วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

การศึกษาไทยแค่ปฏิรูปไม่พอ..ต้องผ่าตัดทั้งระบบ

         จากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิก 144 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งเป็นรายงานของ โกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ต 2014-2015 โดย World Economic Forum พบว่า คุณภาพการศึกษาไทยถดถอยไปอีก 9 อันดับ โดยเฉพาะการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานอยู่ลำดับที่ 86 ของโลก เป็นที่ 7 ของอาเซียนโดนประเทศลาวแซงหน้าไปแล้ว ส่วนระดับอุดมศึกษา ตกไปอยู่อันดับ 8 ของอาเซียนแพ้กัมพูชาและลาวเช่นกัน ผลออกมาเช่นนี้ก็น่าแปลกใจไม่น้อย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาปีละกว่า 5 แสนล้านบาท รัฐมนตรีก็เปลี่ยนบ่อยจนจำชื่อไม่ได้ ข้าราชการซี 11 มีถึง 5 คน ซี 10 อีกเกือบร้อย ครูผู้สอนก็จบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาโท ดอกเตอร์ก็มีไม่น้อย โรงเรียนส่วนใหญ่ก็มีความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี กว่าหลายประเทศด้วยซ้ำไป มหาวิทยาลัยปิดของไทยต่างแย่งคัดหาเด็กเก่งเข้าเรียน ส่วนเด็กเองก็เรียนพิเศษแบบไม่มีวันพัก ทำไมคุณภาพจึงตกต่ำลงทุกปี ส่วนการจะไปอ้างว่าวิธีวัดไม่มีมาตรฐานก็ไม่ได้ เพราะอีก 143 ประเทศก็ใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามัวเห่อวิชาการ ยึดติดอยู่กับปริญญาจนทำให้การพัฒนาหลงทาง 
        ซึ่งจะไปกล่าวโทษครูไม่มีคุณภาพ สอนไม่เป็น ไม่รู้จักพัฒนาตนเอง ไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะครูส่วนใหญ่ยังต้องทำงานตามนโยบาย และคุณภาพชีวิตเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย หลายฝ่ายต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาการทำงานด้านการศึกษาต่างฝ่ายต่างคิดต่างทำอยู่ผลถึงเป็นเช่นนี้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องผ่าตัดยกเครื่องเรื่องระบบการศึกษาชาติใหม่ เพราะคงจะทำแค่ปฏิรูปแก้ปัญหาจิ๊กซอว์อย่างที่ผ่านมาคงไม่ทันการณ์ โดยการผ่าตัดครั้งใหม่นี้จะต้องทำกันทั้งระบบแบบบูรณาการอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดไว้ คือ ต้องมีหน่วยงานหลัก หน่วยงานรอง หน่วยงานเสริม ทำหน้าที่รับผิดชอบส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างจริงจังต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ คุณภาพชีวิตของเด็ก สำหรับปัญหาการศึกษาที่รอให้แต่ละหน่วยงานต้องเร่งผ่าตัดมาอยู่หลายปัจจัย  
       โดยมีภาครัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนที่หน่วยงานระดับภาคปฏิบัติทำได้ยาก เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ใช้มานานจึงน่าจะถึงเวลาแก้ไขในส่วนที่ทำให้การพัฒนาติดขัด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดงานประเภทใช้งบประมาณมาก เพิ่มภาระงานให้ครูมากแต่ผลออกมาไม่คุ้มค่าก็ควรยกเลิกหรือหาวิธีการใหม่ที่ดีกว่ามาใช้แทน เช่น การประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการมาแล้ว 3 รอบ และผลการประเมินของโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ออกมาก็รู้ ๆ กันอยู่ คือ ผู้บริหารเยี่ยม ครูเยี่ยม แหล่งเรียนรู้เยี่ยม แต่ผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร และกระบวนการคิด วิเคราะห์ของเด็กปานกลางจนถึงต่ำ เมื่อสรุปเป็นภาพรวมแล้วส่วนใหญ่จะผ่านการประเมินและได้รับรอง หรือการวัดผลด้วยข้อสอบ O-NET ที่ทุกฝ่ายอยากให้คะแนนเพิ่มสูงขึ้นจนครูไม่น้อยพากันสอนข้อสอบ O-NET แทนสอนตามหลักสูตรทำให้ปีหลัง ๆ คะแนนเพิ่มขึ้นสมใจ แล้วทำไมคุณภาพการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติจึงกลับถอยหลังยิ่ง
กว่าปีก่อน ๆ เข้าไปอีก นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ครูขาดแคลน โรงเรียนที่
         มีความพร้อมยังไม่ได้เป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง ขาดโรงเรียนเฉพาะทางที่จะสร้างเด็กสู่ความเป็นเลิศ กฎหมายเรียนฟรี ที่ให้เหมือนกันหมดไม่ว่าคนจนหรือคนรวย หรือแม้แต่โครงสร้างที่ทำให้การบริหารการบริการด้อยประสิทธิภาพก็ควรได้รับการแก้ไขด้วย และกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเจ้าภาพหลักคงมีเรื่องให้แก้ไขและพัฒนามากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร คุณภาพบุคลากร วิธีสอน วิธีจัดสรรงบประมาณไม่ให้กระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง ลดหรือเลิกกิจกรรม โครงการ การอบรม สัมมนา งานโชว์ งานประกวด หรือให้ภาคปฏิบัติดำเนินการแทน หาวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องทำให้เด็กต้องมุ่งอยู่กับการเรียนพิเศษ การมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยส่งเสริมด้านอาชีพที่สอดรับกับตลาดแรงงานของประเทศให้มากขึ้นพร้อมทำ MOU กับสถานประกอบการเพื่อรับประกันการมีงานทำให้กับผู้เรียน ควรนำวิธีการสอบตกซ้ำชั้นมาใช้ เพื่อฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบและมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น การกำหนดเกรดที่จะเรียนต่อสายสามัญ เพื่อให้เด็กสู่สายอาชีพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น 
      ส่วนกระทรวงอื่น ๆ ก็คงต้องช่วยกันทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กอย่างจริงจังเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย เพราะปัญหาทุพโภชนาการของเด็กนอกจะส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังส่งผลถึงสติปัญญาด้วย เพราะจากผลการวิจัยโครงการสำรวจภาวะโภชนาการสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน ( South East Asia Nutrition Survey) ปี 2554-2555 ในเด็กอายุระหว่าง 0.5–12.9 ปี พบว่า เด็กไทยกำลังประสบกับทุพโภชนาการ ขาดธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินดีและแคลเซียม ทำให้เด็กอ้วน เติบโตช้า ไอคิวต่ำ ซึ่งปัจจุบัน ไอคิวเด็กไทยก็อยู่แค่ 90-92 ต่ำกว่ามาตรฐาน เรื่องนี้คงปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียนไปจัดแค่อาหารกลางวันอย่างเดียวคงไม่ได้ เด็กต้องรับประทานอาหาร 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าไม่ว่าลูกคนจนหรือคนรวยมักมีปัญหาพอ ๆ กัน คนจนจะไม่มีปัจจัยหาอาหารครบ 5 หมู่ได้ ส่วนคนรวยอยู่ในเมืองเจอกับปัญหาจราจรต้องตื่นเช้ามืดเด็กต้องกินข้าวขณะที่ยังงัวเงียอยู่หรือไม่ก็ต้องกินบนรถทำให้กินได้น้อย สายหน่อยพอหิวก็จะหาขนมขบเขี้ยวและน้ำหวานมาดื่มกิน ถึงมื้อกลางวันก็จะกินได้น้อยเพราะยังอิ่มอยู่จะหิวอีกครั้งตอนเลิกเรียนก็จะหาขนมขบเขี้ยวน้ำหวานมากินอีกเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ ปัญหาเด็กอ้วน ไอคิวต่ำ จึงเพิ่มขึ้นทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเด็กที่เกิดจากแม่วัยใสหรือเด็กหญิงแม่ที่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถิติการเกิดของเด็ก 120,000 คนต่อวัน จะมาจากแม่วัยใส ถึง 15,000 คน หากรวมกับกลุ่มที่เกิดในชุมชนแออัด พื้นที่ห่างไกล ที่ตกสำรวจคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย เมื่อแม่วัยใสส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปทั้งการกิน การเล่น การเที่ยว การที่จะใส่ใจเรื่องสารอาหารให้ลูกอย่างมีคุณภาพจึงเกิดได้น้อย นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กยากจน ปัญหาอบายมุขรอบตัวเด็ก ปัญหาการหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยี หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง และท้ายสุดก็คงหนีไม่พ้น ผู้ปกครอง เพราะคุณภาพชีวิตบุตรหลานของตนเอง จะปล่อยให้เป็นภาระแต่ฝ่ายอื่นแล้วตนเองมุ่งอยู่กับการทำมาหากิน ก็คงไม่ถูก ผู้ปกครองจะต้องช่วยอบรมดูแลด้านความประพฤติ ความรับผิดชอบ เพราะหากลูกตนเองยังเอาไม่อยู่แล้วจะให้ครูหรือหน่วยงานอื่นเอาอยู่คงเป็นไปได้ยาก
      ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายต่างทราบกันดีแล้วว่าคุณภาพชีวิตของเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยมาร่วมกันสร้างและพัฒนา ไม่ใช่อะไรก็ให้ไหลไปกองอยู่ที่โรงเรียนอย่างเดียวครูก็คงทำไม่ไหว เมื่อมีกระจกบานใหญ่จากภายนอกสะท้อนให้เห็นภาพตัวเราเองว่ามีปัญหาอยู่ที่จุดใดเช่นนี้ก็คงไม่มีใครเขามาแก้ไขให้ได้นอกจากคนไทยด้วยกันเอง คงจะมัวมารอฮือฮาตอนผลประเมินออกมาแถมชี้นิ้วโทษฝ่ายโน่นฝ่ายอย่างที่ผ่านมาน่าจะพอได้แล้ว เพราะหากแต่ละฝ่ายยังคิดว่าธุระไม่ใช่รับรองว่าไม่ได้เห็นคุณภาพการศึกษาไทยติดแค่อันดับโหล่ของอาเซียนเท่านั้น แต่จะไปอยู่ท้าย ๆ ตารางของเวทีโลกด้วย.
กลิ่น สระทองเนียม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น