วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โลกยกบทกวี'เนาวรัตน์'สลักเคียง'ไอนสไตน์-คานธี'

กุนสท์เวลท์ อี.วี. เบอร์ลิน ยกบทกวี ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ สลักเคียงคู่วาทะระดับโลกไอนสไตน์-คานธี     

    
            10 มิ.ย.2556 สำนักข่าวอิศราได้รายงานว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เมื่อบทกวี ‘วิถีไทย’ ของ 'ครูเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์' ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 ได้รับการคัดเลือกจากโครงการพาทธ์ ออฟ วิชั่นนารี่ ออฟ เดอะ เวิล์ด (Path of Visionaries of the World) ดำเนินการโดยกุนสท์เวลท์ อี.วี. เบอร์ลิน (KUNSTWELT e.V. Berlin) ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) นำวรรคทองช่วงท่อนจบสลักลงแผ่นหินบนทางเท้าฟรีดริชสตราเซอร์ เคียงคู่วาทะบุคคลสำคัญต่าง ๆจากทั่วโลก เช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์, มหาตมะ คานธี, แองตวน เดอ แซ็งค์เตกซูเปรี ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยมีใจความว่า

ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี
เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน ฯ
The art and cultural heritage of a nation
Resonates its sovereignty, independence and unique pride.
Reflecting what is good and beautiful,
it lightens the path of the people.
NaowaratPongpaiboon, poet, Thailand

            แหล่งข่าวกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมจากโครงการดังกล่าวทางสถานเอกอัครราชทูต ไทย ณ กรุงเบอร์ลิน จึงส่งจดหมายมายังกระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งเรื่องผ่านกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อดำเนินการคัดเลือกวาทะของบุคคลสำคัญของไทยที่มีผลงานทางด้านศิลป วัฒนธรรม ซึ่งวธ.จึงได้คัดเลือกวาทะของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’  จากบทกวี ‘วิถีไทย’

            กระทั่งเมื่อ 31 ส.ค. 2555 ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน โดยนายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูต ปฏิบัติราชการแทนเอกอัครราชทูต ได้แจ้งให้ว่าบทกวีของนายเนาวรัตน์ ได้รับคัดเลือกจากโครงการดังกล่าวและขอรับคำแปลผลงานการประพันธ์เป็นภาษา เยอรมัน เพื่อเตรียมการตีพิมพ์ในแผ่นป้ายแสดงผลงานของโครงการ
            ด้านครูเนาวรัตน์ กล่าวว่า ได้รับการประสานงานจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ซึ่งบทกวีดังกล่าว จะถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันและนำไปสลักลงแผ่นหิน ซึ่งตนและคณะ ได้กำหนดการเดินทางส่งมอบบทกวีที่ถูกรับเลือกให้แก่โครงการพาทธ์ ออฟ วิชั่นนารี่ ออฟ เดอะ เวิล์ด ภายในปี 2556 นี้
            สำหรับความหมายของบทกวี ‘วิถีไทย’ ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้ในงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ตอนที่แต่ง เป็นช่วงที่สังคมเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเองผ่านทางวัฒนธรรม เพราะเห็นว่างานวัฒนธรรมเป็นงานที่แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง  สิ่งที่เด่นชัดในงานวัฒนธรรม คือ ความเป็นเอกราช ซึ่งก็คือความไม่ขึ้นกับอะไร ความเป็นอิสระ และจะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการครอบงำใดใด
            " ‘เอกลักษณ์’ คือความเป็นหนึ่ง ไม่เหมือนใคร มิได้หมายความถึงความหยิ่งผยอง หากแต่คือการรู้จักตัวเอง และสร้างลักษณะพิเศษของตัวเองขึ้นมา ‘ศักดิ์ศรี’ คือ ความงามและความดี ศักดิ์ มาจากคาว่า ศักย หรือศักติ - ศักดิ์ – ศักดา คือความสามารถ ศรี แปลว่า ความดีและความงาม"
            ศิลปินแห่งชาติ กล่าวต่อว่า บทกวีข้างต้นเป็นบทกวีที่ใช้เสียงแบบไทย ใช้จังหวะแบบไทย ใช้การเล่นคำแบบไทย ซึ่งเป็นอรรถรสของบทกวีแบบไทยอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นไทยด้วย เพื่อให้ผู้อ่านและสังคมแสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ จึงได้ ‘ชูธง’ เรื่อง ‘ความเป็นไทย’ นี้ขึ้นมา แล้วอะไรคือความเป็นไทยที่แท้จริง?? คำตอบคือ ‘ศิลปวัฒนธรรม’ นั่นเอง วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่จะมีความเป็นตัวของตัวเอง (เอกลักษณ์) มีศักดิ์ศรี ซึ่งความยิ่งใหญ่, ความมีเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีนี้รวมกันได้ความหมายว่า ไท ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า ไทย
            ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังได้ประกาศผลการตัดสินรางวัลกวีสุนทรภู่ให้กับ ‘ครูเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ของไทยอีกด้วย โดยจะมีการมอบรางวัลในวันสุนทรภู่ 26 มิ.ย. 56 พร้อมกับผู้ได้รับรางวัลคนอื่นจาก 10 ประเทศอาเซียนด้วย
 

บทกวี 'วิถีไทย' ฉบับเต็ม
วัฒนธรรมคือวิถีเเห่งชีวิต
ของคนคิดคนทำคนสร้างสรรค์
เพื่อประโยชน์เป็นอยู่รู้เเบ่งปัน
ไปตามขั้นครรลองของชีวิต
ศิลปะนั้นเป็นความเจนจัด
จากปฏิบัติการงานการประดิษฐ์
ศิลปวัฒนธรรมจึงนำคิด
ให้รู้ทิศรู้ทางรู้ย่างเท้า 
พื้นฐานบ้านเราคือชาวบ้าน
ทำนาไร่นามาก่อนเก่า
เป็นปู่เป็นย่าตายายเรา
ปลูกเหย้าเเปลงย่านเป็นบ้านเมือง
เป็นเมืองเรืองรู่งเป็นกรุงไกร
ลูกไทยหลานไทยได้ฟูเฟื่อง
น้ำใจไมตรีมีนองเนือง
จากเบื้องบรรพกาลถึงวันนี้ 
ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามเเละความดี
เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชนฯ
ที่มาภาพ:http://www.oknation.net/blog/songer/2013/04/08/entry-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น