วงถกแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ สศช. เผยโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน มิหนำซ้ำยังมีปัญหาคุณภาพการศึกษา ขณะที่เด็กนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำแต่ต้องจ่ายแพง แนะปรับขนาด "โรงเรียน-ห้องเรียน" ช่วยลดต้นทุนต่อหัวได้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมประจำปี 2557 เรื่องการพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งในงานได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย : การศึกษาและตลาดแรงงานตอบโจทย์อย่างไร
โดยในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษานั้น นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในมิติการศึกษานั้นพบว่า ด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษามีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับการศึกษาสูงขึ้น
เขากล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำของโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสูงกว่าในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด ร้อยละ 10 ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีไม่ถึงร้อยละ 5 ขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีได้กว่าร้อยละ 60
นายปรเมธี กล่าวว่า ส่วนทางด้านคุณภาพการศึกษามีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างภูมิภาค โดยผลการเรียนของเด็กในภาคอีสานอยู่ในระดับต่ำที่สุดในทุกด้าน ขณะที่รายจ่ายทางการศึกษาของภาครัฐต่อหัวยังคงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และกลุ่มคนที่ไม่จน
คุณภาพการศึกษาเหลื่อมล้ำสูง
ด้าน นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาหลักของการศึกษาไทย คือ คะแนนสอบมาตรฐานต่ำ โดยประเมินจากข้อสอบระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษามีอยู่สูง โรงเรียนจำนวนมากมีขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนเล็กเกินไป (ขาดแคลนครูและมีต้นทุนสูง) ขาดแรงจูงใจในการจัดการ และระบบการศึกษาไทยขาดความรับผิดชอบต่อเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ขณะที่อัตราการเกิดที่ลดลงทำให้จำนวนนักเรียนลดลงอย่างมาก ส่วนจำนวนครูและโรงเรียนไม่สอดคล้องกัน โดยสัดส่วนนักเรียนต่อครูจึงลดลงจากประมาณ 35 : 1 ในปี 2514 เหลือประมาณ 15 : 1 ในปัจจุบัน ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ใช่การขาดแคลนครู แต่เป็นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรครูอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรยังส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกว่า 1 ใน 4 ของห้องเรียนไทยมีขนาดเล็กกว่า 10 คน
ปรับขนาดห้องช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อหัว
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า จังหวัดที่รวยกว่า ยิ่งมีขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการบริหารจัดการให้มีขนาดห้องเรียนใหญ่ที่เหมาะสมจะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่อหัวลงมาได้อย่างมาก
เขากล่าวถึงผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนต่อนักเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขนาดโรงเรียนและขนาดห้องเรียนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนทางการศึกษาเฉลี่ยต่อนักเรียนสูง ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนต่อนักเรียนสูงมาก โดยต้นทุนต่อนักเรียนลดลงมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อโรงเรียนมีขนาดถึง 500 คน เทียบกับจำนวนน้อยกว่า 50 คน และเมื่อขนาดชั้นเรียนเพิ่มขึ้นถึง 35 คนต่อห้อง ต้นทุนต่อนักเรียนลดลง 25 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง สามารถให้การศึกษาที่มีคุณภาพสูง เมื่อพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ ส่วนมากนั้นเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
คนจนเรียนแพงแถมคุณภาพต่ำ
ทั้งนี้ปัญหาของโรงเรียน และชั้นเรียนที่มีขนาดเล็กเกินไป คือ นักเรียนจำนวนมากต้องเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดคุณภาพ มีครูไม่ครบระดับชั้นและไม่ครบวิชา ครูมีประสบการณ์และคุณวุฒิไม่มาก รวมทั้งอัตราการขอย้ายสูง นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ภายในห้องเรียน คุณภาพวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่พอเพียงพอ และโรงเรียนที่มีขนาดเล็กยังทำให้ต้นต่อนักเรียนสูงมากด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์ คือ เด็กนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาที่คุณภาพต่ำ แต่มีราคาแพง
จี้แก้จริงจังก่อนช่องว่างเหลื่อมล้ำเพิ่ม
นายธงชัย ชิวปรีชา กรรมการมูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้คนฐานะยากจน ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มีความเหลื่อมล้ำมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องเริ่มเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ อย่าไปพูดว่าได้ทำแล้ว แต่ต้องทำอย่างจริงจัง โดยเริ่มดูแลตั้งการปฏิสนธิ อย่างการตั้งครรภ์ เช่น การให้อาหารเสริมต่างๆ อีกทั้งต้องมีค่าชดเชย จากการหยุดงานไปตรวจครรภ์เมื่อเด็กคลอดออกมา จนกระทั่งวัย 0-5 ปี ควรที่จะมีศูนย์เด็กเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นถ้าเราดูแลเป็นอย่างดีตั้งก่อนท้องจนถึงเกิดทุกขั้นตอนก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา
"การไปช่วยคนเหล่านี้ เท่ากับเราช่วยลูกหลานเราในอนาคต หากยังไม่เข้าไปช่วย นับไป 50 ปี ก็อาจจะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
ขณะที่การศึกษาควรจูงใจครูที่อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ให้ไปกระจายตัวตามโรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ ให้ทั่วถึง จะเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาได้ดี ถ้าเป็นไปได้ลดขนาดของโรงเรียน สพฐ. เพราะเยาวชนมักจะเรียนต่อสายสามัญ ไม่กล้ามาเรียนสายอาชีพ
ดังนั้นควรเลิกเรียก ปวช. เปลี่ยนไปเรียกชื่ออย่างอื่นได้หรือไม่ แต่ให้มีการสอนเหมือนเดิม นอกจากนี้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นควรให้รู้จักอาชีพต่างๆ จะได้มีแนวทางเพื่อเลือกอาชีพในอนาคต รวมทั้งต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาปรับปรุงอย่างแท้จริง
ธ.ทหารไทยเห็นต่างเหลื่อมล้ำดีขึ้น
ส่วน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศเราจะพัฒนาไปข้างหน้าเท่าไร ความเหลื่อมล้ำก็เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ไขกันต่อไปและไม่มีวันจบสิ้น
เขากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม การทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งในประเทศใดๆ ก็ไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการรับผิดชอบในการแก้ไขเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยค่อนข้างแย่ลง ซึ่งขัดกับการวิจัยที่มองว่าความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาที่ยังคงมีอยู่ จึงมองว่าความเหลื่อมล้ำนั้นแย่ลงเรื่อยๆ และมีประเด็นมากมาย ดังนั้นเราต้องกลับมามองดูต้นตอของปัญหามากกว่า
ติงการศึกษาเน้นให้จบ-ไม่เน้นคุณภาพ
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยถือว่าล้มเหลวมาก เพราะไม่สามารถสร้างบุคลากรที่เป็นความต้องการในตลาดแรงงาน เราเน้นด้านจบการศึกษามากกว่าทำให้คุณภาพขาดหายไป ทำให้ภาคเอกชนเวลารับสมัครงานจึงต้องเลือกสถาบัน แม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะระบบการศึกษาไทยไม่มีคุณภาพ
ภาคเอกชนบางส่วนเลือกมากขึ้น ถึงขั้นหากมีคนจบต่างประเทศหรือคนจบไทยมาสมัครงาน ก็อาจจะเลือกคนจบต่างประเทศ ทั้งที่ระบบการศึกไทยแข่งขันได้ดีกว่า ดังนั้นควรเน้นด้านทักษะมากขึ้น โดยตลาดแรงงานบอกความต้องการไปยังอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาประสานงานกับภาคเอกชนมากขึ้น
ชี้ศก.ไทยไม่ชัดเจนส่งผลพัฒนาแรงงาน
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะไปทางไหน เช่น เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม และเรายังบอกว่าไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร จะมีการพัฒนาจะด้านไหน เพราะการพัฒนาแรงงานเป็นการวางแผนระยะยาว เราต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยมองตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของปัญหา
ดังนั้นจึงอยากเสนอให้สภาพัฒน์ฯ เข้ามาเติมเต็มบทบาทเรื่องนี้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ การตั้งเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจน และติดตามประเมินผลต่อเนื่อง เช่น ต้องลดส่วนต่างของสัดส่วนรายได้ลงให้เหลือ 15 เท่า หรือเพิ่มการถือการถือครองที่ดินชุมชนให้ครอบคลุม 5 เปอร์เซ็นต์ และสามารถสร้างภาคีเครือข่ายลดความเหลื่อมล้ำเพื่อทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น