วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การสอนแบบ PBL (Problem-based Learning) ใช้ได้ผลกับเด็กไทยจริงหรือ?


มีเรื่องเล่าคร่าวๆ ว่า อาจารย์ระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของไทย เดินทางไปพบปะกับอาจารย์ระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS ; National University of Singapore) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดแซงหน้ามหาวิทยาลัย ชั้นนำของประเทศไปในเรื่องกระบวนการเรียนการสอน โดยเฉพาะ NUS ได้รับจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของเอเชียและอันดับ 8 ของโลก

เรื่องที่ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของทั้ง 2 ประเทศพูดถึงก็คือ   NUS  ได้มีการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนของนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งแต่เดิม NUS ก็ใช่วิธีการเล็คเชอร์เหมือนที่อื่นๆ (มหาวิทยาลัยเมืองไทย) ให้กลายมาเป็น  Problem-based Learning (การใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ หรือ PBL) และทางฝ่ายผู้บริหาร NUS ก็ตอกย้ำว่า "ความรู้จากเล็คเชอร์นั้น นักศึกษาเรียนจบแล้วเอาไปใช้ได้แค่ 3 ปีถึง 5 ปี ความรู้นั้นก็ล้าสมัยแล้วเพราะมันคงทำให้ความรู้นั้น ตายอย่างไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังไม่เพิ่มทักษะการศึกษาค้นคว้าให้แก่บัณฑิตเมื่อเรียนจบกลับออกไปทำงาน
อาจารย์ฝ่ายไทยอาจจะถึงกับอึ้ง (หรือเปล่าก็ไม่รู้?) ที่เรื่องบางเรื่องเพียงแค่พลิกวิธีคิดก็ทำให้มองเห็นแสงสว่างอยู่รำไรๆ เหลือเพียงแค่ลงมือทำเท่านั้น เขาไม่ได้เปลี่ยนหลักสูตร แต่เปลี่ยนวิธีการสอน ...เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยขั้นนำของโลก …. สิ่งที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ใช่หลักสูตร ไม่ใช่ตึกเรียนทันสมัย แต่คือวิธีการสอน 
เรื่องที่เล่าก็มีเพียงเท่านี้ แต่ก็ถูกนำมาเล่าขยายกันต่อในหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัวของอาจารย์ท่านนั้น และผู้เขียน (จขบ.) ก็มีส่วนร่วมสนทนาแบ่งปันผ่านพื้นที่สาธารณะนั้นด้วย
  PBL หรือ Problem-based Learning คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ การเรียนรู้ที่ใช้ลักษณะการตั้งปัญหาเป็นประเด็นนำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะค้นคว้าหาความรู้มาเพื่อ ขบคิดแก้ไขปัญหา หรือเรียนรู้จากปัญหาอาจเป็นสถานการณ์จริง ได้ถูกนำมาใช้อย่างได้ผลในหลายระดับการศึกษา เป็นรูปแบบการเรียนอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมของผู้เรียน โดยผู้สอนมีส่วนร่วมน้อยแต่ก็ท้าทายผู้สอนมากที่สุด
 
PBL ไม่ใช่วิธีการสอนต่อไปนี้ ได้แก่ สอนเนื้อหาไปบางส่วนก่อน  หลังจากจากนั้นก็ทดลองให้นักเรียนแก้ปัญหาเป็นกลุ่มย่อย  ซึ่งเป็นวิธีสอน แบบแก้ปัญหา แต่เป็นการสอนแบบแก้ปัญหา (Problem solving method)  หรือผู้สอนว่าไปตามทฤษฎี เนื้อหาที่สอนแล้วก็ยกกรณีศึกษาขึ้นมาให้นักเรียนถกกัน ก็ไม่ใช่วิธีการสอนแบบ PBL หากแต่ PBL นั้นผู้สอนต้องนำปัญหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์วิชาของผู้เรียนโดยตรงต้อง มาก่อน  แล้วใช้ปัญหาหรือกรณีศึกษานั้นเป็นโจทย์กระตุ้นเพื่อให้ผู้เรียนไป ค้นคว้าหาความรู้ ความเข้าใจด้วยตนเอง เพื่อจะได้ค้นพบคำตอบของปัญหาดังกล่าว   โดยกระบวนการ หาความรู้ด้วยตนเองนี้ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem solving skill) ระหว่างการเรียนผู้สอนอาจจะแนะแนวทางการค้นหาคำตอบหากเห็นว่าจะไม่อยู่ใน ศาสตร์วิชาที่สอนนั้นได้
 การสอนแบบ  PBL  นักศึกษาไทยเราไม่ค่อยคุ้นเคยกันนัก เพราะเราชินกับการสอนแบบ เล็คเชอร์หรือการบรรยายมามากกว่า เนื่องจากเรามักจะขาดแคลนตำรับตำราอยู่มาก มีปัญหาด้านการเข้าถึงสื่อการเรียนอยู่ในวงจำกัด
 
PBL ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกหลายแห่งก็ใช้การเรียนการสอนแบบ PBL  จนเป็นที่ยืนยันกันว่า PBL เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนที่ได้ผลสูง เพราะผลที่ได้จากการสอนให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยวิธี PBL จะทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่ตกยุค หรือพัฒนาตนเองตลอดเวลา และไม่เชื่อว่าความรู้นั้นจะหยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นั้น
ซึ่งแตกต่างจากการสอนแบบเล็คเชอร์ที่ครูจะมาป้อนความรู้ให้ รวมทั้งถูกสอนให้เชื่อตามทฤษฎีในเรื่องหรือศาสตร์นั้นๆ 
 PBL คล้ายๆ กับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ไทยที่ใช้กัน หลังจากที่นักศึกษาได้เรียนทฤษฎีพื้นฐานในเรื่องร่างกายมนุษย์ในช่วงปีแรกๆ ของหลักสูตรแล้ว เมื่อต้องเข้าไปศึกษากับตัวคนไข้จริงๆ และการสอนในระดับคลินิก นักศึกษาก็จะได้พบกับปัญหาโรคต่างๆ ของคนไข้ ครูแพทย์ทั้งหลายก็มักจะนำข้อปัญหาที่พบได้บ่อยๆ ขึ้นมา แล้วนักศึกษาก็ต้องไปค้นคว้าหาความรู้จากที่เคยศึกษาในช่วงปีแรกๆ นั้น หรือค้นคว้าจากแหล่งความรู้ที่มีอยู่รอบตัว ด้วยเหตุนี้เองแพทย์ (บางคน) จึงมีคติว่า เรียนไปจนตัวแพทย์เองตาย มิใช่หยุดเพียงแค่คนไข้ตายซึ่งเป็นผลจากความคุ้นเคยในการศึกษาแบบ PBL  นั่นเอง
PBL ยังใช้ได้ในหลายๆ ศาสตร์วิชา เช่น ปัญหาที่คลาสสิกที่สุด คือเรื่องการปกปิดบัญชีจนทำให้ บริษัท Enron ต้องล้มละลาย ก็ใช้ได้ทั้งวิชาการเงินบัญชีการบริหาร  อาจจะสรุปได้ว่า PBL เป็นการเรียนการสอนที่ใกล้ตัวคนเราและคุ้นเคยมากที่สุดก็ว่าได้ เพียงแต่เราอาจจะไม่เข้าใจวิธีการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนที่จะให้เกิด สัมฤทธิ์ผล เพราะหากครูผู้สอนไม่เข้าใจกระบวนการ PBL และไม่รู้จักวิธีการดึงประเด็นหรือบูรณาการให้เข้ากับเนื้อหาวิชา เรื่อง PBL  จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายครูผู้สอนอีกด้วย
ในบางครั้งจะต้องจัดให้นักศึกษามาโต้ เถียงกันด้วยเหตุผล (discussion)  และทำเป็นกลุ่มๆ กันในห้องเรียนโดยมีครูผู้สอนคอยกำกับดูแลให้ถกเถียงอยู่แต่ในประเด็น เรื่องใดที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ก็จะถูกค้นคว้าต่อยอดออกไปโดยระหว่างครู ผู้สอน หรือนักศึกษาด้วยกันเอง
 เมื่อลักษระการสอนแบบ PBL เป็นเช่นนี้ จึงเป็นวิธีการศึกษาแบบผู้ใหญ่ หรือ “adult learning approach”   เหมาะสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เนื่องจากนักศึกษาต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายไปศึกษาค้นคว้า  ต้องมีภูมิความรู้ระดับหนึ่ง หรือมีประสบการณ์และกล้าแสดงความคิดเห็น ลักษณะการเรียนการสอนแบบ PBL จึงดูเหมือนว่าคนไทยจะเริ่มคุ้นสายตาจากภาพยนตร์จากฮอลีวู้ด ซึ่งมีให้เห็นบ่อยๆ PBL อยู่ตรงกันข้ามกับการเรียนการสอนแบบเก่า เด็กฝรั่งจึงต่อยอดความรู้ออกนอกวิชาเรียนได้เก่ง เพราเกิดจากการกระตุ้นของครูในห้องเรียน ทำให้เด็กไปศึกษาค้นคว้ามาล่วงหน้า เพียงแต่ครูพูดถึงโจทย์ปัญหา นักศึกษาก็จะเข้าใจถึงแนวคิด หลักการพื้นฐานที่เป็นแก่นของเนื้อที่จะสอนทันที
 แต่ PBL สำหรับนักศึกษาไทยที่ยังใหม่หรือไม่คุ้นเคยกับวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ อาจจะยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากเด็กไทยมีพื้นฐานการเรียนมาแบบสอนด้วยวิธีการบอกเสียมากกว่า แต่ก็อาจจะมีครูที่สอนเก่งๆ บางคนได้พยายามปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา มาบ้าง
สำหรับครูผู้สอนที่กลัวว่า PBL จะทำให้ได้ความรู้ไม่ตรงกับเนื้อหาวิชาตามหลักสูตร ผู้เขียนขอเสนอว่า หากต้องการนำวิธีการเรียนการสอนแบบ PBL มาใช้ควรได้ศึกษาและนำวิธีการสอนแบบ "The case Method" นั้นมาปรับใช้  เพราะจะเป็นกรอบหรือแนวทางในการทำให้การเรียนการสอนนั้นสัมฤทธิ์ผลได้ตามเป้าหมายมากขึ้น
แม้ว่า ข้อดีของ PBL จะมีอยู่มาก แต่ถ้าหากนำมาใช้กับระบบการศึกษาไทยก็อาจจะไม่ได้ผลอีกประการ เพราะอาจถูกปรับไปตามวิธีการเรียนและค่านิยมของเด็กไทยคือ มักใช้วิธีการอ่านจากเล็คเชอร์ที่วางขายอยู่ตามร้านถ่ายเอกสารหรือซีร๊อกซ์ ต่อๆ กันมาจากเพื่อนแล้วท่องจำเข้าห้องสอบก็พอ
ด้วยสาเหตุนี้เอง จึงทำให้เด็กไทยไม่ฉลาด เพราะมีการเรียนที่ไม่ถูกต้อง วิทยาการความรู้ของเด็กไทยจึงสั้นกว่าอยู่เพียงแค่ ห้องสอบเมื่อเดินพ้นห้องสอบออกไปก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนนั้น แล้ว การเรียนของเด็กไทยจึงผิดพลาดเพราะเราเน้นการเรียนเพื่อสอบเอาคะแนนมากกว่า ที่จะเรียนเพื่อให้รู้ เข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
การศึกษาไทยจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งระบบ
เมื่อเขียนเล่ามาถึงตรงนี้ เชื่อว่า ผู้อ่านคงพอเข้าใจเรื่อง PBL และรู้ได้ถึงสาเหตุของความล้มเหลวของระบบการศึกษาของบ้านเรา
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเปิด ประเด็น PBL เอาไว้ และค้นหาจุดอ่อนของ PBL หากนำมาปรับใช้ในการศึกษาไทย และเพื่อเตรียมหาจุดที่เหมาะสม
 และมีคำถามว่า การนำข้อสอบปีเก่าๆ มาเฉลยร่วมกันหาคำตอบที่ถูกต้องนั้น เป็น PBL หรือไม่?
คำตอบคือ ดูเหมือนว่าคล้าย PBL  แต่ไม่ใช่….!!!  เพราะการเฉลยข้อสอบ (ร่วมกันกับนักศึกษา) ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะการไปศึกษาค้นคว้าต่อจนเกิดทักษะต่อเนื่องไปจนเข้าสู่ช่วงของวัยทำ งาน
 ผู้เขียนจึงขอสรุปสั้นๆ ว่า PBL นั้น มีวิธีการที่ซับซ้อนกว่าการเฉลยข้อสอบร่วมกัน  โดยต้องไม่ลืมว่า PBL จะทำให้ เกิดแรงบันดาลใจแก่นักศึกษาที่จะไปศึกษาค้นคว้ามาเพิ่มเติมต่อไปอีกไม่รู้จบ
PBL จะทำให้ ครูเป็น “Instructor”  โดยมีนักศึกษาเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง  ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนสอนหนังสือ" หรือ Teacher เท่านั้น... !!!
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/nn1234/2013/06/07/entry-1
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น