วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ถอดบทเรียน "ครุศึกษาฟินแลนด์" สู่การพัฒนาการศึกษาระดับประเทศ

การครุศึกษาเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ ชาติ โดยมีคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาวิชาชีพครู ทั้งการสร้างครูใหม่ และการร่วมพัฒนาครูประจำการที่มีอยู่
กว่า 5 ปีผ่านมาพบว่าการครุศึกษาของประเทศฟินแลนด์ได้รับความสนใจจากนักการครุศึกษาไทยมาโดยตลอด สังเกตได้จากสถาบันครุศึกษาไทยหลายแห่งจัดศึกษาดูงานเกี่ยวกับการครุศึกษาที่ประเทศฟินแลนด์ ตลอดจนเข้าร่วมการประชุมนานาชาติเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูทั้งในและต่างประเทศ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศฟินแลนด์มาบรรยาย

ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานครุศึกษาสามารถกำหนดกลยุทธ์ และบทบาทในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักการครุศึกษา จึงส่งผลให้ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศึกษาฟอรั่ม จัดการเสวนาชุมชนแห่งการเรียนรู้นักการครุศึกษา เรื่องบทเรียนจากครุศึกษาฟินแลนด์ : คุณภาพครุศึกษา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักการครุศึกษาจากหลายภาคส่วน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
หนึ่งในนั้นคือ "ดร.จุฑารัตน์ วิบูลผล" รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ตนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการศึกษาของฟินแลนด์จากหลายเวที ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในหลาย ๆโอกาสจะเป็นการสนับสนุนโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

"จากประสบการณ์ผ่านมาทำให้ตระหนักว่าการศึกษาต้องสามารถรักษาดุลยภาพกับทางการเมืองให้ได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยครั้ง แต่นักการศึกษาต้องมีจุดยืนในการทำหน้าที่รักษาคุณภาพการศึกษาให้ดีที่สุด"

"เมื่อ พูดถึงการครุศึกษาของฟินแลนด์แน่นอนว่าคีย์เวิร์ดที่ทำให้เรานึกถึง คือTrust(เชื่อมั่น)และAccountability(ความรับผิดชอบในหน้าที่)ซึ่งเราพบว่า ครูฟินแลนด์มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบในหน้าที่สูง โดยที่ไม่ต้องใช้ระบบประเมินมารับประกันคุณภาพ เพราะครูทุกคนมีความเอาใจใส่มุ่งมั่นให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จด้วยตัวเอง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนของประเทศฟินแลนด์เชื่อมั่นในผู้เป็นครูอย่าง มาก"

"ดร.จุฑารัตน์" อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้เกิด Trust และ Accountability ที่สมดุลกันในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ คือความร่วมมือ และประสานการทำงานกันจากทุกภาคฝ่าย โดยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ 1.นักครุศึกษา 2.โรงเรียน 3.ผู้ปกครองและชุมชน

"นักครุศึกษาฟินแลนด์ใช้การวิจัยเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และจะทำงานสอนกับงานวิจัยควบคู่กันไปตลอดเวลา เพราะการวิจัยสร้างทิศทางที่ชัดเจน ทำให้สามารถตอบโจทย์ของสถาบันการศึกษา และสังคมได้ และจากการที่ได้ไปทำเวิร์กช็อปที่ฟินแลนด์ ทำให้เห็นภาพว่านักศึกษาฝึกสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ จะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับทางโรงเรียน"

"ต่างกับบ้านเรา ที่โรงเรียนหลายแห่งอาจมองว่าการรับนักศึกษาฝึกสอนสร้างภาระและประเทศไทย มีบทบาทระหว่างนักศึกษาฝึกสอนกับครูพี่เลี้ยงไม่ชัดเจนโดยจะมองว่าครูพี่ เลี้ยงมีหน้าที่เป็นผู้ประเมินนักศึกษาฝึกสอนมากกว่าการเป็นผู้ส่งเสริมความ รู้แต่ที่ฟินแลนด์โรงเรียนเป็นเสมือนองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับครู ฝึกสอนได้อย่างดี"

"นอกจากนี้ครอบครัวและชุมชนยังมีบทบาทส่งเสริมการ ศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยแสดงผลสะท้อนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานของ โรงเรียนกลับไปทั้งนี้จากการที่ประเทศฟินแลนด์เก็บภาษีคนในประเทศสูงเพื่อ ให้โอกาสคนในประเทศเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษาจึงส่งผลให้คน ในชุมชนมีความเอาใจใส่ตรวจสอบการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้แน่ใจว่าเงินภาษี ที่จ่ายไปนั้นจะคุ้มค่าและสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้"

ขณะที่ "ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่ไปศึกษาระดับปริญญาเอกด้านครุศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กล่าวว่า จากการที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์มา 5 ปี

จึงพอสรุปปัจจัยซ่อนเร้นที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

หนึ่ง วัฒนธรรม-ชาวฟินแลนด์มีวัฒนธรรมทางความคิด ความเชื่อ (Culture of Trust) ที่เด่นชัดมาก ซึ่งส่งผลตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงถึงระดับล่าง โดยแต่ละหน่วยงานสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ โดยไม่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากส่วนงานระดับบน และชาวฟินแลนด์มีวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นมืออาชีพ

"โดยใช้การวิจัยเป็นหลัก เพราะชาวฟินแลนด์มีความเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาสิ่งใดก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับการวิจัย เพื่อให้รู้สภาพการณ์ในปัจจุบัน และเห็นทิศทางที่จะพัฒนาได้อย่างไร

สอง สังคม-ประเด็นทางสังคมในฟินแลนด์ที่สำคัญ ๆ จะถูกจัดสรร และนำมาบูรณาการเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นเรียน เพื่อให้มีบทเรียนที่ทันกับเหตุการณ์ กับสังคมในปัจจุบัน

สาม ปัจเจกบุคคล-ทุกคนในสังคมของฟินแลนด์มีความเท่าเทียกัน โดยจะเห็นได้จากทั้งด้านปริมาณ (Quantity) คือให้การศึกษากับคนทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา สามารถเข้ามาเรียนในประเทศเท่าเทียมกันและด้านคุณภาพ (Quality) ที่ให้เสรีภาพในการทำงาน และการแสดงศักยภาพของแต่ละบุคคลอย่างเท่าเทียม"

ส่วน "ดร.สุธรรม วาณิชเสนี" ผู้เชี่ยวชาญแนวคิดเชิงระบบ กล่าวสรุปในตอนท้ายของการประชุมว่า เมื่อเราพูดถึงบทเรียนจากครุศึกษาฟินแลนด์ อยากให้นักครุศึกษาคิดถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาและหาวิธีที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศไทยต่อไป

"แม้ ครุศึกษาจะเป็นรากฐานหลักของระบบการศึกษาและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพ ครูแต่ประเทศของเรายังขาดกลยุทธ์ของครุศึกษาในภาพรวมที่ชัดเจนปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของครุศึกษาไทยได้แก่การออกแบบหลัก สูตรครุศึกษา,คุณภาพของผู้เรียนที่ผลิตออกมาเป็นนิสิตครู,เกณฑ์ในการคัด เลือก, คุณภาพของกระบวนการสร้างครูใหม่ และการรับรองคุณภาพโปรแกรมการผลิต รวมถึงการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ"

"ฉะนั้นจากการที่มีโอกาสเห็นการเรียนรู้ของคณาจารย์ และนักการครุศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ศึกษาการคุรุศาสตร์ฟินแลนด์ ผมจึงมองว่า หากเรามีการจัดการความรู้ หรือสร้างภาพต่อที่สมบูรณ์ ผ่านการตีความและวิเคราะห์ในมุมมองของนักการครุศึกษาไทย จะมีโอกาสสร้างแนวทางการดำเนินงานการครุศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไปได้"

ที่มาประชาชาติธุรกิจออนไลน์  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1408074151

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น