นถูกดึงตัวให้ไปเป็นผู้บริหารหลักสูตรให้โรงเรียนในมณฑลหยุนหนานของจีน ปัจจุบัน ดร.โรเบิร์ต รอยัล มาเป็น Director of Studies ให้กับโรงเรียนในมาเลเซีย ผัวเมียคู่นี้พูดตรงกันว่า มาเลเซียมีดีตรงข้อสอบกลาง นักเรียนต้องสอบด้วยข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้สามารถรักษามาตรฐานการศึกษาเอาไว้ได้
โรงเรียนประถมของมาเลเซียมี 2 แบบ แบบที่เรียกว่า National School เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการเรียน การสอน ส่วน National Type School เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาจีน หรือภาษาทมิฬเป็นภาษากลางในการเรียนการสอน
ในหลายประเทศ ผู้ปกครองและรัฐบาลพยายามเร่งให้เด็กเรียนจบไวๆ บางแห่งมีการพาสชั้น แต่ที่มาเลเซียไม่มี มีแต่จะพยายามให้เด็กเรียนจบจบช้าลง เพื่อให้ได้ความรู้มากขึ้น อย่างโรงเรียนประเภท National Type School นักเรียนอาจจะต้องใช้เวลาเรียนมากขึ้นอีก 1 ปี เพื่อให้เด็กนักเรียนชาวมาเลเซียที่มีเชื้อสายจีนหรืออินเดีย เรียนมากขึ้นอีก 1 ปี ประสงค์ก็คือ ให้เด็กเหล่านี้ใช้ภาษามลายูได้ถูกต้องและคล่องแคล่วมากขึ้น
เรื่องการศึกษาในมาเลเซีย ผมจะทยอยเอามาลงในเปิดฟ้าส่องโลกเรื่อยๆ หากท่านอยากฟังเรื่องการศึกษา เรื่องต่างประเทศ เรื่องแนวโน้มโลก เรื่องมีดพกกระจกเงากระเป๋าหิ้วแว่นตานาฬิกาฟันปลอมยาอมยาดมยาหม่อง และเรื่องของไอ้ปื้ดอีเปี๊ยกลูกเจ้น้องก้นซอยสอง ก็เชิญที่คลื่น FM100.5 MHz ของ อ.ส.ม.ท. ฟังพวกเราได้ทุกคืนครับ.
ที่มา คุณนิติ นวรัตน์ http://www.thairath.co.th/content/478369

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อาจารย์มหาวิทยาลัย บุคลากรชั้นสองในกระทรวงศึกษาธิการ โดย สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์

    วันนี้มีเรื่องตลกในวงการศึกษาไทยมาเล่าให้ฟัง คือผู้เขียนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2530 ผู้เขียนได้ซี 9 ในขณะที่เพื่อนๆ และน้องๆ หลายคนที่เป็นครูประถม/มัธยมยังได้เพียงแค่ซี 6 แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันเพื่อนๆ และน้องๆ ที่เป็นครูประถม/มัธยมได้เงินเดือนแซงผู้เขียนไปเรียบร้อยแล้ว        สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ มิใช่เป็นเพราะผู้เขียนเป็นคนขี้เกียจ หรือถูกลงโทษ เนื่องจากความบกพร่องในหน้าที่การงาน เงินเดือนจึงตามเพื่อนๆ ที่เป็นครูประถม/มัธยมไม่ทัน        แต่ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะเงินเดือน ของผู้เขียนตันในแท่งรองศาสตราจารย์มานานแล้วแต่เพื่อนที่เป็นครู ประถม/มัธยมเมื่อเงินเดือนตันในแท่ง คศ.4 ก็สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งไป คศ.5 ได้โดยอัตโนมัติ        ไม่น่าเชื่อว่าผู้บริหารประเทศปล่อยให้เรื่องตลกแบบนี้เกิดขึ้นในวงการศึกษาของไทยมานานหลายปีแล้วได้อย่างไร        ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันครูประถม/มัธยม มีเงินเดือนมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย 8% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 เป็นต้นมา        และยังมีความก้าวหน้าในการเลื่อนขั้นเงินเดือนดีกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย นั่นคือ ครูประถม/มัธยม ที่มีเงินเดือนตันสามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งจาก คศ.2 เป็น คศ.3 และจาก คศ.3 เป็น คศ.4 โดยอัตโนมัติ        ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งได้ เช่นเงินเดือนตันในแท่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะไม่สามารถไหลเลื่อนไปรับเงินเดือนในแท่งรองศาสตราจารย์ได้ ไม่ว่าเงินเดือนจะตันมาแล้วกี่สิบปี        ถามว่าแล้วที่ผ่านมา 4 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยมัวไปทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้        จริงๆ แล้วต้องขอเรียนว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการและได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ (ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20,000 คน) ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง        เพียงแต่ ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองไม่เคยใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวผู้ บริหารอาจมองว่าการเรียกร้องของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเพียงเสียงนก เสียงกา        การเรียกร้องที่ผ่านมาของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีทั้งในรูปแบบการเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ สกอ.และการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ        ผู้เขียนเองได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้หลายครั้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เช่น ยุคตกต่ำสุดสุด ของอาจารย์มหาวิทยาลัย จะปล่อยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเงินเดือนน้อยกว่าครูประถมไปอีกนานแค่ไหน และอาจารย์มหาวิทยาลัย:ลูกเมียน้อยในกระทรวงศึกษาธิการ        และได้รวมกลุ่มคณาจารย์ที่ได้รับผลกระทบเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอความเป็นธรรมถึง 3 ท่าน ทุกท่านต่างก็รับปากว่าจะดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นอย่างดี แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่        จริงๆ แล้วเรื่องการไหลเลื่อนข้ามแท่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น ครม.ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว ตามที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขถ้อยคำไปแล้วในการประชุมครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556        เรื่องไหลเลื่อนข้ามแท่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยตอนนี้ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ ครม.มีมติอนุมัติมาปีกว่าแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงรับเงินเดือนแท่งใคร แท่งมัน ไม่สามารถไหลเลื่อนข้ามแท่งได้เหมือนกับครูประถม/มัธยม        ส่วนเรื่องการปรับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ซึ่งมีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มขึ้น 8% โดยให้นำเรื่องนี้เสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป        แต่ยังไม่ทันเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ คุณยิ่งลักษณ์ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้ ครม.ทั้งคณะต้องสิ้นสภาพตามไปด้วย        และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 8% ให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 19,696 คน จำนวนเงิน 2,332,990,173.35 บาท โดยปรับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 เช่นเดียวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับไปแล้วไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)        นี่ก็ผ่านมากว่า 4 ปีแล้วที่อาจารย์มหาวิทยาลัยยังได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูประถม/มัธยม 8% แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลยแม้แต่น้อย        เรื่องนี้กลับทำท่าจะซ้ำร้ายลงไปกว่าเดิมเมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.เงินเดือน วิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่...พ.ศ....เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 (บุคลากรทางการศึกษาตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ครอบคลุมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย)        หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระ 3 จะมีผลทำให้ฐานเงินเดือนของครูประถม/มัธยม ยิ่งสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้นไปอีก โดยเงินเดือนสูงสุดของ คศ.4 คือ 76,800 บาท (รวมข้ามแท่งแล้ว) ในขณะที่เงินเดือนสูงสุดของรองศาสตราจารย์อยู่แค่ 69,040 บาท ซึ่งแตกต่างกันถึง 7,760 บาท         คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เคยทำอะไรเพื่อพิทักษ์สิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างพวกท่านไม่รู้สึกอายคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) บ้างเหรอที่พวกเขาทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์ในกับครูสังกัด สพฐ.        โดยความเป็นจริงแล้วสถาบันอุดมศึกษาควรเป็นผู้นำในเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าสถาบันอุดมศึกษาจะต้องคอยวิ่งไล่ตามก้นครูประถมอยู่ร่ำไป แล้ววิ่งตามอย่างไรก็ไม่เคยวิ่งตามทันสักที        แล้วต่อไปคนเก่งที่ไหนจะอยากมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หากคนเก่งไม่ยอมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าทุกคนคงคาดเดาได้ไม่ยาก        ที่ผ่านมามีอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วน หนึ่งลาออกไปสมัครสอบเป็นครูในระดับประถม/มัธยมซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมี เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย        การศึกษาของไทยจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังไม่คิดจะแก้ไขปัญหานี้ แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะปล่อยให้เกิดสองมาตรฐานในกระทรวงศึกษาธิการไปอีกนานแค่ไหน        คสช.และรัฐบาลไม่คิดจะคืนความสุขให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยบ้างหรือหรือจะต้องรอให้การศึกษาของไทยรั้งท้ายอาเซียนเสียก่อน จึงค่อยคิดแก้ไข เมื่อถึงเวลานั้น หากคิดได้ก็สายเกินไปแล้ว
ที่มา http://www.kroothaiban.com/news-id7337.html
หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 3 มีนาคม 2558