วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

การฟังเป็น (Listening) และ เทคนิคการฟังขั้นสูง


 

 
ชีวิตทุกวันนี้มีทั้งเร่งรีบ บีบคั้น แข่งขัน และรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารที่ เสมือนจริง  ล้วนแล้วแต่ทำให้คนเราฟังกันน้อยลง ผลจากการไม่รู้จักฟังกัน ฟังกันไม่เป็น และไม่ค่อยจะมีเวลารับฟังซึ่งกันและกัน ก็เห็นได้จากปัญหาสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ  นั่นเอง จนมีการพูดกระแนะกระแหนกันว่า พระเจ้าสร้างเรามาให้มีหู ๒ หู ปาก ๑ ปาก ไฉนคนเราจึงมักชอบที่จะพูดมากกว่าฟัง 

 การไม่รู้จักฟังกัน หรือ  ไม่รับฟังอีกฝ่าย เป็นผลในทางตรงกันข้ามกับการรู้จักฟังผู้อื่น ทั้งยังช่วยทำให้เราเข้าใจความคิด ความรู้สึกอีกฝ่ายได้มากขึ้น ได้รู้จักกันดีขึ้น ได้เข้าใจว่าฝ่ายนั้นมีความข้องขัดสิ่งใด  ทำให้เขารู้สึกว่า เราแคร์เขามากขึ้น   จึงเรียกว่า การฟังเป็น (Listening)   มีบางตัวอย่างของการฟังเป็น ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวจะขอนำมาเล่าที่นี้ คือ

๑)      ปกติเวลาหมอตรวจคนไข้มักจะใช้เวลาอันรวดเร็ว บ่อยครั้งที่คนไข้ยังพูดอธิบายไม่หมดความ หมอก็ด่วนสรุปให้แล้ว Dr. Ken  Davis กล่าวว่า  หากหมอได้ฟังคนไข้พูดมากขึ้น เพียง ๓ - ๔ นาที จะทำให้ตรวจรักษาคนไข้ได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นมากถึง ๙๐%    ในขณะที่มีข้อมูลจากแพทยสภาของบ้านเราว่า มีหมอบางโรงพยาบาลทำสถิติตรวจคนไข้นอกได้รวดเร็วมากถึง ๓ - ๔ คนต่อนาที เพราะคนไข้จำนวนมากและขาดแคลนหมอ จึงทำให้หมอต้องทำงานแข่งกับเวลา  แพทยสภาจึงถือว่า มีความเสี่ยงสูงที่หมอคนนี้จะรักษาคนไข้ผิดพลาดและมีโอกาสถูกฟ้องร้อง-ร้อง เรียนสูงมากขึ้นอีกด้วย

๒)      พยาบาลวิชาชีพคนหนึ่ง เธอมีวิธีการทำงานอย่างมืออาชีพมาเล่าให้เราฟังว่า ตัวเธอมีวิธีการแนะนำการปฏิบัติตัวของคนไข้อย่างได้ผลเมื่อคนไข้กลับไปทำที่ บ้าน ก็ด้วยวิธีการเปิดใจรับฟังปัญหาและวิธีการปฏิบัติตนของคนไข้ที่จะต้องเล่า ให้พยาบาลคนนี้ฟังก่อน แล้วเธอจึงจะแนะนำไปว่า สิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด การกระทำอันไหนของคนไข้ที่เป็นตัวชักนำทำให้เกิดการเจ็บป่วย แล้วควรจะหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นอย่างไรบ้าง  ผลจากการเปลี่ยนวิธีการสอนหรือแนะนำคนไข้มาเป็นการรับฟังปัญหาเฉพาะตัวของคน ไข้ก่อนเช่นนี้  ทำให้คนไข้การรักษาคนไข้ได้ผลมากขึ้น โดยหายจากการเจ็บป่วยมากขึ้น และเธอยังเป็นที่ชื่นชอบของคนไข้อีกด้วย เนื่องจากพูดได้ตรงใจคนไข้นั่นเอง
นี่ก็เป็นผลจากการรับฟังกันอย่างเข้าใจและลึกซึ้งยิ่งนัก  ซึ่งแตกต่างจากวิธีการแนะนำคนไข้แบบเดิมที่ไม่ต่างจากการมายืนสอนเหมือนครู ยืนสอนหน้าชั้นเรียน ย่อมได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน

๓)      นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งเล่าว่า เขาได้เรียนรู้การรักษาการเจ็บป่วยจากคนไข้แบบแปลกใหม่จากที่ครูเคยสอนไว้ใน โรงเรียนแพทย์ เพียงเพราะวันนั้นเขาทนนั่งรับฟังปัญหาแวดล้อมทั้งเรื่องราวจากตัวคนไข้เอง และเรื่องราวต่างๆ จากคนในครอบครัวของคนไข้มากขึ้น แม้จะรู้ว่าเสียเวลามากทีเดียวที่ต้องทำอย่างนั้น ถ้าเพียงแต่เขาฝึกการฟังนั้นจนเกิดความชำนาญ  เขาก็จะสามารถซักถามและจับประเด็นใจความสำคัญๆ ที่เป็นสาระได้อย่างรวดเร็ว   อันจะนำไปสู่การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

๔)     โรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ ชมรมต่างๆ เพื่่อให้คนไข้โรคต่างๆ มารวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มโรคหัวใจ กลุ่มโรคเบาหวาน ฯลฯ คนไข้ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนากัน คนที่เคยเจ็บป่วยมาก่อน หรือมีวิธีการดูแลรักษาตนเองจนเข้มแข็งได้มาช่วยมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง  การเรียนรู้ผ่านผู้ป่วยด้วยกันเองมักเป็นการพูดคุยสนทนากัน รับฟังปัญหาขัดข้องโดยไม่ปิดบัง เคอะเขิน จากคนที่มีปัญหาเดียวกัน ด้วยคนระดับเดียวกัน เป็นการเลียนแบบกันอย่างได้ผลในการรักษาอีกช่องทางหนึ่ง มากกว่าที่จะมุ่งรักษาด้วยวิธีการทางยาจากหมอเพียงอย่างเดียว  

 เหล่านี้เป็นตัวอย่างและผลลัพธ์จากการรับ ฟังกันมากขึ้น มากกว่าการที่เราเดินทางมาเจอหน้ากัน แต่เราไม่ต้องการพูดคุยกันและรับฟัง  แล้วก็จมอยู่กับ หน้าจอของใครของมัน ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์แต่อย่างใด สู้กลับบ้านไปแล้วคุยกัน ผ่านจอ อย่างเดิมน่าจะดีกว่าไหม

การฟังกันมากขึ้นจึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมง่ายๆ เหมือนกับ เกาถูกที่คันแก่คนที่อยู่ข้างๆ เรา เป็นเสมือนการจ่ายยาที่ถูกกับโรค

หรือ เป็นเสมือนหมอที่รู้จักรักษาวิธีการฟังของหมอก่อน ก่อนที่หมอจะไปรักษาคนไข้นั่นเอง

 การฟัง หรือ การรับฟัง (Listening) ผู้อื่น เป็นกลวิธีการที่สำคัญมากที่เราใช้สื่อสารกับคนรอบข้าง เพราะก่อนที่เราจะสื่อสารออกไป เราควรได้รู้ข้อมูลจากผู้ฟังหรือคู่สนทนาของเราเสียก่อน และผู้ใดรู้จักฟังอย่างถูกวิธีย่อมทำให้การสื่อสาร (พูดคุย) นั้นมีประสิทธิภาพ

นอกจากการรู้จักฟังผู้อื่นจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว มีตัวอย่างของ เทคนิคการฟังขั้นสูง ซึ่งได้แก่ การตั้งใจผู้อื่นเหมือนกับที่เรากำลังตั้งใจฟังญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพกำลัง พูด รู้จักการจับประเด็น รู้จักซักถาม รู้หรือวิเคราะห์ว่าผู้ฟังชอบไม่ชอบอะไร  รู้จังหวะแทรกการพูดคุย มีการสบสายตาเวลาพูดคุย ถ้าหากคู่สนทนาพูดออกนอกลู่นอกทางก็ดึงเขากลับมาเป็น  มีวิธีการถามด้วยคำถามปลายเปิดเพื่อให้เขาสามารถพูดแสดงความคิดเห็นต่อไป ได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเทคนิคการสะท้อนความคิด (Reflection) ในระหว่างการสนทนา ต้องไม่เบรกคู่สนทนานั้นด้วยคำพูดแรงๆ หากไม่ใช่เพื่อนสนิท และรู้จักการยกย่องคู่สนทนาอย่างพอเหมาะพอควร อันเป็นวิธีการให้เกียรติกัน

 นอกจากนี้ การฟังขั้นสูงยังจะเป็นการผูกมิตรที่ยั่งยืนได้อีกด้วย  หากเป็นหมอก็จะเป็นหมอที่ครองใจคนไข้  สามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ตั้งแต่คำพูดแรกๆ ที่คนไข้เอ่ยปากอยากเล่าอาการเจ็บป่วยนั้นให้หมอฟัง

 
หากแม้....ไม่ใช่หมอ เราก็ทำตัวเป็นเหมือนหมอได้ เพียงเพราะรู้จักรักษาน้ำใจคู่สนทนา ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี และ รู้จักฟังกันมากขึ้น

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/nn1234/2013/04/02/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น