วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แบบเรียนไทย 6 ยุค ที่คนไทยควรเรียนรู้

เมื่อพูดถึงแบบเรียนไทย เรามักจะจดจำแบบเรียนในยุคสมัยของตนเองได้ดียิ่งกว่าใคร ยิ่งได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ยิ่งคุยกันได้ไม่รู้จบ แต่แบบเรียนในยุคสมัยใครก็เป็นยุคสมัยของคนคนนั้น เรารู้แต่แบบเรียนในยุคสมัยของเราแล้วก็จบ คงจะดี หากเราจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้แบบเรียนไทยในแต่ละยุคสมัย ซึ่งมันมีเรื่องราว มีที่มาที่ไป ที่เมื่อเราได้เรียนรู้ เราอาจค้นพบว่า

แบบเรียนไทย มีอะไรมากกว่าที่เราคิด! 
แบบเรียนไทย ยุคที่ 1 ตาหวังหลังโก่ง 
(แบบเรียนรวมชาติ พ.ศ. 2414-2461)

          ยุคนี้เริ่มต้นจากแบบเรียนมาตรฐาน เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนแห่งแรก ใน พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อครั้งเป็นหลวงประเสริฐ รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก และแต่งตำราเรียนขึ้นใช้ในโรงเรียน เรียกว่า แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ใช้เวลาเรียน 3 ปี จึงจะจบหลักสูตรการศึกษา ต่อมาใน พ.ศ. 2430 ได้มีการตั้งกรมศึกษาธิการ และในวันที่ 1 เม.ย. 2435 มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยมีการจัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวงขึ้นแทนการปกครองแบบเดิม โดยมีกระทรวงธรรมการ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีพระองค์แรก รับผิดชอบด้านการศึกษาการสาธารณสุขและสงฆ์ มีการประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาครั้งแรกใน พ.ศ. 2435 เรียกว่า “กฎพิกัดสำหรับการศึกษา” เพิ่มการเรียนวิชาต่างๆ นอกจากภาษาไทย และก่อตั้ง “กองแบบเรียน” เพื่อทำหน้าที่จัดพิมพ์แบบเรียนหลวง พิจารณาคัดเลือกหนังสือที่จะใช้เป็นแบบเรียน และกำกับดูแลเนื้อหาอย่างใกล้ชิด หนังสือบางเล่มที่ถูกนำมาใช้ จะต้องดัดแปลงเนื้อหาให้เหมาะสม
          ใน พ.ศ. 2443 พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้เขียนตำราแบบเรียนคดีธรรม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แบบเรียนสมบัติผู้ดี” ที่เน้นการเอาพุทธศาสนามาปรับใช้ โดยแบบประพฤติดีนี้มีทั้งในทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ใน พ.ศ 2445 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับขุนอนุกิจวิธูร ร่วมกันเขียนแบบเรียนธรรมจริยา 2 เล่ม มีรูปแบบการนำเสนอคือการสมมติตัวอย่างในชีวิตประจำวัน และมีตัวละครขึ้นมาคือ นายชอบ ที่เป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ กับนายชัง ที่มีนิสัยตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน แต่สำหรับเด็กวัด หรือลูกชาวบ้านที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา มีเวลาเรียนแค่ปีละ 3 เดือน จึงไม่เหมาะกับตำราเรียนชุดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงปรับปรุงเสียใหม่ เป็น “แบบเรียนเร็ว 3 เล่ม” เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาเรียนน้อยลง ทรงผูกเรื่องสั้นๆ อย่างตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง สำหรับฝึกอ่านเพิ่มเติม รวมทั้งเปลี่ยนจากการท่องจำเป็นการผสมคำทีละขั้นจนสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น

แบบเรียนไทย ยุคที่ 2 พ่อหลี พี่หนูหล่อ 
(แบบเรียนยุคพลเมืองดี พ.ศ. 2464-2474) 

          ในยุคนี้การศึกษาสมัยใหม่เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาใน พ.ศ. 2464 กำหนดให้เด็กอายุ  7-14 ปี เข้ารับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการแต่งแบบเรียนใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติและพลเมือง ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีของชาติ มีมารยาทดี และมีการศึกษา

แบบเรียนไทย ยุคที่ 3 ป้ากะปู่ กู้อีจู้ 
(แบบเรียนยุคชาติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475-2500)
 

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ส่งผลต่อการระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะราษฎรได้ประกาศให้การศึกษาเป็นหนึ่งในหลักหกประการ ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และระบุไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
          เมื่อคณะราษฎรได้ปรับปรุงแผนการศึกษา และประกาศเป็นประมวลการศึกษาพิเศษว่าด้วยหลักสูตรและประมวลการสอนใหม่ พ.ศ. 2480 ความสำคัญของหลักสูตรใหม่เมื่อเทียบกับหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2464 คือ มีการเปลี่ยนชื่อวิชาธรรมจรรยา มาเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2490 ภายหลังที่ประเทศได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ แบบเรียนในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จะเน้นไปที่การสอนให้เด็กๆ สามัคคีและรักชาติ โดยแบบเรียนที่เป็นที่รู้จักของยุคนี้ คือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น แต่งโดยหลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล เป็นที่รู้จักจากประโยค “ป้ากับปู่ กู้อีจู้”
          ในช่วงต้นของการมีประชาธิปไตยในประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 24812486 และ พ.ศ. 24912500 โดยในยุคแรก จอมพล ป. ยังคงดำเนินนโยบายการศึกษาตามหลักหกประการของคณะราษฎร โดยมุ่งเน้นด้านสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา เพิ่มภาคปฏิบัติและการศึกษาภาคผนวก เพื่อให้ผู้ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจหน้าที่พลเมืองให้มากที่สุด
          ในยุคที่ 2 จอมพล ป. เพิ่มความสนใจกับเรื่องการศึกษามากเป็นพิเศษ โดยเน้นการวางรากฐานเพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีของชาติ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมและสังคมชนบท การทำงานของคนแต่ละรุ่น รวมทั้งแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่ปรากฏในเนื้อหา แบบสอนอ่านมาตรฐาน 2 เล่ม และหนังสือชุด สุดากับคาวี ที่ดัดแปลงจากหนังสือชุด Janet and John ของประเทศนิวซีแลนด์ การใช้ตัวละครเอกเป็นเด็กชายหญิงสองพี่น้องที่ได้พบเรื่องราวต่างๆ ที่สอดคล้องกับระดับการเรียนรู้ของเด็ก กลายเป็นต้นแบบของแบบเรียนที่เขียนขึ้นในภายหลังอีกหลายเล่ม
          แบบเรียนที่รู้จักกันดีอีกชุดหนึ่งคือ “แบบเรียนชุดบันไดก้าวหน้า” มี “เรณู ปัญญา” เป็นตัวละครเอก ใช้เป็นแบบเรียนบังคับเพียงหนึ่งปี เพราะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการสอนสะกดคำ ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็ยังถูกใช้เป็นแบบเรียนเลือกและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
          ถึงแม้แบบเรียนเหล่านี้จะมิได้นำมาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว แต่ในปัจจุบันนักเรียนทุกคนยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจอมพล ป. ด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นประจำทุกวัน

แบบเรียนไทย ยุคที่ 4 สองพี่น้อง เห็นวิหค นกพูดได้ ก็พอใจ อยากจะรัก ให้นักหนา 
(แบบเรียนยุคชาติสถาบัน พ.ศ. 2501-2521)

          จินตนาการเรื่องรัฐชาติในแบบเรียนถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคสมัยนี้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่มีมาตั้งแต่การปกครอง 2475 ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ถูกยกเลิกทั้งหมด พร้อมๆ กับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักคิด นักเขียน และเชิดชูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะของศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้ง ชาติ แต่ในยุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุน
          แบบเรียนในยุคนี้มุ่งสอนให้นักเรียนเห็นความสำคัญของปัญหาความมั่นคง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศชาติ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแบบเรียนหน้าที่พลเมืองก็ได้ตัดหน้าที่ในการเคารพรัฐธรรมนูญออกไป เหลือแต่เพียง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือย้อนกลับไปหาหลักสูตร พ.ศ. 2464 เท่านั้น
          นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหนังสือชุด “นิทานร้อยบรรทัด” ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ก่อนจะพิมพ์เล่มแรกใน พ.ศ. 2501 โดยนิทานร้อยบรรทัดมีทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2 ครูที่รักเด็ก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย และประชาธิปไตยที่ถาวร หนังสือชุดนี้เรียบเรียงโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถม ตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่น่าจะแต่งเนื้อหาขึ้นในสมัยจอมพล ป. เพราะสะท้อนอุดมการณ์สร้างชาติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ในฐานะพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดังเช่นในเล่ม  “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” กล่าวถึงความใฝ่ฝันของเด็กๆ ที่อยากเป็นเกษตรกร แต่สิ่งสำคัญที่แบบเรียนในยุคนี้ได้ปลูกฝัง คือ รัฐชาติที่มีประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ มีสิทธิเสรีภาพตามสมควร และมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของชาติ

แบบเรียนไทย ยุคที่ 5 มานะ มานี ปิติ ชูใจ 
(แบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ พ.ศ. 2522-2533)

          แบบเรียนชุดนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีเทคนิคการเขียนที่ดี ด้วยการผูกเรื่องราวของตัวละครอย่าง มานะ มานี ปิติ ชูใจ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กนักเรียน โดยใช้ฉากหมู่บ้านในชนบทที่สงบสวยงามตามอุดมคติ โดยแบบเรียนชุดนี้ได้แฝงความคิดเรื่องชาติและหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้แบบเรียนชุดอื่นๆ โดยเสนอจินตภาพของชาติเหมือนหมู่บ้านขนาดใหญ่ ปราศจากปัญหาเชิงโครงสร้าง มีแต่เพียงปัญหาที่เกิดจากศีลธรรมเสื่อมทราม เช่น ปัญหาการตัดไม้ เพราะความโลภของนายทุนบางคน และการดำเนินชีวิตในแบบเรียนชุดนี้ จะมีความรักชาติบ้านเมืองเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เสมอ
          ในยุคนี้มีแบบเรียนบางเล่มที่กล่าวถึง “ภัยคอมมิวนิสต์” อย่างตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก คือแบบเรียนหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เน้นว่า มุ่งสอนให้ตระหนักถึงภัยจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นลัทธิการเมืองที่ผิดแผกแตกต่างไปจากลัทธิประชาธิปไตย โดยคอมมิวนิสต์จะใช้วิธีกลืนชาติ และจะทำให้ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเสรีภาพ โดยวิธีการปลุกปั่นและโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังเช่นแบบเรียนหน้าที่พลเมืองชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “ถ้าหากประชาชนคนใดได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ภัยอันเกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ พระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะเห็นว่าทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ พระองค์จะเสด็จไปเยี่ยมหาสิ่งของไปพระราชทาน รับว่าเป็นบุญอันล้นพ้นของเราที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย”

แบบเรียนไทย ยุคที่ 6 กล้า แก้ว กับ ใบบัว ใบโบก และเด็กชายภูผา 
(แบบเรียนยุคปัจจุบัน)
          กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาอีก ครั้ง ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) และเริ่มใช้แบบเรียนชุด “กล้า แก้ว” ใน พ.ศ. 2537 เป็นแบบเรียนที่เน้นภาพประกอบสีสันสวยงาม 
และตัวหนังสือขนาดใหญ่ อ่านง่ายเหมือนหนังสือภาพสำหรับเด็ก
          ทว่า ในปัจจุบันได้ประกาศใช้ “แบบเรียนชุดภาษา พาที” เป็นหนังสือภาษาไทยประจำหลักสูตร พ.ศ. 2551 โดยมีตัวละครในการเดินเรื่องคือ “ใบโบก” ช้างสีฟ้า และ “ใบบัว” ช้างสีส้ม เป็นเพื่อนของเด็กชายภูผา บทที่เด็กๆ ท่องได้ขึ้นใจเป็นอย่างดีคือ มา มาดูใบบัว มา มาดูใบโบก ฯลฯ ในแบบเรียนยุคนี้ มีการพัฒนาสื่อการสอนประกอบได้อย่างน่าสนใจ ทั้งแบบเรียนดิจิทัล การ์ตูนแอนิเมชั่นประกอบบทเรียนแต่ละบท สามารถสืบหาได้จากอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.kroothaiban.com/news-id6820.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น