วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

STREAM Approach – แนวคิดบริหารการศึกษาแบบบูรณาการ

        เราเชื่อว่า “วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” เป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์นี้ ช่วงหลังมานี้ นักการศึกษาไทยมักกล่าวถึง STEM Education (Science Technology Engineering Maths) ว่าจะเป็นเครื่องมือในการสมรรถภาพในการแข่งขันให้คนไทยในตลาดโลกได้ ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างวิชาใหม่ชื่อ STEM ขึ้นมา แต่จะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้ต่อยอดจากการเรียนเพื่อเรียน ให้เด็กและเยาวชนคิดต่อได้ เช่น จากเรียนวิทย์ สามารถต่อยอดสู่การทำโครงงาน สู่การสร้างนวัตกรรมได้ เป็นต้น

        ในฐานะคนทำหนังสือ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การอ่าน (Reading) และศิลปะ (Arts) จึงนำมาสู่ STREAM ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราคิดค้น แต่เราเอา STREAM มาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ STREAM Approach ในแบบฉบับนานมีบุ๊คส์ขึ้น
        ลองยกตัวอย่างนะคะ หากเราเป็นครูวิทย์ นอกจากจะสอนเนื้อหาตามแบบเรียนปกติแล้ว เราจะมีบทบาทส่งเสริมการอ่านอย่างไร เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปสู่การแก้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างไร เชื่อมโยงไปสู่สังคมที่เราอยู่อย่างไร นี่คือการบูรณาการ
       เช่น หากเราสอนเรื่องเพนดูลัม ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป. 3 หากเราไม่เชื่อมโยง คำว่า “เพนดูลัม” จะไม่มีนัยยะสำคัญอะไรกับชีวิตเลย แต่หากเราเริ่มการเรียนรู้โดยการให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ อาจพูดถึงโทรทัศน์ โทรศัพท์ ที่ไม่พลาดคือนาฬิกา เพราะทุกคนใส่ เราก็สามารถเชื่อมต่อได้ว่า นาฬิกาทำงานได้อย่างไร บ้างอาจบอกว่าใส่ถ่าน บ้างอาจบอกว่าต้องเสียบปลั๊ก แต่สุดท้ายครูสามารถเชื่อมสู่เรื่องเพนดูลัมได้ แต่หากจะให้ทำความเข้าใจจากแบบเรียนอย่างเดียว คงไม่เห็นภาพ ครูสามารถพาเด็ก ๆ ทำการทดลองต่อได้ หากสนุก ยังพาทำโครงงานต่อได้อีก ทั้งหมดนี้ เด็ก ๆ สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือในห้องสมุด แม้กระทั่งแนะนำให้เด็ก ๆ อ่านวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาก็ได้ หรือพาเด็ก ๆ ไปทัศนศึกษาต่อที่โรงงานทำนาฬิกาหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ได้
      หากครูสอนแบบ STREAM Approach ครูจะมีบทบาทที่เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับเรื่องรอบตัวเด็ก ทำให้เนื้อหามีความหมายกับชีวิต ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว และที่สำคัญ หากครูตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ก็จะรู้ว่า เด็กแต่ละคนถูกปลุกเร้าให้เรียนรู้หรือเข้าใจด้วยสื่อที่แตกต่างกัน บางคนฟังแล้วเข้าใจ บางคนต้องได้ทำเองจริง บางคนต้องไปศึกษาต่อเงียบ ๆ คนเดียว บางคนต้องไปเห็นของจริงนอกโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบ STREAM Approach ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ครูแต่ละคนสามารถไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสอนวิทย์-คณิตเท่านั้น แม้จะสอนสังคม ในที่นี้เราเรียกว่า Social Science ก็ถือว่าเป็นวิทย์แขนงหนึ่งเหมือนกัน เช่น เหมือนสอนเรื่องภูมิอากาศ เกี่ยวกับพาทอร์นาโดหรือไต้ฝุ่น มันเชื่อมกับเรื่องแรงดันอากาศในวิทย์ เชื่อมกับผลกระทบในสังคม หรือแม้กระทั่งเชื่อมกับหนังสือ “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ” ด้วยซ้ำ
     สำคัญคือ หากเป้าหมายการเรียนรู้รวมถึงทั้งเรื่องเนื้อหาและทักษะสำคัญที่กล่าวตอนต้น เวลาครูจะออกแบบการเรียนรู้อะไร อาจต้องคิดถึงวิธีการและเครื่องมือด้วย และถึงแม้ท่านผู้อ่านไม่ได้เป็นครู แต่ทำงานในองค์กร เชื่อว่าน่าจะนำ STREAMApproach ไปปรับใช้ได้เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น