วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมด้านภาษา ตอบโจทย์รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทัน

          ปี2558 จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน (Asean Community : AC) เวลานี้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ชาติ ย่อมต้องมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนของตนเองเพื่อรองรับการเปิดเสรี อาเซียนกันแล้ว แน่นอนว่าเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านการเมือง และเศรษฐกิจ โดยจะพบว่าขณะนี้แม้จะยังไม่ถึงวันที่ประตูจะเปิดกว้างให้การเคลื่อนย้ายแรง งานได้อย่างเสรีเต็มที่ แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้ามาทำงานในบ้านเรา เป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความ เข้าใจที่ถูกต้องนั้นก็คือภาษา และหากสังเกตจะพบว่าแรงงานต่างชาติเหล่านั้นจะพูดภาษาไทยได้เข้าใจภาษาไทย ขณะที่คนไทยเราเองกลับไม่ตระหนักเท่าที่ควรเปรียบเหมือนการที่เขารู้เรา แต่เราไม่รู้เขา

          วันนี้ยังไม่ถือว่าสายจนเกินไป ยังมีเวลาอีกกว่า 2 ปีที่เราจะเร่งเตรียมความพร้อมกัน ซึ่งพระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ได้มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการสาธิตชุมชนต้นแบบชุมชนไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนพื้นที่รอบ ๆ วัดไตรมิตรฯ ด้วยการตั้ง “ห้องศึกษาอาเซียน” เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนโดยเฉพาะเรื่องของภาษาโดยเริ่มจากการสอนภาษาพม่า ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากเด็กนักเรียนก็ขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่ และวันนี้ได้มีการขยายผลลงไปใน 4 ภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว

          พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและอีก 9 ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อรวมทั้ง 10 ประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งด้านการเมือง การค้าขาย วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นหลาย ๆ หน่วยงานก็มีการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมกันไปบ้างแล้ว แต่สำหรับมูลนิธิร่มฉัตร ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ดำเนิน “โครงการขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอา เซียน” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเรียนภาษาเพื่อนบ้าน โดยนำ 2 ทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ นั่นคือ “บ-ว-ร” และ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” เพราะการเตรียมความพร้อมนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน จะปล่อยให้วัด หรือ บ้าน หรือ โรงเรียนทำกันเองไม่ได้ ทั้งโรงเรียน รัฐ และชุมชน ต่างก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

          “เราเริ่มต้นโครงการด้วยการสอนเรื่องของภาษาประเทศเพื่อนบ้านก่อน ถึงแม้ภาษาอังกฤษและจีนจะเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ตามชายแดน มีการไปมาหาสู่ ติดต่อค้าขายกันนั้นควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านมากกว่า เพราะการที่เขารู้ภาษาเราและเรารู้ภาษาเขาสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การเมืองความมั่นคง หรือเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเราใช้ภาษาเป็นสื่อถึงกันได้แล้ว ก็จะนำไปสู่ทฤษฎีที่ 2 คือ การเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าถึงซึ่งกันและกัน และในที่สุดก็เกิดเป็นการพัฒนาร่วมกันเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมโลกได้ อย่างสง่างาม” พระธรรมภาวนาวิกรมระบุ

          โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์อาเซียนศึกษาภาคเหนือ ที่เน้นการจัดอบรมภาษาเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภาษาพม่า โดยผอ.สว่าง มโนใจ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่จันฯ กล่าวว่า อำเภอแม่จันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สาน เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าชายแดนที่สำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว เมื่อโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” ของภาคเหนือ ก็ได้มีการสอบถามความเห็นจากหลายฝ่ายก็ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ภาษาพม่ามีความสำคัญมากสำหรับพื้นที่นี้ จึงได้จัดให้มีการอบรมภาษาพม่าให้แก่เยาวชนและผู้ประกอบการและกลุ่มอาชีพ ต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจัดเป็นโครงการอบรมหลักสูตรเร่งรัด 3 วัน โดยใช้ครูเจ้าของภาษามาเป็นผู้สอน

          แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้โรงเรียนบ้านแม่จันฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะปลุกประชากรในโรงเรียนให้ตื่นตัวที่จะเรียน ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่ง ผอ.สว่าง เล่าว่า โรงเรียนเริ่มพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์ภาษาด้วยการเป็นโรงเรียน ต้นแบบโรงเรียนในฝันตั้งแต่เดือน มี.ค. 2549 พยายามทำให้โรงเรียนเป็น School Lab คือ ทุกอย่างในโรงเรียนต้องเป็นแล็บ อาคารสถานที่ต่าง ๆ ต้องเป็นแล็บทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการทางภาษาที่ต้องสร้างโดยเฉพาะ แต่ต้องเป็นได้ทั้งหมดตามต้นไม้ชายคาก็ต้องเป็นได้ ครูในโรงเรียนผู้บริหารต้องเป็น ต้องฝึกพูดโดยเริ่มจากภาษาอังกฤษก่อน ซึ่งแนวทางของโรงเรียนคือ ใช้ครูเจ้าของภาษามาสอน เพราะครูคนไทยที่มาสอนภาษาอังกฤษมักจะมีความอดทนน้อยเดี๋ยวก็แปลให้เด็กฟัง ดังนั้นเราจึงใช้ครูเจ้าของภาษาซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อาสาสมัครจากประเทศ อังกฤษ บางคนเขาพูดภาษาไทยแต่จะไม่ยอมพูดภาษาไทยในห้องเรียน ถ้าจะต้องอธิบายก็ว่ากันเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งระยะแรก ๆ ทั้งเด็กและครูของเราจะเครียดมาก แต่ด้วยวิธีการนี้และการสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ก็สามารถทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะเมื่อเราไม่กลัวครูและครูก็ให้ความเป็นกันเองทำให้มีการสื่อสารมีการ พัฒนาสามารถพูดคุยกันด้วยภาษาที่สูงขึ้นได้

          ผอ.สว่าง บอกว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดยังสอนแบบเดิม ๆ อยู่อย่างนั้น เรียนมามากขนาดไหนก็พูดไม่ได้ จากแรก ๆ ที่ครูเราไม่กล้าที่จะเดินสวนกับครูต่างชาติ เพราะกลัวที่จะต้องคุยหรือถูกถามเป็นภาษาอังกฤษ โรงเรียนก็ต้องกระตุ้นโดยกำหนดว่าคนที่จะเดินผ่านทางนี้ขึ้นอาคารนี้ต้องพูด ภาษาอังกฤษเท่านั้น หรือวันจันทร์ต้องพูดภาษาอังกฤษ วันศุกร์ต้องพูดภาษาจีน เพราะเราเริ่มต้นมาจากภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ใหม่ ๆ ก็ไม่กล้าแต่คุณครูก็พยายามทำการบ้านแล้วมาสื่อสาร แต่พอเราเปลี่ยนวิธีมาวันนี้กล้าบอกว่าครูโรงเรียนบ้านแม่จันฯ ใช้ภาษาอังกฤษได้ทุกคน และตอนนี้เรากำลังมุ่งสู่ภาษาพม่า ซึ่งก็ต้องใช้วิธีการเดียวกัน คือ ต้องใช้เจ้าของภาษา แต่ถ้าจะใช้ครูไทยก็ได้ แต่ต้องมีความอดทนที่จะไม่แปลถ้าจะแปลต้องแปลเป็นภาษานั้น มิฉะนั้นคนเรียนก็จะไม่ได้อะไรเหมือนเดิม

          พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่จัน กล่าวว่า แม่จันเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นจุดผ่านจากแม่สาย เชียงแสน ยาเสพติดที่จับได้มาก ๆ ก็ที่แม่จัน ดังนั้นการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารับการอบรมภาษาพม่าจึงเป็นการตื่นตัวว่า เราจะต้องติดต่อกับเพื่อนบ้าน เป็นโลกไร้พรมแดนจะอยู่กันเองไม่ได้แล้ว ซึ่งพม่าเองก็ตื่นตัวและพร้อมที่จะเปิดประเทศ ถ้าสื่อสารไม่ได้เวลาเราถามเขาเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเขาจะไม่ตอบ และปฏิเสธอย่างเดียว เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ แต่พอเราพูดกับเขาได้เขาก็ยอมบอกและให้ความร่วมมือมากขึ้น ทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิด อีกอย่างเวลาที่เขาใช้ล่ามมาแปลเราก็จะรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เรียกว่าเมื่อเขารู้เราแล้วเราก็รู้เขาด้วย เป็นการรู้เท่าทันกัน

          วันนี้ยังไม่สายหากจะมาเริ่มต้นเตรียมความพร้อมด้านภาษาของประเทศในกลุ่มอา เซียนหรืออย่างน้อยก็ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกัน เพื่อเปิดประตูอาเซียนพร้อม ๆ กัน.

          อรนุช วานิชทวีวัฒน์

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น