ความหมายและลักษณะของบทความ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้กล่าวถึงความหมายของบทความ และลักษณะที่น่าสังเกตของบทความในหนังสือพิมพ์ไว้ พอสรุปได้ว่า บทความ หมายถึง เรื่องที่ให้สาระ ข้อเท็จจริง ความรู้ เสนอความคิดเห็น แตกต่างจากบันเทิง คดีบทความในหนังสือพิมพ์จะมีลักษณะที่น่าสังเกตคือ จะมีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก ใช้ย่อหน้าสั้นๆ นำเรื่องพื้นๆ ที่รู้ๆ กันอยู่แล้วมาตีพิมพ์ หรือนำเรื่องเล็กๆ ที่คนมองข้ามมาเติมสีสันให้น่าอ่านบทความอาจมีการเน้นเนื้อหาที่ตัวเหตุการณ์ และแนวโน้มในอนาคต ฉะนั้น บทความจึงเป็นความเรียงประเภทหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์หลายลักษณะ เช่น เพื่อแสดงความรู้เสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์วิจารณ์ ฯลฯ โดยต้องเขียนอย่างมีหลักฐาน เหตุผล น่าเชื่อถือ หากมีข้อเสนอแนะใดๆ ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ประเภทของบทความ เมื่อแบ่งตามเนื้อหา บทความจะแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ได้แก่ 1. บทบรรณาธิการ เป็นบทความแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อเสนอแนวคิดหลัก ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 2. บทความสัมภาษณ์ เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเรื่องใด เรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องหรือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลนั้น หรือจากการสัมภาษณ์ บุคคลหลายคนในหัวข้อเดียวกัน 3. บทความแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป มีเนื้อหาหลายลักษณะ เช่น หยิบยกปัญหา เหตุการณ์ หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจมาแสดงความคิดเห็น หรือผู้เขียนเสนอความ คิดเห็นสนับสนุน หรือคัดค้าน หรือทั้งสนับสนุนและคัดค้านความคิดเห็นในเรื่องเดียว กันของคนอื่นๆ เป็นต้น 4. บทความวิเคราะห์ เป็นบทความแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เผยแพร่มาแล้ว อย่างละเอียด โดยแยกแยะให้เห็นส่วนต่างๆ ของเรื่องนั้น ผู้เขียนเสนอความคิดและวิเคราะห์เหตุการณ์เรื่องราวนั้นอย่างละเอียด แสดงข้อเท็จจริง เหตุผล เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ ความคิดเห็นเพิ่มเติม เกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็นบทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ปัญหา 5. บทความวิจารณ์ เขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์เรื่องราวที่ต้องการวิจารณ์ด้วยเหตุผล และหลักวิชาเป็นสำคัญ เช่น “บทบรรณนิทัศน์” ซึ่งแสดงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ เพื่อแนะนำหนังสือ “บทวิจารณ์วรรณกรรม” แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์และประเมินค่า โดยใช้หลักวิชาและเหตุผลเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง และ “บทวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ” ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับบทวิจารณ์วรรณกรรมแต่นำผลงานที่เป็นศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพเขียน ดนตรี มาวิจารณ์ 6. บทความสารคดีท่องเที่ยว มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีทัศนียภาพสวยงามหรือมีความสำคัญในด้านต่างๆ เพื่อแนะนำ ให้ผู้อ่านรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ชักชวนให้สนใจไปพบเห็นสถานที่นั้นๆ 7. บทความกึ่งชีวประวัติ เป็นการเขียนบางส่วนของชีวิตบุคคลเพื่อให้ผู้อ่านทราบ โดยเฉพาะคุณสมบัติ หรือผลงานเด่นที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อชื่นชม ยกย่อง เจ้าของประวัติ และชี้ให้ผู้อ่านได้แง่คิดเพื่อเป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ 8. บทความครบรอบปี มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องราว เหตุการณ์ พิธีการในเทศกาลหรือวันสำคัญ เช่น วันสำคัญทางศาสนา ทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ เป็นต้น ที่ประชาชนสนใจเมื่อโอกาสนั้นมาถึง เช่น วันวิสาขบูชา วันคริสต์มาส เป็นต้น 9. บทความให้ความรู้ทั่วไป ผู้เขียนจะอธิบายให้ความรู้คำแนะนำในเรื่องทั่วๆ ไปที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มารยาทการเข้าสังคม การแต่งกายให้เหมาะแก่ กาลเทศะและบุคลิกภาพเคล็ดลับการครองชีวิตคู่ เป็นต้น 10. บทความเชิงธรรมะ จะอธิบายข้อธรรมะให้ผู้อ่านทั่วๆ ไปเข้าใจได้ง่าย หรือให้คติ ให้แนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เสนอหนทางแก้ปัญหา ตามแนวพุทธปรัชญา ปัจจุบันบทความลักษณะนี้มีมากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านมีแนวทาง การดำเนินชีวิตในสังคมที่วิกฤตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น 11. บทความวิชาการ มีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ก็ได้ หรืออาจเสนอผลการวิจัย การใช้ภาษาในการเขียนบทความ การใช้ภาษาในการเขียนบทความควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ระดับภาษา การเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ควรพิจารณาใช้ระดับภาษาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ ภาษาปาก ภาษาไม่เป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ และภาษาทางการ โดยผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ระเภทของบทความ เนื้อหาและกลุ่มผู้อ่านเช่น กรณีที่เขียนบทความแสดง ความคิดเห็นทั่วๆ ไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ ควรใช้ภาษาพูด ในระดับไม่เป็นทางการ จนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนระดับกึ่งทางการ หากมีบางตอนหรือบางข้อความที่ต้องการแสดงอารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม อย่างชัดเจน อาจจะใช้ภาษาพูดระดับภาษาปาก ที่ไม่หยาบคายก็ได้ กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป บทความสารคดีท่องเที่ยว ควรใช้ภาษาพูด ในระดับภาษาปาก เพื่อให้เกิดความเป็นกันเองกับผู้อ่าน จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำ หรืออาจจะใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทความและกลุ่มผู้อ่านอีกด้วย กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ ควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์ และเรื่องราวที่สัมภาษณ์รวมทั้งกลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนจึงสามารถเลือกใช้ ระดับภาษาได้ตั้งแต่ ภาษาพูดระดับภาษาปากจนถึงภาษาเขียนระดับทางการ กรณีเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิจารณ์ ศิลปะแขนงอื่นๆซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่งานวรรณกรรมหรือศิลปะ จึงควรใช้ภาษาระดับกึ่งทางการจนถึงภาษาในระดับทางการ กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ และเชิงวิชาการ ควรใช้ภาษาเขียนกึ่งทางการ จนถึงระดับทางการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนต้องการสร้างเอกลักษณ์ หรือลีลาการเขียนเฉพาะตน ก็สามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตามความต้องการของตนเอง 2. โวหาร กรณีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา ควรใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบ เช่น อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น เพื่อแสดงเหตุผลโน้มน้าวใจผู้อ่าน กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบ ได้แก่ สาธกโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้ง กรณีเขียนบทความสารคดีท่องเที่ยว บางตอนควรเลือกใช้พรรณนาโวหาร เพื่อให้เห็นความงดงามของทัศนียภาพ นอกเหนือจากการใช้บรรยายโวหาร ส่วนโวหารประกอบได้แก่ อุปมาโวหาร สาธกโวหาร กรณีที่ต้องการเล่าเกร็ดความรู้ ตำนาน นิทานต่างๆ ประกอบสถานที่ กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ บทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ บทความวิชาการ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ สาธกโวหาร กรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ เทศนาโวหาร อุปมาโวหาร และสาธกโวหาร 3. ภาพพจน์ การเขียนบทความควรเลือกใช้ภาพพจน์เพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิด ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน ภาพพจน์จะทำให้ งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้น และแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา มักจะใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิภาคพจน์ อติพจน์ ปฏิปุจฉา นามนัย เป็นต้น บทความสารคดีท่องเที่ยว มักจะเลือกใช้ภาพพจน์เช่น อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อติพจน์ สัญลักษณ์ เป็นต้น ส่วนบทความชนิดอื่นๆ มักจะเลือกใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิปุจฉา เป็นต้น แต่บทความวิชาการมักจะไม่ใช้ภาพพจน์ในการเขียนบทความประเภทนี้ เพราะต้องการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มากกว่าจะให้เกิดภาพ หรืออรรถรส ลักษณะของบทความที่ดี บทความที่ดีควรมีลักษณะ 4 ประการ ดังนี้ 1. มีเอกภาพ กล่าวคือ เนื้อหาของบทความมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีทิศทางของเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อมุ่งสู่ประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ 2. มีสารัตถภาพ กล่าวคือ ผู้เขียนต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญให้ชัดเจนว่า ต้องการนำเสนอแนวคิด สำคัญอะไร ด้วยประโยคใจความสำคัญ หรือสาระสำคัญที่โดดเด่น เนื้อความตลอดเรื่องควรกล่าวย้ำประเด็นหลักของเรื่องเสมอๆ 3. มีสัมพันธภาพ กล่าวคือ มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด ทั้งในด้านการเรียบเรียงถ้อยคำ ข้อความและการจัดลำดับเรื่อง ทุกประโยคในแต่ละย่อหน้า และทุกย่อหน้าในแต่ละเรื่องต้อง เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยการใช้คำเชื่อมข้อความ ได้แก่ คำบุพบท เช่น กับ แต่ แด่ เพื่อ คำสันธาน เช่น และ รวมทั้ง ตลอดจน นอกจากนี้ คำประพันธสรรพนาม เช่น ที่ ซึ่ง อัน เป็นต้น 4. มีความสมบูรณ์ กล่าวคือ มีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา มีเนื้อความชัดเจนกระจ่างแจ้ง อธิบายได้ครอบคลุมความคิดหลักที่ต้องการนำเสนอ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หากเป็นความคิดเห็นต้องมีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ต้องมีความสมบูรณ์ด้านการใช้ภาษา คือ ต้องเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายการเขียน ประเภทของบทความ เนื้อหาบทความ และกลุ่มผู้อ่าน นั่นเอง ขั้นตอนการเขียนบทความ 1. การเลือกเรื่อง ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้ - เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ เป็นที่น่าสนใจ และคนส่วนใหญ่กำลังสนใจ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ - เลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้ มีประสบการณ์ ตลอดจนเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเสนอความคิดแก่ผู้อ่าน - เลือกเรื่องที่ผู้เขียนสามารถหาแหล่งค้นคว้า หรือหาข้อมูลมานำเสนอในงานเขียนได้ - เลือกเรื่องที่มีความยาว ความยาก ความง่าย พอเหมาะกับความสามารถของผู้เขียน เวลาที่ได้รับมอบหมาย หน้ากระดาษ และคอลัมน์ที่ตนรับผิดชอบ 2. กำหนดจุดมุ่งหมาย โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เช่น ให้ความรู้ เสนอความเห็น โน้มน้าวใจ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เขียนให้ใครอ่าน เช่น กลุ่มมวลชน กลุ่มผู้มีการศึกษาสูง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เป็นต้น 3. กำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นเรื่อง ต้องกำหนดว่าบทความเรื่องนี้จะเสนอแนวคิดสำคัญ หรือมีแก่นเรื่องอะไรให้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดถ้อยคำประโยคต่างๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น 4. ประมวลความรู้ ความคิด ต้องค้นคว้าหาข้อมูลให้เพียงพอที่จะเขียน จากแหล่งความรู้ต่างๆ หรือการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น 5. วางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อยๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผล เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้ง่าย ไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่สับสน ไม่กล่าวซ้ำซาก ไม่นอกเรื่อง 6. การเขียน ได้แก่ - การเขียนขยายความให้ข้อมูลในแต่ละประเด็น มีการอธิบาย ยกเหตุผลประกอบ กล่าวถึงข้อมูลประกอบ อาจเป็นสถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ ตำนาน นิทาน เป็นต้น - เขียนคำนำและสรุปด้วยกลวิธีที่เหมาะสมกับประเภทของเนื้อหาบทความ - การใช้ภาษา ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับจุดมุ่งหมาย การเขียน ประเภท เนื้อหา ดังที่กล่าวมาแล้ว - การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว สร้างได้โดยการเลือกใช้ภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ เช่นการใช้ระดับภาษาปาก เล่นคารมโวหารมีคำเสียดสี มีการแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน หรือมีการสร้างคำใหม่ มาใช้อยู่เสมอๆ เป็นต้น ตัวอย่างบทความ ( สุชัญญา วงค์เวสช์ เรียบเรียง) วัยรุ่นกับความรุนแรง นับจากต้นปีที่ผ่านมา จะมีข่าวที่วัยรุ่นก่อความรุนแรงมากมาย เช่น ข่าวที่วัยรุ่นใช้ปืนยิงเพื่อนนักเรียนเสียชีวิต ยกพวกตีกันระหว่างสถาบัน และล่าสุด คือเมื่องานคอนเสิร์ตทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีวัยรุ่นประมาณ 1,000 คน ยกพวกตีกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัญหาเหล่านี้ จัดว่าเป็นปัญหาทางสังคม ที่นับวันได้มีแนวโน้มที่แสดงออกถึงการทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ “วัยรุ่น”เป็นวัยที่ผู้คนมักเรียกกันว่า “วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ” เพราะวัยนี้พยายามที่จะค้นหาความเข้าใจในตนเอง ยิ่งในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารทำได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โลกทัศน์ของวัยรุ่นกว้างขึ้น บางคนก็ค้นพบตนเองในทางที่ถูกต้อง แต่บางคนกลับหันเหไปในทางที่ผิด ทำให้เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบัน ถ้าจะวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นในขณะนี้ คิดว่าคงจะมีสาเหตุมาจากหลายๆด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของวัยรุ่น สภาพครอบครัว สภาพสังคมต่างๆ ที่เป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมของวัยรุ่นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ วีดีโอ เกม ที่ล้วนมีผลต่อความรุนแรง เข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะบ่งชี้ถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น ก็คือครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของวัยรุ่น ครอบครัวจะเป็นหน่วยพื้นฐานที่คอยเสริมสร้างประสบการณ์ของเด็กเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์กับบุคลในครอบครัวจะยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น และมักจะเกิดปัญหา ขัดแย้งกันเสมอๆ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าวัยรุ่นเริ่มมีความรู้สึกอยากเป็นอิสระ ไม่อยากให้ใครมาบังคับและต้องการเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นส่วนสำคัญที่สุด คือพ่อ แม่ ที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ควรให้คำปรึกษา เข้าใจในชีวิตของเด็กวัยนี้ ไม่ขัดขวาง ห้ามในสิ่งที่เขาต้องการค้นหา แต่ควรให้คำปรึกษาที่ดี เพราะเด็กวัยนี้ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ โดยทั่วไปแล้วเด็กวัยรุ่นมักจะเกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่เสมอ ทำให้หันเหชีวิตไปหาเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มเพื่อนจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่วัยรุ่นให้ความสำคัญเหนืออื่นใดจึงเกิดการเกาะติดความเป็นพรรค เป็นพวกสืบเนื่องไปจนถึงความเป็นสถาบัน และยึดถือปฏิบัติกฎเกณฑ์ที่รุ่นพี่ในสถาบันตั้งขึ้น เราจึงเห็นกลุ่มวัยรุ่นต่างสถาบันยกพวกตีกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ รุ่นพ่อ สืบมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน จากสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ทำให้เราเห็นว่าครอบครัวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ในการปลูกฝังอบรมเด็กสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้แก่เด็กเมื่อเขาโตขึ้นและย่างเข้าสู่วัยรุ่น พ่อ แม่ต้องเป็นส่วนสำคัญในการชี้แนวทางการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยวิธีที่ถูกต้อง และต้องเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่น ไม่ดุด่า หรือปล่อยจนเกินไป เพราะสาเหตุเหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว และตีตัวออกห่างจากครอบครัว ไปมั่วสุมกับเพื่อนๆ และเลือกเดินในแนวทางที่ผิดจนกลายเป็นปัญหาของสังคมอย่างที่ ปรากฏในปัจจุบัน *http://regelearning.payap.ac.th/docu/th203/content/aticle.htm | ||
ที่มา : http://blog.eduzones.com/yimyim/3424 | ||
วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556
การเขียนบทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความแนะนำ
โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย
http://www.mua.go.th/users/bhes/pdf/%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B...
-
สวัสดีค่ะ... วันนี้แอดมินขอนำเสนอความหมายของ EdPEx อีกครั้ง ....ที่ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอ "คำถาม 15 ข้อที่คาใจ" เกี่ยวกับ EdPEx...
-
ฟอนต์อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดาวน์โหลดกันได้เลยค่ะ http://www.f0nt.com/release/silpakor...
-
การสอนงาน หมายถึง การที่หัวหน้างานได้สอนหรือแนะนำให้ลูกน้อง ได้เรียนรู้งาน ที่ได้รับ มอบหมาย มีวัตถุประสงค์และข้อปฏิบัติอย่างไร จึงจะบรรล...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น