วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตื่นเร่งดัน มหา"ลัยไทยขึ้นอันดับโลก ทุ่มงบวิจัยให้กว่าหมื่นล้าน/ปี เพิ่มเงินเดือนป.เอก 3 หมื่นบาท

จากการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกของ Times Higher Education World Rankings ประจำปี 2012-2013 ผลปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในอันดับที่ 389 ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ติดอันดับในปีก่อนๆ กลับไม่ติด 400 อันดับในปีนี้ ซึ่ง นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ และ นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่าเป็นเพราะรัฐบาลตัดงบประมาณของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติติดต่อกัน 2 ปีซ้อนนั้น

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกเท่าใดนัก เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีทิศทางของตนเอง แต่หากมหาวิทยาลัยใดต้องการติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกก็ต้องทำ ตัวเองให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่หน่วยงานจัดอันดับกำหนด ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานและเกณฑ์การจัดอันดับก็ไม่เหมือนกัน

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ยอมรับว่างบวิจัยที่ลดลงส่งผลกระทบกับการพัฒนามหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก ที่ผ่านมารัฐบาลให้งบเริ่มต้นสำหรับโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง จำนวน 2,000 ล้านบาท ปีต่อมาลดเหลือ 800 ล้านบาท และปีล่าสุดเหลือเพียง 400 ล้านบาท เมื่อหารทั้ง 9 แห่งแล้วแต่ละแห่งเหลืองบวิจัยไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบวิจัยที่รัฐบาล ให้มาทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการศึกษาในภาพรวมของมหาวิทยาลัยด้วย

"จะ ว่าตามจริงหากรัฐบาลต้องการสนับสนุนมหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับโลก จะต้องจริงใจและสนับสนุนงบอย่างเพียงพอ ไม่ใช่พูดแต่ปาก แล้วบอกให้มหาวิทยาลัยช่วยตัวเอง เช่น งบมหาวิทยาลัยวิจัยถูกลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ควรต้องให้เพิ่ม หากรัฐบาลจริงใจพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาจริง อย่างน้อยต้องทุ่มงบไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนางานวิจัยให้ต่อเนื่อง ซึ่งหลายประเทศก็ทำแบบนี้ ถ้ารัฐบาลทุ่มเทขนาดนั้นก็สามารถจะกำหนดได้เลยว่าจะให้มหาวิทยาลัยไทยติด อันดับโลกกี่แห่ง สิ่งที่ นพ.ภิรมย์พูดไว้ถูกต้อง รัฐบาลบอกว่าอยากให้มหาวิทยาลัยติดอันดับโลก แต่การกระทำสวนทาง ถ้ารัฐบาลจริงใจไม่ใช่แค่เรื่องงบวิจัยที่ต้องพัฒนา เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยยังต้องการคนเก่งมาสอน แต่ปัญหาคือคนเก่งไม่มีใครอยากเป็นอาจารย์เพราะเงินเดือนน้อย ไม่สมเหตุสมผล ระดับปริญญาเอกหมื่นกว่าบาท ถ้ารัฐบาลยอมจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ให้คนที่จบปริญญาเอกทันที 30,000 บาทขึ้นไป เชื่อว่าจะมีคนเก่งเข้าสู่ระบบอุดมศึกมากขึ้น" นายสมคิดกล่าว

ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ.สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของงบสนับสนุนมหาวิทยาลัยวิจัย 9 แห่ง ทราบว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในเรื่องงบสนับสนุนเอง ดังนั้น ศธ.ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องถูกปรับลดลง ส่วนจะผลักดันงบในปีต่อไปนั้น ตนก็ยินดีช่วย แต่ต้องมาหารือกัน

นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหากจะพัฒนางานวิจัยควรต้องเป็นงานวิจัยที่เกิดประโยชน์สูงสุด กับประเทศ เพื่อให้การใช้งบเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม คิดว่าต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้ ศธ.จะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบมากที่สุด แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะต้องทุ่มงบไปตรงส่วนใด เพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ศธ.ไม่ได้ดูแลเฉพาะอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ต้องดูตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่ายังดูแลไม่ทั่วถึง

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า ถ้ามหาวิทยาลัยยังขาดงบพัฒนางานวิจัย แนวทางที่ทำได้เร็วที่สุดขณะนี้คือเสนอของบกลาง และเวลานี้ก็อยู่ในช่วงการดำเนินการจัดทำงบปี 2557 ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลมหาวิทยาลัยอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สามารถจะเสนอขอตั้งงบปี 2557 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองจะต้องพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อช่วยพัฒนาประเทศด้วย

ที่มา : http://www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น