วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แบบเรียนไทย 6 ยุค ที่คนไทยควรเรียนรู้

เมื่อพูดถึงแบบเรียนไทย เรามักจะจดจำแบบเรียนในยุคสมัยของตนเองได้ดียิ่งกว่าใคร ยิ่งได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ยิ่งคุยกันได้ไม่รู้จบ แต่แบบเรียนในยุคสมัยใครก็เป็นยุคสมัยของคนคนนั้น เรารู้แต่แบบเรียนในยุคสมัยของเราแล้วก็จบ คงจะดี หากเราจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้แบบเรียนไทยในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมันมีเรื่องราว มีที่มาที่ไป ที่เมื่อเราได้เรียนรู้ เราอาจค้นพบว่า

แบบเรียนไทย มีอะไรมากกว่าที่เราคิด! 
แบบเรียนไทย ยุคที่ 1 ตาหวังหลังโก่ง 
(แบบเรียนรวมชาติ พ.ศ. 2414-2461)

          ยุคนี้เริ่มต้นจากแบบเรียนมาตรฐาน เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนแห่งแรก ใน พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อครั้งเป็นหลวงประเสริฐ รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก และแต่งตำราเรียนขึ้นใช้ในโรงเรียน เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงจะจบหลักสูตรการศึกษา ต่อมาใน พ.ศ. 2430 ได้มีการตั้งกรมศึกษาธิการ และในวันที่ 1 เม.ย. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยมีการจัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวงขึ้นแทนการปกครองแบบเดิม โดยมีกระทรวงธรรมการ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีพระองค์แรก รับผิดชอบด้านการศึกษาการสาธารณสุขและสงฆ์ มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาครั้งแรกใน พ.ศ. 2435 เรียกว่า “กฎพิกัดสำหรับการศึกษา” เพิ่มการเรียนวิชาต่างๆ นอกจากภาษาไทย และก่อตั้ง “กองแบบเรียน” เพื่อทำหน้าที่จัดพิมพ์แบบเรียนหลวง พิจารณาคัดเลือกหนังสือที่จะใช้เป็นแบบเรียน และกำกับดูแลเนื้อหาอย่างใกล้ชิด หนังสือบางเล่มที่ถูกนำมาใช้ จะต้องดัดแปลงเนื้อหาให้เหมาะสม
          ใน พ.ศ. 2443 พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้เขียนตำราแบบเรียนคดีธรรม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แบบเรียนสมบัติผู้ดี” ที่เน้นการเอาพุทธศาสนามาปรับใช้ โดยแบบประพฤติดีนี้มีทั้งในทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ใน พ.ศ 2445 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับขุนอนุกิจวิธูร ร่วมกันเขียนแบบเรียนธรรมจริยา 2 เล่ม มีรูปแบบการนำเสนอคือการสมมติตัวอย่างในชีวิตประจำวัน และมีตัวละครขึ้นมาคือ นายชอบ ที่เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ กับนายชัง ที่มีนิสัยตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน แต่สำหรับเด็กวัด หรือลูกชาวบ้านที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา มีเวลาเรียนแค่ปีละ 3 เดือน จึงไม่เหมาะกับตำราเรียนชุดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงปรับปรุงเสียใหม่ เป็น “แบบเรียนเร็ว 3 เล่ม” เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาเรียนน้อยลง ทรงผูกเรื่องสั้นๆ อย่างตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง สำหรับฝึกอ่านเพิ่มเติม รวมทั้งเปลี่ยนจากการท่องจำเป็นการผสมคำทีละขั้นจนสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น

แบบเรียนไทย ยุคที่ 2 พ่อหลี พี่หนูหล่อ 
(แบบเรียนยุคพลเมืองดี พ.ศ. 2464-2474) 

          ในยุคนี้การศึกษาสมัยใหม่เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาใน พ.ศ. 2464 กำหนดให้เด็กอายุ  7-14 ปี เข้ารับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการแต่งแบบเรียนใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติและพลเมือง ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีของชาติ มีมารยาทดี และมีการศึกษา

แบบเรียนไทย ยุคที่ 3 ป้ากะปู่ กู้อีจู้ 
(แบบเรียนยุคชาติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475-2500)
 

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ส่งผลต่อการระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะราษฎรได้ประกาศให้การศึกษาเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และระบุไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
          เมื่อคณะราษฎรได้ปรับปรุงแผนการศึกษา และประกาศเป็นประมวลการศึกษาพิเศษว่าด้วยหลักสูตรและประมวลการสอนใหม่ พ.ศ. 2480 ความสำคัญของหลักสูตรใหม่เมื่อเทียบกับหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2464 คือ มีการเปลี่ยนชื่อวิชาธรรมจรรยา มาเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2490 ภายหลังที่ประเทศได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ แบบเรียนในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จะเน้นไปที่การสอนให้เด็กๆ สามัคคีและรักชาติ โดยแบบเรียนที่เป็นที่รู้จักของยุคนี้ คือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น แต่งโดยหลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล เป็นที่รู้จักจากประโยค “ป้ากับปู่ กู้อีจู้”
          ในช่วงต้นของการมีประชาธิปไตยในประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 24812486 และ พ.ศ. 24912500 โดยในยุคแรก จอมพล ป. ยังคงดำเนินนโยบายการศึกษาตามหลักหกประการของคณะราษฎร โดยมุ่งเน้นด้านสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา เพิ่มภาคปฏิบัติและการศึกษาภาคผนวก เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจหน้าที่พลเมืองให้มากที่สุด
          ในยุคที่ 2 จอมพล ป. เพิ่มความสนใจกับเรื่องการศึกษามากเป็นพิเศษ โดยเน้นการวางรากฐานเพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีของชาติ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและสังคมชนบท การทำงานของคนแต่ละรุ่น รวมทั้งแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่ปรากฏในเนื้อหา แบบสอนอ่านมาตรฐาน 2 เล่ม และหนังสือชุด สุดากับคาวี ที่ดัดแปลงจากหนังสือชุด Janet and John ของประเทศนิวซีแลนด์ การใช้ตัวละครเอกเป็นเด็กชายหญิงสองพี่น้องที่ได้พบเรื่องราวต่างๆ ที่สอดคล้องกับระดับการเรียนรู้ของเด็ก กลายเป็นต้นแบบของแบบเรียนที่เขียนขึ้นในภายหลังอีกหลายเล่ม
          แบบเรียนที่รู้จักกันดีอีกชุดหนึ่งคือ “แบบเรียนชุดบันไดก้าวหน้า” มี “เรณู ปัญญา” เป็นตัวละครเอก ใช้เป็นแบบเรียนบังคับเพียงหนึ่งปี เพราะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการสอนสะกดคำ ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็ยังถูกใช้เป็นแบบเรียนเลือกและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
          ถึงแม้แบบเรียนเหล่านี้จะมิได้นำมาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว แต่ในปัจจุบันนักเรียนทุกคนยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจอมพล ป. ด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นประจำทุกวัน

แบบเรียนไทย ยุคที่ 4 สองพี่น้อง เห็นวิหค นกพูดได้ ก็พอใจ อยากจะรัก ให้นักหนา 
(แบบเรียนยุคชาติสถาบัน พ.ศ. 2501-2521)

          จินตนาการเรื่องรัฐชาติในแบบเรียนถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคสมัยนี้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีมาตั้งแต่การปกครอง 2475 ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ถูกยกเลิกทั้งหมด พร้อมๆ กับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักคิด นักเขียน และเชิดชูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะของศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้ง ชาติ แต่ในยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุน
          แบบเรียนในยุคนี้มุ่งสอนให้นักเรียนเห็นความสำคัญของปัญหาความมั่นคง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศชาติ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแบบเรียนหน้าที่พลเมืองก็ได้ตัดหน้าที่ในการเคารพรัฐธรรมนูญออกไป เหลือแต่เพียง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือย้อนกลับไปหาหลักสูตร พ.ศ. 2464 เท่านั้น
          นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหนังสือชุด “นิทานร้อยบรรทัด” ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ก่อนจะพิมพ์เล่มแรกใน พ.ศ. 2501 โดยนิทานร้อยบรรทัดมีทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 ครูที่รักเด็ก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย และประชาธิปไตยที่ถาวร หนังสือชุดนี้เรียบเรียงโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถม ตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่น่าจะแต่งเนื้อหาขึ้นในสมัยจอมพล ป. เพราะสะท้อนอุดมการณ์สร้างชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ในฐานะพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดังเช่นในเล่ม  “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” กล่าวถึงความใฝ่ฝันของเด็กๆ ที่อยากเป็นเกษตรกร แต่สิ่งสำคัญที่แบบเรียนในยุคนี้ได้ปลูกฝัง คือ รัฐชาติที่มีประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ มีสิทธิเสรีภาพตามสมควร และมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของชาติ

แบบเรียนไทย ยุคที่ 5 มานะ มานี ปิติ ชูใจ 
(แบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ พ.ศ. 2522-2533)

          แบบเรียนชุดนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีเทคนิคการเขียนที่ดี ด้วยการผูกเรื่องราวของตัวละครอย่าง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียน โดยใช้ฉากหมู่บ้านในชนบทที่สงบสวยงามตามอุดมคติ โดยแบบเรียนชุดนี้ได้แฝงความคิดเรื่องชาติและหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้แบบเรียนชุดอื่นๆ โดยเสนอจินตภาพของชาติเหมือนหมู่บ้านขนาดใหญ่ ปราศจากปัญหาเชิงโครงสร้าง มีแต่เพียงปัญหาที่เกิดจากศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ปัญหาการตัดไม้ เพราะความโลภของนายทุนบางคน และการดำเนินชีวิตในแบบเรียนชุดนี้ จะมีความรักชาติบ้านเมืองเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เสมอ
          ในยุคนี้มีแบบเรียนบางเล่มที่กล่าวถึง “ภัยคอมมิวนิสต์” อย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก คือแบบเรียนหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เน้นว่า มุ่งสอนให้ตระหนักถึงภัยจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นลัทธิการเมืองที่ผิดแผกแตกต่างไปจากลัทธิประชาธิปไตย โดยคอมมิวนิสต์จะใช้วิธีกลืนชาติ และจะทำให้ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเสรีภาพ โดยวิธีการปลุกปั่นและโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังเช่นแบบเรียนหน้าที่พลเมืองชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “ถ้าหากประชาชนคนใดได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ภัยอันเกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ พระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะเห็นว่าทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมหาสิ่งของไปพระราชทาน รับว่าเป็นบุญอันล้นพ้นของเราที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย”

แบบเรียนไทย ยุคที่ 6 กล้า แก้ว กับ ใบบัว ใบโบก และเด็กชายภูผา 
(แบบเรียนยุคปัจจุบัน)
          กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาอีก ครั้ง ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) และเริ่มใช้แบบเรียนชุด “กล้า แก้ว” ใน พ.ศ. 2537 เป็นแบบเรียนที่เน้นภาพประกอบสีสันสวยงาม 
และตัวหนังสือขนาดใหญ่ อ่านง่ายเหมือนหนังสือภาพสำหรับเด็ก
          ทว่า ในปัจจุบันได้ประกาศใช้ “แบบเรียนชุดภาษา พาที” เป็นหนังสือภาษาไทยประจำหลักสูตร พ.ศ. 2551 โดยมีตัวละครในการเดินเรื่องคือ “ใบโบก” ช้างสีฟ้า และ “ใบบัว” ช้างสีส้ม เป็นเพื่อนของเด็กชายภูผา บทที่เด็กๆ ท่องได้ขึ้นใจเป็นอย่างดีคือ มา มาดูใบบัว มา มาดูใบโบก ฯลฯ ในแบบเรียนยุคนี้ มีการพัฒนาสื่อการสอนประกอบได้อย่างน่าสนใจ ทั้งแบบเรียนดิจิทัล การ์ตูนแอนิเมชั่นประกอบบทเรียนแต่ละบท สามารถสืบหาได้จากอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.kroothaiban.com/news-id6820.html

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทำอย่างไร? ถึงจะทำให้คนในชาติเกิดค่านิยมไทย

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายสร้างคนในชาติให้มีค่านิยมไทย 12 ประการนั้น ถือว่าเป็นการคิดพัฒนาบุคลากรของชาติได้ตรงจุดด้วยสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ก็มาจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามค่านิยมที่ว่านี้ ซึ่งจะผิดกับคนไทยในอดีตที่เขาอยู่กันอย่างมีความสุขก็ด้วยยึดมั่นในสิ่งที่ดีงามพร้อมประพฤติ ปฏิบัติต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นประเพณี วัฒนธรรม โดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับให้ทำ

ทั้งนี้ก็ด้วยทุกคนมีความเชื่อ ศรัทธาในสิ่งเดียวกัน เช่น เชื่อว่าทำบุญเมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ทำไม่ดีก็จะตกนรก ทุกคนจึงมุ่งทำแต่ความดี ทำให้คนไทยในอดีตแม้ส่วนใหญ่จะด้อยด้านฐานะแต่จะรํ่ารวยวัฒนธรรม ประเพณี ไมตรีจิต อยู่กันอย่างญาติมิตร ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความศรัทธาและเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากความงดงามที่เกิดขึ้นทำให้มวลความสุขของประชาชนสูงมากประเทศชาติก็มั่นคง แม้แต่ต่างชาติ ยังหลงใหลในเสน่ห์ความเป็นไทยพากันมาท่องเที่ยวจำนวนมาก

แต่พอมาถึงโลกยุคไร้พรมแดนที่วัฒนธรรม วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว การรับเอาสิ่งต่าง ๆเหล่านี้เข้ามาใช้ในวิถีชีวิตแบบไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยดำเนินชีวิตอย่างหลงทาง ขาดความเชื่อและศรัทธาในสิ่งดีงาม เกิดค่านิยมใหม่เห็นความรํ่ารวย การมีอำนาจ มีความสำคัญกว่า การแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้นและฝังรากลึกขึ้นเรื่อย ๆเมื่อความเชื่อศรัทธาไปคนละทาง สารพัดปัญหาต่าง ๆ จึงตามมาแม้จะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด ถึงได้บอกว่าค่านิยมไทย 12 ประการ มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะได้รื้อฟื้นสิ่งดีงามให้หวนกลับมาสู่วิถีความเป็นไทยอย่างแท้จริงอีกครั้ง แม้อาจจะเป็นเรื่องยากกับคนในยุคปัจจุบันแต่ก็ต้องทำ เพราะหากปล่อยให้ถลำลึกไปมากกว่านี้การจะดึงรากเหง้าความดีงามความเป็นชาติไทยให้ฟื้นคืนมาคงจะยิ่งยากไปกันใหญ่

ตอนนี้จึงเหลืออยู่แค่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้คนในชาติเกิดความตระหนัก เชื่อมั่น ศรัทธาแล้วนำค่านิยมนี้ไปปฏิบัติจนเกิดเป็นกิจนิสัยถาวร ซึ่งคำตอบนี้คงจะไม่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้แต่ต้องร่วมมือกันทั้งระบบ

เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ที่ต้องเห็นความสำคัญว่าค่านิยมนี้จะช่วยพัฒนาลูกหลานให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตได้ การปลูกฝังจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อให้เกิดซึมซับสิ่งดีงามตั้งแต่แรกเริ่มจนฝังรากลึกในจิตสำนึกและนำไปปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรปกติประจำวัน โดยคนในครอบครัวจะต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเพราะเด็กจะยึดพ่อแม่เป็นแบบพิมพ์ หากแม่ปูเดินขาเกลูกปูก็จะเดินขาเกตามไปด้วย คนในครอบครัวจึงต้องดำเนินชีวิตตามค่านิยมให้ลูกหลานได้เห็นและพาทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งไหนทำดีก็ต้องชื่นชมเพื่อให้เกิด กำลังใจอยากทำดีมากขึ้นหากทำไม่ดีก็ต้องตักเตือนว่า “สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้” เพราะหากสอนกันอยู่แค่ว่าทำแล้วเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี ส่วนเด็กจะเชื่อหรือนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็ได้นั้นคงไม่เกิดประโยชน์โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกแบบตามใจหาให้ทำให้ทุกอย่าง ในที่สุดเด็กก็ทำอะไรไม่เป็น ขาดเกราะคุ้มกันทั้งทักษะอาชีพและทักษะชีวิต วิธีการรักลูกไม่ถูกทางหรือ” พ่อแม่รังแกฉัน” เช่นนี้น่าจะต้องหมดไป

ระดับโรงเรียน เบื้องต้นหากต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจผ่านบทเพลง บทกลอน วาดภาพก็ว่ากันไป แต่จะหยุดแค่กิจกรรมหรือความรู้เพื่อทำข้อสอบได้อย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่โรงเรียนจะต้องปลูกฝังสร้างความตระหนักและปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นกับเด็กจนเป็นกิจนิสัยด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละค่านิยมไทย แต่พื้นฐานเบื้องต้นที่ทุกโรงเรียนต้องดำเนินการ คือ ต้องจัดกายภาพโรงเรียนให้ น่าดู น่าอยู่ น่าอาศัย น่าเรียนรู้ เป็นบ้านหลังที่สองอันแสนอบอุ่นของเด็กให้ได้เพื่อให้เด็กอยากมาโรงเรียนและเรียนรู้อย่างมีความสุข ครูจะต้องบูรณาการค่านิยมกับการสอนในทุกวิชาทุกกิจกรรมพร้อมสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลยกย่องชมเชยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในโรงเรียนและสังคม นอกจากนั้น ผู้บริหารและครูจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการครองตน ครองคน ครองงาน ให้ประชาชนและนักเรียนได้นำไปปฏิบัติตามหรือวิธีการส่งเสริมให้นักเรียนรุ่นพี่เป็นต้นแบบที่ดีให้กับรุ่นน้อง เป็นต้น

ชุมชน สังคม ถือว่าเป็นส่วนที่มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังค่านิยมกับเด็กและประชาชนมากที่สุด ด้วยเป็นห้องเรียนชีวิตจริงที่มีแบบเรียนสำเร็จรูปให้ได้เห็นจดจำ ทำตามทุกอย่างแบบไม่รู้จบทั้งพฤติกรรมการแสดงออกของผู้คนแต่ละหมู่เหล่า สภาพแวดล้อม อบายมุข ยาเสพติด การแข่งขันในการทำมาหากิน สื่อลามก สิ่งยั่วยุจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กได้รับจากประสบการณ์ตรงทุกวัน หากสังคมมัวเห็นแก่ตัวหรือคิดว่าธุระไม่ใช่ การที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดค่านิยมไทยก็คงเป็นไปได้ยากแถมปัญหาต่าง ๆ ก็คงไม่สามารถลดลงได้

การสร้างค่านิยมดังกล่าวนี้จึงต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเมื่อทุกคนทำก็จะกลายเป็นสังคมภาพใหญ่ที่ทำแต่ความดี ส่วนด้านไหนที่ถลำลึกจนไม่สามารถสร้างความตระหนักอย่างเดียวได้แล้วก็ต้องใช้ กฎของสังคมเป็นตัวกำกับเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ หรือรวมกันแสดงให้เห็นว่าผู้ทำไม่ดีนั้นเป็นคนไร้ค่า ไม่มีคุณค่าในสังคมแม้จะรํ่ารวย หรืออยู่ในฐานะใดก็ตามและที่สำคัญจะต้องช่วยกันยกย่องสรรเสริญคนทำดี ให้เป็น “คนต้นแบบ” ของสังคมเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าหากทำดี เป็นคนดีแล้วตนเองจะมีความสุข ทุกฝ่ายให้ความชื่นชม เคารพศรัทธา

ระดับรัฐบาล จะต้องจริงจังกับการใช้และลงโทษตามกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างค่านิยมไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด อบายมุข การใช้อิทธิพลแสวงหาผลประโยชน์ ความไม่เป็นธรรมในสังคม และจะต้องแก้ปัญหาความยากจน แหล่งเสื่อมโทรม มีการกำกับดูแลให้กลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความศรัทธาของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง นักกีฬา ผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต้องเป็นต้นแบบที่ดีตามค่านิยม 12 ประการเพื่อกระตุ้นให้เด็กลอกเลียนแบบในสิ่งที่ดีงามมากขึ้น การควบคุมสื่อ ทุกประเภทให้นำเสนออย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านละครหรือเกมโชว์ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงง่ายหากนำเสนอในภาพลบไม่สร้างสรรค์หรือสอดคล้องกับค่านิยมไทย การลอกเลียนแบบในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนนี้ภาครัฐก็ต้องควบคุมให้ได้

หากทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันส่งเสริมทั้งระบบจะด้วยวิธีการใดก็ได้ที่จะทำให้คนไทยทุกคนเกิดความเชื่อ ศรัทธา ค่านิยมไทยไปในทิศทางเดียวกันได้แล้ว คิดว่าความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ด้วยความเป็นไทยที่มีต้นทุนพื้นฐานกับค่านิยมเหล่านี้สูงอยู่ก่อนแล้ว ช่วยกันเถอะครับเพื่อนำความสุขมาสู่คนไทยอย่างยั่งยืน นำความมั่นคง รํ่ารวย มั่งคั่งด้านวัฒนธรรมประเพณีมาสู่ประเทศชาติอีกครั้งเพราะสิ่งเหล่านี้แม้แต่ต่างชาติเขาก็ยังมองเห็นคุณค่ามาเที่ยวชมและศึกษากันอย่างมากมาย แล้วทำไมเราคนไทยแท้ ๆ จึงเห็นเพชรเป็นพลอยปล่อยทิ้งแล้วไปรับเอาสิ่งที่เป็นปัจจัยสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติมาแทนที่อย่างนี้จะเรียกว่าฉลาดหรือโง่กันดีนะ.
กลิ่น สระทองเนียม

ต้องอ่าน! “Baidu” คืออะไร มาจากไหน มีพิษภัยหรือไม่ หรือแค่อุปทาน

        เชื่อได้ว่าชั่วโมงนี้เพื่อนๆ สมาชิกและคอไอทีทั้งหลายไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Baidu หรือที่เค้าเรียกตัวเองในภาษาไทยว่า ไป่ตู้ นั่นเอง โดยไป๋ตู้นั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างล้นหลามในแบบสองแง่สองง่ามในปัจจุบันทั้งในแง่ลบ และในแง่บวก แต่ดูเหมือนว่ากระแสแง่ลบ รวมถึงกระแสต่อต้านจะมีมากกว่าในปัจจุบัน ดังนั้นเรามาดูให้ลึกเลยดีกว่าว่าจริงๆ แล้ว Baidu มีโปรแกรมอะไรบ้าง มาจากที่ไหนและ มีพิษมีภัยหรือไม่อย่างไร
             
             

Baidu คืออะไร มาจากไหน?

คำถามแรกที่เชื่อว่าเพื่อนๆทุกคนอยากรู้คือ Baidu คืออะไร มาจากไหน ทำไมถึงถูกพูดถึงขนาดนี้ สำหรับ ไป่ตู้ นั้นถ้าว่ากันตามข้อมูลที่หาได้ตามอินเตอร์เน็ตก็คือผู้ให้บริการซอฟแวร์ แอปพลิเคชั่น เสิร์จเอนจินรายใหญ่ที่เป็นอับหนึ่ง และมีต้นกำเนิกจาก ประเทศจีน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และ Baidu มีพนักงานทั่วโลกและในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 34,600 คน

โดยไป่ตู้ หรือ Baidu นั้นก็ขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยได้เน้นไปทางด้านซอฟแวร์และเว็บแอปเป็นหลัก อย่าง Baidu Antivirus , Baidu Spark , Hao123 , Baidu IME , Simeji , Thailand Download , Baidu UEC แต่ก็มีบางแอปและบางบริการ ทีจะถูกพูดถึงอย่างหนักและเป็นกระแสในวงกว้างอยู่ไม่กี่โปรแกรมอย่าง Baidu PC Faster , Hao123  , Baidu PC Faster , Baidu Spark , Baidu Translate

Baidu Spark

สำหรับ Baidu Spark ถ้าถามว่าดีหรือไม่ และเป็นอันตรายหรือเปล่านั้นขอบอกได้เลยว่ามีแบ่งเป็น 2 ความเห็น ในบางกระแสกล่าวว่า Baidu Spark ใช้งานได้ง่าย มีลักษณะคล้าย Google Chrome ผสมกับ Firefox รวมไปถึงยังมีฟีเจอร์ที่คอยอำนวยความสะดวกมากมาย แต่กระนั้นแล้วรูปแบบการมาของโปรแกรม Baidu Spark อาจจะทำให้หลายคนไม่พอใจเช่น แอบแฝงมากับโปรแกรมโดยที่เราไม่รู้ตัว และในบางครั้งถ้าติดตั้งโปรแกรมแล้วอ่านไม่ถี่ถ้วนเจ้าโปรแกรมนี้ก็มาติดตั้งบนเครื่องและตั้งค่าเป็นเบราเซอร์ปริยายให้โดยอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว หรือที่แย่กว่านั้นคือหลายๆ คนต่างบอกว่า Baidu Spark ส่งผลโดยตรงต่อโปรแกรมเบราเซอร์อื่นๆ หรือส่งผลต่อเครื่องให้ช้าลงเป็นต้น

Baidu Translate

สำหรับ Baidu Translate นั้นก็เป็นอีกหนึ่งการให้บริการของทาง ไป่ตู้ ที่ใช้งานได้ดี และดูเหมือนว่าจะไม่มีโปรแกรมใดๆ ที่สร้างปัญหาแอบแฝงมาด้วย ซึ่งก็แน่นอนละครับเพราะ Baidu Translate เป็นเว็บแอปพลิเคชั่นสำหรับแปลภาษาที่มีลักษณะคล้ายๆ กับ Google Translate นั่นเอง แต่ Translate  ของ ไปตู่ เท่าที่ลองใช้ดูก็พบว่าสามารถแปลได้ค่อนข้างตรงและแม่นยำพอสมควร โดยเฉพาะกับคำด่า และทางผู้เขียนเองยังไม่เจอปัญหาโปรแกรมแฝงใดๆ 

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (1)

หากจะว่าไปแล้วมีครูและนักการศึกษาบางส่วนที่ยังนึกไม่ออกว่า เมื่อมีทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (หรือทฤษฎีการสร้างความรู้ก็เรียก) จะนำไปเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้อย่างไร ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาแล้ว[อ่านเพิ่มเติม] โดยได้เสนอว่า ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา ว่าด้วยการสร้างความรู้โดยอธิบายจากแนวคิดกระบวนการทางปัญญา และทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงสังคม โดยอธิบายการสร้างความรู้ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม คำถามต่อมาคือจะนำแนวคิดใดไปใช้บ้าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองกลุ่มแนวคิดนี้มิได้มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเพียงแต่อธิบายคนละพื้นฐานเท่านั้นเอง หากแต่ทั้งสองได้มุ่งอธิบายกลไลการสร้างความรู้ของบุคคลเช่นเดียวกัน โดยในบทความนี้จะเสนอแนะแนวทางในการทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญามาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้
บ่อยครั้งหรือเกือบทุกครั้งที่หากเมื่อเราเกิดความสงสัยหรืออยากรู้เรื่องใดแล้ว เราจะต้องพยายามรู้เรื่องนั้นให้ได้ ด้วยวิถีทางที่เราเชื่อว่าง่ายที่สุดสำหรับการได้มาซึ่งคำตอบ (แม้บางทีมีคนแนะนำวิธีการอื่นเราก็ไม่เอาด้วย เพราะเราเชื่อของเราอย่างนี้) โดยคำตอบนั้นอาจจะได้มาทันทีหรือไม่ทันที เราเองก็จะใช้ความพยายามในการหาคำตอบเมื่อมีโอกาส และหากสังเกตดีๆ เรื่องที่เราอยากรู้มากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเราเอง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา หรือคนใกล้ชิด หรือหากความสงสัยนั้นรุนแรงถึงขั้นเป็นปัญหา เราเองก็จะถึงกับกระวนกระวายหากหาคำตอบหรือแก้ปัญหานั้นไม่ได้
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา ซึ่งนักจิตวิทยาที่มีส่วนสำคัญในการเสนอแนวคิดนี้คือ Jean Piajet โดยอธิบายว่า การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดจากการปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา เนื่องมาจากการเสียสมดุล หรือพูดกันง่ายๆก็คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีก่อนอื่นจะต้องเกิดความสงสัยอยากรู้หรือเกิดปัญหาเสียก่อน (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การเสียสมดุลทางปัญญา) หลังจากนั้นผู้เรียนจะพยายามค้นหาคำตอบด้วยวิถีทางที่เขาเชื่อว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้โดยเร็ว (นั่นคือ leraning style ของผู้เรียนนั่นเอง) โดยเมื่อปัญหา คำถามหรือข้อสงสัยนั้นได้รับความกระจ่างแล้วจึงเรียกว่า เกิดการเรียนรู้ (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา)
จากแนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ดัังนี้
  • ครูจัดเตรียมสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เหตุการณ์หรือข้อคำถามที่จะทำให้นักเรียนเกิดความสงสัย โดยปัญหานั้นจะต้อง 1) เกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือใกล้เคียงกับบริบทของผู้เรียน และ 2) เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะทำการสอน ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การกระตุ้นให้เกิดความสงสัยในสภาพจริงในการเรียนของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งอาจารย์หมอจะใช้ case ของคนไข้เป็นสิ่งกระตุ้นให้นักศึกษาแพทย์เกิดความสงสัย และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการวินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาโรคนั่นเอง ซึ่งในชั้นเรียนทั่วๆไป ครูอาจยกเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาและเกี่ยวข้องกับเนื้อหามาให้นักเรียนเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือ ครูอาจจะสมมุติสถานการณ์ขึ้นมาเองก็ได้ หรืออาจใช้ Clip จาก Youtube ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัญหามาช่วยกระตุ้นด้วยก็ได้ แต่โดยหลักการคือ “ทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดความสงสัยหรืออยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” (แน่นอน ถ้าเป็นปัญหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับนักเรียนแต่อาจเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ก็ยากที่จะกระตุ้นให้เกิดความสงสัยอยากรู้ เหมือนกับเพื่อนอกหักก็ยังเป็นปัญหาน้อยกว่าเราอกหักเสียเอง ฉันใดก็ฉันนั้น)
bad choice           cognitive_thoughts_conflict
[ภาพจาก http://ravingdaveherman.blogspot.com/ และ http://www.positiverelationshipsorangeco.com/]
  • หลังจากที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนได้เกิดความสงสัยแล้ว บทบาทต่อมาคือต้องมีการจัดเตรียมเนื้อหา ความรู้ หรือแหล่งทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ไว้สำหรับนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ในการคลายปมข้อสงสัยหรือหาแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งอนุญาตให้นักเรียนได้วางแผนหรือคิดวิธีการหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง โดยบางคนชอบอ่านเอง บางคนชอบฟัง บางคนชอบพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยบทบาทครูก็ต้องจัดสภาพและกระบวนการให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามแนวทางในต้องการ รวมทั้งการจัดเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์รวมทั้ง ICT เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ในการสืบค้น จัดการ รวบรวมและสังเคราะห์คำตอบได้อย่างเต็มที่ (บทบาทเช่นนี้ของครูเรียก “การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้” ที่ไม่ใช่การให้เนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องมีการจัดสภาพการเรียนรู้แลกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้) โดยหลักการของส่วนนี้คือ “ครูต้องสนับสนุนให้นักเรียนได้ค้นคว้า เข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศ รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือในการเรียนรู้ต่างๆ” (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การสนับสนุนการปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา)
cognitivecondtructivist
กล่าวโดยสรุป ในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญาคือ บทบาทของครูที่จะกรุต้นให้นักเรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ โดยอาจใช้คำถาม ปัญหา สถานการณ์หรือสภาพการที่เป็นปัญหาช่วยกระตุ้นให้เกิดความสงสัย หลังจากนั้นควรต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือค้นหาคำถามด้วยตัวของนักเรียนเองตามความชอบและความถนัด ซึ่งครูต้องจัดเตรียมเนื้อหาที่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาและจัดเตรียมเครื่องมือที่นักเรียนจะสามารถใช้ในการค้นหา รวบรวมและจัดการความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการแก้ปัญหาหรือคำตอบของปัญหานั่นเอง

โดย ดร.อนุชา โสมาบุตร

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อันดับมหาวิทยาลัยโลก QS World University

           การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS World University Rank ings จากประเทศอังกฤษ ประจำปี 2014/2015 สถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐเข้ารอบ 10 อันดับแรก 6 แห่ง ตามด้วยอังกฤษ 4 แห่ง สำหรับไทย ติด 8 แห่ง
          อันดับ "มหาวิทยาลัยโลก" ในปีนี้ (อันดับปีที่แล้ว)
          1.Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐ (ครองแชมป์เป็นสมัยที่ 3)
          2.University of Cam bridge อังกฤษ (อันดับ 3) ครองอันดับร่วมกับ
          2.Imperial College London อังกฤษ (อันดับ 5)
          4.Harvard University สหรัฐ (อันดับ 2)
          5.University of Oxford อังกฤษ (อันดับ 6) ครองอันดับร่วมกับ
          5.UCL (University College London) อังกฤษ (อันดับ 4)
          7.Stanford University สหรัฐ (อันดับ 7)
          8.California Institute of Technology (Caltech) สหรัฐ (อันดับ 10)
          9.Princeton University สหรัฐ (อันดับ 10)
          10.Yale University สหรัฐ (อันดับ 8)
          สำหรับ "มหาวิทยาลัยจากเอเชีย" ที่มีรายชื่อติดอัน ดับสูงสุด 10 สถาบันแรก ได้แก่
          22.National University of Singapore (NUS) สิงคโปร์
          28.University of Hong Kong ฮ่องกง
          31.University of Tokyo ญี่ปุ่น ครองอันดับร่วมกับ
          31.Seoul National University เกาหลีใต้
          36.Kyoto University ญี่ปุ่น
          39.Nanyang Tech nological University (NTU) สิงคโปร์
          40.The Hong Kong University of Science and Technology ฮ่องกง
          46.The Chinese University of Hong Kong ฮ่องกง
          47.Tsinghua Univer sity จีน
          51.KAIST-Korea Advanced Institute of Science & Technology เกาหลีใต้
          มหาวิทยาลัย "ของไทย" ที่ติดอันดับชั้นนำของโลก (อันดับปีที่แล้ว) ได้แก่
          243.จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย (อันดับ 239)
          257.มหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับ 283)
          501-550 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับ 551-600)
          601-650 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อันดับคงที่)
          651-700 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อันดับคงที่)
          701 ขึ้นไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อันดับคงที่)
          701 ขึ้นไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อันดับคงที่)
          701 ขึ้นไป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อันดับคงที่)

          นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภาพรวมแล้ว ยังมีการจัดอันดับแยกตามสาขาวิชาทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ Engineering and Techno logy, Life Science and Medicine, Social Science and Management, Natural Sciences และ Art and Humanities แม้ภาพรวมจะติดอันดับ แต่บางมหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดหลักสูตรครอบคลุมทุกสาขาวิชา
          ผลการจัดอันดับให้น้ำหนักคะแนนและตัวชี้วัดจากหลายปัจจัย ได้แก่ คุณภาพงานวิจัยที่ผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ คุณภาพการสอน สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ บัณฑิตที่ได้งาน ได้รับการประเมินจากผู้จ้างงานในเอเชีย ความเป็นนานาชาติ โดยประเมินจากผู้สอนและนักศึกษาชาวต่างชาติ

      
    --โลกวันนี้วันสุข ฉบับวันที่ 4 - 10 ต.ค. 2557--

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มหาวิทยาลัยไทย อย่าให้เละยิ่งกว่านี้เลย

     ผมเขียนเรื่อง “มหาวิทยาลัยไทย ยิ่งออกนอกระบบยิ่งล้มเหลว” ไปเมื่อวันศุกร์ ก็มีข่าวว่า คุณกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ เรียก ผู้บริหารคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ไปหารือ เพราะมหาวิทยาลัยไทยวันนี้เละจนน่าตกใจ

    เมื่อออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยสามารถหารายได้เองจนร่ำรวยกันทุกมหาวิทยาลัย แถม “ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้” มีการขึ้นค่าเล่าเรียน จัดหลักสูตรพิเศษค่าเรียนแพงๆไปจนถึงการสร้างศูนย์การค้า แทนที่ จะสร้างห้องเรียนเพิ่มในคณะวิชาที่ประเทศขาดแคลน สร้างห้องวิจัยที่มหาวิทยาลัยขาดแคลน เพื่อสนับสนุนพัฒนาการประเทศในระยะยาว ฯลฯ
    
    ในการหารือ รัฐมนตรีกฤษณพงศ์ ให้โจทย์ไป 4 ข้อ 1.จะพัฒนาอุดมศึกษาไปสู่เป้าหมายของประเทศ และเป้าหมายของแต่ละมหาวิทยาลัย ได้อย่างไร 2.บทบาทของ กกอ.ที่ต้องช่วยดูคุณภาพการศึกษา ขณะนี้ มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาจำนวนมาก เปิดหลักสูตรเฟ้อ กระทบต่อคุณภาพการศึกษา ทำให้นักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ เสียเงิน เสียเวลา 3.เรื่องการผลิตและพัฒนาครูต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ 4.การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา
ก็เป็นนโยบายทั่วไป แต่ที่น่าตกใจก็คือ

     ท่านรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ ระบุว่า จากข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้จบปริญญาตรี 3 คน มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้งานทำในปีแรก อีก 2 คนตกงาน แต่ละปีจะมีบัณฑิตที่ไม่สามารถหางานทำได้หลังสำเร็จการศึกษาถึง 150,000 คน และมีอีกจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิ เพราะเปิดสาขาวิชามากเกินไป ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และปัญหาคุณภาพหลักสูตร
เห็นความเละของมหาวิทยาลัยไทยหรือยัง ถ้า นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืนอย่างที่ตั้งใจ จะต้องเร่ง “ผ่าตัดใหญ่กระทรวงศึกษาและระบบการศึกษาเป็นการด่วน” ไม่งั้นก้าวไปข้างหน้าไม่ได้แน่นอน
รัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ แฉอีกว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเก็บค่าเล่าเรียนแพงลิ่ว ปริญญาตรีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 3–4 แสนบาทเป็นอย่างต่ำ แต่เรียนจบแล้วกลับหางานทำไม่ได้ถึงปีละ 150,000 คน ถือเป็นความสูญเสียของผู้เรียน ผู้ปกครอง และภาครัฐ
ไม่เพียงมหาวิทยาลัยนอกระบบที่หากินกับการศึกษาจนร่ำรวย มหาวิทยาลัยเอกชน ก็หากินกับการศึกษาจนร่ำรวยมหาศาล เพราะ มหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ละแห่งจึงรับนักศึกษาปี 1 จนล้นแล้วล้นอีก เพื่อโกยกำไรจากค่าเล่าเรียน แล้วค่อยไปเข้มตอนปี 3 ปี 4 เพื่อให้จบหลักสูตรน้อยกว่าที่รับปี 1
ที่น่าตกใจยิ่งกว่านี้ เมื่อเร็วๆนี้ คุณจิรศักดิ์ จิยะจันทร์ ประธานกรรมการ บริษัท เวิลด์คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จะนำ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ทั้ง 3 แห่งที่กาญจนบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี เข้าไปจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการทำ “แบ็กดอร์ลิสติ้ง” ซื้อ บริษัท พันธุ์สุกรไทย–เดนมาร์ค ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ

    เมื่อ ระบบการศึกษาของชาติ เข้าสู่ “ระบบทุนนิยม” ที่ “ยึดกำไรสูงสุด” เป็นหลัก อนาคตการศึกษาของไทยก็คงหนีไม่พ้น “หลักสูตรเจ้าสัว” ที่ทำกันเกร่อตั้งแต่ปริญญาตรียันปริญญาเอก โดยเจ้าสัวไม่ต้องลำบากไปเรียนให้มากนัก
    นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งไปพูดเรื่อง “การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย” ในงานสัมมนา แต่ท่านไม่ได้พูดถึง โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย ที่เป็นแหล่งพัฒนาคนที่สำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลขืนปล่อยให้มหาวิทยาลัย เป็นโจ๊กกันอย่างนี้ สร้างศูนย์การค้า เข้าตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะเน้นเรื่องการศึกษาวิจัย อนาคตคนไทยคงหาคุณภาพไม่ได้แน่นอน
นี่คือ ปัญหาใหญ่ ที่ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องแก้ทันที เพื่อพัฒนาคน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติและปฏิรูปประเทศไทย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”