หากจะว่าไปแล้วมีครูและนักการศึกษาบางส่วนที่ยังนึกไม่ออกว่า เมื่อมีทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (หรือทฤษฎีการสร้างความรู้ก็เรียก) จะนำไปเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้อย่างไร ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาแล้ว[อ่านเพิ่มเติม] โดยได้เสนอว่า ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา ว่าด้วยการสร้างความรู้โดยอธิบายจากแนวคิดกระบวนการทางปัญญา และทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงสังคม โดยอธิบายการสร้างความรู้ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม คำถามต่อมาคือจะนำแนวคิดใดไปใช้บ้าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองกลุ่มแนวคิดนี้มิได้มีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเพียงแต่อธิบายคนละพื้นฐานเท่านั้นเอง หากแต่ทั้งสองได้มุ่งอธิบายกลไลการสร้างความรู้ของบุคคลเช่นเดียวกัน โดยในบทความนี้จะเสนอแนะแนวทางในการทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญามาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้
บ่อยครั้งหรือเกือบทุกครั้งที่หากเมื่อเราเกิดความสงสัยหรืออยากรู้เรื่องใดแล้ว เราจะต้องพยายามรู้เรื่องนั้นให้ได้ ด้วยวิถีทางที่เราเชื่อว่าง่ายที่สุดสำหรับการได้มาซึ่งคำตอบ (แม้บางทีมีคนแนะนำวิธีการอื่นเราก็ไม่เอาด้วย เพราะเราเชื่อของเราอย่างนี้) โดยคำตอบนั้นอาจจะได้มาทันทีหรือไม่ทันที เราเองก็จะใช้ความพยายามในการหาคำตอบเมื่อมีโอกาส และหากสังเกตดีๆ เรื่องที่เราอยากรู้มากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเราเอง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา หรือคนใกล้ชิด หรือหากความสงสัยนั้นรุนแรงถึงขั้นเป็นปัญหา เราเองก็จะถึงกับกระวนกระวายหากหาคำตอบหรือแก้ปัญหานั้นไม่ได้
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา ซึ่งนักจิตวิทยาที่มีส่วนสำคัญในการเสนอแนวคิดนี้คือ Jean Piajet โดยอธิบายว่า การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดจากการปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา เนื่องมาจากการเสียสมดุล หรือพูดกันง่ายๆก็คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีก่อนอื่นจะต้องเกิดความสงสัยอยากรู้หรือเกิดปัญหาเสียก่อน (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การเสียสมดุลทางปัญญา) หลังจากนั้นผู้เรียนจะพยายามค้นหาคำตอบด้วยวิถีทางที่เขาเชื่อว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้โดยเร็ว (นั่นคือ leraning style ของผู้เรียนนั่นเอง) โดยเมื่อปัญหา คำถามหรือข้อสงสัยนั้นได้รับความกระจ่างแล้วจึงเรียกว่า เกิดการเรียนรู้ (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา)
จากแนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ดัังนี้
จากแนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ดัังนี้
- ครูจัดเตรียมสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เหตุการณ์หรือข้อคำถามที่จะทำให้นักเรียนเกิดความสงสัย โดยปัญหานั้นจะต้อง 1) เกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือใกล้เคียงกับบริบทของผู้เรียน และ 2) เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะทำการสอน ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การกระตุ้นให้เกิดความสงสัยในสภาพจริงในการเรียนของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งอาจารย์หมอจะใช้ case ของคนไข้เป็นสิ่งกระตุ้นให้นักศึกษาแพทย์เกิดความสงสัย และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการวินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาโรคนั่นเอง ซึ่งในชั้นเรียนทั่วๆไป ครูอาจยกเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาและเกี่ยวข้องกับเนื้อหามาให้นักเรียนเพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือ ครูอาจจะสมมุติสถานการณ์ขึ้นมาเองก็ได้ หรืออาจใช้ Clip จาก Youtube ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัญหามาช่วยกระตุ้นด้วยก็ได้ แต่โดยหลักการคือ “ทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดความสงสัยหรืออยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” (แน่นอน ถ้าเป็นปัญหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับนักเรียนแต่อาจเกี่ยวข้องกับเนื้อหา ก็ยากที่จะกระตุ้นให้เกิดความสงสัยอยากรู้ เหมือนกับเพื่อนอกหักก็ยังเป็นปัญหาน้อยกว่าเราอกหักเสียเอง ฉันใดก็ฉันนั้น)
[ภาพจาก http://ravingdaveherman.blogspot.com/ และ http://www.positiverelationshipsorangeco.com/]
- หลังจากที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนได้เกิดความสงสัยแล้ว บทบาทต่อมาคือต้องมีการจัดเตรียมเนื้อหา ความรู้ หรือแหล่งทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ไว้สำหรับนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ในการคลายปมข้อสงสัยหรือหาแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งอนุญาตให้นักเรียนได้วางแผนหรือคิดวิธีการหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง โดยบางคนชอบอ่านเอง บางคนชอบฟัง บางคนชอบพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยบทบาทครูก็ต้องจัดสภาพและกระบวนการให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามแนวทางในต้องการ รวมทั้งการจัดเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์รวมทั้ง ICT เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ในการสืบค้น จัดการ รวบรวมและสังเคราะห์คำตอบได้อย่างเต็มที่ (บทบาทเช่นนี้ของครูเรียก “การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้” ที่ไม่ใช่การให้เนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องมีการจัดสภาพการเรียนรู้แลกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้) โดยหลักการของส่วนนี้คือ “ครูต้องสนับสนุนให้นักเรียนได้ค้นคว้า เข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศ รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือในการเรียนรู้ต่างๆ” (สุมาลี ชัยเจริญ (2548) เรียกว่า การสนับสนุนการปรับเข้าสู่สมดุลทางปัญญา)
กล่าวโดยสรุป ในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญาคือ บทบาทของครูที่จะกรุต้นให้นักเรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ โดยอาจใช้คำถาม ปัญหา สถานการณ์หรือสภาพการที่เป็นปัญหาช่วยกระตุ้นให้เกิดความสงสัย หลังจากนั้นควรต้องส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือค้นหาคำถามด้วยตัวของนักเรียนเองตามความชอบและความถนัด ซึ่งครูต้องจัดเตรียมเนื้อหาที่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาและจัดเตรียมเครื่องมือที่นักเรียนจะสามารถใช้ในการค้นหา รวบรวมและจัดการความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการแก้ปัญหาหรือคำตอบของปัญหานั่นเอง
โดย ดร.อนุชา โสมาบุตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น