วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมด้านภาษา ตอบโจทย์รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทัน

          ปี2558 จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน (Asean Community : AC) เวลานี้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ชาติ ย่อมต้องมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนของตนเองเพื่อรองรับการเปิดเสรี อาเซียนกันแล้ว แน่นอนว่าเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านการเมือง และเศรษฐกิจ โดยจะพบว่าขณะนี้แม้จะยังไม่ถึงวันที่ประตูจะเปิดกว้างให้การเคลื่อนย้ายแรง งานได้อย่างเสรีเต็มที่ แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้ามาทำงานในบ้านเรา เป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความ เข้าใจที่ถูกต้องนั้นก็คือภาษา และหากสังเกตจะพบว่าแรงงานต่างชาติเหล่านั้นจะพูดภาษาไทยได้เข้าใจภาษาไทย ขณะที่คนไทยเราเองกลับไม่ตระหนักเท่าที่ควรเปรียบเหมือนการที่เขารู้เรา แต่เราไม่รู้เขา

          วันนี้ยังไม่ถือว่าสายจนเกินไป ยังมีเวลาอีกกว่า 2 ปีที่เราจะเร่งเตรียมความพร้อมกัน ซึ่งพระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ได้มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการสาธิตชุมชนต้นแบบชุมชนไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนพื้นที่รอบ ๆ วัดไตรมิตรฯ ด้วยการตั้ง “ห้องศึกษาอาเซียน” เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนโดยเฉพาะเรื่องของภาษาโดยเริ่มจากการสอนภาษาพม่า ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากเด็กนักเรียนก็ขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่ และวันนี้ได้มีการขยายผลลงไปใน 4 ภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว

          พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและอีก 9 ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อรวมทั้ง 10 ประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งด้านการเมือง การค้าขาย วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นหลาย ๆ หน่วยงานก็มีการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมกันไปบ้างแล้ว แต่สำหรับมูลนิธิร่มฉัตร ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ดำเนิน “โครงการขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอา เซียน” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเรียนภาษาเพื่อนบ้าน โดยนำ 2 ทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ นั่นคือ “บ-ว-ร” และ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” เพราะการเตรียมความพร้อมนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน จะปล่อยให้วัด หรือ บ้าน หรือ โรงเรียนทำกันเองไม่ได้ ทั้งโรงเรียน รัฐ และชุมชน ต่างก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

          “เราเริ่มต้นโครงการด้วยการสอนเรื่องของภาษาประเทศเพื่อนบ้านก่อน ถึงแม้ภาษาอังกฤษและจีนจะเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ตามชายแดน มีการไปมาหาสู่ ติดต่อค้าขายกันนั้นควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านมากกว่า เพราะการที่เขารู้ภาษาเราและเรารู้ภาษาเขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การเมืองความมั่นคง หรือเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเราใช้ภาษาเป็นสื่อถึงกันได้แล้ว ก็จะนำไปสู่ทฤษฎีที่ 2 คือ การเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าถึงซึ่งกันและกัน และในที่สุดก็เกิดเป็นการพัฒนาร่วมกันเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมโลกได้ อย่างสง่างาม” พระธรรมภาวนาวิกรมระบุ

          โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์อาเซียนศึกษาภาคเหนือ ที่เน้นการจัดอบรมภาษาเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภาษาพม่า โดยผอ.สว่าง มโนใจ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่จันฯ กล่าวว่า อำเภอแม่จันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สาน เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าชายแดนที่สำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว เมื่อโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” ของภาคเหนือ ก็ได้มีการสอบถามความเห็นจากหลายฝ่ายก็ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ภาษาพม่ามีความสำคัญมากสำหรับพื้นที่นี้ จึงได้จัดให้มีการอบรมภาษาพม่าให้แก่เยาวชนและผู้ประกอบการและกลุ่มอาชีพ ต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจัดเป็นโครงการอบรมหลักสูตรเร่งรัด 3 วัน โดยใช้ครูเจ้าของภาษามาเป็นผู้สอน

          แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้โรงเรียนบ้านแม่จันฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะปลุกประชากรในโรงเรียนให้ตื่นตัวที่จะเรียน ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่ง ผอ.สว่าง เล่าว่า โรงเรียนเริ่มพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์ภาษาด้วยการเป็นโรงเรียน ต้นแบบโรงเรียนในฝันตั้งแต่เดือน มี.ค. 2549 พยายามทำให้โรงเรียนเป็น School Lab คือ ทุกอย่างในโรงเรียนต้องเป็นแล็บ อาคารสถานที่ต่าง ๆ ต้องเป็นแล็บทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการทางภาษาที่ต้องสร้างโดยเฉพาะ แต่ต้องเป็นได้ทั้งหมดตามต้นไม้ชายคาก็ต้องเป็นได้ ครูในโรงเรียนผู้บริหารต้องเป็น ต้องฝึกพูดโดยเริ่มจากภาษาอังกฤษก่อน ซึ่งแนวทางของโรงเรียนคือ ใช้ครูเจ้าของภาษามาสอน เพราะครูคนไทยที่มาสอนภาษาอังกฤษมักจะมีความอดทนน้อยเดี๋ยวก็แปลให้เด็กฟัง ดังนั้นเราจึงใช้ครูเจ้าของภาษาซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อาสาสมัครจากประเทศ อังกฤษ บางคนเขาพูดภาษาไทยแต่จะไม่ยอมพูดภาษาไทยในห้องเรียน ถ้าจะต้องอธิบายก็ว่ากันเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งระยะแรก ๆ ทั้งเด็กและครูของเราจะเครียดมาก แต่ด้วยวิธีการนี้และการสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ก็สามารถทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะเมื่อเราไม่กลัวครูและครูก็ให้ความเป็นกันเองทำให้มีการสื่อสารมีการ พัฒนาสามารถพูดคุยกันด้วยภาษาที่สูงขึ้นได้

          ผอ.สว่าง บอกว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดยังสอนแบบเดิม ๆ อยู่อย่างนั้น เรียนมามากขนาดไหนก็พูดไม่ได้ จากแรก ๆ ที่ครูเราไม่กล้าที่จะเดินสวนกับครูต่างชาติ เพราะกลัวที่จะต้องคุยหรือถูกถามเป็นภาษาอังกฤษ โรงเรียนก็ต้องกระตุ้นโดยกำหนดว่าคนที่จะเดินผ่านทางนี้ขึ้นอาคารนี้ต้องพูด ภาษาอังกฤษเท่านั้น หรือวันจันทร์ต้องพูดภาษาอังกฤษ วันศุกร์ต้องพูดภาษาจีน เพราะเราเริ่มต้นมาจากภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ใหม่ ๆ ก็ไม่กล้าแต่คุณครูก็พยายามทำการบ้านแล้วมาสื่อสาร แต่พอเราเปลี่ยนวิธีมาวันนี้กล้าบอกว่าครูโรงเรียนบ้านแม่จันฯ ใช้ภาษาอังกฤษได้ทุกคน และตอนนี้เรากำลังมุ่งสู่ภาษาพม่า ซึ่งก็ต้องใช้วิธีการเดียวกัน คือ ต้องใช้เจ้าของภาษา แต่ถ้าจะใช้ครูไทยก็ได้ แต่ต้องมีความอดทนที่จะไม่แปลถ้าจะแปลต้องแปลเป็นภาษานั้น มิฉะนั้นคนเรียนก็จะไม่ได้อะไรเหมือนเดิม

          พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่จัน กล่าวว่า แม่จันเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดผ่านจากแม่สาย เชียงแสน ยาเสพติดที่จับได้มาก ๆ ก็ที่แม่จัน ดังนั้นการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารับการอบรมภาษาพม่าจึงเป็นการตื่นตัวว่า เราจะต้องติดต่อกับเพื่อนบ้าน เป็นโลกไร้พรมแดนจะอยู่กันเองไม่ได้แล้ว ซึ่งพม่าเองก็ตื่นตัวและพร้อมที่จะเปิดประเทศ ถ้าสื่อสารไม่ได้เวลาเราถามเขาเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเขาจะไม่ตอบ และปฏิเสธอย่างเดียว เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ แต่พอเราพูดกับเขาได้เขาก็ยอมบอกและให้ความร่วมมือมากขึ้น ทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิด อีกอย่างเวลาที่เขาใช้ล่ามมาแปลเราก็จะรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เรียกว่าเมื่อเขารู้เราแล้วเราก็รู้เขาด้วย เป็นการรู้เท่าทันกัน

          วันนี้ยังไม่สายหากจะมาเริ่มต้นเตรียมความพร้อมด้านภาษาของประเทศในกลุ่มอา เซียนหรืออย่างน้อยก็ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกัน เพื่อเปิดประตูอาเซียนพร้อม ๆ กัน.

          อรนุช วานิชทวีวัฒน์

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมแบบล่างสู่บน (Bottom-up)



นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กรส่วนมากเกิดจากระดับของผู้ปฏิบัติ งานมากกว่า เกิดขึ้นในระดับผู้บริหาร เป็นข้อสังเกตจากการศึกษาประวัติความเป็นมาของนวัตกรรมต่างๆ ทั้งประเภทนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี (Technological Innovation) และนวัตกรรมเชิงความคิด (Ideological Innovation) ยิ่งองค์กรมีระดับชั้นการบริหารงานและการบังคับบัญชามากเท่าไรยิ่งเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แนวความคิดนี้ได้ รับการทดลองที่ศูนย์วิจัย PARC (Palo Alto Research Center) อยู่ในบริเวณพื้นที่ของ Stanford University มลรัฐ California เป็นรัฐชายฝั่งตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์วิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท Zerox ที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องถ่ายเอกสาร และที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ได้นำระบบการบริหารจัดการที่ระดับการบังคับบัญชา น้อยมาใช้จึงได้พัฒนานวัตกรรมที่กลายมาเป็นเทคโนโลยีในปัจจุบันเช่น PC หรือ Personal Computer, GUI หรือ Graphic User Interface หรือที่เรียกว่า Icon รวมทั้ง Object-Oriented Programming และ Ubiquitous Computing ซึ่งเป็นนวัตกรรมประเภท Technological Innovation เป็นต้น

การร่วม มือแบบล่างสู่บน (Bottom-up) มีความหมายในเชิงของการเป็นรูปแบบของความร่วมมือแบบไม่มีระดับชั้นหรือ Non-Hierarchical Model ซึ่งเกิดขึ้นจากระดับของผู้ปฏิบัติงานก่อนการร่วมมือเกิดขึ้นจากกลุ่มคน เล็กๆ ผู้ที่มีความคิดร่วมกันมีความต้องการสอดคล้องกันแล้วลงมือกระทำ ส่วนมากจะเป็นกิจกรรมที่ระดับผู้บริหารระดับสูงยังไม่ทราบหรือยังไม่ให้ความ สนใจในระยะแรก เช่น ในการพัฒนา Laptop ของบริษัทโตชิบา หรือ การพัฒนา Macintosh Computer ของบริษัท Apple ซึ่งต้องทำการพัฒนาแบบลับๆ ซึ่งเรียกการทำงานแบบนี้ว่า Skunk Works Project รวมทั้งโครงการ Mississippi Summer Project หรือเรียกว่า Freedom Summer ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1964 ทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงเทคนิควิธีในการเรียกร้องเสรีภาพ ต่อต้าน ประท้วงการกดขี่และการปลุกระดมมวลชนและการจัดการมวลชนเพื่อต่อสู้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมประเภท Ideological Innovation และได้รับการเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
 คณะผู้วิพากษ์หลักสูตรมี อาจารย์ วิชริณี สวัสดี เป็นผู้ประสานงาน

จาก แนวคิดของการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวนำมาสู่แนวทางการร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันการศึกษาขึ้น ถึงแม้จะไม่ถึงขนาดต้องทำงานในแบบลับ ๆ หรือ Skunk Works แต่ความร่วมมือเกิดขึ้นจากระดับคณาจารย์ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารระดับคณะ วิชา หรือที่เรียกว่ากว่าแบบ Bottom-up Approach ที่ตรงข้ามกับแบบ Top-down Approach ซึ่งความร่วมมือเกิดจากนโยบายและความเห็นชอบของผู้บริหารระดับสูงทำให้เกิด ความร่วมมือในรูปแบบที่เป็นทางการมีระดับชั้นและใช้กลไกการบริหารสั่งการ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามนโยบายของผู้บริหาร

ตัวอย่างของความร่วมมือ ทางวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมแบบล่างสู่บนหรือ Bottom-up Approach ได้เกิดขึ้นเป็นปีที่ 2 ระหว่างคณาจารย์ ผู้บริหาร และนักศึกษาระดับปริญญาเอกของภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ร่วมมือกับคณาจารย์และผู้บริหารของคณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ซึ่งมีกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตร วิพากษ์หลักสูตร และจัดการบรรยายทางวิชาการฝึกอบรมความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับ นักศึกษาของคณะเทคโนโลยีสังคมโดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกของภาควิชาครุศาสตร์ เทคโนโลยีด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการสอนที่คิดค้นขึ้นและนำไปทดลอง ใช้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบของ Bottom-up Approach
ผศ.ดร.สุกัลยา ปริญโญกุล รองคณบดีคณะเทคโนโลยีสังคมกล่าวต้อนรับ
นวัต กรรมทางการสอนรวมทั้งเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่นักศึกษาระดับปริญญาเอกได้ออกแบบหรือได้คิดขึ้นได้ถูกนำไปใช้กับนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันการได้ทดลองนำเทคนิควิธีที่นักศึกษาปริญญาเอก ได้ออกแบบและคิดขึ้นไปทดลองใช้จะทำให้เกิดความมั่นใจในนวัตกรรมการสอน และเทคนิควิธีการที่นำมาใช้ในสถานการณ์จริง นอกจากนั้นความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการด้านอื่นๆ ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้เช่น การทำวิจัย การผลิตตำราเรียน และผลงานวิชาการ เป็นต้น
ประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือทางวิชาการแบบ Bottom-up Approach นอกจากจะสามารถยืนยันผลการศึกษาวิจัยทางด้านการเผยแพร่นวัตกรรมและการเกิด ขึ้นของนวัตกรรมในองค์กรระดับปฏิบัติการแล้วยังทำให้เกิดประโยชน์กับ กระบวนการจัดการเรียนการสอนดังนี้

1. ได้ใช้ เสรีภาพทางวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาเอกหลักสูตร Ph.D.Technical Education Technology ที่เข้าร่วมในกิจกรรมส่วนมากเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้วจะกลับไปทำงานในสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย นักศึกษาปริญญาเอกเหล่านั้นได้มีโอกาสทำความเข้าใจ ตระหนักและใช้เสรีภาพทางวิชาการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คุ้มครองไว้ในมาตรา 50

2. ได้สร้างเครือข่ายทางวิชาการเกิดขึ้นโดยเฉพาะเครือข่ายในลักษณะที่เป็น Interpersonal Networks การได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายในหลายระดับซึ่งเป็นช่องทางสำหรับการเผยแพร่นวัตกรรมต่อ ไป

3. ได้มีการเผยแพร่นวัตกรรมทั้งนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัต กรรมการเรียนการสอนที่ได้นำมาใช้ ช่วยลดช่องว่างของโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยี

ผศ. เอกชัย ปริญโญกุล คณะบดีคณะเทคโนโลยีสังคม กล่าวถึงความร่วมมือ
จาก ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับรูปแบบและวิธีการ ความร่วมมือแบบ Bottom-up ซึ่งอาจไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือแบบสั่งการ หรือแบบ Top-down ที่มีกระบวนการบังคับบัญชาหลายชั้น หรือเป็นรูปแบบที่เป็น Hierarchical Model


โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ที่มา http://www.thairath.co.th/edu

การยอมรับ (Adoption) นำมาเป็น “ชุดความเชื่อ” ในสังคมไทย



การยอมรับ หรือ การรับเอามาใช้เป็นของตน (Adoption) เป็นกระบวนการอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการเผยแพร่ (Diffusion) นวัตกรรม หรือ สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ สำหรับประเทศไทยแล้วเนื่องจากสังคมไทยมีระบบสังคม (Social System) ที่มีความเฉพาะ ดังนั้น การใช้ทฤษฎีการเผยแพร่และการยอมรับนวัตกรรมที่มีการพัฒนามาจากการ ศึกษาวิจัยในสังคมอื่น ๆ อาจไม่สามารถนำมาใช้อธิบายกระบวนการยอมรับในสังคมไทยได้

การตัดสินใจ ยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากผู้อื่นหรือจากที่อื่นที่อาจเป็นวัตถุ สิ่งของ วิธีคิด การกระทำ วิธีการทำงาน การใช้ชีวิต การแต่งกายค่านิยม และความเชื่อที่เป็นสิ่งใหม่หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับตนเองและมี อิทธิพลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตัวเองในลักษณะที่เป็นการรับ เอามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองถือได้ว่าเป็นการยอมรับทั้งทางตรงและโดยปริยาย และอาจแสดงออกมาให้ปรากฏหรือฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดและพร้อมสำหรับการ แสดงออกเมื่อมีโอกาส

กระบวนการยอมรับและนำมาเป็น ชุดความเชื่อของตนเองเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลต่อสังคมเศรษฐกิจและการเมือง มาโดยตลอดโดยมีกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง เป็นขั้นตอนของการได้รับความรู้และข่าวสาร ในขั้นนี้สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากสื่อสารมวลชนอย่างมาก และสื่อมวลชนมีอิทธิพลสูงกว่ากลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มเครือข่ายของตน (Interpersonal Networks) เพราะความรู้และข่าวสารจากสื่อมวลชนสามารถเผยแพร่เข้าถึงประชาชนไทยในแต่ละ รายบุคคลได้อย่างทรงประสิทธิภาพการมีสื่อจำนวนมากในหลาย ๆ รูปแบบทำให้คนไทยส่วนมากไม่ตกข่าวถึงจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากก็ไม่เป็น อุปสรรคสำหรับการรับรู้ข่าวสาร

ขั้นที่สอง เป็น ขั้นสร้างความเชื่อถือในข่าวสารมูลเหตุจูงใจให้เชื่อถือในสังคมไทยไม่ได้ เกิดจากการมีความ รู้ หรือการมีข้อมูลข่าวสารมากแต่เกิดจากการอ้างอิงชุดความเชื่อของตนกับเพื่อน ในกลุ่ม ดังนั้นสื่อมวลชนมีอิทธิพลกับความเชื่อของสังคมไทยน้อยกว่ากลุ่มเพื่อนหรือ กลุ่มเครือข่ายของตนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นการเปิดโอกาส ให้กลุ่มสร้างชุดความเชื่อแล้วเผยแพร่ชุดความเชื่อภายในกลุ่มผ่านสื่อสมัย ใหม่และผ่านการสื่อสารแบบปากต่อปากในเครือข่ายของตน

ขั้นที่สาม เป็น ขั้นการตัดสินใจ อิทธิพลที่มีต่อการตัดสินใจยอมรับในแต่ละบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์กับชุดความ เชื่ออ้างอิง (Relative Believing Set) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มความเชื่อของตนเอง ในขั้นนี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลน้อยกว่ากลุ่มเพื่อน ความเห็นของกลุ่มเพื่อนและเครือข่ายของตน (Interpersonal Networks) มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจยอมรับสูงที่สุด ถึงแม้จะมีข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่ออยู่มากก็ตาม

ขั้นที่สี่ เป็น ขั้นแสดงออกถึงความเชื่อและการยอมรับในขั้นนี้สังคมไทยมีความพิเศษเนื่องจาก การแสดงออกนั้นมีความสัมพันธ์กับอิทธิพลอื่น ๆ นอกจากความเชื่อและความรู้ที่ตนเองมีอยู่ การได้รับผลประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องมีอิทธิพลต่อการ แสดงออกอย่างมาก ความเกรงใจ หรือ ต้องการรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทำให้การแสดงออกอาจตรงข้ามกับความเชื่อและการตัดสินใจรับความเชื่อนั้นได้ ดังนั้น ความรู้และข้อมูลข่าวสาร และความเชื่อจึงไม่เป็นสิ่งที่จะใช้ทำนายพฤติกรรมที่ของคนในสังคมไทยได้

ขั้นที่ห้า เป็นขั้นของการยืนยันการตัดสินใจยอมรับในขั้นนี้เป็นผลของการได้รับความรู้ ข่าวสาร การได้รับการจูงใจให้เกิดความเชื่อและมีชุดความเชื่อนำไปสู่การตัดสินใจ ยอมรับ และแสดงออกมา เมื่อถึงขั้นการยืนยันการตัดสินใจ ในขั้นนี้คนในสังคมไทยหันกลับไปใช้เหตุผล ความรู้ ความคิดของตนเองมากขึ้น อิทธิพลของสื่อมวลชนเริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง แต่ยังเป็นรองจากการอ้างอิงชุดความเชื่อของตนกับผู้อื่น ในขั้นนี้คนไทยเริ่มเปิดรับแนวทางการยอมรับจากสังคมอื่น มีการอ้างอิงชุดความเชื่อจากสังคมอื่นที่พัฒนาผ่านช่วงของเวลาที่ประสบอยู่ ไปแล้ว ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการเริ่มมีอิทธิพลกับการยืนยันการตัดสินใจ ยอมรับมากขึ้นมากขึ้น

ดังนั้น การทำให้เกิดความรู้และมีข้อมูลข่าวสาร มีความสำคัญลำดับแรกในการยอมรับ และการอ้างอิงความรู้และชุดความเชื่อจากสังคมอื่นมีอิทธิพลในขั้นการยืนยัน การยอมรับในขั้นสุดท้าย เพราะการเผยแพร่เพื่อให้เกิดการยอมรับและกลายเป็นชุดความเชื่อนั้นสามารถ เปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง การเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนานั้น เป็นการนำความรู้ความคิด มาสู่การปฏิบัติ และผลของการปฏิบัตินั้นต้องมีการยืนยันและรับรองอย่างเป็นรูปธรรม การตราพระราชบัญญัติ เป็นการนำความคิด ความรู้มาสู่การปฏิบัติที่มีผลในการบังคับใช้

มีตัวอย่างที่เรียนรู้ ได้จากสังคมอื่นได้แก่ เมื่อครั้งประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1776 และมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดสำหรับการปกครองเมื่อปี ค.ศ. 1787 และการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 ซึ่งได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเช่นกันเป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18

การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของทั้งสองประเทศนั้น เป็นการนำความรู้ ความคิด ปรัชญา หลักการ และทฤษฎี ทางด้านการเมือง การปกครองและอุดมการณ์ในการมีชีวิตที่ดีของสังคมมนุษย์ ซึ่งแต่เดิม อยู่ในรูปของคำสอน ตำราเรียน บทเรียน หรือประเด็นที่เป็นหัวข้อสำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการชั้นสูง รวมทั้งเรื่องเล่า ตำนานต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ โดยการนำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมากลั่นกรอง รวบรวมใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดและมีอำนาจบังคับใช้เช่น ปรัชญาของการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ปรัชญาสัญญาประชาคม ปรัชญาการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปรัชญาการให้ความดูแลผู้อ่อนแอในสังคมด้วยรูปแบบรัฐสวัสดิการ เป็นต้น

สิ่ง เหล่านี้เมื่อครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นเพียงความรู้ ความคิด ความเชื่อ หรือปรัชญาที่ใช้สำหรับศึกษาเล่าเรียนเป็นสำคัญ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญจึงได้นำความรู้ ความคิด ความเชื่อ และปรัชญาเหล่านั้นมาบรรจุไว้ทำให้เกิดการปฏิบัติและมีผลบังคับใช้ได้

จะ เห็นได้ว่าสาระต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสซึ่งได้ประกาศออกใช้พร้อม ๆ กับประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ด้วยนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ในสังคมตะวันตกมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ และได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างมากในช่วงเวลาประมาณ 200 ปี ต่อมานับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น 2,000 ปี ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการเท่ากับ 200 ปีที่ได้เริ่มมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้

สรุป

การ ยอมรับ เพื่อนำมาเป็นชุดความเชื่อในสังคมไทยหลาย ๆ เรื่องกำลังดำเนินมาสู่ขั้นสุดท้ายคือ การยืนยันการตัดสินใจยอมรับ จึงเป็นหน้าที่ของสื่อสารมวลชนอีกครั้ง ประกอบกับนักวิชาการที่ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และนำเสนอกระบวนการตัดสินใจที่ประสบผลสำเร็จและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ สังคมอื่น เพื่อให้สังคมไทยได้เลือกตัดสินใจยืนยันการยอมรับในสิ่งที่ดีที่สุดและ ประเสริฐสุดเท่านั้น


โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
 ที่มา http://www.thairath.co.th/edu