วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วิชาเปลี่ยนประเทศ ปฏิจจสมุปบาท

“ชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ” ภายใต้หัวข้อนี้

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส สะท้อนมุมคิดออกมาเป็นหมวดหมู่ได้อย่างน่าสนใจและควรต้องรับฟัง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้
ประเด็นแรก...ระบบการศึกษาปัจจุบันต้นตอวิกฤติประเทศไทย ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า เราไปงานศพได้ยินพระท่านสวดสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง แต่เราไม่เข้าใจที่ท่านเริ่มต้นว่า “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” หมวดธรรมบทนี้เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ว่าด้วยห่วงโซ่ของเหตุปัจจัยที่ผลักดันกันต่อๆไปจนเกิด “ความทุกข์”
เริ่มต้นที่ “อวิชชา”...ความไม่รู้...ความหลงไป ความทุกข์ของชาติก็อาจคิดได้ว่าต้นตออยู่ที่ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ คือไม่รู้ความจริงของประเทศชาติของเรา การศึกษาแผนปัจจุบันที่ดำเนินมา 100 กว่าปีนานพอที่จะสร้างคนไทย 4-5 ช่วงอายุคนให้ไม่รู้จักความจริงของแผ่นดินไทย
เพราะ...เป็นการศึกษาที่เอาการท่องวิชาเป็นตัวตั้ง
ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ทั้งฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ...เศรษฐกิจ หรือฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติแวดล้อม ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง การพัฒนาสมัยใหม่เราทำอย่างทุบฐานหรือทำลายฐานให้อ่อนแอ ระบบการศึกษาควรจะทำให้ฐานของประเทศเข้มแข็ง กลับตรงข้ามคือทำให้ฐานของประเทศอ่อนแอ
“ผู้คนถูกเกณฑ์ออกจากชุมชนท้องถิ่นเข้าไปสู่ระบบการศึกษาที่เอาแต่ท่องวิชา โดยไม่รู้จักความจริงของแผ่นดินไทย การที่คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยเกิดความเสียหายเหลือคณานับ เพราะการไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ ถ้าทำให้ถูกต้องไม่ได้บ้านเมืองก็วิกฤติ”
ประเด็นต่อมา...ชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเองในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย หัวใจของการปฏิรูปคือการคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง กระบวนการจัดการตนเองกำลังขยายตัวและได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการชุมชนประกอบด้วย “สภาผู้นำชุมชน”...ก่อตัวขึ้นเองทำการสำรวจข้อมูลชุมชน แล้วนำข้อมูลมาทำแผนชุมชน ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอย่างบูรณาการ นำเสนอต่อ “สภาประชาชน” หรือ “สภาชุมชน” เมื่อได้รับการรับรองแล้วก็ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็น “สังคมศานติสุข”
ขณะนี้มีตำบลหลายร้อยแห่งที่ผู้คนและองค์กรต่างๆในตำบลรวมตัวกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยอะไรที่ว่าดีพยายามทำหมดทุกอย่าง รวมทั้งดูแลผู้สูงอายุหมดทุกคน การทำความดีเป็นเครดิต ใช้กู้เงินจากสถาบันการเงินของชุมชนได้ หรือบางแห่งมี ธนาคารความดี ที่ความดีกลายเป็นเครื่องเชื่อมโยงคนทั้งตำบลรวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนทุกแห่งในตำบลด้วย ผู้นำชุมชนกำลังขยายแผ่นดินแห่งความดีให้กว้างออกไปเรื่อยๆ
คนไทยทุกภาคส่วนควรจะรับรู้เรื่องราวดีๆของชุมชนท้องถิ่นและมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรจะปรับตัวจากการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งมาเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ในรูปของ “1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด” ก็ได้ โดยมหาวิทยาลัยลงไปส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ 1 จังหวัด
ประเด็นที่สาม...หลักสูตรชุมชนท้องถิ่นศึกษาภาคปฏิบัติ-เครื่องมือสร้างสัมพันธภาพใหม่บนแผ่นดินไทย ข้อนี้...รัฐบาลควรมีนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัย ทุกคณะวิชามีหลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ โดยให้นักศึกษาไปอยู่และเรียนรู้ภาคปฏิบัติกับชุมชนเป็นเวลา 3 เดือน หลักสูตรนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังนี้ หนึ่ง...ทำให้นักศึกษารู้ความจริงของแผ่นดินไทย การที่ผู้มีการศึกษารู้ความจริงของแผ่นดินไทยจะเป็นฐานให้เกิดความถูกต้อง
สอง...จะเป็นการสมานสังคมไทย เพราะการศึกษาที่ผ่านมาทำให้คนไทยแปลกแยกจากกัน การที่นักศึกษาไปใช้ชีวิตกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะรักเด็ก หากบ หาเขียดให้กินตามประสา
ยิ่งจนก็ยิ่งรักและเห็นใจกันมากขึ้น นักศึกษาก็จะรักชาวบ้าน เรียกเขาเป็นพ่อ...เป็นแม่ การสานความรักระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นพลังแผ่นดิน
สาม...นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกันของชาวบ้าน เกิดปัญญาโดยรอบด้านจากชีวิตจริงปฏิบัติจริง ไม่ใช่มีความรู้แบบงูๆปลาๆแบบแยกส่วนจากการท่องหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว ขณะนี้มีเรื่องดีๆกำลังเกิดขึ้นมากมายในชุมชนท้องถิ่น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ร่วมกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นจากการปฏิบัติ...เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด
สี่...นักศึกษาอาจมีความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างที่ชาวบ้านไม่มี เช่น ความสามารถเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร เมื่อนักศึกษาไปร่วมในกระบวนการชุมชนก็จะทำให้กระบวนการชุมชนได้ผลดีขึ้น
ห้า...ชุมชนเป็นที่อยู่ของศีลธรรม เพราะชุมชนคือการอยู่ร่วมกัน ศีลธรรมคือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคน...ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม สังคมข้างบนไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม เพราะเป็นเรื่องของอำนาจ เงิน มายาคติ รูปแบบ และความฉ้อฉล แม้มีการเรียนวิชาศีลธรรม ศีลธรรมก็ไม่เกิด เพราะศีลธรรมไม่ใช่วิชาแต่เป็นวิถีชีวิตร่วมกัน ชุมชนจึงเป็นที่เรียนรู้ศีลธรรมภาคปฏิบัติ
หก...มหาวิทยาลัยมีความรู้ และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอันมาก แต่มหาวิทยาลัยก็อยู่ห่างไกลชุมชนเกินไป หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และสามารถวิจัย...พัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีก ถ้าเข้าใจความต้องการของชุมชน
เจ็ด...ที่เราแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้สักที เพราะเราไม่เข้าใจ “ภูมิสังคม” ถ้าเข้าใจจะรู้ว่ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจควรมี 3 ประการเข้ามาบรรจบกัน คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจติดแผ่นดิน, ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม และ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะเป็นเครื่องมือนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจติดแผ่นดินและเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่กล่าวย้ำไปแล้วในทรรศนะเกี่ยวกับเรื่อง “วิธีแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ด้วย 3 ยุทธศาสตร์”... รรร.รวยไม่รู้โรย เรียกว่าจะหายจนกันทั้งแผ่นดิน
ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจึงเป็นเครื่องมือเปลี่ยนประเทศไทยด้วยประการฉะนี้
“มหาวิทยาลัยเป็นโรคดื้อยาต่อการเปลี่ยนแปลง คงยากที่จะพร้อมใจกันทำสิ่งนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีควรจะมีนโยบายอย่างแข็งแรงที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้าสังคม...สื่อมวลชนเข้าใจความสำคัญของการที่หลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติจะมีต่อการเปลี่ยนประเทศ ก็จะเป็นแรงส่งให้มหาวิทยาลัยอยากทำสิ่งนี้”
มหาวิทยาลัยอาจจะลังเลใจเพราะไม่รู้จักชุมชนและไม่รู้จะจัดการอย่างไร ควรทราบว่า...ขณะนี้มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่เก่งๆจำนวนมาก ซึ่งจะจัดการดูแลนักศึกษาได้โดยไม่ยาก ยกตัวอย่างองค์กร เช่น พอช. และ สสส. ที่ทำงานกับชุมชนท้องถิ่น สามารถช่วยเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่นในการจัดการหลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติโดยมหาวิทยาลัยไม่ต้องลำบากมากนัก
กลไกที่เรามีอยู่แล้ว...เมื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จะเป็นสะพานไปสู่สิ่งใหม่ที่รุ่งเรือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น